ระบบหายใจ

กุมารเวชศาสตร์ฉุกเฉิน ระบบหายใจ (Pediatrics Respiratory Emergencies)

กุมารเวชศาสตร์ฉุกเฉิน ระบบหายใจ (Pediatrics Respiratory Emergencies) หนังสือมีเนื้อหาสาระเกี่ยวข้องกับภาวะฉุกเฉินระบบหายใจในเด็กแรกเกิดถึงวัยรุ่น เนื้อหาแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนที่หนึ่งประกอบด้วยอาการฉุกเฉินของภาวะหรือโรคระบบหายใจ และ ส่วนที่สองกล่าวถึงโรคที่ต้องให้การวินิจฉัยและรักษาอย่างเร่งด่วน หากให้การรักษาไม่ทันอาจเสียชีวิตได้ เนื้อหาในเล่มเน้นความทันสมัย และการเปลี่ยนแปลงของ โลกยุคปัจจุบัน สำนวนการเขียนอ่านเข้าใจง่าย เหมาะสำหรับผู้ที่สนใจทุกระดับ

กุมารเวชศาสตร์ฉุกเฉิน ระบบหายใจ

สั่งซื้อ

ภายในหนังสือประกอบไปด้วย 2 ส่วน ส่วนที่ 1 อาการฉุกเฉินระบบหายใจ ส่วนที่ 1 โรคฉุกเฉินระบบหายใจ และมีเนื้อหา 18 บท แบ่งตามโรคหรือกลุ่มอาการต่าง ๆ ที่น่าสนใจและทันสมัย

ระบบหายใจ

1. ภาวะหายใจล้มเหลว (Respiratory failure)

ภาวะหายใจล้มเหลว (respiratory failure) เป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องให้การวินิจฉัย และรักษาโดยเร็ว หากล่าช้าอาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ โดยอาการและอาการแสดงส่วนใหญ่ ผู้ป่วยมักมาด้วยหายใจลำบาก เขียว ในเด็กเล็กอาจมาด้วยหยุดหายใจ สาเหตุหลักเกิดจากการขาดความสมดุลของระบบหายใจจาก 2 สาเหตุ ได้แก่ ร่างกายมีความต้องการใช้ออกซิเจนมากขึ้น (increase metabolic demand) จนเกินความสามารถในการปรับตัวของระบบหายใจปกติ และเกิดจากการทำงานของระบบหายใจผิดปกติจนไม่สามารถทำงานได้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย (defect of respiratory system) การขาดความสมดุลนี้ ทำให้เกิดภาวะหายใจล้มเหลวตามมา

2. ภาวะเขียว (Cyanosis)

ภาวะเขียว (cyanosis) คือ ภาวะความอิ่มตัวออกซิเจนของเฮโมโกลบินในหลอดเลือดแดงต่ำ เป็นอาการที่เนื้อเยื่อเกิดภาวะขาดออกซิเจน (tissue hypoxia) ทำให้เนื้อเยื่อเกิดการเปลี่ยนสี หรือมีสีคล้ำลง เมื่อค่าความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือดแดง (oxygen saturation; SaO2) น้อยกว่าร้อยละ 85 สำหรับเด็กและผู้ใหญ่ ส่วนทารก หากค่าความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือดระหว่างร้อยละ 70-85 จะเห็นภาวะเขียวไม่แน่นอน ถ้าต่ำกว่าร้อยละ 70 จะเห็นภาวะเขียวได้ชัดเจน เนื่องจากทารกยังมี Hb F ร่วมกับมีความเข้มข้นเม็ดเลือดแดงสูงกว่า

เมื่อมีภาวะเขียวเกิดขึ้น สามารถสังเกตเห็นที่ริมฝีปาก ลิ้น ปลายมือปลายเท้าได้ง่ายกว่าบริเวณอื่น ๆ ผู้ป่วยที่มีภาวะเขียวมีทั้งแบบเรื้อรังหรือแบบเฉียบพลัน โดยภาวะเขียวเฉียบพลันจำเป็นต้องให้การรักษาแบบเร่งด่วน ดังนั้นเพื่อการรักษาที่ถูกต้องและทันเวลา ทีมแพทย์ผู้ดูแลต้องทำการซักประวัติ ตรวจร่างกาย รวมทั้งให้การวินิจฉัยโรคได้อย่างถูกต้อง เพื่อวางแผนให้การรักษาที่เหมาะสม ในหนังสือเล่มจะนี้แบ่งภาวะเขียวออกเป็นชนิดต่าง ๆ ดังนี้ 1. อาการเขียวบริเวณส่วนกลาง (central cyanosis) 2. อาการเขียวบริเวณส่วนปลาย (peripheral cyanosis) 3. ภาวะ differential cyanosis 4. ภาวะ reversed differential cyanosis

ระบบหายใจ

3. เจ็บหน้าอก Chest pain

อาการเจ็บหน้าอก (chest pain) คือ อาการเจ็บปวดที่เกิดขึ้นบริเวณหน้าอก ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่บริเวณไหล่ลงมาถึงช่วงล่างของซี่โครง อาการเจ็บหน้าอก มีทั้งที่เกิดขึ้นเฉียบพลัน หรืออาจเกิดขึ้นซ้ำ ๆ ในตำแหน่งเดิม และรุนแรงขึ้นเมื่อได้รับสิ่งกระตุ้น1 อาการเจ็บหน้าอกในเด็กและวัยรุ่นเป็นปัญหาที่พบบ่อยในเด็กที่ ห้องฉุกเฉิน ห้องตรวจผู้ป่วยนอก หรือในคลินิกเฉพาะทางโรคทางเดินหายใจ หรือหัวใจ2-8 แม้ว่าอาการส่วนใหญ่ในเด็กมักไม่รุนแรง แต่อาการนี้ก็ทำให้ผู้ปกครองวิตกกังวล หรือมีการจำกัดกิจกรรมรวมถึงการหยุดเรียน การซักประวัติ และ ตรวจร่างกายที่ดีสามารถบอกสาเหตุ และช่วยแพทย์ในการตัดสินใจส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ รวมถึงการรักษาเบื้องต้นได้ อาการเจ็บหน้าอกที่มีสาเหตุมาจากโรค หรือภาวะต่างกันจะแสดงอาการเจ็บที่แตกต่างกันแยกเป็น 2 กลุ่ม 1. อาการเจ็บหน้าอกที่เกี่ยวกับโรคหัวใจ 2. อาการเจ็บหน้าอกจากภาวะอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับโรคหัวใจ

4. เหตุการณ์ผิดปกติเกิดขึ้นอย่างทันทีทันใด เป็นระยะเวลาสั้น ๆ ในทารก (Brief Resolved Unexplained Event in an infant (BRUE))

การเปลี่ยนแปลงการหายใจ ความตึงตัวของกล้ามเนื้อ สีผิว และ ความรู้สึกตัวในทารกมักทำให้ผู้ปกครองมีความวิตกกังวล โดยเฉพาะบิดามารดา มือใหม่ แม้อาการที่เกิดขึ้นจะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ปกติของทารกก็ตาม เนื่องจากอาการที่เกิดขึ้นดูเหมือนทารกจะเสียชีวิตเฉียบพลัน ส่วนใหญ่เมื่อซักประวัติและ ตรวจร่างกายมักพบว่าเป็นอาการที่ไม่รุนแรง หรือเป็นอาการปกติของทารก เช่น ภาวะกรดไหลย้อน (gastroesophageal reflux) และการหายใจไม่สม่ำเสมอเนื่องจากการพัฒนาศูนย์หายใจยังไม่เจริญเต็มที่ (periodic breathing of the newborn) ในปี ค.ศ. 1986 ทีมแพทย์ได้ให้คำนิยาม “การเกิดเหตุการณ์ที่เสี่ยงต่อการเสียชีวิตของทารก (apparent life-threatening event; ALTE)” หมายถึง การที่มีเหตุการณ์ที่เสี่ยงต่อการเสียชีวิตของทารก โดยมีผู้สังเกตเห็นทารกหยุดหายใจ เขียว หรือซีด แขนขาอ่อนปวกเปียก หอบ หรือหายใจไม่สะดวก ซึ่งเหตุการณ์นี้อาจจะเกิดขึ้นซ้ำได้ และสร้างความวิตกกังวลให้กับมารดาและครอบครัวได้อย่างมาก อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ยืนยันถึงความสัมพันธ์ของการเกิดเหตุการณ์ที่เสี่ยงต่อการเสียชีวิตของทารกขณะนอนหลับกับการหยุดหายใจ (apnea) และการเสียชีวิตของทารกแบบเฉียบพลัน (sudden infant death syndrome)

5. ภาวะหยุดหายใจในทารกแรกเกิด (Apnea in newborn)

ภาวะหยุดหายใจในทารกแรกเกิด หมายถึง ภาวะที่ทารกมีการหยุดหายใจนานกว่า 20 วินาที หรือมีการหยุดหายใจนานกว่า 10 วินาที ร่วมกับมี การเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยา เช่น หัวใจเต้นช้า (bradycardia) น้อยกว่า 100 ครั้ง/นาที เขียว (cyanosis) ซีด (pallor) ความตึงตัวของกล้ามเนื้อลดลง (hypotonia) เป็นต้น ภาวะหยุดหายใจในทารกแรกเกิดพบได้บ่อยในทารกเกิดก่อนกำหนด โดยจะพบภาวะหยุดหายใจได้มากขึ้นในทารกที่อายุครรภ์น้อยลง และพบภาวะนี้ในทารกเกิดก่อนกำหนดเกือบทุกรายที่มีอายุครรภ์น้อยกว่า 28 สัปดาห์9

ภาวะหยุดหายใจ เป็นภาวะที่ต้องแยกออกจากการหายใจไม่สม่ำเสมอ (periodic breathing) ซึ่งพบได้ปกติในทารกเกิดก่อนกำหนด ภาวะดังกล่าวทารก จะมีการหยุดหายใจเป็นช่วงสั้น ๆ นานประมาณ 5-10 วินาที สลับกับการหายใจ ที่เร็วขึ้น2 โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาร่วมด้วย

6. ภาวะหายใจลำบากในทารกแรกเกิด (Respiratory distress in newborn)

ภาวะหายใจลำบากในทารกแรกเกิด เป็นอาการผิดปกติในระบบหายใจ ที่พบได้บ่อย และถือเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องได้รับการดูแลอย่างทันท่วงที เนื่องจากทารกแรกเกิดมีอุบัติการณ์ในการเกิดภาวะทางเดินหายใจล้มเหลวได้ง่ายกว่าวัยอื่น ๆ ดังนั้น การวินิจฉัยภาวะหายใจลำบากในทารกแรกเกิดจึงมีความสำคัญ และส่งผลต่ออัตราการรอดชีวิต การวินิจฉัยแยกโรคภาวะหายใจลำบากในทารกแรกเกิดจะต้องอาศัยประวัติ การตรวจร่างกาย รวมถึงการตรวจทางห้องปฏิบัติการประกอบกัน เพื่อวางแผนแนวทางในการรักษาที่ถูกต้องต่อไป

7. หอบเหนื่อย (Dyspnea)

อาการหายใจลำบากหรือหอบเหนื่อย หมายถึง ความรู้สึกไม่สบายในการหายใจ หรือมีความยากลำบากในการหายใจ เช่น หายใจไม่อิ่ม หายใจเร็ว หรือต้องใช้แรงในการหายใจเพิ่มมากขึ้น เป็นอาการที่สำคัญ และพบบ่อยในเด็ก ซึ่งผู้ป่วยอาจมีอาการน้อยมากจนถึงมีอาการรุนแรงจนถึงแก่ชีวิต เนื่องจากโครงสร้างทางเดินหายใจของเด็กมีความแตกต่างจากผู้ใหญ่ อีกทั้งเด็กยังไม่สามารถบอกอาการได้ชัดเจน ดังนั้น แพทย์จึงควรมีทักษะในการประเมินอาการหอบเหนื่อยเพื่อหาสาเหตุ และให้การรักษาได้อย่างถูกต้อง

8. หายใจเสียงดัง (Stridor)

การอุดกั้นทางเดินหายใจในเด็กสามารถเกิดง่ายกว่าในผู้ใหญ่เนื่องจากกายวิภาคและสรีรวิทยาของเด็กที่แตกต่างจากในผู้ใหญ่ นอกจากนี้การวินิจฉัย และการรักษาที่เหมาะสม เพื่อลดอุบัติการณ์ความรุนแรงของโรคเป็นสิ่งที่จำเป็น และควรรีบเร่งอย่างรวดเร็ว

Stridor คือ อาการแสดงของภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจ ซึ่งการอุดกั้นดังกล่าวเกิดได้ตั้งแต่บริเวณเหนือกล่องเสียง (supraglottic area) กล่องเสียง (glottic area) ใต้กล่องเสียง (subglottic area) หรือหลอดลมที่อยู่ในทรวงอก (intrathoracic trachea)1 ซึ่งลักษณะ stridor จะได้ยินเสียงโดยไม่ต้องใช้หูฟัง (stethoscope) โดยเมื่อมีการตีบแคบของทางเดินหายใจ และมีลมผ่านทำให้เกิดการสั่นสะเทือน โดยเฉพาะในบริเวณที่เป็นท่อทางเดินหายใจขนาดใหญ่ (large airway) ซึ่งเป็นผลมาจาก Bernoulli’s principle โดยตำแหน่งที่มีการเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วของน้ำ จะมีความดันในส่วนนั้นลดลง เช่นเดียวกับเมื่อมีท่อที่แคบลง ลมที่พยายามผ่านท่อที่แคบจะทำให้ความดันบริเวณส่วนปลายกว่าตำแหน่งที่ตีบแคบต่ำลง จากการเกิด vacuum effect จึงเกิดเป็น turbulent flow และได้ยินเสียง stridor10,11

9. ไอเป็นเลือด (Hemoptysis)

ไอเป็นเลือดเป็นภาวะรีบด่วนที่ควรให้การวินิจฉัย การประเมินอาการ และความรุนแรงโดยการซักประวัติ ตรวจร่างกาย เพื่อแยกภาวะเลือดออกในทางเดินหายใจที่แท้จริง กับไอเป็นเลือดลวง และให้การช่วยเหลือเบื้องต้นอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีอาการเลือดออกรุนแรง จะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตลงได้

นิยาม ไอเป็นเลือด คือ มีอาการไอออกมาเป็นเลือดอย่างเดียว หรือมีเสมหะ หรือเมือกปนเลือด ซึ่งออกมาจากทางเดินหายใจส่วนล่าง12

การวินิจฉัย ต้องแยกภาวะไอเป็นเลือดจริง (true hemoptysis) ออกจาก อาการไอเป็นเลือดลวง (pseudohemoptysis) อันเนื่องมาจากเลือดออกในทางเดินอาหาร หรือทางเดินหายใจส่วนบน โดยอาศัยอาการและอาการแสดงที่ใช้แยกภาวะไอเป็นเลือดจริงและลวง

10. โรคหืดกำเริบเฉียบพลัน (Acute asthmatic attack)

โรคหืดเป็นโรคที่มีการอักเสบเรื้อรังของหลอดลม ทำให้หลอดลมไวต่อสิ่งกระตุ้นผิดปกติ เมื่อเจอสิ่งกระตุ้น หลอดลมจะหดตัวลง ทำให้ผู้ป่วยมีอาการไอ หอบเหนื่อย หายใจไม่อิ่ม และหายใจมีเสียงหวีด ซึ่งอาการเหล่านี้จะดีขึ้นโดยการรักษาด้วยยาขยายหลอดลม

ระบบหายใจ

11. การจมน้ำ (Drowning)

การจมน้ำเป็นอุบัติเหตุที่สามารถป้องกันได้ และเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เด็กเสียชีวิต โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี เมื่อจมน้ำจะเกิดการขาดอากาศ และอาจจะสำลักน้ำร่วมด้วย ซึ่งภายในไม่กี่นาทีจะเกิดการขาดออกซิเจน และ ขาดเลือดทำให้ระบบการทำงานของอวัยวะเสียไป หากได้รับการช่วยเหลือได้ อย่างถูกต้องรวดเร็ว ณ ที่เกิดเหตุ และดูแลอย่างต่อเนื่องก่อนนำส่งโรงพยาบาล จะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตได้ ดังนั้น การดูแลรักษาผู้ป่วยที่จมน้ำต้องมีความเข้าใจในพยาธิสรีรวิทยาที่เกิดขึ้น จะทำให้สามารถป้องกันการเกิดสมองบวมจากภาวะการขาดออกซิเจน ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต และเกิดทุพพลภาพในภายหลัง

12. กลุ่มอาการหายใจลำบากเฉียบพลัน (Acute respiratory distress syndrome; ARDS)

กลุ่มอาการหายใจลำบากเฉียบพลัน (acute respiratory distress syndrome; ARDS) เป็นภาวะการหายใจล้มเหลวแบบเฉียบพลันและมีความรุนแรง เกิดจากเนื้อปอดถูกทำลาย หรือได้รับบาดเจ็บจากสาเหตุใดก็ตาม ผู้ป่วยจะมี การอักเสบทั่ว ๆ ไปในเนื้อปอดอย่างรวดเร็ว13 โดยมีสาเหตุมาจากของเหลวใน หลอดเลือดรั่วไหลเข้าไปในถุงลมปอดแทนที่อากาศ ปอดจึงทำหน้าที่แลกเปลี่ยน ก๊าซออกซิเจนกับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ลดลง หรือไม่ได้เลย ส่งผลให้ร่างกาย และอวัยวะต่าง ๆ เกิดภาวะขาดออกซิเจน ผู้ป่วยจะมีอาการหายใจลำบาก หายใจหอบเหนื่อย หายใจเร็ว และเขียว

ทั่วโลกมีผู้ป่วย ARDS ประมาณ 3 ล้านรายต่อปี1 ภาวะนี้ถูกรายงาน ครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1967 เดิมเรียกว่า “adult respiratory distress syndrome” (กลุ่มอาการหายใจลำบากในผู้ใหญ่) เพื่อแยกจากกลุ่มอาการหายใจลำบากในทารกแรกเกิด “infant respiratory distress syndrome” ปัจจุบันที่ประชุมนานาชาติได้มีมติให้เรียกโรคนี้ว่า “acute respiratory distress syndrome” เนื่องจากภาวะนี้สามารถเกิดได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่14,15 ในเด็กทารกเรียก respiratory distress syndrome (RDS) หรือ hyaline membrane disease (HMD) หรือ idiopathic respiratory distress syndrome (IRDS) เป็นโรคที่พบในทารกแรกเกิด มักพบในเด็กคลอดก่อนกำหนด น้ำหนักตัวสมอายุครรภ์ (AGA) เด็กที่คลอดก่อนกำหนด มากเท่าใดโอกาสที่จะเกิดโรค RDS มีมากขึ้นเท่านั้น16 เด็กที่เป็นโรคนี้มักมีอาการ หลังคลอดภายใน 6 ชม. มักมีอาการหายใจลำบาก และอาการจะค่อย ๆ เป็นมากขึ้นเรื่อย ๆ ในบทนี้จะกล่าวถึง กลุ่มอาการหายใจลำบากเฉียบพลัน (acute respiratory distress syndrome; ARDS) ในเด็กเท่านั้น ไม่กล่าวถึงทารกแรกเกิด

13. โรคลิ่มเลือดอุดกั้นในปอด (Pulmonary embolism)

โรคลิ่มเลือดอุดกั้นในปอด (pulmonary embolism; PE) เกิดจาก ลิ่มเลือดไปอุดกั้นหลอดเลือดปอด ทำให้ผู้ป่วยหายใจหอบเหนื่อย ไอ และเจ็บหน้าอก ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้ประกอบด้วย อายุ พันธุกรรม โรคประจำตัว รวมถึง การใช้ชีวิตประจำวัน หากผู้ป่วยไม่ได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้อง และรับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ในผู้ที่ไม่ได้รับ การวินิจฉัย และรักษาที่ถูกต้อง พบอัตราตายสูงถึงร้อยละ 30 และลดลงเหลือ ร้อยละ 2-817 หากได้รับการวินิจฉัย และรักษาที่ถูกต้องและทันท่วงที

14. กลุ่มอาการลมรั่วในปอด (Pulmonary air leak syndrome)

กลุ่มอาการลมรั่วในปอด เป็นกลุ่มอาการที่สำคัญและพบได้บ่อยใน ผู้ป่วยเด็ก โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ใช้เครื่องช่วยหายใจ เกิดจากการรั่วของอากาศไปยังบริเวณช่อง หรือโพรงต่าง ๆ ของร่างกาย ที่ในภาวะปกติแล้วจะไม่มีอากาศอยู่ อากาศที่รั่วออกมาทำให้เกิดการกดเบียดอวัยวะต่าง ๆ เช่น ปอด หรือหลอดเลือด ทำให้ผู้ป่วยมีอาการหายใจลำบาก หรือมีภาวะช็อก กลุ่มอาการดังกล่าวควรได้รับ การวินิจฉัยอย่างทันท่วงที การวินิจฉัยที่ล่าช้าอาจส่งผลให้ผู้ป่วยมีการพยากรณ์โรคที่แย่ลง หรือเสียชีวิตได้

การเกิดโรคในกลุ่มอาการลมรั่วในปอด ส่วนมากมีสาเหตุจากการกระทำของแพทย์ (iatrogenic) ไม่ว่าจะเป็นภาวะแทรกซ้อนจากการใช้เครื่องช่วยหายใจ การใส่สายสวนหลอดเลือดดำส่วนกลาง (central venous catheterization) การผ่าตัดทรวงอกและทางเดินหายใจ การส่องกล้องดูในช่องอก (thoracoscopy) ทั้งเพื่อการวินิจฉัยและการรักษา นอกจากนี้อาจเกิดจากโรคของปอด ไม่ว่าจะเป็น โรคที่ทำให้ความยืดหยุ่นปอดลดลง (restrictive lung disease) โรคปอดอุดกั้น (obstructive lung disease) รวมถึงโรคปอดอื่น ๆ ก็อาจทำให้เกิดกลุ่มอาการลมรั่วในปอดได้17

ทารกแรกเกิดเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคในกลุ่มอาการลมรั่วในปอด เนื่องจากลักษณะทางกายภาพของปอดยังพัฒนาไม่สมบูรณ์ ปอดของทารกแรกเกิดมีปริมาณของเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน (connective tissue) ล้อมรอบทางเดินหายใจมาก ถุงที่เชื่อมต่อระหว่างถุงลมปอดที่เรียกว่า pore of Kohn มีปริมาณน้อย ทำให้ความสามารถในการระบายลมลดลง เมื่อเกิดโรคในกลุ่มอาการสูดสำลักขี้เทา (meconium aspiration syndrome; MAS) หรือต้องได้รับการช่วยหายใจด้วยแรงดันบวก (positive pressure ventilation; PPV) จึงมีความเสี่ยงต่อการเกิดกลุ่มอาการลมรั่วในปอดได้มาก นอกจากนี้ ในทารกเกิดก่อนกำหนด (preterm) ยังขาดสารสารลดแรงตึงผิว (surfactant) ร่วมกับมีน้ำหนักตัวน้อย สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดกลุ่มอาการลมรั่วในปอดทั้งสิ้น18,19

15. การสำลักสิ่งแปลกปลอม (Foreign body aspiration)

ปัญหาการสำลักสิ่งแปลกปลอมในทางเดินหายใจเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในเด็ก โดยเฉพาะในเด็กเล็กน้อยกว่า 3 ปี และเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตในเด็กอายุน้อยกว่า 12 เดือน21-23 ทั้งนี้เนื่องจากเด็กในวัยนี้มีความอยากรู้อยากเห็น จึงมักเอาสิ่งแปลกปลอมใส่เข้าไปในรูต่าง ๆ ของร่างกาย นอกจากนี้ เด็กเล็กยังไม่สามารถเคี้ยวอาหารได้ละเอียด จึงอาจเกิดการสำลักระหว่างที่รับประทานอาหารและวิ่งเล่นไปด้วย โดยผู้ป่วยที่มีภาวะสูดสำลักสิ่งแปลกปลอมมักอาศัยประวัติ การตรวจร่างกาย และการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมเพื่อช่วยในการวินิจฉัย และการรักษาที่ถูกต้อง24

16. กลุ่มอาการครูพ (Croup syndrome)

Croup syndrome เป็นกลุ่มอาการความผิดปกติที่ทำให้เกิดการอุดกั้นทางเดินหายใจ จากการติดเชื้อระบบหายใจส่วนล่างทำให้เกิด inspiratory stridor โดยกลุ่มโรคนี้ ได้แก่ โรคไวรัสครูพ (viral croup หรือ laryngotracheobronchitis) ฝาปิดกล่องเสียงอักเสบเฉียบพลัน (acute epiglottitis) ท่อลมคอติดเชื้อแบคทีเรีย (bacterial tracheitis) ฝีหลังคอหอย (retropharyngeal abscess)

โรคไวรัสครูพ (viral croup) เป็นโรคที่เกิดความผิดปกติที่บริเวณท่อลม (trachea) กล่องเสียง (larynx) และหลอดลม (bronchus) ทำให้เกิด inspiratory stridor โดยโรคในกลุ่มนี้รวมกลุ่มโรคตั้งแต่ laryngotracheitis, laryngotracheobronchitis และ laryngotracheobronchopneumonitis24-27

17. ภาวะช็อก (Shock)

ภาวะช็อก (shock) เป็นภาวะที่ต้องให้การวินิจฉัยอย่างรีบด่วน เนื่องจากมีอันตรายถึงชีวิต ภาวะช็อกเกิดจากมีความล้มเหลวของการไหลเวียนของเลือด โดยอาศัยการวินิจฉัยจากอาการทางคลินิกเป็นหลัก อาการที่เกิดขึ้นเกิดจากการที่ ผู้ป่วยได้รับการขนส่งออกซิเจน และสารอาหารไม่เพียงพอต่อความต้องการร่างกาย ซึ่งอาจจะพบว่ามีหรือไม่มีความดันโลหิตต่ำก็ได้ ขึ้นอยู่กับระยะของช็อก การตอบสนองของร่างกาย หากเข้าใจถึงสรีรวิทยาของการเกิดภาวะช็อก และชนิดต่าง ๆ ของช็อกจะช่วยในการให้การวินิจฉัยและการรักษาอย่างถูกต้องทันท่วงที และช่วยลดอัตราการตายของผู้ป่วยที่เกิดจากภาวะช็อกได้

18. ความดันหลอดเลือดปอดสูง (Pulmonary hypertension)

ความดันหลอดเลือดปอดสูง (pulmonary hypertension; PH) เป็นภาวะที่หลอดเลือดแดงในปอดมีความดันเฉลี่ยเพิ่มมากขึ้นเกินกว่า 20 มม.ปรอท ขณะพัก28 ส่งผลให้การทำงานของหัวใจห้องล่างขวา (right ventricle) ล้มเหลว ภาวะความดันหลอดเลือดปอดสูงส่วนมากเกิดจากภาวะแทรกซ้อนของระบบหัวใจ หรือความผิดปกติในระบบหายใจ อย่างไรก็ตาม ภาวะความดันหลอดเลือดปอดสูงอาจเกิดสาเหตุอื่น ๆ หรือไม่มีสาเหตุก็ได้29-31

คำนิยาม ความดันหลอดเลือดปอดสูง (pulmonary hypertension; PH) เป็นภาวะที่หลอดเลือดแดงในปอดมีความดันเฉลี่ยเพิ่มมากขึ้นเกินกว่า 20 มม.ปรอท โดยภาวะความดันหลอดเลือดปอดสูงอาจเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของแรงดันหลอดเลือดแดงปอดเพียงอย่างเดียว หรือเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น การที่มีเลือดไหลเวียน ในปอดเพิ่มมากขึ้น การเพิ่มขึ้นของแรงดันหลอดเลือดดำปอด เป็นต้น

ความดันหลอดเลือดแดงปอดสูง (pulmonary arterial hypertension; PAH) เป็นภาวะที่หลอดเลือดแดงในปอดมีความดันเฉลี่ยเพิ่มมากขึ้นเกินกว่า 20 มม.ปรอท โดยที่ค่า pulmonary artery wedge pressure ปกติ (น้อยกว่า 15 มม.ปรอท) และมีการเพิ่มขึ้นของแรงต้านทานหลอดเลือดปอด (pulmonary vascular resistance; PVR) มากกว่า 3 Wood units โดยวินิจฉัยได้จากการสวนหัวใจ28,29

ความดันหลอดเลือดดำปอดสูง (pulmonary venous hypertension; PVH) เป็นภาวะที่หลอดเลือดดำและหลอดเลือดฝอยในปอดมีแรงดันเพิ่มขึ้น โดยกลุ่มนี้นอกจากจะมีความดันเฉลี่ยของหลอดเลือดแดงในปอดที่มากกว่า 20 มม.ปรอท แล้ว จะมีค่า pulmonary artery wedge pressure ที่สูงตั้งแต่ 15 มม.ปรอท ขึ้นไป

และนี่ก็เป็นเนื้อหาบางส่วนใน 18 บทของหนังสือ กุมารเวชศาสตร์ฉุกเฉินระบบหายใจ (Pediatrics Respiratory Emergencies) หรือหากสนใจหนังสือที่เกี่ยวข้องกับกุมารเวชศาสตร์ ก็ขอแนะนำ ภาวะฉุกเฉินโรคทางเดินอาหารและโรคตับในเด็ก Gastrointestinal and Liver disease in Pediatric Emergency และ กุมารเวชศาสตร์ ในเวชปฏิบัติ Pediatrics in practice

เอกสารอ้างอิง

  1. Gulati M., Levy P.D., Mukherjee D., Amsterdam E, Bhatt LD, Birtcher KK, et al. 2021 AHA/ACC/ASE/CHEST/SAEM/SCCT/SCMR guideline for the evaluation and diagnosis of chest pain: A report of the American College of Cardiology/American Heart Association Joint Committee on Clinical Practice Guidelines. J Am Coll Cardiol. 2021;78:e187-285.
  2. ศุภฤกษ์ พัฒนปรีชากุล. แนวทางการประเมินและวินิจฉัยอาการเจ็บหน้าอก [อินเทอร์เน็ต]. กรุงเทพฯ: Conference inspiration mastery journal; 2565 [เข้าถึงเมื่อ 26 สิงหาคม 2565]. เข้าถึงได้จาก https://cimjournal.com/cvm-conference/chest-pain-diagnosis/.
  3. Friedman KG, Alexander ME. Chest pain and syncope in children: A practical approach to the diagnosis of cardiac disease. J Pediatr. 2013;163(3):896-901.e1-3.
  4. Danduran MJ, Earing MG, Sheridan DC, Ewalt LA, Frommelt PC. Chest pain: Characteristics of children/adolescents. Pediatr Cardiol. 2008;29:775-81.
  5. Friedman KG, Kane DA, Rathod RH, Renaud A, Farias M, Geggel R, et al.
    Management of pediatric chest pain using a standardized assessment and
    management plan. Pediatrics. 2011;128:239-45.
  6. Verghese GR, Friedman KG, Rathod RH, Meiri A, Saleeb SF, Graham DA, et al. Resource utilization reduction for evaluation of chest pain in pediatrics using a novel standardized clinical assessment and management plan (SCAMP). J Am Heart Assoc. 2012;11(2):jah3-e000349.
  7. DiVasta AD, Alexander ME. Fainting freshmen and sinking sophomores:
    Cardiovascular issues of the adolescent. Curr Opin Pediatr. 2004;16:350-6.
  8. Chun JH, Kim TH, Han MY, Kim NY, Yoon KL. Analysis of clinical characteristics and causes of chest pain in children and adolescents. Korean J Pediatr. 2015;58(11):440-5.
  9. Martin RJ. Pathogenesis, clinical manifestations, and diagnosis of apnea of prematurity [Internet]. 2020 [cited 2021 March 15]. Available from: https://www.uptodate.com/contents/pathogenesis-clinical-manifestations-and-diagnosis-of-apnea-of-prematurity.
  10. Quintero DR, Fakhoury K. Assessment of stridor in children. UpToDate [Internet]. 2017 [cite 2021 Nov 26]. Available from: https://www.uptodate.com/contents/assessment-of-stridor-in-children.
  11. Sly PD, Collins RA. Physiological basis of respiratory signs and symptoms. Paediatr Respir Rev. 2006;7:84-8.
  12. Ittrich H, Bockhorn M, Klose H, Simon M. The diagnosis and treatment of hemoptysis. Dtsch Arztebl Int. 2017;114:371-81.
  13. ARDS Definition Task Force, Ranieri VM, Rubenfeld GD, Thompson BT, Ferguson ND, Caldwell E, et al. Acute respiratory distress syndrome: The Berlin Definition. JAMA. 2012;307(23):2526-33.
  14. Nickson C. Acute respiratory distress syndrome definitions [internet]. Western Australia: Life in the fast lane; 2020. [cited 2021 Jun 26]. Available from: https://litfl.com/acute-respiratory-distress-syndrome-definitions/.
  15. Anderson RM. Update on pediatric acute respiratory distress syndrome. Respiratory Care. 2003;48(3):261-78.
  16. พิมลรัตน์ ไทยธรรมยานนท์. การดูแลทารกแรกเกิด. กรุงเทพฯ: ชัยเจริญ; 2544.
  17. Silverstein MD, Heit JA, Mohr DN, Petterson TM, O’Fallon WM, Melton LJ 3rd. Trends in the incidence of deep vein thrombosis and pulmonary embolism: A 25-year population-based study. Arch Intern Med. 1998;158(6):585-93.
  18. Adeyinka A, Pierre L. Air leak [Internet]. StatPearls Publishing. 2021 [cited 2021 Dec 5]. Available from: https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK513222/
  19. ธราธิป โคละทัต. Pulminary air leak: Concept and practices in the newborn. ใน: ดุสิต สถาวร, จิตลัดดา ดีโรจนวงศ์, นวลจันทร์ ปราบพาล, บรรณาธิการ. Pediatric critical care: Evolving conceps and current practice. กรุงเทพฯ: บียอนด์ เอ็นเทอร์ไพรซ์; 2553. หน้า 93-102.
  20. Bawa P, Soontarapornchai K, Perenyi A, Goldfisher R, Amodio J. Development of localized pulmonary interstitial emphysema in a late preterm infant without mechanical ventilation. Case Rep Pediatr. 2014;2014:429797.
  21. Janahi IA, Khan S, Chandra P, Al-Marri N, Saadoon A, Al-Naimi L, et al. A new clinical algorithm scoring for management of suspected foreign body aspiration in children. BMC Pulm Med. 2017;17:61.
  22. Oliveira CF, Almeida JF, Troster EJ, Vaz FA. Complications of tracheobronchial foreign body aspiration in children: Report of 5 cases and review of the literature. Rev Hosp Clin Fac Med Sao Paulo. 2002;57:108-11.
  23. Daines CL, Wood RE, Boesch RP. Foreign body aspiration: An important etiology of respiratory symptoms in children. J Allergy Clin Immunol. 2008;121:1297-8.
  24. Zoorob R, Sidani M, Murray J. Croup: An Overview. Am Fam Physician. 2011;83:1067-73.
  25. Sizar O, Carr B. Croup. StatPearls [Internet]. 2021 [cite 2021 Dec 12]. Available from: https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK431070/.
  26. Knutson D, Aring A. Viral croup. Am Fam Physician. 2004;69:535-40.
  27. Segal AO, Crighton EJ, Moineddin R. Croup hospitalizations in Ontario. Pediatrics. 2005;116:51-5.
  28. Durongpisitkul K, Suree Sompradeekul S, Nanagara R, Jakrapanichakul D, Wanitkun S, Limsuwan A, et al. Executive summary Thai pulmonary hypertension guidelines 2020. J Med Assoc Thai. 2021;104:679-95.
  29. Mullen MP. Pulmonary hypertension in children: Classification, evaluation, and diagnosis [Internet]. Wolter Kluwer. 2021 [cited 2021 Oct 13]. Available from: https://www.uptodate.com/contents/pulmonary-hypertension-in-children-classification-evaluation-and-diagnosis.
  30. Chottivittayatarakorn P. Pulmonary hypertension in children. Chula Med J. 1991;35(12):853-64.
  31. Ivy D. Pulmonary hypertension in children. Cardiol Clin. 2016;34(3):451-72.

Graphic Design และ Content Creator ที่หลงใหลในการเขียน Content และเชื่อว่า Content เป็นสิ่งสำคัญในการสื่อสารกับทุก ๆ คน