เครื่องหัวใจและปอดเทียม : หลักการและการปฏิบัติ

หนังสือเรื่อง “เครื่องหัวใจและปอดเทียม: หลักการและการปฏิบัติ” เล่มนี้ นำเสนอความรู้ทางด้านทฤษฎี เทคนิคขั้นตอนการปฏิบัติงานของ เครื่องหัวใจและปอดเทียม และผลจากการทำ Cardiopulmonary Bypass รวมทั้งเครื่องล้างและเก็บเม็ดเลือดแดง เครื่องพยุงหัวใจชนิดลูกโป่งเสริม ความดันในหลอดเลือดแดง ซึ่งเป็นเครื่องมือที่มีความสำคัญและจำเป็นต้องใช้ในการผ่าตัดหัวใจแบบเปิด

เครื่องหัวใจและปอดเทียม : หลักการและการปฏิบัติ

ภายในหนังสือประกอบไปด้วยเนื้อหา 11 บท

บทแรกว่าด้วยเรื่อง บทที่ 1 การผ่าตัดหัวใจและทรวงอกในประเทศไทย
บทที่ 2 การประเมินผู้ป่วยก่อนผ่าตัดหัวใจ
บทที่ 3 หลักการทำ Cardiopulmonary bypass และส่วนประกอบของเครื่องหัวใจและปอดเทียม
บทที่ 4 การเจือจางของเลือดและการเตรียมสารละลายสำหรับวงจร CPB
บทที่ 5 ยาต้านการแข็งตัวของเลือด
บทที่ 6 การปกป้องกล้ามเนื้อหัวใจขณะผ่าตัดหัวใจแบบเปิด
บทที่ 7 เทคนิคการทำ Cardiopulmonary Bypass
บทที่ 8 ผลจากการทำ Cardiopulmonary Bypass
บทที่ 9 การประเมินผู้ป่วยหลังผ่าตัดหัวใจ
บทที่ 10 เครื่องล้างและเก็บเม็ดเลือดแดง
บทที่ 11 เครื่องพยุงหัวใจชนิดลูกโป่งเสริมความดันในหลอดเลือดแดง

เครื่องหัวใจและปอดเทียม : หลักการและการปฏิบัติ

ประวัติและพัฒนาการของการผ่าตัดหัวใจในประเทศไทย

การผ่าตัดหัวใจครั้งแรกในประเทศไทยประสบผลสำเร็จที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์เป็นการผ่าตัดผูกเย็บ Patent ductus arteriosus เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2496 โดยศาสตราจารย์ นายแพทย์สมานมันตาภรณ์ ในปีเดียวกันท่านได้จัดตั้งหน่วยปอด-หัวใจ (Cardio-pulmonary unit) แยกออกมาจากศัลยกรรมทั่วไป และจัดตั้งห้องตรวจสวนหัวใจ (Cardiac catheterization Laboratory) เพื่อให้การตรวจวินิจฉัยโรคหัวใจเป็นไปได้อย่างถูกต้องเที่ยงตรงก่อนการผ่าตัด ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2497 ศาสตราจารย์นายแพทย์สมาน มันตาภรณ์ ได้ทำการผ่าตัดลิ้นหัวใจครั้งแรกในประเทศไทย เป็นการผ่าตัดหัวใจแบบปิด (Closed heart surgery) โดยทำผ่าตัด Closed mitral valvotomy ในผู้ป่วยลิ้นหัวใจไมตรัลตีบ(Mitral stenosis) เนื่องจากการผ่าตัดหัวใจแบบปิดมีข้อจำกัด คือ ไม่สามารถแก้ไขพยาธิสภาพในหัวใจได้ในหลาย ๆ โรค การผ่าตัดบางโรคต้องมองเห็นภายในหัวใจและต้องหยุดการไหลเวียนเลือด เพื่อไม่ให้เลือดมาท่วมบริเวณผ่าตัด (Operative field) และไม่ให้เสียเลือดออกไปนอกร่างกาย ท่านได้ริเริ่มและทำการผ่าตัดหัวใจแบบเปิด (Open heart surgery) ร่วมกับการใช้เครื่องหัวใจและปอดเทียม (Heart-lung machine) ในการผ่าตัดหัวใจ โดยมีนักเทคโนโลยีหัวใจและทรวงอก (Cardiothoracic technologist) เป็นผู้ควบคุมเครื่องหัวใจและปอดเทียม หรือในอดีตเรียกนักปฎิบัติการหัวใจและปอดเทียม (Perfusionist)

เครื่องหัวใจและปอดเทียม : หลักการและการปฏิบัติ

สำหรับการผ่าตัดหัวใจแบบเปิดร่วมกับการใช้เครื่องหัวใจและปอดเทียมประสบผลสำเร็จเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ในผู้ป่วยชาย อายุ 22 ปี ซึ่งป่วยเป็นโรค Pulmonic valve stenosis เมื่อวันที่28 ตุลาคม พ.ศ. 2502 โดยศาสตราจารย์ นายแพทย์สมาน มันตาภรณ์ ต่อมาเมื่อวันที่ 24 มิถุนายนพ.ศ. 2503 ได้มีการผ่าตัดปิด Atrial septal defect (ASD) ที่โรงพยาบาลศิริราช หลังจากนั้นได้มีการผ่าตัดเพิ่มอีกหลายแห่งในโรงพยาบาลใหญ่ ๆ ในกรุงเทพฯมหานคร การผ่าตัดหัวใจในระยะแรกส่วนใหญ่เป็นการผ่าตัดในโรคหัวใจพิการมาแต่กำเนิดและโรคลิ้นหัวใจ

การผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ (Coronary artery bypass graft; CABG) เพื่อแก้ไขพยาธิสภาพในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ (Coronary artery disease; CAD) สำ เร็จครั้งแรกที่โรงพยาบาลศิริราช โดยศาสตราจารย์ นายแพทย์ปริญญา สากิยลักษณ์ ในปี พ.ศ. 2517 โดยรับย้ายผู้ป่วยจากโรงพยาบาลโรคทรวงอกที่ทราบผล Coronary angiogram ที่มีคุณภาพดีที่สุด จากการตรวจสวนหัวใจของนายแพทย์ธาดา ชาคร ผู้ก่อตั้งแผนกโรคหัวใจของโรงพยาบาลโรคทรวงอก การทำ CABG ครั้งนั้นเป็นการนำหลอดเลือดดำที่ขา (Saphenous vein) มาต่อกับหลอดเลือดโคโรนารีที่ตำแหน่ง Left anteriordescending (LAD) และ Right coronary artery (RCA) โดยวิธี Beating heart techniqueการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจสำเร็จเป็นครั้งแรกที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์โดยศาสตราจารย์ นายแพทย์ชวลิต อ่องจริต และคณะ เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2530 และเป็นการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจสำเร็จเป็นครั้งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในผู้ป่วยหนุ่มอายุ 18 ปี ที่มีอาการหัวใจวายใกล้จะเสียชีวิต ต้องใช้ยาเพิ่มความดันโลหิต หลังผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจใหม่ ผู้ป่วยแข็งแรง เล่นกีฬาได้ดี ผู้ป่วยรายนี้เป็นผู้ป่วยเปลี่ยนหัวใจที่มีอายุอยู่นานที่สุดภายหลังการเปลี่ยนหัวใจในเอเชีย และมีคุณภาพชีวิตที่ดี

เครื่องหัวใจและปอดเทียม : หลักการและการปฏิบัติ

สถิติของการผ่าตัดหัวใจในประเทศไทย

การผ่าตัดหัวใจแบบเปิดร่วมกับการใช้เครื่องหัวใจและปอดเทียม เริ่มผ่าตัดครั้งแรกในปีพ.ศ. 2502 ได้มีการเก็บสถิติการผ่าตัดหัวใจในประเทศไทยครั้งแรกในปี พ.ศ. 2544 จนถึงปัจจุบันปีพ.ศ. 2558 รวบรวมโดยสมาคมศัลยแพทย์ทรวงอกแห่งประเทศไทย สำหรับการผ่าตัดหัวใจโดยทั่วไปจะแบ่งเป็นการผ่าตัดหัวใจแบบเปิดและการผ่าตัดหัวใจแบบปิด ซึ่งการผ่าตัดทั้ง 2 วิธีจะมีจำนวนผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดเพิ่มขึ้นทุกปี

เครื่องหัวใจและปอดเทียม : หลักการและการปฏิบัติ

คุณค่าที่สำคัญของหนังสือเล่มนี้ ยังได้กล่าวถึงการประเมินผู้ป่วย ก่อนและหลังผ่าตัดหัวใจ ตลอดจนประวัติและสถิติการผ่าตัดหัวใจและทรวงอกในประเทศไทย เพื่อให้นิสิตหรือนักศึกษา สาขาเทคโนโลยีหัวใจและทรวงอก และสาขาทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนนักเทคโนโลยีหัวใจและทรวงอก บุคลากรทางการแพทย์ และผู้สนใจใช้ศึกษาหรือทบทวนความรู้ เพื่อไม่เกิดข้อผิดพลาดขณะปฏิบัติงาน

 

สั่งซื้อได้ที่

1. ศูนย์หนังสือจุฬาฯ ทุกสาขา
2. ศูนย์หนังสือธรรมศาสตร์ และในเครือ
3. NUPH Store

เครื่องหัวใจและปอดเทียม: หลักการและการปฏิบัติ

 

Graphic Design และ Content Creator ที่หลงใหลในการเขียน Content และเชื่อว่า Content เป็นสิ่งสำคัญในการสื่อสารกับทุก ๆ คน