international economics

เศรษฐศาสตร์ การค้าระหว่างประเทศ

เศรษฐศาสตร์ การค้าระหว่างประเทศ ในโลกาภิวัฒน์ทำให้ประเทศมีการเชื่อมโยงกันทางการเมือง สังคมและทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะทางด้านการค้า การบริการ และการลงทุนระหว่างประเทศ มากกว่าที่เคยเป็นมาในอดีตกลายเป็นเศรษฐกิจโลก ความเชื่อมโยงเศรษฐกิจของโลกให้เป็นหนึ่งเดียวนี้ทำให้วิชาเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศมีความสำคัญมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในต้นศตวรรษที่ 21 การกำหนดนโยบายที่เป็นผู้นำทางธุรกิจในแต่ละประเทศ ทำให้เกิด การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดการพึ่งพิงกันระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา อัตราการค้าระหว่างประเทศสูงขึ้นประมาณร้อยละ 10 ต่อปี ซึ่งจะส่งผลต่ออัตราความเจริญเติบโต ของประเทศได้ ในบทนี้จะทำการอธิบายถึง ความเป็นมาของการค้าระหว่างประเทศ เหตุผลที่ต้องศึกษาการค้าระหว่างประเทศ ความหมายของการค้าระหว่างประเทศ ขอบเขตการค้าระหว่างประเทศโดยเน้นเศรษฐกิจ ของไทยในเศรษฐกิจโลก ดังรายละเอียดต่อไปนี้

การค้าระหว่างประเทศ

1. ประเทศไทยในเศรษฐกิจโลก

  1. การค้าระหว่างประเทศ เป็นวิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับ ความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจของประเทศ ตั้งแต่ 2 ประเทศขึ้นไป ซึ่งความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจนั้น อาจอยู่ในรูปแบบของการซื้อ-ขายแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการซึ่งกันและกัน โดยมีเงินตรา อัตราแลกเปลี่ยนในเงินตราสกุลที่ประเทศนั้น ๆ ต้องการ เมื่อเกิดการซื้อขายแลกเปลี่ยนกันย่อมทำให้ประเทศคู่ค้า สามารถเกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยี หรือวิทยาการสมัยใหม่ที่ประเทศสามารถถ่ายทอดถึงกันได้ และประการสุดท้ายเกิดการเคลื่อนย้ายปัจจัยการผลิตอัน ได้แก่ ทุน แรงงาน และผู้ประกอบการแก่กัน
  2. การค้าระหว่างประเทศ ทำให้เกิดความชำนาญเฉพาะในการผลิตสินค้าและบริการขึ้น การค้าระหว่างประเทศ ทำให้เกิดการจัดสรรทรัพยากรของโลกให้มีประสิทธิภาพ
  3. การค้าระหว่างประเทศ ทำให้เกิดความแตกต่างในด้านความชำนาญ และความเหมาะสมของปัจจัยในการผลิตของแต่ละประเทศ ทำให้เกิดการค้าระหว่างประเทศ ประโยชน์จากความเชี่ยวชาญในการผลิตและการค้าระหว่างประเทศในระดับบุคคล
  4. ขอบเขตของการศึกษาเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับผลได้จากการค้าระหว่างประเทศ รูปแบบทางการค้าระหว่างประเทศ สัดส่วนของการค้าระหว่างประเทศ นโยบายทางการค้าระหว่างประเทศ ดุลการชำระเงินของประเทศ ตลอดจนตัวกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ

ความเป็นมาของ การค้าระหว่างประเทศ

ในอดีตการค้าระหว่างประเทศได้ถูกกล่าวถึงในเศรษฐศาสตร์มหภาคโดยนักเศรษฐศาสตร์ ชาวอังกฤษชื่อ อดัม สมิท (Adam Smith) ได้อธิบายถึงแนวคิดเกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศ ในหัวข้อการส่งออกและ การนำเข้าสินค้าและบริการของประเทศไว้ในหนังสือเศรษฐศาสตร์ จนกลายมาเป็นหนังสือเศรษฐศาสตร์เล่มแรกของโลก ชื่อหนังสือเล่มนั้นคือ “ความมั่งคั่งของประชาชาติ” (The wealth of Nation) ออกเผยแพร่ใน ค.ศ. 1776 (หรือ พ.ศ. 2319) ซึ่งสรุปสาระสำคัญในหนังสือว่า “ประเทศจะมีความมั่งคั่งสมบูรณ์ได้ต้องมีการส่งออกสินค้าที่ผลิตได้ภายในประเทศมากกว่าการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศจะทำให้ดุลการค้าและดุลการชำระเงินของประเทศดีขึ้น” (วิกิพีเดีย, 2562)

การค้าระหว่างประเทศ

ต่อมา มีนักเศรษฐศาสตร์อีกหลายท่านที่ได้ขยายแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ ที่โดดเด่น คือ เดวิด ฮู ม (David Hume) นักเศรษฐศาสตร์ชาวอังกฤษได้แสดงให้เห็นถึงแนวคิดระบบทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ที่เป็นรูปธรรมสามารถสังเกตได้จากความมั่งคั่งของชาติของอดัม สมิท จนกลายเป็นเศรษฐศาสตร์คลาสสิคของศตวรรษที่ 18 ซึ่งเดวิด ฮูม ได้อธิบาย ดุลการค้า การนำเข้าและการส่งออกในช่วงศตวรรษที่ 17 ในขณะนั้นประเทศต่าง ๆ ยังไม่ได้ให้ความสนใจในการค้าระหว่างประเทศมากนัก เพราะเป็นเรื่องใหม่ที่ยุคนั้นยังไม่เข้าใจถึงระบบการค้าระหว่างประเทศมากนัก

ประกอบกับประเทศส่วนใหญ่ยังมีปริมาณการผลิตสำหรับการบริโภคในประเทศเท่านั้น ไม่ได้มีการผลิตที่เหลือไว้สำหรับการส่งออก เดวิด ฮูม ได้ตีพิมพ์ในหนังสือ Political Discourses อธิบายการค้าเสรีของอังกฤษ ได้แก่ กลไกกระแสราคาและเงินตรา ทฤษฎีปริมาณเงิน ทฤษฎีการขยายตัวของมูลค่า การค้าระหว่างประเทศ และการลดต่ำลงของอัตราดอกเบี้ยตามปรากฏการณ์ที่แท้จริงและได้คัดค้านแนวคิดลัทธิพาณิชย์นิยมที่เชื่อว่า ความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจจะเพิ่มปริมาณทองคำในประเทศในให้สูงสุด ไม่เชื่อว่าการค้า ต่างประเทศจะสร้างเงินตรา แต่มองว่าการค้าเป็นตัวกระตุ้นความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ความมั่งคั่งวัดด้วยปริมาณโภคภัณฑ์ของชาติไม่ใช้วัดที่ปริมาณเงิน การค้าระหว่างประเทศทำให้ทุกฝ่ายได้ผลได้ตอบแทน (ภราดร ปรีดาศักดิ์, 2549)

2. สถาบันหรือองค์กรทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ

ในบทที่ 1 ได้ทำการอธิบายถึง การค้าระหว่างประเทศในภาพรวมทั่ว ๆ ไปที่จะทำให้ผู้เรียนเข้าใจ ถึงการค้าระหว่างประเทศว่า คืออะไร มีความสำคัญอย่างไร ต่อประเทศบ้าง และประเด็นสำคัญที่จะต้องทำการศึกษาในรายละเอียด ถึงส่วนที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศในมิติต่าง ๆ เช่น มูลค่าและปริมาณของ การส่งสินค้าออก การนำเข้าสินค้า สัดส่วนการค้า รูปแบบการค้า ดุลการค้า ดุลการชำระเงิน ตลอดจนเครื่องมือ ที่จะนำมาใช้ในการอธิบายการค้าระหว่างประเทศ ว่าเป็นอย่างไรและมีรายละเอียดอย่างไร

อย่างไรก็ตาม ในยุคโลกาภิวัฒน์เมื่อประเทศต่างมีการค้าระหว่างประเทศซึ่งกันและกันแล้ว สิ่งหนึ่ง ที่แต่ละประเทศต้องพิจารณา คือ การกำหนดนโยบายการค้าระหว่างประเทศของตนที่จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศมากที่สุด ซึ่งนโยบายการค้าระหว่างประเทศเหล่านั้น ย่อมมีความแตกต่างกัน บางนโยบายที่ทำการปกป้องสินค้าภายในประเทศ อาจเป็นนโยบายที่เป็นอุปสรรคต่อการค้าระหว่างประเทศและอาจเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึง แหล่งทรัพยากรหลักในต่างประเทศได้

3. ทษฎีการค้าระหว่างประเทศแบบดั้งเดิมและผลที่ได้จากการค้า

ในบทนี้จะเริ่มอธิบายทางด้านอุปทานก่อน นั่นคือ ทำการอธิบายทางด้านการผลิตสินค้าของแต่ละประเทศ เพื่อค้นหาคำตอบว่า แต่ละประเทศควรจะทำการผลิตสินค้าอะไร ภายใต้ทรัพยากรที่แตกต่างกัน ประเทศควรส่งสินค้าใดออกไปขายต่างประเทศบ้างหากมีปัจจัยการผลิต คือ แรงงานที่มีอยู่แตกต่างกัน ในบทนี้จะมุ่งไปที่การวิเคราะห์ถึงความได้เปรียบทางด้านการผลิตของแต่ละประเทศ โดยพิจารณาจากพื้นฐานของทฤษฎีทางด้านอุปทาน ได้แก่ ทฤษฎีการได้เปรียบอย่างสมบูรณ์ และทฤษฎีการได้เปรียบโดยเปรียบเทียบของริคาร์โด จนเกิดการทำการค้าระหว่างประเทศกัน ซึ่งในเบื้องต้นการวิเคราะห์หาความได้เปรียบสำหรับการค้าระหว่างประเทศนั้น ในหัวข้อจะอธิบายแนวคิดการค้าระหว่างประเทศแบบดั้งเดิม มีแนวคิดมาจากลัทธิพาณิชย์นิยม พัฒนาเป็นทฤษฎีการได้เปรียบโดยสมบูรณ์และทฤษฎีการได้เปรียบโดยเปรียบเทียบซึ่งในหัวข้อนี้จะได้อธิบาย ในบทนี้

4. ทฤษฎีปัจจัยการผลิตเฉพาะและการกระจายรายได้

ในบทที่ 3 ได้อธิบายถึง ทฤษฎีการค้าระหว่างประเทศที่ใช้อธิบายความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบ ของประเทศโดยพิจารณาปัจจัยด้านแรงงานชนิดเดียว และได้อธิบายถึงเบื้องหลังการตัดสินใจของประเทศ ในการเลือกทำการส่งออกสินค้าประเภทใด และประเทศจะทำการผลิตสินค้าใดอยู่บนพื้นฐานของการได้เปรียบโดยเปรียบเทียบ ซึ่งการค้าระหว่างประเทศนี้สามารถจะให้ประโยชน์ร่วมกันของประเทศที่เข้าร่วมในการค้าระหว่างประเทศ ในทฤษฎีริคาร์โดได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ประโยชน์ทางการค้าระหว่างประเทศจะนำไปสู่ ความชำนาญพิเศษในการผลิตสินค้า ตามทฤษฎีริคาร์โด กล่าวว่า ไม่เพียงแต่ทุกประเทศได้รับประโยชน์ จากการค้าแต่บุคคลทุกส่วนได้รับผลได้ที่ดีจากการค้า เพราะการค้าจะไม่มีผลกระทบต่อการกระจายรายได้ แต่ในโลกความเป็นจริงการค้าระหว่างประเทศทำให้เกิดจากการกระจายรายได้ด้วยเหตุผล 2 ประการ คือ

1) ทรัพยากรหรือปัจจัยการผลิตไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างทันทีทันใดหรือไม่มีต้นทุนค่าเคลื่อนย้ายจากอุตสาหกรรมหนึ่งไปยังอุตสาหกรรมหนึ่ง
2) อุตสาหกรรมมีความต้องการใช้ปัจจัยการผลิตที่แตกต่างกัน การที่ประเทศมีความต้องการบริโภคสินค้าทั้ง 2 อย่าง หากต้องการสินค้าอย่างหนึ่งมากกว่าอีกอย่างหนึ่ง จะต้องลดความต้องการสิ่งหนึ่งลง และไปเพิ่มความต้องการอีกสิ่งหนึ่ง ด้วยเหตุผล 2 ประการนี้ ทำให้ผลได้จากการค้าระหว่างประเทศไม่แน่ชัดในภาพรวมของโลก แต่ทำให้เกิดผลเสียต่อประเทศเฉพาะกลุ่มได้ เช่น ประเทศ A มีการนำเข้าสินค้าข้าวเพียงเล็กน้อยแม้ว่าจะขาดแคลนที่ดินมาก ซึ่งหมายถึงการปลูกข้าวในประเทศ A จะมีราคาแพงเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก ซึ่งมีคำถามว่าหากประเทศ A มีการนำเข้ามากจะทำให้แรงงานในประเทศ A ได้รับผลกระทบจากการนำเข้าและไม่สามารถหางานในอุตสาหกรรมหรือบริการในระบบเศรษฐกิจ ที่มีการว่าจ้างงานเต็มที่ ทำให้มูลค่าในการจ้างงาน และมูลค่าที่ดิน เปลี่ยนแปลงตามราคาสินค้า (Krugman, & Obstfeld, 2009

5. ทฤษฎีการค้าระหว่างประเทศสมัยใหม่

ในบทที่ 4 ได้กล่าวถึง เมื่อประเทศมีการค้าระหว่างประเทศแล้ว ผลของการกระจายรายได้เป็นอย่างไร ถ้ากำหนดให้แบบจำลองที่ใช้พิจารณาเป็นแบบจำลองการผลิตที่มีการใช้ปัจจัยเฉพาะเป็นปัจจัยการผลิตของประเทศที่ใช้ในการผลิตสินค้า ความได้เปรียบในการผลิตสินค้าของประเทศย่อมเกิดจากประสิทธิภาพการผลิตของปัจจัยที่มีความแตกต่างกันระหว่างประเทศตามที่ทฤษฎีความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบที่ได้อธิบายไว้ในบทก่อน ๆ

อย่างไรก็ตาม ประเทศแต่ละประเทศไม่ได้มีปัจจัยการผลิตแต่เพียงอย่างเดียว และแต่ละประเทศย่อมมีทรัพยากร หรือปัจจัยการผลิตที่แตกต่างกันออกไป บางประเทศมีปัจจัยทางด้านแรงงานมาก ในขณะที่บางประเทศมีปัจจัยทางด้านทุนมาก หรือบางประเทศมีปัจจัยทางด้านทรัพยากรอื่น เช่น แร่หรือทรัพยากรธรรมชาติอื่น ๆ มากกว่าประเทศอื่น หรือมีทรัพยากรที่มีความแตกต่างกัน ซึ่งความแตกต่างกันของประเทศที่มีปัจจัยทางทรัพยากรที่ต่างกัน ย่อมทำให้ประเทศมีความได้เปรียบจากทรัพยากรที่มีมากกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นในการผลิตสินค้า จนเกิดการพัฒนาทฤษฎีการค้าระหว่างประเทศ จนกลายเป็นทฤษฎีการค้าระหว่างประเทศสมัยใหม่ (Chipman, 1965)

6. ทฤษฎีการค้ามาตรฐาน

ในบทที่ผ่านมาได้มีการอธิบายถึง ทฤษฎีการค้าระหว่างประเทศ ในด้านอุปทานไปแล้วถึง 3 ทฤษฎี ได้แก่ ทฤษฎีการได้เปรียบโดยเปรียบเทียบของริคาร์โด ทฤษฎีปัจจัยการผลิตเฉพาะอย่าง และทฤษฎีสัดส่วนปัจจัยการผลิตของเฮกเชอร์-โอลิน ซึ่งทั้ง 3 ทฤษฎีนั้นมีความแตกต่างกัน กล่าวคือ ทฤษฎีความได้เปรียบของริคาร์โด เน้นความได้เปรียบที่ได้จากประสิทธิภาพการผลิตของแรงงานที่ใช้ในการผลิตสินค้า ทฤษฎีปัจจัยการผลิตเฉพาะอย่างพิจารณาความได้เปรียบเมื่อเทียบจากการใช้แรงงาน หรือทุนอย่างมีประสิทธิภาพ และได้คำนึงถึงต้นทุน ค่าเสียโอกาสของการใช้ปัจจัยการผลิต และทฤษฎีสัดส่วนปัจจัยการผลิตของเฮกเช่อร์-โอลินได้เน้นการเลือกใช้ปัจจัยการผลิตจากทรัพยากรที่ประเทศมีจำนวนมาก ประเทศควรเลือกใช้ปัจจัยการผลิตในสัดส่วนอย่างไร จึงจะทำให้ได้เปรียบ และพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างราคาสินค้า ราคาปัจจัยการผลิตและผลผลิต เพื่อให้เห็นการเปรียบเทียบที่ทำให้ประเทศเลือกใช้ปัจจัยการผลิตที่เหมาะสม

7. การประหยัดต่อขนาด ตลาดแข่งขันไม่สมบูรณ์ และการค้าระหว่างประเทศ

ในบทก่อน ๆ ได้อธิบายถึงเหตุผลว่า ทำไมประเทศจึงทำการค้าระหว่างประเทศซึ่งกันและกัน โดยพิจารณาจากความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบ ซึ่งการได้เปรียบนั้นทำการเปรียบเทียบกันจากประสิทธิภาพ ของการใช้ปัจจัยการผลิต ตลอดจนความได้เปรียบจากการเกิดเป็นความเชี่ยวชาญในการผลิตสินค้าขึ้น ทำให้มีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าประเทศคู่แข่งจนสามารถเกิดเป็นการค้าระหว่างประเทศได้ ด้วยเหตุผลที่ได้อธิบายมาในบทก่อน ๆ ว่าประเทศจะเข้าร่วมในการค้าระหว่างประเทศได้นั้น เกิดจากความแตกต่างของทรัพยากร หรือปัจจัยการผลิตที่ประเทศนั้น ๆ มีอยู่

8. การเคลื่อนย้ายปัจจัยการผลิตระหว่างประเทศ

จากบทที่ 4-6 ได้อธิบายถึงความได้เปรียบในการค้าระหว่างประเทศด้วยการพิจารณาในด้านปัจจัยการผลิต การเลือกใช้ปัจจัยการผลิตที่มีความอุดมสมบูรณ์ของประเทศ สัดส่วนการใช้ปัจจัยการผลิต การขยายการผลิตเพื่อให้เกิดการประหยัดต่อขนาด เป็นต้น ในการพิจารณาด้านปัจจัยการผลิตที่ผ่านมาทำให้เกิดการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงระหว่างประเทศในรูปแบบของการเคลื่อนย้ายสินค้าและบริการ แต่ยังมี รูปแบบของการเชื่อมโยงระหว่างประเทศอีกประการหนึ่ง คือ การเคลื่อนย้ายปัจจัยการผลิตกันระหว่างประเทศ อันประกอบด้วย การเคลื่อนย้ายปัจจัยการผลิตประเภทแรงงาน และการเคลื่อนย้ายปัจจัยการผลิตประเภท เงินทุนผ่านทางการกู้ยืมเงินระหว่างประเทศและการให้ยืมเงินระหว่างประเทศผ่านทางการบริหารจัดการของบริษัทลงทุนข้ามชาติ เป็นต้น ซึ่งการเคลื่อนย้ายปัจจัยการผลิตระหว่างประเทศดังกล่าวนี้ จะส่งผลถึงการค้าระหว่างประเทศได้

9. นโยบายการค้าแบบคุ้มกัน

จากบทก่อน ๆ ได้ทำการอธิบายว่า ทำไมประเทศจึงทำการค้าระหว่างประเทศกัน โดยอธิบายถึง เหตุต่าง ๆ และผลกระทบของการค้าระหว่างประเทศ ตลอดจนการทำหน้าที่ต่าง ๆ ของการค้าโลก อย่างไรก็ตามแต่ละประเทศมีความต้องการทำที่จะทำการค้าระหว่างประเทศให้มากขึ้นเพื่อให้ได้เงินตราต่างประเทศกลับเข้ามาในประเทศของตน และทำให้ฐานะทางเศรษฐกิจของประเทศของตนดีขึ้นจากการค้าระหว่างประเทศทำให้แต่ละประเทศมีการกำหนดนโยบายการค้าขึ้นมา เช่น นโยบายการค้าเสรี นโยบายการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้า ของประเทศ นโยบายส่งเสริมการส่งออก เป็นต้น ซึ่งนโยบายการค้าต่าง ๆ อาจเป็นนโยบายที่เอื้อประโยชน์ หรือเป็นนโยบายที่เป็นอุปสรรคต่อการค้าระหว่างประเทศได้ ซึ่งเป็นคำถามที่น่าสนใจที่ต้องการคำตอบว่า ประเทศควรจะใช้นโยบายอะไรในการสนับสนุนการทำการค้าระหว่างประเทศบ้างเพื่อประเทศจะได้รับผลได้จากการค้าระหว่างประเทศที่สูงขึ้น และเพื่อให้ไปสู่นโยบายการค้าดังกล่าว ประเทศต้องมีมาตรการหรือเครื่องมือ อะไรบ้างที่ส่งผลต่อความสำเร็จของนโยบายดังกล่าว

10. นโยบายการค้าเสรี

นโยบายการค้าในประเทศต่าง ๆ แบ่งออกเป็น 2 นโยบายหลัก ๆ คือ นโยบายการค้าไม่เสรี หรือนโยบายคุ้มกันที่ใช้ภาษีศุลกากรเป็นเครื่องมือ และนโยบายการค้าเสรี คือ นโยบายที่ไม่ใช้ภาษีศุลกากร เป็นเครื่องมือ ซึ่งทั้ง 2 นโยบายต้องการให้ผลได้ทางเศรษฐกิจของประเทศที่สูงขึ้น ตัวอย่างการใช้นโยบายการค้าไม่เสรีโดยการใช้ภาษีศุลกากร เช่น ในวันที่ 10 พฤษภาคม 2562 รัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากประเทศจีนมีมูลค่าถึง 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ จากเดิมที่อัตรา 10% เพิ่มขึ้นเป็น 25% และเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม ประเทศจีนได้ประกาศตอบโต้ด้วยการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าสหรัฐฯ มีมูลค่าราว 6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในอัตรา 5-25% เช่นกัน ทำให้เกิดเป็นสงครามการค้า เป็นต้น

เหตุการณ์นี้มีแนวโน้มส่งผลลบต่อภาคการส่งออกของไทยผ่าน 2 ช่องทาง คือ ทางตรงผ่านห่วงโซ่อุปทานการค้าไทยไปยังจีนและทางอ้อมโดยผ่านภาวะการค้าโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวจากเศรษฐกิจจีนและคู่ค้า หากสหรัฐฯ และจีนยังไม่มีความคืบหน้าในข้อตกลงการค้าในระยะเวลาอันใกล้จะส่งผลให้แนวโน้มมูลค่าส่งออกไทยในรูปดอลลาร์สหรัฐในปี ค.ศ. 2019 มีโอกาสสูงที่จะเติบโตต่ำกว่าที่ประเมินไว้ที่ 2.7% ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยควรเร่งกระจายตลาดส่งออก และพิจารณาใช้ประโยชน์จากข้อตกลงการค้าของไทยในปัจจุบันเพื่อเพิ่มโอกาสการขยายตลาด

รวมถึงป้องกันความผันผวนของค่าเงิน ในระยะต่อไป (ธนพล ศรีธัญพงศ์, และชินโชติ เถรปัญญาภรณ์, 2562) หรือตัวอย่างการใช้นโยบายไม่ใช้ภาษีศุลกากร คือ กรณีที่ประเทศอเมริกางดความช่วยเหลือโดยตัด GSP (Generalized System Preference) หรือสิทธิพิเศษทางภาษีที่ให้กับประเทศกำลังพัฒนารวมถึงไทยด้วย โดยให้กับประเทศที่มีรายได้เฉลี่ยต่อหัว (GNP Per Capita) ไม่เกิน 12,735 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปี และเป็นประเทศที่ไม่สนับสนุนหรือเกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายระหว่างประเทศ ต้องมีการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาในระดับที่ดีพอสมควร มีการคุ้มครองสิทธิแรงงาน ตามมาตรฐานสากลมีความพยายามในการขจัดการใช้แรงงานเด็กและมีเงื่อนไขอื่น ๆ เป็นต้น

11. การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของกลุ่มอเมริกาเหนือ

การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจมีความสำคัญมากขึ้นโดยที่ประเทศต่าง ๆ มีความพยายามในการ รวมกลุ่มกันทั้งในระดับประเทศและระหว่างภูมิภาค ด้วยเหตุผลหลักของการรวมกลุ่มการค้าระหว่างภูมิภาคนั้น เพราะต้องการขยายขนาดของตลาดต่างประเทศให้เพิ่มขึ้น และหวังผลจากการใช้นโยบายของภาษีศุลกากรและเหตุผลอื่น เช่น ความล้มเหลวของการเจรจาต่อรองในการค้าระหว่างประเทศของแกตต์และการเจรจารอบโดฮาขององค์การค้าโลกเป็นต้น ทำให้ในปี ค.ศ. 2007 มีการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาค (Regional trade agreements) ต่าง ๆ ทั่วโลกมากถึง 205 แห่งจากจำนวน 380 แห่ง

และมีการรวมกลุ่มกันในปี ค.ศ. 2010 มีจำนวนถึง 400 แห่ง (Sutherland, P., 2005) และคาดว่าในปี ค.ศ. 2021 จะมีการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ สูงขึ้นเนื่องจาก การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจมาจากแนวความคิดที่ของความต้องการรวมกลุ่มการค้าระหว่างประเทศ ที่อยู่ในภูมิภาคเดียวกันในโลกไว้ด้วยกัน ประเทศเพื่อนบ้านที่จะเป็นพันธมิตรกันทางธุรกิจมีเหตุผลหลายประการ (กรมเศรษฐกิจการพาณิชย์ 2545) คือ

12. การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของกลุ่มสหภาพยุโรป

การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของกลุ่มสหภาพยุโรป เป็นการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศ ที่มีบทบาทสำคัญยิ่งในการสร้างกระแสและทิศทางการเมือง ความมั่นคงเศรษฐกิจและสังคมระดับโลก เนื่องจาก เศรษฐกิจในกลุ่ม สหภาพยุโรปเป็นกลุ่มเศรษฐกิจใหญ่เป็น 1 ใน 3 ของศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของโลก จัดเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจที่มีขนาดหรือระดับของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ที่ใหญ่ที่สุดในโลก นอกจากนั้น ยังจัดเป็นตลาดสำคัญทางด้านสินค้าและบริการ ตลาดการเงิน และเป็นแหล่งที่มาของการลงทุน ที่สำคัญที่สุด นอกจากนั้น ยังเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศต่าง ๆ ที่ใหญ่ที่สุดของกลุ่มเศรษฐกิจกลุ่มหนึ่ง รวมทั้งเป็นกลุ่มเศรษฐกิจที่มีบรรษัทข้ามชาติระดับโลกเป็นจำนวนมากที่สุด พลังทางเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น อันเป็นผลมาจากการขยายสมาชิกภาพอย่างต่อเนื่อง การพัฒนาในกรอบสหภาพเศรษฐกิจและการเงิน การพัฒนานโยบายร่วมในด้านต่าง ๆ และการปฏิรูปโครงสร้างสถาบันและการบริหาร

13. การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียน

การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาคต่าง ๆ ได้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มจากการรวมกลุ่มของประเทศในทวีปอเมริกา ยุโรป และเอเซียตามลำดับ ในส่วนของการรวมกลุ่มในทวีปทางเอเซียนั้น มีความพยายามของการรวมกลุ่มกันตั้งแต่เป็นกลุ่มประชาคมอาเซียนที่เน้นการรวมกลุ่มทางการเมือง จนในปี พ.ศ. 2558 ได้มีการพัฒนาเป็นกลุ่มประชาคมอาเซียนเป็นพัฒนาการของการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจที่ก้าวข้ามการรวมกลุ่มแบบสหภาพทางภาษีศุลกากร (Custom Union) มาเป็นการรวมกลุ่มแบบตลาดร่วม (Common Market)

ซึ่งถือว่ามีลักษณะเฉพาะหรืออัตลักษณ์ของการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้ เพราะเป็นการรวมกลุ่ม ที่ลัดขั้นตอนของการพัฒนามาสู่การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ดังนั้น ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจึงมีลักษณะที่เป็นตลาดร่วมทางเศรษฐกิจที่ไม่สมบูรณ์เมื่อเทียบกับกลุ่มสหภาพยุโรปที่มีความชัดเจน ในการรวมกลุ่มมากขึ้นตามลำดับ

14. รายได้ประชาชาติดุลการค้าและดุลการชำระเงิน

ใน 3 ส่วนที่แล้วได้ทำการอธิบายถึง ส่วนที่เกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศและทฤษฎีการค้าระหว่างประเทศในส่วนที่ 4 ได้กล่าวถึงนโยบายการค้า และในส่วนที่ 5 นี้จะทำการอธิบายถึงส่วนที่เกี่ยวกับการเงินระหว่างประเทศ เมื่อประเทศมีการค้าระหว่างประเทศซึ่งกันและกัน ซึ่งจะประกอบไปด้วย ระบบการเงินระหว่างประเทศที่จะนำมาใช้เป็นสื่อกลางในการจ่ายเป็นค่าสินค้าและบริการ ซึ่งในส่วนนี้จะทำการอธิบายถึง การบันทึกรายการรับจ่ายของการค้าระหว่างประเทศที่เรียกว่า ดุลการค้าและดุลการชำระเงิน เพื่อให้เห็นการเติบโตของระบบเศรษฐกิจที่ได้จากการทำการค้าระหว่างประเทศกัน และเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เข้าใจการค้าระหว่างประเทศ ตลอดจน อธิบายให้เข้าใจฐานะทางเศรษฐกิจของประเทศที่เกิดจากการค้าระหว่างประเทศ โดยพิจารณา จากรายได้ประชาชาติและดุลการชำระเงิน นอกจากนั้น จะทำการอธิบายถึง อัตราการแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศในสกุลต่าง ๆ และนโยบายมหภาคในระบบเศรษฐกิจเปิด ที่แต่ละประเทศทำการค้าระหว่างประเทศกัน

15. เงินตราต่างประเทศ อัตราแลกเปลี่ยน และตลาดเงินตราระหว่างประเทศ

ในบทที่แล้ว ได้กล่าวถึงรายได้ประชาชาติ องค์ประกอบของรายได้ประชาชาติ ตลอดจนการทำงานของรายได้ประชาชาติและดุลการชำระเงิน เพื่อให้เห็นภาพว่า เมื่อประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจแบบเปิด การทำการค้าระหว่างประเทศที่การซื้อขายสินค้าและบริการระหว่างประเทศ ย่อมทำให้เกิดกระแสการไหลเวียนของเงินตราต่างประเทศเข้าและออกประเทศ ซึ่งการไหลเวียนของเงินตราต่างประเทศนั้น มีผลต่อระบบเศรษฐกิจ ในภาพรวมมาก นอกจากนั้น กระแสการไหลเวียนของเงินตราต่างประเทศที่เป็นส่วนของการชำระเงินเป็นค่าซื้อสินค้าและบริการ หรือเป็นค่าขายสินค้าและบริการระหว่างประเทศกันนั้นมีความสำคัญต่อประเทศ ซึ่งต้อง ทำความเข้าใจถึงอัตราแลกเปลี่ยนและตลาดเงินตราต่างประเทศ เนื่องจากเงินตราในแต่ละประเทศที่ใช้แลกเปลี่ยนกันนั้น และเป็นที่ยอมรับกันภายในประเทศนั้น ไม่จำเป็นว่าประเทศอื่น ๆ จะยอมรับเหมือนกัน ซึ่งทำให้ การชำระค่าสินค้าด้วยเงินของแต่ละประเทศจึงเป็นเรื่องสำคัญ หากประเทศคู่ค้าไม่ยอมรับ จำเป็นต้องทำการแลกเปลี่ยนเป็นเงินสกุลหลัก หรือเงินสกุลกลางจึงจะทำให้การชำระค่าสินค้าสำเร็จ อัตราแลกเปลี่ยนจะส่งผล ถึงการค้าระหว่างประเทศได้

16. ระบบการเงินระหว่างประเทศและการปรับดุลการชำระเงิน

ในบทที่ 15 ได้อธิบายเกี่ยวกับ เงินตราต่างประเทศ อัตราแลกเปลี่ยน รูปแบบของอัตราแลกเปลี่ยนระบบการทำงานของอัตราแลกเปลี่ยน ตลอดจนตัวกำหนดอัตราแลกเปลี่ยน เป็นต้น ซึ่งอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศนั้นจะส่งผลถึงการค้าระหว่างประเทศและดุลการค้าและดุลการชำระเงินของประเทศได้ และอธิบายให้เห็นภาพว่า อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศนั้นเป็นตัวแทนของจำนวนเงินตราสกุลหนึ่งที่ทำการแลกเปลี่ยน 1 หน่วยกับเงินตราในสกุลอื่น ๆ ได้อย่างไร แม้ว่าอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ เป็นคำที่ดูเหมือนง่ายที่จะเข้าใจ แต่ยังมีผู้ประกอบการที่ต้องการเข้าใจว่า ทำไมรัฐบาลจึงต้องกำหนดค่าของเงินที่ไม่เท่ากันในระบบเศรษฐกิจได้ และมีค่าของเงินสูงต่ำนั้นมีสาเหตุมาจากอะไร ซึ่งการกำหนดค่าของเงินส่งผลต่อการค้าและการชำระเงินของผู้ประกอบได้อาจทำให้หน่วยธุรกิจตัดสินใจเปลี่ยนแปลงการดำเนินธุรกิจได้ เนื่องจาก อัตราแลกเปลี่ยนที่เปลี่ยนไป เช่น การส่งออกหรือการนำเข้าวัตถุดิบและส่วนประกอบต่าง ๆ ในการผลิตจากประเทศต่าง ๆ ที่มีค่าของเงินสกุลต่าง ๆ ที่แตกต่างกัน และเป็นทางเลือกที่หน่วยธุรกิจสามารถเลือกได้ เป็นต้น

เอกสารอ้างอิง

กรมเศรษฐกิจการพาณิชย์. (2545). การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาคต่าง ๆ. สืบค้น 20 กุมภาพันธ์ 2563, จาก http://www.moc.go.th/thai/dbe/bilateral/speech/grp_econ.htm

ธนพล ศรีธัญพงศ์ และชินโชติ เถรปัญญาภรณ์. (2562). สงครามการค้าสหรัฐ-จีน กลับมาปะทุ สหรัฐ-จีน เพิ่มภาษีสินค้านำเข้าระหว่างกันเป็น 25% เสี่ยงซ้ำเติมการค้าโลกและส่งออกไทย ธนาคารไทยพาณิชย์. สืบค้น 16 พฤษภาคม 2562, จาก https://www.scbeic.com/th/detail/product/6012

ภราดร ปรีดาศักดิ์. (2549). นักเศรษฐศาสตร์ที่ควรรู้จัก เดวิท ฮูม (David Hume) พ.ศ. 2254-2309. เศรษฐสาร, 20(8), 1-8.

วิกิพีเดีย. (2562). การค้าระหว่างประเทศ. สืบค้น 11 ตุลาคม 2562, จาก https://th.wikipedia.org/wiki/การค้าระหว่างประเทศ

Chipman, J. S. (1965). A survey of the theory of international trade: Part 1, The classical theory. ECONOMETRICA, 33, 479.

Krugman, P. R., & Obstfeld, M. (2009). International economics theory and policy (6th ed.). U.S.: Addison Wesley.

Graphic Design และ Content Creator ที่หลงใหลในการเขียน Content และเชื่อว่า Content เป็นสิ่งสำคัญในการสื่อสารกับทุก ๆ คน