อุทยานประวัติศาสตร์

3 แหล่งอุทยานประวัติศาสตร์มรดกโลกสมัยสุโขทัย

1. บทนำ

ศิลปสถาปัตยกรรมสุโขทัยมีความรุ่งโรจน์อยู่ราว 200 ปี ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 18 ถึง พุทธศตวรรษที่ 20 ซึ่งยังทรงคุณค่า คงความงดงามและสืบทอดรูปแบบต่อมาสู่ศิลปะสมัยหลังจนถึงปัจจุบัน กรมศิลปากรได้เป็นหน่วยงานหลักในการบูรณปฏิสังขรณ์เพื่อสงวนรักษาโบราณสถานและโบราณวัตถุของชาติ ให้ยืนยงคงอยู่ ส่งเสริม บูรณาการ และการจัดการในบริบทที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเรื่องการศึกษาด้านโบราณคดี ประวัติศาสตร์ศิลปสถาปัตยกรรม และด้านการท่องเที่ยว

อุทยานประวัติศาสตร์

สัมภาษณ์นักเขียน

หนังสือ 3 แหล่งอุทยานประวัติศาสตร์มรดกโลก สมัยสุโขทัยเล่มนี้ ได้แบ่งพื้นที่การนำชมอุทยานประวัติศาสตร์ให้สอดคล้องกับพื้นที่เมืองมรดกโลกในกลุ่มศิลปะสมัยสุโขทัย ซึ่งได้ถูกประกาศเป็นเมืองมรดกโลก พร้อมกัน 3 แหล่ง ดังนี้

  1. ข้อมูลนำชมอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย (ส)
  2. ข้อมูลนำชมอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย (ศ)
  3. ข้อมูลนำชมอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร (ก)

การกำหนดค่าพิกัดทางภูมิศาสตร์ของโบราณสถานแต่ละแห่งในบทนี้ ได้กำหนดจุดบริเวณกึ่งกลางพระวิหารหลวงของวัด หรือโบราณสถานแต่ละแห่งเป็นค่าพิกัด ส่วนสถานที่หรืออาคารสถานที่อื่น ๆ เช่น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ศูนย์ข้อมูล ศาลหลักเมือง จะกำหนดจุดบริเวณด้านหน้าทางเข้าหลักของอาคาร เป็นค่าพิกัด

2. ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์และรูปแบบศิลปสถาปัตยกรรมสุโขทัย

อาณาจักรสุโขทัยมีขอบเขตครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของภาคเหนือตอนล่างของประเทศไทย ในปัจจุบัน ได้แก่ จังหวัดสุโขทัย จังหวัดกำแพงเพชร จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดตาก จังหวัดอุตรดิตถ์ จังหวัดพิจิตร จังหวัดเพชรบูรณ์ จังหวัดนครสวรรค์ รวมไปถึงจังหวัดชัยนาท โดยมีอาณาจักรข้างเคียงที่มีความเจริญสัมพันธ์กัน ได้แก่ อาณาจักรล้านนาทางทิศเหนือ อาณาจักรเขมรทางทิศตะวันออก อาณาจักรละโว้และอาณาจักร สุพรรณภูมิทางทิศใต้และอาณาจักรพุกามทางทิศตะวันตก อาณาจักรสุโขทัยมีพัฒนาการขึ้นมาจากชุมชน บนเส้นทางการค้าขายระหว่างเมืองภายในกับเมืองภายนอกที่สามารถติดต่อค้าขายกับจีนได้สะดวก จากหลักฐานการขุดค้นทางโบราณคดีแสดงให้เห็นว่า บริเวณพื้นที่ของอาณาจักรสุโขทัยนี้ เคยเป็นที่ตั้งถิ่นฐาน ของชุมชนที่มีอารยธรรมแบบมอญ (สันติ เล็กสุขุม, 2548, น. 161) และเขมรโบราณ หรือขอมมาก่อน (รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง และศานติ ภักดีคำ, 2557, น. 168-169)

จากการสำรวจเมืองโบราณบริเวณอาณาจักรสุโขทัย พบว่ามีเมืองโบราณอยู่ถึง 52 เมืองด้วยกัน แต่พบชื่อเมืองในจารึกสมัยสุโขทัยเพียง 24 เมือง (ศรีศักร วัลลิโภดม, 2552, น. 26) แสดงให้เห็นถึงภูมิสัณฐานของอาณาจักรสุโขทัยที่มีความเจริญรุ่งเรือง และมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับอาณาจักรข้างเคียงในยุคสมัยเดียวกัน

แผนที่ 3 เมืองประวัติศาสตร์สมัยสุโขทัย ในอาณาเขตของประเทศไทยปัจจุบัน

สุโขทัย มาจากคำว่า สุข+อุทัย ซึ่งมีความหมายว่า “รุ่งอรุณแห่งความสุข” ก่อนการก่อตั้งอาณาจักรสุโขทัย พญาศรีนาวนำถม พระบิดาของพ่อขุนผาเมือง ได้ปกครองเมืองโบราณสุโขทัยมาก่อน หลังจากพระองค์สวรรคต ขอมสบาดโขลญลำพง ข้าหลวงจากราชอาณาจักรเขมร ได้เข้ายึดครองเมือง ต่อมาพ่อขุนบางกลางหาว เจ้าเมืองบางยาง และพ่อขุนผาเมือง เจ้าเมืองราด ได้ยึดเมืองคืน และสถาปนาพ่อขุนบางกลางหาวขึ้นปกครองกรุงสุโขทัย มีพระนามใหม่ว่า พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ เป็นปฐมกษัตริย์ราชวงศ์พระร่วง ปกครองอาณาจักรสุโขทัย ในปี พ.ศ. 1781 โดยมีพระมหากษัตริย์ปกครองอาณาจักรสืบต่อมา รวม 10 พระองค์ ซึ่งมีพระมหากษัตริย์ พระองค์สำคัญ คือ พ่อขุนรามคำแหงมหาราช และพระมหาธรรมราชาที่ 1 (พญาลิไท) (วิไลรัตน์ ยังรอด และ ธวัชชัย องค์วุฒิเวทย์, 2551, น. 10-11)

ลำดับพระนามกษัตริย์ที่ปกครองอาณาจักรสุโขทัย

3. อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย

การวางผังเมืองในช่วงก่อนการสถาปนากรุงสุโขทัย เป็นการสืบทอดรูปแบบผังเมืองแบบอาณาจักรเขมรโบราณ ซึ่งเผยแผ่อาณาเขตมาจนถึงพื้นที่แถบนี้ โดยปรากฏหลักฐานการสร้างผังเมืองที่เป็นศูนย์กลาง ของภูมิภาคนี้ที่วัดพระพายหลวง โดยมีคูน้ำแม่โจน ล้อมรอบเป็นสัณฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีความกว้างด้านละประมาณ 500 เมตร ต่อมาในสมัยสุโขทัยได้มีการสร้างกำแพงตรีบูร อันมีความหมายถึงกำแพงเมืองขนาดใหญ่ ถัดลงมาทางทิศใต้ ขนาดกว้าง 1,400 เมตร ยาว 1,810 เมตร ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่ากันถึง 4 เท่าตัว โดยมีวัดมหาธาตุ เป็นศูนย์กลางกรุงสุโขทัย

อุทยานประวัติศาสตร์

กรุงสุโขทัยมีการวางผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมเกือบจัตุรัส ทำให้ตำแหน่งของโบราณสถานกระจายตัวไปตามทิศต่าง ๆ ของกำแพงเมืองอย่างเป็นระบบ ซึ่งเป็นความสะดวกในการกำกับหมายเลขของโบราณสถาน โดยข้อมูลนำชมอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยนี้ ได้ใช้หมายเลขกำกับโบราณสถานตามที่กรมศิลปากรกำหนด เป็นหลัก เพื่อให้สอดคล้อง และเกิดความเข้าใจในทิศทางเดียวกัน ซึ่งได้กำหนดกลุ่มโบราณสถานออกเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มศูนย์กลางเมือง ซึ่งตั้งอยู่ภายในกำแพงเมือง กลุ่มทิศตะวันออก กลุ่มทิศใต้ กลุ่มทิศตะวันตก และกลุ่มทิศเหนือ

อุทยานประวัติศาสตร์

สถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นแหล่งโบราณสถานในเขตอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย สามารถแบ่งออกได้เป็น 5 กลุ่ม ดังนี้

  1. กลุ่มโบราณสถานภายในกำแพงเมือง (ส ก.) จำนวน 63 แห่ง
  2. กลุ่มโบราณสถานนอกกำแพงเมืองด้านทิศตะวันออก (ส ตอ.) จำนวน 24 แห่ง
  3. กลุ่มโบราณสถานนอกกำแพงเมืองด้านทิศใต้ (ส ต.) จำนวน 37 แห่ง
  4. กลุ่มโบราณสถานนอกกำแพงเมืองด้านทิศตะวันตก (ส ตต.) จำนวน 54 แห่ง
  5. กลุ่มโบราณสถานนอกกำแพงเมืองด้านทิศเหนือ (ส น.) จำนวน 26 แห่ง อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ได้กำหนดอัตราค่าธรรมเนียมเข้าชมกลุ่มโบราณสถาน เฉพาะใน 2 กลุ่ม

4. อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย

อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยมีการวางผังเมืองแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ตามแนวแม่น้ำ อีกทั้งยังมีแนวเขาสำคัญทอดผ่านเมืองอีก 3 แนว ได้แก่ เขาพระศรี เขาใหญ่ และเขาสุวรรณคีรี ทำให้ตำแหน่งของโบราณสถานกระจายตัวไปตามทิศทางต่าง ๆ ของเมือง กลุ่มเมืองหลักของอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย กลุ่มแรก คือ เมืองศรีสัชนาลัย ที่มีกำแพงเมืองล้อมรอบเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ทอดตัวยาวขนานกับแนวแม่น้ำยม ด้านทิศตะวันตก โดยมีแนวเขาสุวรรณคีรี ทอดผ่านตัวเมืองค่อนไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ เสมือนเป็น ฉากหลังของวัดช้างล้อมที่ถือเป็นศูนย์กลางของเมือง อีกกลุ่มหนึ่ง คือ เมืองเชลียงหรือเมืองเชียงชื่น ตั้งอยู่ ถัดลงมาทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ห่างกันราว 2 กิโลเมตร ระหว่างแนววกกลับของแม่น้ำยมทำให้ชัยภูมิเสมือนเป็นเกาะที่มีแม่น้ำล้อมรอบ ซึ่งยังคงปรากฏแนวกำแพงเมืองตามแนวแม่น้ำ หลงเหลืออยู่บางส่วน โดยมี วัดพระศรีรัตนมหาธาตุเชลียงหรือวัดพระปรางค์ เป็นศูนย์กลางเมือง

อุทยานประวัติศาสตร์

ข้อมูลนำชมอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยนี้ ได้ใช้หมายเลขกำกับโบราณสถานตามที่กรมศิลปากรกำหนดเป็นหลัก เพื่อให้สอดคล้องและเกิดความเข้าใจในทิศทางเดียวกัน ซึ่งได้กำหนดกลุ่มโบราณสถานออกเป็น 6 กลุ่ม ได้แก่ 1) กลุ่มศูนย์กลางเมืองหลักซึ่งตั้งอยู่ภายในกำแพงเมืองศรีสัชนาลัย 2) กลุ่มทิศตะวันออก 3) กลุ่มทิศใต้หรือกลุ่มเมืองเชลียง 4) กลุ่มทิศตะวันตก 5) กลุ่มทิศเหนือ และ 6) กลุ่มโบราณสถานบนเขา

สถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นแหล่งโบราณสถานในเขตอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย สามารถแบ่งออกได้เป็น 6 กลุ่ม ดังนี้

  1. กลุ่มโบราณสถานภายในกำแพงเมือง (ศ ก.) จำนวน 42 แห่ง
  2. กลุ่มโบราณสถานนอกกำแพงเมืองด้านทิศตะวันออก (ศ ตอ.) จำนวน 10 แห่ง
  3. กลุ่มโบราณสถานนอกกำแพงเมืองด้านทิศใต้ (ศ ต.) จำนวน 32 แห่ง
  4. กลุ่มโบราณสถานนอกกำแพงเมืองด้านทิศตะวันตก (ศ ตต.) จำนวน 15 แห่ง
  5. กลุ่มโบราณสถานนอกกำแพงเมืองด้านทิศเหนือ (ศ น.) จำนวน 33 แห่ง
  6. กลุ่มโบราณสถานบนเขา (ศ ข.) รวม 15 แห่ง

5. อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร

การออกแบบผังเมืองกำแพงเพชรมีการแบ่งเขตพื้นที่ของเมืองตามความเจริญ และความมั่งคั่ง ของเมืองในยุคสมัยต่าง ๆ ได้แก่ กลุ่มเมืองนครชุมทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปิง กลุ่มอรัญญิกทางทิศเหนือ ของกำแพงเมือง และกลุ่มศูนย์กลางภายในกำแพงเมืองกำแพงเพชรและพื้นที่โดยรอบกำแพงเมืองทางฝั่ง ตะวันออกของแม่น้ำปิง

อุทยานประวัติศาสตร์

เมืองกำแพงเพชรมีการวางกลุ่มเมืองกระจายตัวไปตามทิศต่าง ๆ ตามความเจริญในแต่ละยุคสมัย ถึง 3 กลุ่ม ซึ่งปัจจุบันได้มีการสร้างอาคารบ้านเรือนขึ้นหนาแน่นโดยเฉพาะพื้นที่บางส่วนภายในกำแพงเมือง ด้านทิศตะวันตกและด้านทิศตะวันออกของกำแพงเมือง ทำให้โบราณสถานหลายแห่งถูกรุกล้ำทำลาย จากการ ที่โบราณสถานแต่ละแห่งตั้งอยู่อย่างกระจายตัว เพื่อความสะดวกในการกำกับหมายเลขของโบราณสถาน ข้อมูลนำชมอุทยานนี้ จึงได้ใช้หมายเลขกำกับโบราณสถานตามที่กรมศิลปากรกำหนดเป็นหลักเพื่อให้สอดคล้องและเกิดความเข้าใจในทิศทางเดียวกัน ซึ่งได้กำหนดกลุ่มโบราณสถานออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ 1) กลุ่มศูนย์กลางเมืองซึ่งตั้งอยู่ภายในกำแพงเมือง 2) กลุ่มทิศตะวันออก 3) กลุ่มทิศใต้ และ 4) กลุ่มทิศเหนือหรือเขตอรัญญิก โดยทิศตะวันตกเป็นพื้นที่คาบเกี่ยวกับเขตอรัญญิกจึงให้รวมกับกลุ่มโบราณสถานด้านทิศเหนือเป็นกลุ่มเดียวกัน

สถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นแหล่งโบราณสถาน ในเขตอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 กลุ่ม ดังนี้

  1. กลุ่มโบราณสถานภายในกำแพงเมือง (ก ก.) จำนวน 20 แห่ง
  2. กลุ่มโบราณสถานนอกกำแพงเมืองด้านทิศตะวันออก (ก ตอ.) จำนวน 16 แห่ง
  3. กลุ่มโบราณสถานนอกกำแพงเมืองด้านทิศใต้ เมืองนครชุม (ก ต.) จำนวน 12 แห่ง
  4. กลุ่มโบราณสถานนอกกำแพงเมืองด้านทิศเหนือ เขตอรัญญิก (ก น.) จำนวน 37 แห่ง

อุทยานประวัติศาสตร์

หนังสือ 3 แหล่งอุทยานประวัติศาสตร์มรดกโลก สมัยสุโขทัย เกิดขึ้นจากความสนใจด้านประวัติศาสตร์ ศิลปสถาปัตยกรรม การท่องเที่ยว และการนำนักศึกษา เข้าเยี่ยมชมอุทยานประวัติศาสตร์ ทั้ง 3 แหล่ง เป็นประจำทุกปี โดยได้รวบรวมข้อมูลทั้งภาคเอกสาร การบันทึกข้อมูลและภาพถ่าย จากสถานที่จริง จนนำมาสู่การเขียนหนังสือเล่มนี้ โดยคาดหวังให้เกิดประโยชน์แก่นิสิตนักศึกษา และผู้ที่สนใจ ในการศึกษาด้านโบราณคดี ประวัติศาสตร์ศิลปสถาปัตยกรรมและการท่องเที่ยว เพื่อให้เข้าถึงข้อมูล และเกิดความเข้าใจในบริบทของศิลปสถาปัตยกรรมสมัยสุโขทัย และการเข้าถึงพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยและอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชรได้สะดวกยิ่งขึ้น อันเป็นการส่งเสริม การศึกษาและการท่องเที่ยวในเขตพื้นที่มรดกโลก สมัยสุโขทัยทั้ง 3 แหล่ง อันเป็นกลุ่มเมืองรองของเขตพื้นที่ ภาคเหนือตอนล่าง

บรรณานุกรม

กรมศิลปากร. (2512). รายงานการสำรวจ และขุดแต่งโบราณวัตถุสถานเมืองเก่าสุโขทัย
///////พ.ศ. 2508-2512. กรุงเทพฯ: คณะกรรมการปรับปรุงบูรณะโบราณสถาน จังหวัดสุโขทัย
///////และจังหวัดกำแพงเพชร.
กรมศิลปากร. (2535). ทำเนียบโบราณสถานอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย. กรุงเทพฯ:
///////สมาพันธ์.
กรมศิลปากร. (2561). ทำเนียบโบราณสถานอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย (พิมพ์ครั้งที่ 2).
///////สุโขทัย: สำนักอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย.
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว. (2526). เที่ยวเมืองพระร่วง. กรุงเทพฯ: องค์การค้าของคุรุสภา.
///////รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง. (2556). พุทธศิลป์ลังกา. กรุงเทพฯ: มติชน.
วิไลรัตน์ ยังรอด, และธวัชชัย องค์วุฒิเวทย์. (2551). คู่มือท่องเที่ยว-เรียนรู้ สุโขทัย ศรีสัชนาลัย.
///////กรุงเทพฯ: มิวเซียมเพรส.
ศักดิ์ชัย สายสิงห์. (2545). การวิเคราะห์ข้อมูลจากการขุดค้นทางโบราณคดีร่วมกับ
///////ข้อมูลด้านศิลาจารึกและประวัติศาสตร์ศิลปะสมัยสุโขทัย
. กรุงเทพฯ:
///////สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ.
ศรีศักดิ์ วัลลิโภดม. (2552). เมืองโบราณในอาณาจักรสุโขทัย. กรุงเทพฯ: สถาบันไทยคดีศึกษา
///////มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
สันติ เล็กสุขุม. (2549). ศิลปะสุโขทัย (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์เมืองโบราณ.
สันติ เล็กสุขุม. (2551). โบราณสถานกับรูปแบบสันนิษฐาน มรดกโลก สุโขทัย ศรีสัชนาลัย
///////กำแพงเพชร 2
. กรุงเทพฯ: ทวีวัฒน์การพิมพ์.
สุวิทย์ จิระมณี. (2544). แหล่งโบราณสถานกับการท่องเที่ยว เอกสารโครงการอบรมมัคคุเทศก์
///////(พิมพ์ครั้งที่ 2)
. ชลบุรี: คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา.
หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล. (2539). ศิลปะขอม. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว.
หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล. (ม.ป.ป.). ศิลปสุโขทัย. กรุงเทพฯ: คณะกรรมการฝ่ายวัฒนธรรม
///////ของคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมสหประชาชาติ.

Graphic Design และ Content Creator ที่หลงใหลในการเขียน Content และเชื่อว่า Content เป็นสิ่งสำคัญในการสื่อสารกับทุก ๆ คน