วรรณกรรมแปล (Translated Literature)

วรรณกรรมแปล (Translated Literature) เล่มนี้ ผู้เขียนได้รวบรวมและพัฒนาหนังสือ “วรรณกรรมแปล” (Translated Literature) เล่มนี้ตลอดระยะเวลาหลายปีที่รับผิดชอบ การเรียนการสอนในรายวิชานี้ โดยรวบรวม เรียบเรียง และศึกษาเพิ่มเติมจากเอกสาร ตำรา งานวิจัยของนักวิชาการหลายท่าน รวมทั้งจากประสบการณ์ของผู้เขียนไว้ในเอกสารเล่มนี้ เพื่อเป็นแนวทางในการเรียนการสอนรายวิชาวรรณกรรมแปล เนื้อหาในเอกสารนี้ประกอบด้วยประวัติวรรณกรรมแปลตั้งแต่สมัยสุโขทัย อยุธยา ธนบุรี จนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ แม้ในบางยุคสมัยจะไม่ปรากฏหรือหลงเหลือวรรณกรรมแปลโดยตรง แต่ผู้เขียนได้รวบรวมข้อมูลที่แสดงให้เห็นว่า ในวรรณกรรมไทยมีการรับภาษาและวรรณกรรมจากต่างประเทศเข้ามาอยู่เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีเนื้อหาเกี่ยวกับอิทธิพลจากต่างประเทศทั้งด้านตะวันตกและตะวันออกที่มีผลกับวรรณกรรมไทย

วรรณกรรมแปล

เนื้อหาแบ่งออกเป็น 5 บท ได้แก่ บทที่ 1 วรรณกรรมแปล สมัยสุโขทัย บทที่ 2 วรรณกรรมแปลสมัยอยุธยา บทที่ 3 วรรณกรรมแปล สมัยธนบุรี บทที่ 4 วรรณกรรมแปลสมัยรัตนโกสินทร์ บทที่ 5 การรับอิทธิพลต่างประเทศที่มีผลต่อวรรณกรรมไทย

สั่งซื้อหนังสือ

วรรณกรรมแปล

1. วรรณกรรมแปลสมัยสุโขทัย

คำว่าวรรณกรรมมีความหมายตามพจนานุกรมศัพท์วรรณกรรมอังกฤษ-ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน (2545, หน้า 241) หมายถึง “งานหนังสือ เป็นศัพท์ที่สร้างขึ้นจากคำสันสกฤตว่า วรรณ หมายถึง ตัวหนังสือ (letter) เสียง (sound) และถ้อยคำ (word) กรรม หมายถึง ผลงาน ความหมายของวรรณกรรมจึงแปลตามตัวได้ว่า งานหนังสือ” ซึ่งสอดคล้องกับความหมายของคำว่า “วรรณกรรม” ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 อธิบายว่าวรรณกรรม คือ “งานหนังสือ, งานประพันธ์, บทประพันธ์ทุกชนิดทั้งที่เป็นร้อยแก้วและร้อยกรอง, เช่น วรรณกรรมสมัยรัตนโกสินทร์ วรรณกรรมของเสฐียรโกเศศ วรรณกรรมฝรั่งเศส วรรณกรรมประเภทสื่อสารมวลชน”

วรรณกรรมแปล

2. วรรณกรรมแปลสมัยอยุธยา

กรุงศรีอยุธยาเป็นอาณาจักรที่มีความเจริญรุ่งเรือง ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การทหารและการเมืองมานานกว่า 400 ปี เพราะเมืองนี้มีที่ตั้งที่ เหมาะสมในหลายด้าน คือ มีแม่น้ำ 3 สาย ได้แก่ แม่น้ำลพบุรี แม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำป่าสักไหลผ่านล้อมรอบตัวเมือง ทำให้เหมาะสมที่จะตั้งมั่นรับ การรุกรานของข้าศึกศัตรูได้เป็นอย่างดี แม่น้ำต่าง ๆ ช่วยในการคมนาคมสัญจรและค้าขาย นอกจากนี้ดินยังมีความอุดมสมบูรณ์เหมาะสมกับการเกษตรกรรม จึงทำให้เป็นอาณาจักรที่อุดมสมบูรณ์และตั้งมั่นอยู่เป็นเวลาช้านาน

วรรณกรรมแปล

ในสมัยอยุธยามีกษัตริย์ปกครองอยู่หลายพระองค์ แต่ในยุคที่มี การสร้างสรรค์วรรณกรรมที่ปรากฏหลักฐานและหลงเหลือมาจนถึงปัจจุบัน มีเพียงสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พ.ศ. 1893-1912) สมัยสมเด็จ พระบรมไตรโลกนาถ (พ.ศ. 1991-2031) สมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม (พ.ศ. 2153-2171) สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ. 2199-2231) และสมัย สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ (พ.ศ. 2275-2301) เท่านั้น ในสมัยอยุธยานี้มีวรรณกรรมแปลหลายเรื่อง เช่น มหาชาติคำหลวง กาพย์มหาชาติ งานแปล (แต่ง) ในเจ้าฟ้าธรรมธิเบศไชยเชษฐสุริยวงศ์

3. วรรณกรรมแปลสมัยธนบุรี

หลังจากการเสียกรุงศรีอยุธยาให้แก่พม่าเมื่อปี พ.ศ. 2310 แล้ว บ้านเมืองอยู่ในภาวะระส่ำระสาย ลำบากยากแค้นไปทั่ว แต่ในที่สุดพระเจ้าตากสินก็ทรงกอบกู้เอกราชคืนกลับมาได้ในช่วงเวลาอันสั้น แต่อย่างไรก็ตามการจะปฏิสังขรณ์อยุธยาที่ล่มสลายให้กลับคืนมาดังเดิมนั้นย่อมเป็นการยากเกินกำลังในขณะนั้น พระเจ้าตากสิน (สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี) จึงทรงตัดสินพระทัยเลือกกรุงธนบุรีเป็นราชธานี แล้วปราบดาภิเษกเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ทรงพระนามว่า สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี

ในด้านวรรณกรรม แม้ว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินทรงครองราชย์เพียง 15 ปี แต่พระองค์ทรงให้ความสำคัญกับงานด้านนี้ โดยทรงพระราชนิพนธ์ บทละครเรื่องรามเกียรติ์ ซึ่งเป็นวรรณกรรมที่มีต้นเรื่องมาจากอินเดีย เนื้อเรื่องแสดงความยิ่งใหญ่ ความกล้าหาญ ความเป็นนักปกครองของกษัตริย์ ในรัชสมัยนี้นอกจากงานวรรณกรรมของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีแล้ว มีวรรณกรรมอีก 5 เรื่อง ได้แก่

  1. อิเหนาคำฉันท์ (ได้รับเค้าเรื่องมาจากชวาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา)
  2. ลิลิตเพชรมงกุฎ (ได้รับเค้าเรื่องมาจากนิทานของสันสกฤตชื่อเวตาลปัญจวิงศติ) ของหลวงสรวิชิต (หน)
  3. นิราศพระยามหานุภาพไปเมืองจีน ของพระยามหานุภาพ
  4. โคลงยอพระเกียรติสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ของนายสวนมหาดเล็ก
  5. กฤษณาสอนน้องคำฉันท์ (ได้รับเค้าเรื่องมาจากโศลกใน ภาษาสันสกฤตชื่อมหาภารตะในวนบรรพชื่อ เทราปาตี) ของพระยาราชสุภาวดีและภิกษุอินท์

4. วรรณกรรมแปลสมัยรัตนโกสินทร์

หลังจากนั้นสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงรับพระราชภาระทั้งปวงของแผ่นดิน และทรงย้ายราชธานีจากกรุงธนบุรีมายังกรุงเทพฯ ดังปรากฏในเอกสารกองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร. สรุปได้ว่า พระราชภาระที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงรับไว้นั้นเป็นพระราชภาระที่หนักหนา ทั้งการภายนอก ได้แก่ การปกป้องขัณฑสีมา และการภายใน ได้แก่ การทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาและการปกครองแผ่นดิน ทางด้านภายนอกประเทศ พระองค์ทรงต้องรักษาเอกราชของชาติไว้เป็นสำคัญ ในสมัยนี้พม่ามาทำศึกกับไทยถึง 7 ครั้ง ครั้งสำคัญที่สุดคือเมื่อปี พ.ศ. 2328 ชื่อว่าสงครามเก้าทัพ เป็นสงครามครั้งใหญ่ระหว่างไทยกับพม่าที่ยกทัพเข้ามา แม้ไทยจะเสียเปรียบในด้านกำลังพล แต่ด้วยความสามัคคีและยุทธวิธีในการรบที่ดี คือ การออกไปรับศึกนอกเมือง เป็นการบั่นทอนกำลังข้าศึกไปทีละน้อย ทำให้ไทยได้รับชัยชนะในที่สุด

นอกจากนี้พระองค์ยังทรงมีพระราชภารกิจด้านการเจริญพระราชไมตรีกับประเทศใกล้เคียงและเมืองประเทศราชอีกด้วย เพราะในสมัยนี้อาณาเขต ของไทยได้แผ่ขยายออกไปอย่างกว้างขวาง ทั้งเขมร ลาว ล้านนาไทย และหัวเมืองมลายูตอนเหนือ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงผูกใจให้เมืองประเทศราชเหล่านั้นจงรักภักดีต่อกรุงเทพฯ ด้วยพระคุณและพระเดช พระองค์ทรงให้ความช่วยเหลืออุปการะเจ้านายจากเขมร ทรงสถาปนาพระเจ้ากาวิละขึ้นเป็นพระเจ้าเชียงใหม่ ทางด้านหัวเมืองมลายูให้ปกครองกันตามประเพณีชาวพื้นเมือง ด้วยพระปรีชาญาณอันสุขุมรอบคอบของพระองค์ทำให้การทำนุบำรุงบ้านเมืองเกิดผลสมบูรณ์ตามมา พระราชกรณียกิจทั้งหลาย ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชกอปรด้วยคุณลักษณะที่บริสุทธิ์บริบูรณ์เพราะทรงยึดพระพุทธศาสนาเป็นหลัก ในบทนี้เราจะได้ทราบถึงวรรณกรมต่าง ๆ ในรัชสมัยของพระมหากษัตริย์ ในราชกาลต่าง ๆ เช่น

  1. วรรณกรรมแปลสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า จุฬาโลกมหาราช
  2. วรรณกรรมแปลสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้า นภาลัย
  3. วรรณกรรมแปลสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า เจ้าอยู่หัว
  4. วรรณกรรมแปลสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า เจ้าอยู่หัว
  5. วรรณกรรมแปลสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า เจ้าอยู่หัว
  6. วรรณกรรมแปลสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า เจ้าอยู่หัว
  7. วรรณกรรมแปลสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ถึงสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2
  8. วรรณกรรมแปลช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ถึงปัจจุบัน

5. การรับอิทธิพลต่างประเทศที่มีผลต่อวรรณกรรมไทย

วรรณกรรมเป็นผลงานของมนุษย์ที่แสดงให้เห็นการใช้ความคิด สติปัญญา จิตใจและสภาพสังคมในขณะนั้น ดังนั้นเมื่อวรรณกรรมเป็นผลงานของมนุษย์จึงถือว่าวรรณกรรมเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง วัฒนธรรมนั้นย่อม จะถ่ายทอดจากคนรุ่นหนึ่งสู่คนอีกรุ่นหนึ่งและย่อมจะมีการถ่ายเทจากคนกลุ่มหนึ่งไปยังคนอีกกลุ่มหนึ่ง หรือถ่ายเทไปยังกลุ่มคนต่างวัฒนธรรม ดังนั้นในงานวรรณกรรมของไทยจึงมีการรับอิทธิพลจากวรรณกรรมจากต่างชาติ ทั้งจากประเทศทางตะวันออกและประเทศทางตะวันตก

วรรณกรรมแปล

สาขาวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (2556, หน้า 11-7 และ หน้า 11-13) และรื่นฤทัย สัจจพันธุ์ (ม.ป.ป., หน้า 3-5) ได้กล่าวถึงอิทธิพลต่างประเทศที่มีผลต่อวรรณกรรมไทย สรุปได้ว่า การรับอิทธิพลจากวรรณกรรมของชาติต่าง ๆ เกิดจากสภาพภูมิศาสตร์ที่อยู่ติดกันหรือใกล้เคียงกัน หรือเกิดจากการติดต่อกันในด้านต่าง ๆ เช่น การค้าขาย การแสวงหาโชคลาภ การเป็นโลกไร้พรมแดนในปัจจุบัน ทำให้เอื้ออำนวยต่อการรังสรรค์วรรณกรรมไทย การรับอิทธิพลจากต่างประเทศนี้แบ่งได้ 5 ด้าน ได้แก่

  1. อิทธิพลทางด้านการค้าและการแสวงหาโชคลาภ
  2. อิทธิพลด้านศาสนา
  3. อิทธิพลด้านการเมืองการปกครอง
  4. อิทธิพลด้านการศึกษา
  5. อิทธิพลด้านศิลปวัฒนธรรมและวิทยาการ

บรรณานุกรม

ราชบัณฑิตยสถาน. (2545). พจนานุกรมศัพท์วรรณกรรม อังกฤษ-ไทย. กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน.

รื่นฤทัย สัจจพันธุ์. (ม.ป.ป.). อิทธิพลวรรณกรรมต่างประเทศที่มีต่อวรรณกรรมไทย. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยรามคำแหง.

สาขาวิชาศิลปศาสตร์, มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. (2556). เอกสารการสอนชุดวิชาวรรณคดีไทย ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 หน่วยที่ 1-7 (พิมพ์ครั้งที่ 5). นนทบุรี: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.

สาขาวิชาศิลปศาสตร์, มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. (2556). เอกสารการสอนชุดวิชาวรรณคดีไทย ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 หน่วยที่ 8-15 (พิมพ์ครั้งที่ 3). นนทบุรี: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.

Graphic Design และ Content Creator ที่หลงใหลในการเขียน Content และเชื่อว่า Content เป็นสิ่งสำคัญในการสื่อสารกับทุก ๆ คน