Gastrointestinal

ภาวะฉุกเฉินโรคทางเดินอาหารและโรคตับในเด็ก Gastrointestinal and Liver disease in Pediatric Emergency

ภาวะฉุกเฉินโรคทางเดินอาหารและโรคตับในเด็ก Gastrointestinal and Liver disease in Pediatric Emergency เป็นหนังสือที่ถูกเรียบเรียงโดยคณาจารย์แพทย์ที่มีความชำนาญเฉพาะทาง ได้แก่ กุมารแพทย์ด้านทางเดินอาหารและตับ รังสีแพทย์เฉพาะทางเด็ก และ กุมารศัลยแพทย์ของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เนื้อหาในหนังสือเล่มนี้มีความทันสมัยนำเสนอปัญหาและการแก้ปัญหาที่พบบ่อยในกุมารเวชปฏิบัติให้แพทย์ทั่วไป และนิสิตแพทย์มีความรู้ความเข้าใจ สามารถแก้ปัญหาเบื้องต้น และตัดสินใจส่งต่อผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสม

Gastrointestinal

หนังสือเล่มนี้ยังนำเสนอปัญหา โรคฉุกเฉิน โรคระบบทางเดินอาหารและโรคตับ ซึ่งมีสาเหตุจากการติดเชื้อ ไม่ติดเชื้อ เมแทบอลิก และโรคที่ผิดปกติแต่กำเนิด ซึ่งต้องได้รับการวินิจฉัย อย่างรวดเร็วและให้ การรักษาอย่างทันท่วงที

หนังสือเล่มนี้มีทั้งหมด 19 บท อ่านเข้าใจง่าย อีกทั้งยังมีคำถามท้ายบทให้ฝึกคิด อันจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับผู้อ่าน ซึ่งไม่ควรพลาดที่จะมีไว้

1. การกลืนกินสารกัดกร่อน (Caustic Ingestion)

การกลืนกินสารกัดกร่อน เช่น กรด ด่าง พบได้บ่อยในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี และพบเด็กผู้ชายมากกว่าเด็กผู้หญิง เพราะเป็นวัยอยากรู้อยากเห็น ชอบหยิบจับสิ่งของแปลกปลอมเข้าปาก มักเกิดขึ้นจากความไม่ตั้งใจ (accidental) ส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 70 กลืนด่าง ทำให้เกิดหลอดอาหารอักเสบ แผลลึก เนื้อตาย (deep liquefaction necrosis) อย่างมาก ทะลุ หรือตีบตัน และร้อยละ 20 กลืนสารกัดกร่อนประเภทกรด ทำให้เกิดเนื้อตายของเยื่อบุ (coagulation necrosis) และยังได้พบในช่วงวัยรุ่นหรือผู้ใหญ่ แต่สาเหตุของการกลืนสารกัดกร่อนนั้นเพื่อพยายามฆ่าตัวตาย ซึ่งตั้งใจที่จะกลืนกินในปริมาณมากกว่า และความเข้มข้นที่สูงกว่า ซึ่งแตกต่างจากสาเหตุของเด็ก ทำให้เกิดความรุนแรงได้มากกว่าในเด็กเล็ก1-3 สารกัดกร่อนนี้จะมีค่าระดับความเป็นกรด ด่าง (pH น้อยกว่า 2 หรือมากกว่า 12) จะทำให้เกิดอันตรายต่อเยื่อบุทางเดินอาหารส่วนต้นได้มาก เช่น ไหม้ ทะลุ เป็นแผลลึก เป็นต้น นอกจากนี้ความรุนแรงยังขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่สัมผัสและตำแหน่งได้อีก3

2. การกินสิ่งแปลกปลอมและ Bezoars (Gastrointestinal Foreign Body and Bezoars Ingestion)

Gastrointestinal

การกลืนสิ่งแปลกปลอมในเด็กมักพบได้บ่อย ส่วนใหญ่พบว่าเด็กเล็กมักจะกลืนเหรียญ แบตเตอรี่แบบกระดุม ของเล่นชิ้นเล็ก แม่เหล็ก เข็มกลัดซ่อนปลาย กระดูก สกรู และลูกแก้ว เป็นต้น4-6 ส่วนในเด็กโตและผู้ใหญ่มักจะพบภาวะอาหารติดค้างที่หลอดอาหาร (food impaction) มากกว่าในเด็กเล็ก1 ส่วนใหญ่การกลืนวัตถุ แปลกปลอมมักจะติดที่ตำแหน่ง cricopharyngeal หรือหูรูดหลอดอาหารส่วนต้นมากที่สุด รองลงมาที่ตำแหน่ง ตรงหลอดเลือด เอออร์ตา (aortic arch) และหูรูดหลอดอาหารส่วนปลาย พบว่าประมาณร้อยละ 30 ของ ผู้ป่วยเด็กมักจะไม่มีอาการ แต่บางครั้งอาจมีอาการสำลัก สะอึก ไอ มีน้ำลายไหลปริมาณมาก กลืนเจ็บ ปฏิเสธอาหาร อาเจียน มีเจ็บปวดบริเวณคอ หน้าอก หรืออาจจะมีอาการทางระบบหายใจได้ เช่น stridor, หายใจเสียงวี้ด เขียวหรือหอบเหนื่อย ซึ่งอาจแสดงถึงวัตถุแปลกปลอมติดต่อหรือทะลุกับหลอดลม หรือกล่องเสียงได้ บางครั้งทำให้เกิดคอบวม แดง และมีเสียง crepitation ใต้ผิวหนังได้7-9 และถ้าสิ่งแปลกปลอมที่มีขนาดใหญ่ ความยาวมากกว่า 5 ซม. หรือเส้นผ่านศูนย์กลางมากกว่า 2 ซม. ไม่สามารถผ่านตำแหน่งที่แคบในกระเพาะอาหารและลำไส้ ซึ่งได้แก่ ไพลอรัส (pylorus) ส่วนโค้งของดูโอดีนัม (duodenal curve), ligament of Treitz, ileocecal valve, ไส้ติ่งและ rectosigmoid junction ซึ่งอาจทำให้มีอาการปวดท้อง ภาวะลำไส้อุดกั้น ลำไส้ทะลุได้

3. อาเจียนเฉียบพลัน (Acute Vomiting)

อาการคลื่นไส้-อาเจียน เป็นอาการที่มีระดับความรุนแรงตั้งแต่น้อยไปถึงรุนแรงมาก และบางครั้ง ก็หายเองได้ อาการคลื่นไส้-อาเจียนอาจไม่จำเป็นต้องมาพร้อมกัน ยกตัวอย่างเช่น เนื้องอกสมอง ซึ่งไม่จำเป็นต้องคลื่นไส้นำมาก่อน หรือยาบางชนิดก็ได้ อาการคลื่นไส้-อาเจียนอาจจะเป็นสาเหตุจากหลายระบบได้ เช่น ระบบทางเดินอาหาร ระบบประสาท ไต และจิตเวช เป็นต้น ดังนั้น ควรมีการประเมินอย่างละเอียดต่อไป

4. ลำไส้อุดตันแต่กำเนิด (Congenital Intestinal Obstruction)

Gastrointestinal

ภาวะลำไส้อุดตันแต่กำเนิด พบได้ประมาณ 1 : 2,000 ของทารกแรกเกิด เป็นโรคที่พบได้บ่อยในทารกที่เข้ารับการผ่าตัด เนื่องจากมีพยาธิสภาพที่รบกวนความต่อเนื่องของลำไส้ ทำให้มีอาการของภาวะลำไส้อุดตัน แบ่งออกได้เป็น การตัน (atresia) และ การตีบ (stenosis) ของลำไส้

5. ลำไส้หมุนบิดตัว (Intestinal Volvulus)

การหมุนตัว (rotation) ตามภาวะปกติของลำไส้ คือ กระบวนการในช่วงระยะตัวอ่อนที่เกิด การเปลี่ยนผ่านจากทางเดินอาหารที่เหยียดตัวเป็นท่อตรงไปสู่การขดงอตัวไปมาและยึดเกี่ยวในตำแหน่งที่พบ ในช่วงแรกเกิด โดย duodenojejunal junction จะยึดตัวอยู่ในตำแหน่งด้านซ้ายบนของช่องท้อง และ cecum จะยึดตัวอยู่ในตำแหน่งด้านขวาล่างของช่องท้อง ลำไส้ส่วน midgut หมายถึง บริเวณที่ได้รับเลือดมาเลี้ยง ผ่านหลอดเลือดแดง superior mesenteric artery (SMA) ซึ่งปกติแล้วควรจะต้องมีฐานของตัว mesentery ที่กว้าง แต่ในทารกที่มีการหมุนตัวของลำไส้ที่ผิดปกติ (malrotation) ลำไส้จะไม่ถูกยึดในตำแหน่งที่ควรจะเป็น ทำให้ฐานของ mesentery แคบ และมีโอกาสบิดหมุนได้

6. โรคลำไส้โป่งพองแต่กำเนิด (Hirschsprung’s Disease)

Hirschsprung’s disease (HD) หรือ “congenital megacolon” คือ ภาวะที่ลำไส้ไม่มีปมประสาททั้งในชั้น myenteric และ submucosal plexuses โรคนี้ถูกกล่าวถึงในบทความทางการแพทย์เป็นครั้งแรก ในปี ค.ศ. 1887 โดย Harald Hirschsprung ซึ่งได้ใช้ชื่อของเขาเป็นชื่อโรคในเวลาต่อมา10

ผู้ป่วยเด็กโรคนี้จึงมักเสียชีวิตจากภาวะขาดสารอาหารและลำไส้อักเสบ เนื่องจากในสมัยนั้นยังไม่ทราบถึงกลไกการเกิดโรค ศัลยแพทย์ได้ผ่าตัดเอาลำไส้ส่วนที่ขยายตัวทิ้งไป แล้วให้ลำไส้เปิดทางหน้าท้อง (colostomy) ไว้ และต่อลำไส้กลับเข้าไปในภายหลัง แต่การรักษาก็ล้มเหลว จนกระทั่งค้นพบว่าสาเหตุเกิดจากการไม่มีปมประสาทของลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย ในปี ค.ศ. 1901 การผ่าตัดรักษาโรค Hirschsprung ประสบ ความสำเร็จครั้งแรก ในปี ค.ศ. 1949 โดย Swenson ได้เป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาวิธีการผ่าตัดที่สามารถ ลดความทุพพลภาพและอัตราการตายได้อย่างชัดเจนในปัจจุบัน

7. ปวดท้องเฉียบพลัน (Acute Abdominal Pain)

อาการปวดท้องเฉียบพลันในเด็กนั้นจะแสดงอาการออกมาได้หลายลักษณะ ขึ้นอยู่กับการรับ ความรู้สึกและความรุนแรงของอาการปวดท้อง มีอาการตั้งแต่รุนแรงน้อยไปจนถึงรุนแรงมาก จนทำให้เกิด การเสียชีวิตได้ บางครั้งอาการปวดท้องเฉียบพลันจะหายได้เอง โดยที่ลักษณะอาการปวดนั้นไม่ใช่ภาวะทางศัลยกรรม เช่น ท้องผูก อุจจาระร่วง ติดเชื้อไวรัส เป็นต้น

8. ไส้ติ่งอักเสบเฉียบพลัน (Acute Appendicitis)

โรคไส้ติ่งอักเสบเฉียบพลันเป็นภาวะฉุกเฉินทางศัลยกรรมที่พบบ่อยในเด็ก ซึ่งมีความท้าทาย ในการวินิจฉัยและให้การรักษา เนื่องจากผู้ป่วยเด็กมีข้อจำกัดด้านการสื่อสาร ทำให้แพทย์ต้องใช้ทักษะ ในการซักประวัติและการตรวจร่างกายด้วยความระมัดระวัง อีกทั้งผู้ป่วยไส้ติ่งอักเสบอาจมาพบแพทย์ได้ด้วยอาการหลากหลาย คลุมเครือ ต้องวินิจฉัยแยกโรคกับภาวะอื่น ๆ อีกมาก

9. ตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน (Acute Pancreatitis)

โรคตับอ่อนอักเสบเฉียบพลันเป็นโรคที่พบไม่บ่อยในเด็ก เกิดจากมีภาวะการอักเสบของตับอ่อน โดยอาจเกิดจากการอักเสบชนิดติดเชื้อหรือไม่ติดเชื้อก็ได้แล้วส่งผลกระทบต่ออวัยวะอื่น ๆ ร่วมด้วย ซึ่ง อาจเกิดขึ้นทันทีทันใด อาจมีอาการไม่นานและมักจะทุเลาดีขึ้นได้เอง หรือมีอาการแสดงออกที่รุนแรงจนถึงขั้น เสียชีวิตได้ ส่วนโรคตับอ่อนอักเสบเฉียบพลันที่เป็นซ้ำ ๆ (recurrent acute pancreatitis) คือ ภาวะที่มี การอักเสบของตับอ่อนเฉียบพลันซ้ำ ๆ มากกว่าหนึ่งครั้ง ซึ่งในเด็กพบได้ร้อยละ 10 โดยเป็นภาวะที่อยู่กึ่งกลางระหว่างตับอ่อนอักเสบเฉียบพลันกับตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง ผู้ป่วยที่มีการอักเสบของตับอ่อนเฉียบพลันซ้ำ ๆ นั้นบางส่วนจะกลายเป็นตับอ่อนอักเสบเรื้อรังได้ ซึ่งในเด็กนั้นมักเกิดจากความผิดปกติของโครงสร้างของตับอ่อน ตับอ่อนอักเสบไม่ทราบสาเหตุ โดยมีความแตกต่างกับโรคตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง (chronic pancreatitis) ซึ่งเป็นภาวะที่มีตับอ่อนอักเสบเรื้อรังตลอดเวลาทำให้เกิดพังผืด และหินปูนในตับอ่อน เกิดภาวะพร่องน้ำย่อย และภาวะพร่องทางต่อมไร้ท่อเกิดโรคเบาหวานได้ 1 โดยปกติแล้วตับอ่อนเป็นอวัยวะที่สำคัญของร่างกาย มีลักษณะเป็นต่อมขนาดใหญ่อยู่ด้านหลังกระเพาะอาหาร จัดเป็นอวัยวะในระบบทางเดินอาหาร ตับอ่อนประกอบด้วย 2 เซลล์ คือ เซลล์จากต่อมไร้ท่อ (endocrine gland) และเซลล์จากต่อมมีท่อ (exocrine gland) โดยต่อมไร้ท่อมีหน้าที่สร้างฮอร์โมนหลายชนิด เช่น ฮอร์โมนอินซูลิน กลูคากอน มีหน้าที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด และ ต่อมมีท่อมีหน้าที่สร้างน้ำย่อยอาหาร จะช่วยย่อยอาหารในลำไส้เล็ก เช่น การย่อยไขมัน11

10. โรคหลอดเลือดขนาดเล็กอักเสบ (Henoch Schonlein Purpura)

Henoch-Schonlein purpura คือ การอักเสบของหลอดเลือดขนาดเล็กซึ่งเกิดจาก leukocytoclastic vasculitis กับการสะสมของ Ig A1 immune complexes ในเนื้อเยื่อของหลอดเลือด ทำให้มีการอักเสบ ของหลอดเลือดขนาดเล็กในอวัยวะหลาย ๆ ระบบ เช่น ผิวหนัง ทางเดินอาหาร ไต ข้อ สาเหตุยังไม่ทราบแน่ชัด หรืออาจมียีนมาเกี่ยวข้อง เช่น HLA-B34, HLA-DRB1* 01 alleles หรือบางคนเป็นทั้งครอบครัว เช่น ครอบครัวเป็น familial Mediterranean fever, hereditary periodic fever syndrome, complement deficiency ก็จะทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคได้

11. ท้องร่วงเฉียบพลันในเด็ก (Acute Diarrhea in Children)

ท้องร่วงในเด็กเป็นปัญหาสำคัญที่พบบ่อยและอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กเสียชีวิตได้ โดยพบในประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี มักพบการติดเชื้อในระบบทางเดินอาหารจากเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส พยาธิ หรือโพรโทซัว หรือไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร โดยคำจำกัดความ “โรคท้องร่วง” ขององค์การอนามัยโลกว่า เป็นภาวะที่มีการถ่ายอุจจาระเหลวมากกว่าหรือเท่ากับ 3 ครั้ง/วัน หรือถ่ายมีมูก ปนเลือดอย่างน้อย 1 ครั้ง หรือถ่ายเป็นน้ำปริมาณมาก ๆ เพียงครั้งเดียวต่อวัน ส่วนการถ่ายบ่อยแต่ลักษณะอุจจาระเป็นปกติ หรือทารกแรกเกิดในระยะที่ถ่ายขี้เทา อุจจาระนิ่มเหลวถ่ายบ่อยครั้งไม่ถือว่าเป็นท้องร่วง ดังนั้น การถ่ายอุจจาระควรไม่เกินวันละ 200 กรัม ในเด็กโตและผู้ใหญ่ ส่วนในเด็กทารก ไม่เกิน 10 ก./กก./วัน เป็นเวลานานไม่เกิน 2 สัปดาห์

12. เยื่อบุช่องท้องอักเสบ (Peritonitis)

การอักเสบของเยื่อบุช่องท้อง (Peritonitis) แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ primary peritonitis หรือ spontaneous bacterial peritonitis (SBP) และ secondary peritonitis

1. Primary peritonitis หรือ Spontaneous bacterial peritonitis (SBP) หมายถึง การอักเสบหรือการติดเชื้อของเยื่อบุช่องท้องเองโดยไม่ได้เกิดจากความผิดปกติของอวัยวะ เช่น การแตกทะลุของอวัยวะ ในช่องท้อง การอักเสบของอวัยวะภายในช่องท้อง12-15

2. Secondary peritonitis หมายถึง การติดเชื้อของเยื่อบุช่องท้อง ที่เกิดจากการแตกทะลุของอวัยวะในช่องท้อง การแตกของไส้ติ่งอักเสบ การแตกของฝีในช่องท้อง เป็นต้น

13. ภาวะเลือดออกจากทางเดินอาหารส่วนล่างในเด็ก (Lower Gastrointestinal Bleeding in children)

ภาวะเลือดออกจากทางเดินอาหารนั้น มีเลือดออกได้จากทางเดินอาหารส่วนบนและส่วนล่างซึ่ง ความหมายของภาวะเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนบน (upper gastrointestinal bleeding; UGIB) คือ เลือดออกเหนือต่อตำแหน่งตรง ligament of Treitz ซึ่งอยู่ระหว่างลำไส้เล็กดูโอดีนัมกับเจจูนัม โดยเลือดออกสามารถออกมาได้ตั้งแต่หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และดูโอดีนัม ส่วนภาวะเลือดออกจากทางเดินอาหารส่วนล่าง (Lower gastrointestinal bleeding; LGIB) คือ เลือดออกจากส่วนล่างของตำแหน่ง ligament of Treitz โดยรวมตั้งแต่ลำไส้เล็กและลำไส้ใหญ่ Hematochezia คือ มีเลือดสีแดงสดออกมาจากลำไส้ตรง (rectum) แต่ส่วนใหญ่จะออกมาจากลำไส้ใหญ่ หรือทวารหนัก หรือในกรณีที่เลือดออกจากทางเดินอาหารส่วนบนปริมาณมากก็ทำให้พบลักษณะของ hematochezia ได้

14. ภาวะเลือดออกจากทางเดินอาหารส่วนบนในเด็ก (upper Gastrointestinal Bleeding in children)

ภาวะเลือดออกทางเดินอาหารส่วนบน ซึ่งตำแหน่งตั้งแต่เหนือ ligament of Treitz มักจะมีอาการอาเจียนเป็นเลือด (hematemesis) หรือถ่ายอุจจาระสีดำ (melena) แต่ถ้าถ่ายอุจจาระสีแดงสด (hematochezia) ส่วนใหญ่มักเกิดจากภาวะเลือดออกทางเดินอาหารส่วนล่างมากกว่า

15. ตับวายเฉียบพลัน (Acute Liver Failure)

ตับวายเฉียบพลัน คือ ภาวะที่ผิดปกติของระบบต่าง ๆ ร่วมกับการทำงานของตับบกพร่องอย่างรุนแรงเกิดจากเซลล์ตับจำนวนมากถูกทำลายพร้อม ๆ กัน โดยไม่มีโรคตับเรื้อรังมาก่อน ซึ่งจะมีอาการหรือไม่มีอาการทางสมองได้ ส่วนการวินิจฉัยภาวะตับวายเฉียบพลันในเด็กนั้น The Pediatric Acute Liver Failure (PALF) Study Group ได้ใช้เกณฑ์ดังนี้ คือ

1. ภาวะแข็งตัวของเลือดผิดปกติ (coagulopathy) ที่เกิดจากตับไม่ทำงานโดยให้วิตามิน เค ไปแล้วไม่ดีขึ้น คือ ยังมีค่า prothrombin time (PT) มากกว่าหรือเท่ากับ 15 วินาที หรือค่า international normalized ratio (INR) มากกว่าหรือเท่ากับ 1.5 ร่วมกับผู้ป่วยมีอาการทางสมอง ส่วนกรณีที่มีหรือไม่มีอาการทางสมองนั้น ได้ใช้ค่า PT มากกว่าหรือเท่ากับ 20 วินาที หรือ INR มากกว่าหรือเท่ากับ 2.0
2. ผลการตรวจเลือดพบว่ามีความผิดปกติที่แสดงว่ามีการทำลายของเซลล์ตับ
3. ไม่มีประวัติโรคตับเรื้อรังมาก่อน
ดังนั้น จะเห็นได้ว่าภาวะตับวายเฉียบพลันเป็นภาวะฉุกเฉินเร่งด่วน ซึ่งต้องการการวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้องรวดเร็วถึงแม้จะพบได้น้อยแต่ก็อันตรายต่อชีวิตได้

16. ผนังหน้าท้องโหว่ (Abdominal Wall Defect)

ผนังหน้าท้องโหว่ คือ ความผิดปกติของผนังหน้าท้อง อันเกิดจากการสร้างที่ไม่สมบูรณ์ตั้งแต่ระยะ ตัวอ่อน ทำให้มีรูโหว่ของผนังหน้าท้องได้หลากหลายรูปแบบ (variant) แบ่งตามตำแหน่ง ในบทนี้ จะกล่าวถึงโรค gastroschisis และ omphalocele เป็นสิ่งสำคัญเนื่องจากเป็นโรคที่พบบ่อย

17. ไส้เลื่อนขาหนีบและถุงน้ำอัณฑะ (Inguinal Hernia and Hydrocele)

โรคไส้เลื่อนขาหนีบ (inguinal hernia) เป็นหนึ่งในโรคทางศัลยกรรมที่พบบ่อยในเด็ก โดยทั่วไปมักหมายถึง indirect inguinal hernia มีเพียงส่วนน้อยที่เป็น direct inguinal hernia หรือ femoral hernia

18. การวินิจฉัยทางรังสีวิทยาในภาวะฉุกเฉินของโรคทางเดินอาหารในเด็ก (Diagnostic Radiology in Pediatric Gastrointestinal Emergency)

ทางเดินอาหารอุดตัน (Gut obstruction) 1. ลำไส้เล็กตันและตีบ (small bowel atresia and stenosis) อุบัติการณ์ พบได้ถึง 1 : 3,000-5,000 ราย ในทารกที่เกิดรอด1 สาเหตุ เชื่อว่าเกิดจากภาวะขาดเลือดของลำไส้เล็กตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา ทำให้ลำไส้ส่วนที่ขาดเลือดตาย ถ้าเป็นแค่บางส่วนก็ทำให้เกิดการตีบแคบ แต่ถ้าเป็นมากก็เกิดการตัน และอีกสาเหตุหนึ่ง คือ เกิดจาก การพัฒนาของลำไส้เล็กผิดปกติไม่เกิด recanalization ทำให้ลำไส้ตัน ถ้าตำแหน่งที่เกิดการตันอยู่ส่วนปลาย มาก ๆ เช่น ส่วนปลายของลำไส้ส่วนเจจูนัม จะทำให้ลำไส้ใหญ่ไม่มีการขยายตัว (microcolon)

19. การวินิจฉัยทางรังสีวิทยาในภาวะฉุกเฉินของโรคตับและท่อน้ำดีในเด็ก (Diagnostic Radiology in Pediatric Hepatobiliary Emergency)

ภาวะตัวเหลืองในผู้ป่วยเด็ก เกิดได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งหากเกิดจากโรคในตับและถุงน้ำดี การส่งตรวจเบื้องต้นทางรังสีวิทยาที่เหมาะสม คือ การทำอัลตราซาวด์ ซึ่งสามารถช่วยในการวินิจฉัยโรคหรือวินิจฉัย แยกโรคได้ เพราะข้อมูลเบื้องต้นที่ได้จากการทำอัลตราซาวด์ จะเป็นประโยชน์นำไปช่วยในการพิจารณาส่งตรวจทางรังสีที่จำเพาะเจาะจงเหมาะสมกับโรคนั้น ๆ ต่อไป ทั้งนี้การทำอัลตราซาวด์นั้นทำได้ง่าย สะดวก และไม่มีรังสี สามารถทำได้ตามที่ต้องการ

เอกสารอ้างอิง

  1. Khan S. Caustic ingestions. In: Kliegman RM, St. Geme III JW, Blum NJ, Shah SS, Tasker RC, Wilson KM, editors. Nelson textbook of pediatrics, 21th ed. Philadelphia: Elsevier ;2020. p. 1943-5. 2.
  2. Atay O. Chapter 49 Other diseases of the small intestine and colon. In: Wyllie R, Hyams JS, Kay M. editors. Pediatric gastrointestinal and liver disease 5 edition. Philadelphia: Elsevier; 2016. p. 595-6. 3.
  3. De Lusong MAA, Timbol ABG, Tuazon DJS. Management of esophageal caustic injury. World J Gastrointest Pharmacol Ther. 2017;8:90-8.
  4. Fung BM., Sweetser S., Wong Kee Song LM., Tabibian JH. Review foreign object ingestion and esophageal food impaction: An update and review on endoscopic management. World J Gastrointest Endosc 2019;11: 174-92. 2.
  5. Wyllie R. Foreign bodies in the gastrointestinal tract. Curr Opin Pediatr 2006;18:563.
  6. Waltzman ML, Baskin M, Wypij D, Mooney D, Jones D, Fleisher G. A randomized clinical trial of the management of esophageal coins in children. Pediatrics 2005;116:614-9.
  7. Kramer RE, Lerner DG, Lin T, Manfredi M, Shah M, Stephen TC, et al. Management of ingested foreign bodies in children: a clinical report of the NASPGHAN Endoscopy Committee. J Pediatr Gastroenterol Nutr 2015;60:562-74.
  8. Khan S. Foreign bodies in the esophagus. In: Kliegman RM, St. Geme III JW, Blum NJ, Shah SS, Tasker RC, Wilson KM, editors. Nelson textbook of pediatrics, 21 th ed. Philadelphia: Elsevier ;2020. p. 1942-3.
  9. Arana A, Hauser B, Hachimi-Idrissi S, Vandenplas Y. Management of ingested foreign bodies in childhood and review of the literature. Eur J Pediatr 2001;160:468.
  10. Jay V. Legacy of Harald Hirschsprung. Pediatr Devel Pathol 2001;4:203–4.
  11. Werlin S L, Wilschanski M. Acute pancreatitis In: Kliegman R M, Stanton B F, St Geme III J W, Schor N F, Behrman R E. Nelson textbook of pediatrics 21 th: Elsevier Philadelphia; 2018 :p. 8214-25, 8234-5.
  12. Caruntu FA, Benea L. Spontaneous bacterial peritonitis: pathogenesis, diagnosis, treatment. J Gastrointestine in Liver Dis 2006 ;15:51-6.
  13. Sheer TA, Runyon BA. Spontaneous bacterial peritonitis. Dig Dis 2005;23: 39-46.
  14. Jain P. Spontaneous bacterial peritonitis: few additional points. World J Gastroenterol 2009;15: 5754-5.
  15. Koulaouzidis A, Bhat S, Saeed AA. Spontaneous bacterial peritonitis. World J Gastroenterol 2009, 7;15:1042-9.

Graphic Design และ Content Creator ที่หลงใหลในการเขียน Content และเชื่อว่า Content เป็นสิ่งสำคัญในการสื่อสารกับทุก ๆ คน