ไวยากรณ์ไทยเชิงสื่อสาร

ไวยากรณ์ไทย เชิงสื่อสาร : การวิเคราะห์แนวภาษาศาสตร์หน้าที่นิยมเชิงแบบลักษณ์ ได้นำเสนอแนวทางการวิเคราะห์และอธิบายไวยากรณ์ภาษาไทยในกรอบแนวคิดภาษาศาสตร์ปริชานแนวหนึ่งคือไวยากรณ์หน้าที่นิยมเชิงแบบลักษณ์ (Functional-typological Grammar) ของ Talmy Givón (2001) ไวยากรณ์หน้าที่นิยมเชิงแบบลักษณ์เป็นแนวคิด ที่มีพื้นฐานเป็นบูรณาการจากข้อมูลที่หลากหลาย อันได้แก่ หน้าที่การสื่อสาร กระบวนการ เชิงปริชาน สังคมวัฒนธรรม และประสาทวิทยา โดยมีกระบวนการวิเคราะห์ที่เน้นหน้าที่การสื่อสารเป็นสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ารูปแบบหรือโครงสร้าง มีการวิเคราะห์ที่เป็นทั้งในแนวระนาบหรือ เวลาเดียวกัน (synchronic) และแนวตั้งหรือประวัติการเปลี่ยนแปลง (diachronic) ตลอดจน มีการพิจารณาภาษาเชิงแบบลักษณ์หรือการจัดเข้ากลุ่มภาษาโลกเพื่อสามารถบอกสถานภาพ ของภาษาได้

ไวยากรณ์ไทย

ผู้เขียนมีความเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าการศึกษาไวยากรณ์ภาษาใด ๆ ก็ตามที่พิจารณาหน้าที่ ในการสื่อสารในปริบทเป็นตัวตั้งและรูปหรือโครงสร้างตามมา จะทำให้มีผลการวิเคราะห์ ด้านวากยสัมพันธ์ที่ครอบคลุม มีเหตุมีผลที่มาที่ไป มีหลักฐานเชื่อถือได้ และมีประโยชน์แตกต่างงอกเงยออกไปจากงานศึกษาวิจัยที่พิจารณาแต่เพียงรูปแบบและโครงสร้างภาษาเท่านั้น เนื่องจากรูปภาษาและหน้าที่ไม่ได้มีความสัมพันธ์กันเป็นแบบหนึ่งต่อหนึ่งหรือหนึ่งรูปหนึ่งหน้าที่โดยอัตโนมัติ รูปภาษาหนึ่ง ๆ อาจมีหน้าที่ในการใช้ภาษามากกว่าหนึ่งหน้าที่เมื่อปรากฏในบริบทที่แตกต่างกันไป หรือในทางกลับกันหน้าที่การใช้ภาษาหนึ่ง ๆ อาจมีรูปภาษาหลายรูป จึงอาจทำให้เกิดปัญหา ของไวยากรณ์ที่ไม่ชัดเจนหากพิจารณาแต่เพียงรูปหรือโครงสร้าง

ยกตัวอย่างในกรณีของ คำระบุเฉพาะ นี้ นั้น หรือ นี่ นั่น ที่การศึกษาที่ผ่านมาแสดงไว้แต่เพียงเป็นการชี้เฉพาะให้กับ คำนามเท่านั้น เช่น บ้านหลังนี้ คนนั้น ฯลฯ แท้ที่จริงแล้วถ้าเราพิจารณาหน้าที่ในสัมพันธสารด้วย คำเหล่านี้ไม่ได้ทำหน้าที่ชี้เฉพาะแต่อย่างเดียว ยังสามารถเป็นตัวบ่งหัวเรื่องให้กับหน่วยนามในประโยคที่สอดคล้องกับหัวเรื่องของสัมพันธสาร ซึ่งนามวลีนั้นอาจไม่ชี้เฉพาะก็ได้ อาทิ ปลานั้นไม่ใช่ว่าใคร ๆ ก็จับกันได้ ซึ่ง ปลา ไม่ได้ชี้เฉพาะอยู่แล้วเจาะจงว่าเป็นตัวใด หรือนามวลีนั้นชี้เฉพาะอยู่แล้วก็ได้ อาทิ ส่วนฉันนี้จะอยู่อย่างไรก็ได้ ซึ่ง ฉัน ชี้เฉพาะอยู่แล้วว่าเป็นบุรุษที่หนึ่งหรือผู้พูดเท่านั้น เหล่านี้เป็นต้น ตำราเล่มนี้จึงเขียนขึ้นจากความตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องมีการศึกษาวิเคราะห์หน้าที่การสื่อสารในปริบทประกอบ และจากนั้นจึงได้นำมาผูกกับโครงสร้างวากยสัมพันธ์

นอกจากจะต้องพิจารณาหน้าที่ในการสื่อสารเป็นสำคัญแล้ว การศึกษาประเภทไวยากรณ์อย่างไม่เป็นพลวัตหรือไม่ได้พิจารณาถึงประวัติการเปลี่ยนแปลงหน้าที่ไวยากรณ์ ก็ไม่น่าจะถือได้ว่าเป็นการศึกษาที่สมบูรณ์แบบ เนื่องจากธรรมชาติของภาษาคือการเปลี่ยนแปลงซึ่งเกิดได้ตลอดเวลา โดยอาจมีหลักฐานที่สืบค้นได้จากทั้งเอกสารเก่าและการใช้ภาษาในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเปลี่ยนแปลงที่เพิ่งถือกำเนิดหรือยังไม่สิ้นสุดกระบวนการก็จะก่อให้เกิดปัญหาความยุ่งยาก ในการระบุประเภทไวยากรณ์ได้เนื่องจากรูปภาษามีการเปลี่ยนแปลงที่ช้ากว่าหน้าที่การสื่อสาร

ไวยากรณ์ไทย

การวิเคราะห์แต่รูปภาษาหรือขาดการพิจารณาหน้าที่จึงดูเหมือนไม่รู้เท่าทันภาษา จะขอยกตัวอย่างคำกริยา ชอบ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าหมายถึง ‘พึงพอใจ’ แต่เดิมปรากฏเป็นกริยาหลักของประโยค เช่น เขาชอบฟอร์ดเอเวอร์เรส เขาชอบกินปลาดิบ ฯลฯ แต่ในบางปริบทไม่ได้ปรากฏเป็น กริยาหลักเนื่องจากได้เปลี่ยนแปลงไปโดยเลือนความหมายที่เป็น ‘พึงพอใจ’ เหลือไว้แต่นัยของ การปรากฏบ่อย เช่น เขาชอบหกล้มเรื่อยเลย เขาชอบทำน้ำหก ฯลฯ จึงต้องมีการวิเคราะห์ใหม่ ในประโยคเหล่านี้ว่าเป็นกริยาช่วยไม่ใช่กริยาหลัก คำว่า ชอบ จึงมีหลายหน้าที่ในการใช้ภาษาปัจจุบัน จะยึดถือเอาแต่เพียงหน้าที่ของการเป็นกริยาหลักเท่านั้นไม่ได้ ดังนั้นแนวทางการอธิบายไวยากรณ์ที่ เป็นพลวัตจึงสามารถให้คำตอบอย่างเป็นที่น่าพอใจได้

แนวทางการศึกษาที่เป็นพลวัตนี้เอง ทำให้เราสามารถเห็นถึงธรรมชาติของหมวดหมู่ และประเภทไวยากรณ์ที่ยากที่จะจัดจำแนกได้อย่างชัดเจนขาดจากกันโดยไม่เหลื่อมซ้อนกัน เนื่องจากหมวดหมู่หรือประเภทไวยากรณ์ต่าง ๆ มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา จากหมวดหมู่หนึ่งไปสู่อีก หมวดหมู่หนึ่งและอื่น ๆ ทำให้มีคุณสมบัติที่เป็นได้มากกว่าหนึ่งหมวดหมู่ ดังคำกริยา ชอบ ที่เป็นได้ทั้งกริยาหลักและกริยาช่วยดังที่ยกเป็นตัวอย่างข้างต้น ดังนั้นหากเราไม่สามารถเข้าใจธรรมชาติ ของหมวดหมู่ได้อย่างแท้จริงแล้ว ก็อาจก่อให้เกิดความยุ่งยากหรือสับสนในการมุ่งแต่ที่จะระบุประเภทไวยากรณ์ให้เป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง

นอกจากนี้ การที่จะศึกษาไวยากรณ์ภาษาใดนั้นควรกระทำในฐานะที่เป็นภาษาหนึ่ง ของโลกหรือที่ปรากฏในแบบลักษณ์ภาษาหนึ่ง ๆ การศึกษาไวยากรณ์ภาษาไทยเพื่อการกำหนด หรือแบ่งหมวดหมู่ไวยากรณ์ต่าง ๆ จึงต้องสามารถเทียบเคียงได้กับภาษาอื่น ๆ หรือสามารถจัดเข้ากลุ่มแบบลักษณ์ภาษาได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ตามมาคือนอกจากจะทำให้เห็นสถานภาพของ ภาษาไทยในฐานะที่เป็นภาษาหนึ่งของโลกและสามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันกับ ภาษาอื่น ๆ ได้โดยสะดวกแล้ว ยังเป็นโอกาสที่จะสามารถแสดงให้เห็นถึงความรู้แบบต่อยอดซึ่งจะเป็นความก้าวหน้าในแวดวงภาษาศาสตร์ได้อีกด้วย

ตำรานี้เขียนบนพื้นฐานของแนวคิดของไวยากรณ์หน้าที่นิยมเชิงแบบลักษณ์ของ Givón (2001) ซึ่งเขียนไว้ในหนังสือชื่อ Syntax จำนวน 2 เล่ม เปรียบเสมือนเป็น “แม่แบบ” ในการวิเคราะห์ภาษาไทยครั้งนี้ เพื่อให้ผู้อ่านได้ทำความเข้าใจกับหนังสือดังกล่าวได้ง่ายขึ้น ซึ่งโดยทั่วไปแล้วในส่วนแรก ๆ ของบทต่าง ๆ ผู้เขียนจะยึดถือการอธิบายตามกรอบแนวคิดของหนังสือนี้และนำเสนอแนวทางการวิเคราะห์ภาษาไทยที่เป็นของผู้เขียนเอง อย่างไรก็ตามมีบางบทหรือ บางตอนที่เป็นลักษณะเฉพาะของภาษาไทย อาทิ กริยาเรียงและประโยคแปรบางประเภทที่ไม่ปรากฏในหนังสือดังกล่าว ก็จะเป็นการอธิบายของผู้เขียนเองซึ่งก็อยู่ในกรอบแนวคิดนี้เช่นกัน

ขอบเขตเนื้อหาของตำรานี้กว้างขวางและหลากหลาย ตั้งแต่กระบวนการทางระบบหน่วยคำและหมวดหมู่ไวยากรณ์ของคำ กฎและหลักการต่าง ๆ ที่ควบคุมการนำคำมาประกอบเป็น วลีและประโยค ทั้งที่เป็นประโยคพื้นฐานและประโยคที่แปรไปปรากฏในปริบทที่แตกต่างกัน หน่วยคำไวยากรณ์ประเภทต่าง ๆ เช่น กาล-การณ์ลักษณะ-ทัศนภาวะ การปฏิเสธ ประโยคแฝงประเภทต่าง ๆ อาทิ ประโยคสัมพัทธ์และส่วนเติมเต็มกริยา ข้อมูลวัจนปฏิบัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับวากยสัมพันธ์ อาทิ การอ้างถึงและความชี้เฉพาะ วัจนกรรม ตลอดจนการวิเคราะห์ความเชื่อมโยงของประโยคต่าง ๆ เป็นข้อความหรือสัมพันธสาร

ในการนำเสนอเนื้อหานั้น ผู้เขียนไม่ได้แบ่งตามระดับโครงสร้างเป็น คำ วลี ประโยค และสัมพันธสาร เหมือนกับที่ผ่านมาซึ่งส่วนใหญ่เป็นตำราในแนวไวยากรณ์โครงสร้าง ทั้งนี้เนื่องจากไวยากรณ์แนวหน้าที่นิยมนี้จะไม่แบ่งภาษาเป็นโครงสร้างที่ชัดเจนระดับต่าง ๆ ดังกล่าว แม้จะเริ่มด้วยบทที่เกี่ยวกับคำและหน่วยคำก็ตามแต่ก็ไม่ได้กล่าวไว้ในเหตุผลที่จะต้องตามลำดับโครงสร้าง

หากกล่าวนำไว้เพื่อให้ผู้อ่านได้คุ้นเคยกับการจำแนกหมวดหมู่ไวยากรณ์ ซึ่งก็จะทำให้ผู้อ่านเข้าใจ เกี่ยวกับประเภทไวยากรณ์ต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้นเมื่ออ่านบทต่อ ๆ ไป และหลังจากนั้นก็จะกล่าว เกี่ยวกับประโยคพื้นฐานและส่วนประกอบต่าง ๆ ที่ปรากฏในประโยค ส่วนบทที่เกี่ยวกับนามวลี จะกล่าวถัดไปเมื่อสิ้นสุดเรื่องของประโยคพื้นฐานแล้วเนื่องจากนามวลีบางประเภทต้องอาศัยฐานความรู้จากโครงสร้างประโยคเสียก่อน จากนั้นจึงจะกล่าวเกี่ยวกับประโยคที่แปรไปจากประโยค พื้นฐานต่อไป

เอกสารอ้างอิง

Givón, T. (2001). Syntax (Vols. 1-2). Amsterdam: John Benjamins.

Graphic Design และ Content Creator ที่หลงใหลในการเขียน Content และเชื่อว่า Content เป็นสิ่งสำคัญในการสื่อสารกับทุก ๆ คน