ประวัติศาสตร์ดนตรีไทย ในจดหมายเหตุชาวฝรั่งเศส สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พ.ศ. 2199-2231

ประวัติศาสตร์ดนตรีไทย “เครื่องดนตรีสยามในจดหมายเหตุชาวฝรั่งเศส สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พ.ศ. 2199-2231” เป็นการนำเสนอผลจากการศึกษาค้นคว้าเรื่องเครื่องดนตรีสยามจากหลักฐานประเภทเอกสาร “จดหมายเหตุ” ของชาวฝรั่งเศสที่เดินทางเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับสยามในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ในช่วง พ.ศ. 2199-2231 โดยเป็นข้อมูลที่ได้จากเอกสารหลักฐานชั้นต้นในฉบับภาษาฝรั่งเศส พร้อมกับข้อมูล จากเอกสารฉบับแปลภาษาอังกฤษและฉบับแปลภาษาไทย ตลอดจนข้อมูลเอกสารจากประชุมพงศาวดารที่เกี่ยวข้อง จนนำมาสู่ข้อค้นพบด้านองค์ความรู้ใหม่ ข้อมูลดนตรีชุดใหม่ด้านเครื่องดนตรีไทย ตามหลัก Organology การจัดหมวดหมู่และประเภทเครื่องดนตรี โดยแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มเครื่องดนตรี คือ เครื่องกระทบ เครื่องลม เครื่องหนัง และเครื่องสาย ที่ปรากฏในหลักฐานเอกสารบันทึกจดหมายเหตุของชาวฝรั่งเศส

ประวัติศาสตร์ดนตรีไทย

สั่งซื้อหนังสือ

เนื้อหาภายในเล่มประกอบด้วย บทนำ สารัตถะประวัติศาสตร์ สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช บทที่ 1 จดหมายเหตุของชาวฝรั่งเศส สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช บทที่ 2 เครื่องกระทบ (Idiophones) บทที่ 3 เครื่องลม (Aerophones) บทที่ 4 เครื่องหนัง (Membranophones) บทที่ 5 เครื่องสาย (Chordophones) และบทสรุป

สัมภาษณ์นักเขียน

1. จดหมายเหตุของชาวฝรั่งเศส สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

การศึกษาข้อมูลประวัติศาสตร์ช่วงสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยานั้น มีหลักฐานหลายประเภทที่นักประวัติศาสตร์นิยมใช้ในการศึกษาประวัติศาสตร์ของกรุงศรีอยุธยา เช่น จารึก พระราชพงศาวดาร จดหมายเหตุชาวต่างชาติ คำให้การ วรรณกรรม หลักฐานทางด้านโบราณคดี และประวัติศาสตร์ศิลปะ เป็นต้น ฉะนั้น การศึกษาข้อมูลประวัติศาสตร์ด้านเครื่องดนตรีของชาวสยามช่วงสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชในครั้งนี้ ผู้เขียนมุ่งประเด็นศึกษาจากหลักฐานประเภทจดหมายเหตุ ที่บันทึกโดยชาวฝรั่งเศสและเดินทางเข้ามายังกรุงศรีอยุธยา ในแผ่นดินของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ระหว่างปี พ.ศ. 2199 ถึง 2231 (ค.ศ. 1656 ถึง ค.ศ. 1688)

ประวัติศาสตร์ดนตรีไทย

อันเป็นช่วงระยะเวลาที่ชาวฝรั่งเศสได้เข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยจดหมายเหตุของชาวฝรั่งเศสเหล่านี้ มักปรากฏข้อมูลหลายด้าน ทั้งด้านสังคม ด้านเศรษฐกิจ ด้านการเมืองการปกครอง ด้านการทูต ด้านการค้าขาย ด้านศาสนา ด้านประเพณี ตลอดจนด้านดนตรีและศิลปวัฒนธรรมของชาวสยาม โดยเฉพาะข้อมูลด้านดนตรี และศิลปวัฒนธรรมของชาวสยามที่ปรากฏในจดหมายเหตุของชาวฝรั่งเศสนั้น พบว่าข้อมูลอีกจำนวนหนึ่ง

ซึ่งเป็นส่วนสำคัญยังไม่ปรากฏในหลักฐานหรือการศึกษาประเภทอื่น ตลอดจนการศึกษาค้นคว้าและการนำเสนอข้อมูลจากจดหมายเหตุชาวฝรั่งเศส ในช่วงสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชที่ปรากฏทั้งในรูปแบบหนังสือ งานวิจัย วิทยานิพนธ์ หรือบทความทางวิชาการนั้น พบว่าการศึกษาค้นคว้าข้อมูลด้านดนตรีและศิลปวัฒนธรรมของ ชาวสยามจากจดหมายเหตุชาวฝรั่งเศสในช่วงเวลาดังกล่าวยังมีอยู่อย่างจำกัด ดังนั้น จดหมายเหตุที่บันทึก โดยชาวฝรั่งเศสกลุ่มนี้ จึงมีคุณค่าและความสำคัญต่อการศึกษาทางด้านศิลปวัฒนธรรมดนตรีของชาวสยาม แห่งกรุงศรีอยุธยา

2. เครื่องกระทบ (Idiophones)

เครื่องกระทบที่ปรากฏในเอกสารจดหมายเหตุนั้น สามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ ตามแนวการจำแนกเครื่องดนตรีโลก ประเภทแรกนี้ ได้แก่ เครื่องกระทบ ทั้งนี้ เครื่องดนตรีประเภทกระทบนั้นมีความหลากหลาย และมีการจัดกลุ่มเป็นกลุ่มย่อยภายใต้เครื่องดนตรีตระกูลเครื่องกระทบดังกล่าว โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภทย่อย ตามวัสดุของเครื่องดนตรี ได้แก่ เครื่องกระทบชนิดทำจากไม้และเครื่องกระทบชนิดทำจากโลหะ เครื่องกระทบทั้งสองกลุ่มสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ เครื่องกำกับจังหวะ (Rhythmic Idiophone) และเครื่องที่ทำทำนอง (Melodic Idiophone) โดยเครื่องดนตรีที่ปรากฏในแต่ละประเภทนั้นทำหน้าที่การบรรเลงต่างกัน ดังรายละเอียดต่อไปนี้

3. เครื่องลม (Aerophones)

ประวัติศาสตร์ดนตรีไทย

เครื่องลมที่พบในจดหมายเหตุชาวฝรั่งเศสนี้ เป็นเครื่องลมประเภทเครื่องเป่าบริเวณส่วนปลายท่อของเครื่องดนตรี (edge-blown wind instrument) ปรากฏ 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 เครื่องเป่าชนิดที่ทำมาจากสัตว์ ได้แก่ เขาสัตว์และสังข์ (conch shell) กลุ่มที่ 2 คือ เครื่องเป่าชนิดที่ทำจากโลหะตระกูลแตรชนิดต่าง ๆ รวมทั้งเครื่องดนตรีกลุ่มนี้เป็นคำที่พบในหลายบริบทของจดหมายเหตุ เช่น คำว่า “แตร” “แตรงอน” “แตรลำโพง” กลุ่มที่ 3 คือ เครื่องเป่าชนิดไม้หรือที่เรียกว่า เครื่องลมไม้ ซึ่งประกอบไปด้วยปี่และขลุ่ย ดังรายละเอียดต่อไปนี้

4. เครื่องหนัง (Membranophones)

ประวัติศาสตร์ดนตรีไทย

เครื่องหนังในที่นี้หมายถึง เครื่องดนตรีประเภทที่ทำให้เกิดเสียงด้วยการสั่นสะเทือนของแผ่นหนัง ตามเกณฑ์การจัดหมวดหมู่เครื่องดนตรีโลกได้จัดเป็นหมวดที่เรียกว่า เครื่องหนัง (membranophone) โดยแผ่นหนังจะถูกขึงไว้ให้เป็นหน้ากลอง ทั้งที่เป็นการขึงหนังหน้าเดียวและการขึงหนังทั้งสองด้าน มีกระบวนการบรรเลงทั้งในรูปแบบการใช้มือตี ไม้ตี และการไกวลูกตุ้มให้กระทบบนหน้ากลอง ตลอดจนข้อมูลเครื่องหนังที่ปรากฏในเอกสารจดหมายเหตุนั้น สามารถอธิบายการใช้งานเครื่องหนังชนิดต่าง ๆ ในบริบทที่แตกต่างกัน ดังการระบุคำซึ่งเป็นชื่อเรียกและประเภทเครื่องหนังที่ปรากฏในจดหมายเหตุคือ กลอง กลองชัย กลองศึก กลองชนะ กลองโยน กลองสองหน้า กลองหน้าเดียว โทน ตะโพน และตะลุงปุงปัง สามารถจัดกลุ่มคำแบ่งออกเป็น 8 กลุ่มคำ ดังนี้ กลุ่มที่ 1 คำว่า “กลอง” กลุ่มที่ 2 คำว่า “กลองชัย” “กลองศึก” กลุ่มที่ 3 คำว่า “กลองชนะ” “กลองโยน” กลุ่มที่ 4 คำว่า “กลองสองหน้า” “กลองหน้าเดียว” กลุ่มที่ 5 คำว่า “โทน” กลุ่มที่ 6 คำว่า “ตะโพน” กลุ่มที่ 7 คำว่า “ตะลุงปุงปัง” “ปงปัง” กลุ่มที่ 8 ข้อสันนิษฐาน “กลองทัด” โดยมีข้อมูลและรายละเอียดต่อไปนี้

5. เครื่องสาย (Chordophones)

เครื่องสายเป็นเครื่องดนตรีที่มีจุดกำเนิดเสียงจากการสั่นสะเทือนของสายที่อยู่ในลักษณะขึงตึงกับหลักยึดสองส่วน ในการจัดหมวดหมู่เครื่องดนตรีโลกนั้น เครื่องสายเรียกว่า “คอร์โดโฟน (chordophone)” เป็นหมวดหนึ่งในการจำแนกประเภทเครื่องดนตรี ซึ่งหมวดหมู่นี้ยังสามารถแยกออกเป็นเครื่องสายอื่นอีกหลายประเภท เช่น ซิเทอร์ (zither) ลิวท์ (lute) ไลร์ (lyre) และฮาร์ป (harp) (Curt Sachs, 1942) ดังนั้น ลักษณะของเครื่องดนตรีที่ถูกจัดเข้าหมวดหมู่นี้จะมีส่วนประกอบพื้นฐานของเครื่องดนตรีที่คล้ายกัน เช่น สาย วิธีการยึดสาย กล่องเสียง ส่วนปรับระดับเสียง วิธีการทำให้เกิดเสียงด้วยการดีดหรือการสีด้วยคันชัก (bowed string instrument) เป็นต้น

ประวัติศาสตร์ดนตรีไทย

ส่วนเครื่องสายไทยเป็นกลุ่มเครื่องดนตรีที่มีวิธีการแบ่งตามทฤษฎีดนตรีไทยแบ่งออกเป็น 2 หมวด คือ หมวดเครื่องดีดกับเครื่องสี โดยเครื่องดีดประกอบไปด้วยกระจับปี่ (จัดเป็นเครื่องประเภทลิวท์) จะเข้ (จัดเป็นเครื่องประเภทซิเทอร์ (zither)) ส่วนเครื่องสายประเภทสีด้วยคันชัก (bowed instrument) ได้แก่ ซอชนิดต่าง ๆ คือ ซอสามสาย ซอด้วง และซออู้ ซึ่งเครื่องดนตรีทั้งสองกลุ่มนี้ ปรากฏใช้ในวงดนตรีไทยมาตรฐาน ได้แก่ วงเครื่องสายและวงมโหรี

ด้านประวัติความเป็นมาของเครื่องสายไทยนั้นยังเป็นที่โต้แย้งกันถึงรากฐานที่มาของเครื่องดนตรีที่ปรากฏเป็นสองแนวคิดแตกต่างกัน กล่าวคือความเห็นที่ 1 กลุ่มนักวิชาการที่มีความเชื่อว่า เครื่องสายได้รับอิทธิพลมาจากประเทศจีน (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, 2499) แต่อีกความเห็นได้โต้แย้งด้วยการพยายามชี้ให้เห็นว่า เครื่องดนตรีเป็นผลผลิตของบรรพบุรุษชาวสยามในสมัยที่ยังตั้งรกรากอยู่ทางตอนใต้ของประเทศจีนเมื่อราว ปี พ.ศ. 310 และชาวจีนได้รับอิทธิพลทางดนตรีของชนชาวไทยในสมัยดังกล่าว (มนตรี ตราโมท, 2528) แต่ความเห็นของทั้งสองแนวคิดนี้ยังไม่เป็นที่ยุติ ประกอบกับการให้เหตุผลของแนวคิดฝ่ายหลัง เริ่มมีน้ำหนักและสร้างความน่าสนใจของการค้นคว้าทางประวัติศาสตร์ทางวัฒนธรรมดนตรีของไทย

เนื่องด้วยเครื่องสายในวัฒนธรรมราชสำนักสยามเป็นดนตรีสำหรับการขับกล่อมในพระบรมมหาราชวัง และประกอบในพระราชพิธีเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์เท่านั้น วงดนตรีดังกล่าว ได้แก่ วงขับไม้ บรรเลงพิณ และวงมโหรี ตลอดจนข้อมูลตามประวัติศาสตร์ด้านดนตรีได้บันทึกไว้ว่า เครื่องสายที่ปรากฏในสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานีนั้น ได้แก่ ซอพุงตอ (สันนิษฐานว่า เป็นซอสามสาย ในปัจจุบัน) และกระจับปี่เป็นเครื่องสายที่เกิดขึ้น นับแต่ยุคสมัยดังกล่าวเป็นต้นมา (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, 2499) ตามที่ปรากฏข้อมูลระบุถึงเครื่องดนตรีดังกล่าวในวรรณกรรมพุทธศาสนาสมัยสุโขทัย ดังที่นักวิชาการ 2 ท่าน คือ อุทิศ นาคสวัสดิ์ และธนิต อยู่โพธิ์ ที่กล่าวถึงตรงกันว่า ซอพุงตอ ที่ปรากฏในไตรภูมิพระร่วงของพระมหาธรรมราชา ปรากฏการเรียกชื่อซอสามสาย ที่สันนิษฐานว่า ในสมัยก่อนคงเรียกว่า “ซอ” เท่านั้น และมีความนิยมมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยเป็นอย่างน้อย (อุทิศ นาคสวัสดิ์, 2530) (ธนิต อยู่โพธิ์, 2523) ส่วนเครื่องสายประเภทซออีก 2 ชนิด ได้แก่ ซอด้วงและซออู้นั้น มีหลักฐานปรากฏเป็นลายลักษณ์เมื่อสมัยกรุงศรีอยุธยา ฉะนั้น จึงเป็นสมมติฐานเบื้องต้นว่าจดหมายเหตุที่บันทึกเครื่องดนตรีในสมัยกรุงศรีอยุธยานั้น มีการกล่าวถึงเครื่องสาย ได้แก่ ซอสามสาย ซอด้วง ซออู้ กระจับปี่ และจะเข้

จากการศึกษาข้อมูลดนตรีในจดหมายเหตุที่บันทึกโดยชาวฝรั่งเศสนั้น พบข้อมูลเครื่องดนตรีใน กลุ่มเครื่องสายจำนวนไม่มากนัก โดยปรากฏข้อมูลเครื่องดนตรีเพียง 2 ลักษณะ คือ กลุ่มเครื่องสี (Bowed instrument หรือ fiddle) และกลุ่มเครื่องดีด (lute หรือ plucked lute)

ประวัติศาสตร์ดนตรีไทย

หนังสือเล่มนี้จะสนับสนุนการเรียนรู้และเติมเต็มความเข้าใจข้อมูล เชิงประวัติศาสตร์ดนตรีไทย ทฤษฎีดนตรีไทย หลักการจัดหมวดหมู่และประเภทเครื่องดนตรีของไทย ที่นอกจากจะเป็นการขยายผลและต่อยอดองค์ความรู้ข้อมูลดนตรีไทยเชิงประวัติศาสตร์ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นแล้ว หนังสือเล่มนี้ยังสามารถใช้เป็นแหล่งข้อมูลอ้างอิงมาตรฐานต่อการศึกษาและการค้นคว้าทางประวัติศาสตร์ดนตรีไทย และลักษณะเครื่องดนตรีของไทยให้กับผู้เรียน ครู อาจารย์ นักวิชาการ และผู้สนใจทางดนตรีในวงกว้างได้อีกด้วย

เอกสารอ้างอิง

ธนิต อยู่โพธิ์. (2523). เครื่องดนตรีไทยพร้อมด้วยตำนานการผสมวงมโหรี ปี่พาทย์ และเครื่องสาย (พิมพ์
ครั้งที่ 3). พระนคร: โรงพิมพ์การศาสนา.

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. (2499). อธิบายเรื่องเครื่องมโหรีปี่พาทย์. อนุสรณ์
ในงานพระราชทานเพลิงศพพระยาวิศุกรรมศิลปะประสิทธิ์ (น้อย ศิลปี) ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส
วันที่ 12 พฤศจิกายน 2499.

อุทิศ นาคสวัสดิ์. (2530). ทฤษฎีและการปฏิบัติเครื่องดนตรีไทย ภาค 1 ว่าด้วยหลักและทฤษฎีดนตรีไทย
(พิมพ์ครั้งที่ 5). กรุงเทพฯ: ศิริวิทย์.

Sachs, C. (1942). The History of Musical Instruments. London: J.M. Dent and Sons.

Graphic Design และ Content Creator ที่หลงใหลในการเขียน Content และเชื่อว่า Content เป็นสิ่งสำคัญในการสื่อสารกับทุก ๆ คน