ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับ สังคมร่วมสมัย

สังคมร่วมสมัย หนังสือ ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับสังคมร่วมสมัย หรือ Introduction to Contemporary Society เป็นผลงานของคณาจารย์ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร จากบทความ 12 ชิ้นที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับสังคม ในหลากหลายมิติ โดยคณะผู้เขียนยึดคำว่า “สังคม” หรือ “society” เป็นสรณะเพื่อให้เกิดการคิดเชิงวิพากษ์และตั้งคำถามกับคำคำนี้ ในฐานะที่เรามนุษย์คนหนึ่งไม่สามารถปฏิเสธการเป็นส่วนหนึ่งของสังคมได้ ขณะที่สังคมที่ล้อมรอบเรานั้นมีลักษณะทั้งกายภาพและ ความเป็นนามธรรม สังคมจึงเป็นทั้งโครงสร้าง สถาบัน ปรากฏการณ์ และความเปลี่ยนแปลงที่ไม่หยุดนิ่ง การทำความเข้าใจสังคมที่มีพลวัตจึงเป็นพื้นฐานของนิสิตนักศึกษาในทางสังคมศาสตร์ ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์หลักของการผลิตหนังสือเล่มนี้ นั่นคือให้เป็นเอกสารสำหรับการเรียนการสอนของนิสิตนักศึกษาในสายสังคมศาสตร์และศาสตร์สาขาที่เกี่ยวข้อง

สังคมร่วมสมัย

สัมภาษณ์บรรณาธิการ

เมื่อคำว่า “สังคม” คือปริมณฑลหลักของหนังสือเล่มนี้ การพิจารณาความหมายของคำนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นก่อนที่จะไปสู่เนื้อหาว่าด้วยสังคมร่วมสมัยที่ปรากฏในเล่ม คำว่า “สังคม” จากพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ซึ่งอธิบายคำนี้ในฐานะที่เป็นคำนามไว้ 2 ความหมาย ความหมายแรก คือคนจำนวนหนึ่งที่มีความสัมพันธ์ต่อเนื่องกันตามระเบียบและ/หรือกฎเกณฑ์ โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญร่วมกัน เช่น สังคมชนบท และความหมายที่สอง คือวงการหรือสมาคมของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เช่น สังคมชาวบ้าน ส่วนคำว่า “society” ในพจนานุกรมออกซฟอร์ดนั้นให้ความหมายที่เป็นทั้งคำนามที่นับไม่ได้และคำนามที่นับได้ ในความหมายที่เป็นคำนามที่นับไม่ได้นั้นหมายถึง คนที่อาศัยอยู่ในชุมชนที่หลากหลาย เป็นเบื้องต้น

ส่วนที่มีความหมายเป็นคำนามที่นับได้และอาจนับไม่ได้ด้วยในขณะเดียวกันนั้น คือชุมชนเฉพาะเจาะจงของคนที่มีความเชื่อ ประเพณี วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ หลักปฏิบัติ กฎหมาย หรืออื่นๆ ร่วมกัน เช่น สังคมอุตสาหกรรมสมัยใหม่ สังคมผู้บริโภค สังคมไร้ชนชั้น สังคมประชาธิปไตย เป็นต้น ส่วนสังคมเป็นคำนามที่นับได้อย่างชัดเจนนั้น ออกซฟอร์ดอธิบายว่าเป็นการรวมตัวกันของคนที่มีเป้าหมายเฉพาะเจาะจงร่วมกัน ที่อาจแปลได้ว่า “สมาคม” เช่น สมาคมการละคร สมาคมวงศาวิทยา สมาคมอเมริกันของบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ เป็นต้น

หนังสือเล่มนี้จึงเป็นปฐมบทของการทำงานของภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งไม่ใช่เพียงแต่ภาควิชาฯ หรือ คณะสังคมศาสตร์ ในฐานะหน่วยงานในเชิงสถาบันเท่านั้น หากยังหมายถึงการทำงาน ด้วยความสมัครใจของคณาจารย์และเจ้าหน้าที่ของภาควิชาฯ ที่มีส่วนร่วมในการผลิตหนังสือเล่มนี้

ส่วนที่ 1 มนุษย์กับสังคม

1. พฤติกรรมมนุษย์

พฤติกรรมมนุษย์ หมายถึงการกระทำของมนุษย์ทั้งที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจ ทั้งที่รู้ตัว และไม่รู้ตัว โดยมีองค์ประกอบ 2 ประการ คือ 1) พฤติกรรมภายนอก (overt behavior) ที่บุคคลอื่นสังเกตเห็นได้ เช่น กะพริบตา ยิ้ม พูดคุย วิ่ง หัวเราะ ฯลฯ และ 2) พฤติกรรมภายใน (covert behavior) ที่บุคคลอื่นไม่สามารถสังเกตเห็นด้วยตาเปล่า เช่น ความคิด ความรู้สึก ความเชื่อ ฯลฯ ซึ่งสามารถประเมินได้ด้วยเครื่องมือ แบบสอบถาม การวัดคลื่นสมอง ฯลฯ ผู้ที่ปฏิบัติงานด้านสังคมศาสตร์จำเป็นต้องเข้าใจสาเหตุและความแตกต่างระหว่างบุคคลเพื่อนำไปสู่การช่วยเหลืออย่างถูกต้องเหมาะสม (Greene, 2017; ไหมไทย ไชยพันธุ์, 2562)

จากกรณีศึกษาข้างต้น บิดาแห่งจิตวิทยามนุษยนิยม อับราฮัม มาสโลว์ (Maslow, 1962 as cited in Mcleod, 2018a) กล่าวว่า พฤติกรรมมนุษย์ประกอบด้วยแรงขับเคลื่อนจากความต้องการ 2 ระดับ ความต้องการระดับต้น เกิดจากความขาดแคลน (Deficiency Needs : D-needs) ได้แก่ ความต้องการทางสรีรวิทยา, ความมั่นคงปลอดภัย, ความรักความสัมพันธ์ และการยอมรับนับถือจากผู้อื่น ในขณะที่ ความต้องการระดับสูง เกิดจากความต้องการเติบโตสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ (Growth or Being Needs : B-needs) เช่น ความต้องการบรรลุศักยภาพสูงสุดของตนเอง ซึ่งต่อมาได้ขยายผลการศึกษาใน 18 บุคคล (รวมถึงอับราฮัม ลินคอร์น ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ในช่วงสงครามกลางเมืองในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 และอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ นักฟิสิกส์ชาวเยอรมันเชื้อสายยิว เจ้าของทฤษฎีสัมพัทธภาพ – Theory of Relativity) ที่ได้รับการยกย่องว่าบรรลุ B-needs พบลักษณะ 15 ประการของบุคคลที่เติบโตสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์

2. รูปแบบครอบครัวที่เปลี่ยนแปลง

ครอบครัวอาจดูเป็นเรื่องธรรมชาติที่ใกล้ตัวพวกเราเป็นอย่างมาก ใกล้ตัวจนกระทั่งเราละเลยที่จะตั้งคำถามและหาคำตอบถึงความสัมพันธ์ที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป ในปัจจุบันมีรูปแบบครอบครัวที่หลากหลายปรากฏขึ้นเรื่อย ๆ เช่น พ่อหรือแม่คนเดียวอยู่กับลูก ผู้หญิงและผู้ชายที่อาศัยอยู่ด้วยกันโดยไม่ได้แต่งงาน ผู้สูงอายุอาศัยอยู่กับหลาน คู่รักเพศเดียวกันอาศัยอยู่ด้วยกัน ครอบครัวบุญธรรม น่าสนใจว่าพวกเขาเหล่านี้ถือ เป็นครอบครัวประเภทหนึ่งด้วยหรือไม่ คำถามเหล่านี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับนักสังคมศาสตร์เท่านั้น หากยังก่อให้เกิดการถกเถียงในเชิงปรัชญา ศาสนา การเมือง กฎหมาย นโยบายสังคม หรือแม้กระทั่งการแพทย์อีกด้วย บทความนี้นำเสนอความเป็นพลวัตของครอบครัวที่จะทำให้ผู้อ่านเห็นภาพการเปลี่ยนแปลงอย่างไม่หยุดนิ่งและบริบทที่เกี่ยวข้อง ในบทนี้นำเสนอเนื้อหาประกอบด้วย 2 ส่วนหลัก ได้แก่ 1) ครอบครัวในอุดมคติแบบเดิมและการเปลี่ยนผ่านไปสู่ครอบครัวสมัยใหม่ 2) รูปแบบครอบครัวสมัยใหม่

ส่วนที่ 2 หลากมิติของสังคม

สังคมร่วมสมัย

3. ความไม่เท่าเทียมกันทางสังคม

ความไม่เท่าเทียมกันทางสังคม หรือความเหลื่อมล้ำทางสังคม (social inequality) เป็นมโนทัศน์ทางสังคมวิทยามโนทัศน์หนึ่งที่จะช่วยให้เราเข้าใจว่าทำไมผู้คนที่อยู่รายล้อมเราตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน ระดับชุมชน ระดับจังหวัด ระดับประเทศ และระหว่างประเทศนั้น จึงมีความแตกต่างกันในระดับการศึกษา สถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคม การที่ตัวเราเกิดมาในครอบครัวที่ยากจน ขาดโอกาสทางการศึกษา ไม่มีโอกาสใช้ระบบขนส่งสาธารณะ หรือมีข้อจำกัดในการเข้าถึงบริการสาธารณสุขนั้น มิใช่สภาพการณ์แห่งชีวิตที่เป็นผล มาจากบุญพาวาสนาหรือเวรกรรมใด ๆ หากแต่ความไม่เท่าเทียมกันทางสังคมเป็นทั้งลักษณะของโครงสร้างสังคมและระบบสังคม รวมทั้งเป็นปัญหาสังคมที่เราจะต้อง ทำความเข้าใจร่วมกับมโนทัศน์ทางสังคมวิทยามโนทัศน์อื่น ๆ เช่น ช่วงชั้นทางสังคม (social stratification) และชนชั้นทางสังคม (social class)

คำว่า social inequality เป็นมโนทัศน์ทางสังคมวิทยา แปลเป็นภาษาไทยได้ว่า ความไม่เท่าเทียมกันทางสังคม หรือ ความเหลื่อมล้ำทางสังคม หรือ ความไม่เสมอภาค ทางสังคม

4. การศึกษาวัฒนธรรมและวัฒนธรรมศึกษา

วัฒนธรรมเป็นสิ่งที่อยู่ในตัว ในความคิด ในวิถีชีวิตและใกล้ตัวเราก็จริง แต่การทำความเข้าใจเรื่องใกล้ตัวที่ว่าก็เป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนัก เพราะวัฒนธรรมเป็นแนวคิดที่กว้าง มีความสลับซับซ้อน ไม่มีความเป็นแก่นแกน (non-essence) ไม่มีความเป็นของแท้ (authenticity) ก้าวข้ามความเป็นวัตถุสิ่งของหรือหน่วย (entity) มีความไม่ตายตัว (unfixed) มีความเป็นพลวัต (dynamic) และถูกประกอบสร้างใหม่ (reconstructed) อยู่เสมอตามเงื่อนไขความสัมพันธ์และบริบททางสังคม วัฒนธรรมจึงไม่ได้มีแนวคิดเดียว ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นการยากที่เราจะนิยามว่าอะไรคือวัฒนธรรมให้ตายตัว นอกจากนี้เราต้องเข้าใจว่าวัฒนธรรมไม่ใช่แค่ผลผลิตหรือมรดกตกทอดทางสังคมเท่านั้น แต่วัฒนธรรมยังเป็นทั้งเครื่องมือที่สำคัญในการจัดระบบ-ระเบียบความสัมพันธ์ทางสังคม เป็นปฏิบัติการทางสังคม ตลอดจนเป็นสิ่งที่ช่วยให้เราทำความเข้าใจสังคมผ่านพื้นที่ของการปฏิบัติการที่แสดงออก ซึ่งความหมายเชิงสัญญะ คุณค่า และอุดมการณ์บางอย่าง ที่สะท้อนให้เห็นโครงสร้างความสัมพันธ์ทางสังคมในสังคม เช่น ความเสมอภาค/ไม่เสมอภาค เป็นต้น

5. “ผู้ถูกกดทับ” หรือ “ผู้ถูกทำให้อยู่ในสถานะรอง”

แนวคิดผู้ถูกกดทับ หรือ ผู้ถูกทำให้อยู่ในสถานะรอง (subaltern) (ซึ่งต่อไปนี้จะขอใช้คำสั้น ๆ ว่า แนวคิดผู้ถูกกดทับฯ) โดยอันโตนิโอ กรัมชี (Antonio Gramsci) นักปรัชญาชาวอิตาเลียน มีที่มาจากจดหมาย “สมุดบันทึกจากคุก” ที่ได้รับการตีพิมพ์และแปล เป็นภาษาอังกฤษในปี ค.ศ. 1971 ในหนังสือชื่อ “งานเลือกสรรจากสมุดบันทึกจากคุก ของอันโตนิโอ กรัมชี” (selections from the prison notebooks of Antonio Gramsci) โดยควินติน ออร์ และเจฟฟรีย์ โนเวิลล์-สมิธ (Hoare & Nowell-Smith, 1971)

อย่างไรก็ตาม แนวคิดสภาวะของการถูกกดทับไม่ได้ถูกนิยามไว้อย่างชัดเจน ในสมุดบันทึกจากคุก เพียงแต่ปรากฏในรูปของลักษณะพื้นฐานของแนวคิดเท่านั้น (fundamental characteristic of concepts) (Crehan, 2016, pp.4–7) จนถึงในสมุดบันทึกเล่มที่ 25 (Q25) ซึ่งถือว่ามีการจดบันทึกไว้มากที่สุด แต่ก็ยังไม่ได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษมากนัก โดยมีงานแปลของโจเซฟ บุ๊ตติจิจช์ (Gramsci, 1992) เป็นต้นแบบ ในการแปลสมุดบันทึกเล่มที่ 25 ที่มีลักษณะเด่นของการแปลที่เป็นแบบการเรียงตามลำดับก่อน-หลัง ซึ่งแตกต่างจากงานของออร์ และเจฟฟรีย์ โนเวิลล์-สมิธ ที่เป็นลักษณะของ การเลือกสรร (selected) ตามเนื้อหาและหัวข้อของแนวคิดที่ผู้แปลเลือกและตั้งใจจะนำมาอธิบาย รวมถึงงานเขียนชิ้นสุดท้ายที่กรัมชีเขียนไม่เสร็จ ที่ว่าด้วย “แง่มุมบางประการของคำถามเกี่ยวกับปัญหาทางใต้” (Some Aspects of the Southern Question)

ตลอดจนการตีความแนวคิดสภาวะของการถูกกดทับ และแนวคิดกลุ่มผู้ถูกกดทับที่วิลเลียม เบลค (William Blake) ตามสิ่งที่กรัมชีเขียนในจดหมายถึงภรรยาของเขาก่อนเสียชีวิต (as cited in Crehan, 2016, p.16; Bellina, et al., 2010, pp.14–20; วัชรพล พุทธรักษา, 2557, น.138) หลังจากได้รับการแปลและตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษในปี ค.ศ. 1971 แนวคิดของกรัมชีจึงได้รับการตอบรับและนำไปประยุกต์ใช้ ตลอดจนสร้างข้อถกเถียงทางวิชาการอย่างแพร่หลาย และไม่เพียงแต่ในวงวิชาการรัฐศาสตร์หรือสังคมวิทยาเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการศึกษาแบบการบูรณาการแบบข้ามศาสตร์ข้ามสาขาวิชา (transdisciplinary) อีกด้วย

ส่วนที่ 3 พลวัตทางสังคม

6. การอพยพย้ายถิ่นและปรากฏการณ์ทางสังคม

การอพยพย้ายถิ่น หรือ การย้ายถิ่น (migration) ในปัจจุบันเป็นปรากฏการณ์ ที่เกิดขึ้นหลายรูปแบบและมีความซับซ้อนในขณะเดียวกัน เช่นการท่องเที่ยวไปยังที่หนึ่ง ในระยะ 1–2 เดือน หรือการอยู่ที่ใดที่หนึ่งตั้งแต่ 3–5 ปี ต่างถือเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการการย้ายถิ่น (migration process) ที่สัมพันธ์กัน และยังสะท้อนว่าเส้นแบ่งระหว่างการย้ายถิ่นและการท่องเที่ยวนั้นพร่าเลือน (Castles, De Haas, & Miller, 2014a, p.7) หรือนักศึกษาออกจากบ้านเกิดในจังหวัดหนึ่งไปเรียนในระดับมหาวิทยาลัยในอีกจังหวัดหนึ่ง ต้องเช่าหอพักอยู่ถึง 4–5 ปีจนจบการศึกษา หรือแรงงานในภาคเกษตรไปรับจ้างในเมืองอย่างกรุงเทพฯ ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ทศวรรษ 1970 จนถึงปัจจุบัน หลังประเทศไทยปรับโครงสร้างเศรษฐกิจจากเกษตรกรรมฐานเดียวสู่อุตสาหกรรม ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน คนไทยเริ่มเดินทางไปใช้แรงงานในต่างประเทศในภาคเกษตร อุตสาหกรรม งานก่อสร้างในประเทศแถบตะวันออกกลาง สหรัฐอเมริกา ยุโรป หรือประเทศในเอเชียอย่างมาเลเซีย สิงคโปร์ ไต้หวัน ญี่ปุ่น หรือเกาหลีใต้ (อ้อทิพย์ ราษฎร์นิยม, 2560) รวมถึงงานบริการและบริการทางเพศในประเทศเหล่านั้น ทั้งถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย (Brummelhuis, 1997; ชญานิศวร์ กุลรัตนมณีพร, 2555; วิลาสินี อารียะกิจโกศล และศยามล เจริญรัตน์, 2559)

7. เครือข่ายทางสังคม

หากผู้อ่านตั้งต้นศึกษาพัฒนาการของทฤษฎีเครือข่ายทางสังคมจากตำราด้านสังคมวิทยา เช่น ทฤษฎีสังคมวิทยา โดยสุภางค์ จันทวานิช (2559) ทฤษฎีสังคมวิทยา เนื้อหาและแนวการใช้ประโยชน์เบื้องต้น โดยสัญญา สัญญาวิวัฒน์ (2550) หรือ ทฤษฎีมานุษยวิทยา ภาค 2 โดยสุเทพ สุนทรเภสัช (2553) และ แนวคิดพื้นฐานทางสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งคณาจารย์ภาคสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (2553, น.254) ประมวลเป็นเครื่องมือทางความคิดสำหรับนักศึกษาสาขาวิชาต่าง ๆ ใช้เป็นพื้นฐานทำความเข้าใจความเป็นจริงหรือปรากฏการณ์ทางสังคม อาจไม่พบหัวข้อใดกล่าวถึงเนื้อหาทฤษฎีนี้ แต่ตำราว่าด้วย ทฤษฎีสังคมวิทยาร่วมสมัย ของสุเทพ สุนทรเภสัช (2540, น.380–384) ได้กล่าวถึงพัฒนาการโดยสังเขปของ “ทฤษฎีเครือข่าย” ในบทที่ 8 ซึ่งเป็นพัฒนาการของทฤษฎีสังคมวิทยาที่สำคัญในปัจจุบันว่า เป็นประเภทหนึ่งของทฤษฎีโครงสร้าง (Structural Theory) กระนั้นก็ตามมีข้อสังเกตว่า สุเทพ สุนทรเภสัช (2540, น.273) กล่าวถึงทฤษฎีเครือข่ายว่า เกิดจากการขยายตัวของทฤษฎีการแลกเปลี่ยน

8. การเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง

ในปัจจุบัน ระบบการศึกษาทั่วโลกถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ว่าเป็นเพียงหน่วยทางสังคมที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือของชนชั้นปกครองและระบบทุนนิยม ในการเตรียมพลเมืองที่มีคุณลักษณะเชื่องหงอย ขาดสำนึกเชิงวิพากษ์วิจารณ์ (conscientization) ยินยอมตกอยู่ภายใต้ระบบความสัมพันธ์เชิงอำนาจ การถูกกดขี่ การถูกเอารัดเอาเปรียบ และน้อมรับการเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการผลิตซ้ำระบบอุดมการณ์หลักที่ผู้ปกครองต้องการ การที่ระบบการศึกษาที่มีอยู่ไม่ได้มุ่งปลุกสำนึกของผู้เรียนให้ตระหนักถึงสภาวะการกลายเป็นผู้ถูกกดขี่ และมีระบบการเรียนรู้ที่อยู่ภายใต้หลักสูตรแฝง (hidden curriculum) ซึ่งซ่อนเร้นระบบอุดมการณ์และโครงข่ายความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียมอยู่ทั่วไป ทั้งในรูปสัญญะ (sign) เช่น ความเชื่อ วัฒนธรรมองค์กร ประเพณีและพิธีกรรม ตลอดจนกฎ ระเบียบ และข้อบังคับต่าง ๆ ที่มีลักษณะเข้มงวด ล้วนส่งผลให้ระบบการศึกษาที่มีอยู่กลายเป็นอุปสรรคสำคัญของการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ส่วนที่ 4 สังคมกับการพัฒนา

9. ความมั่นคงกับการพัฒนา

การพัฒนา (development) คือการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม ไปในทางที่ก้าวหน้า ซึ่งเกี่ยวข้องกับปัจจัยหลายประการ ได้แก่ ประชากร สังคมและวัฒนธรรม ระบบเศรษฐกิจ การศึกษา เทคโนโลยีและนวัตกรรม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การเมืองการปกครอง เป็นต้น จากกระบวนทัศน์ใหม่ของการพัฒนาที่ต้องการจะนำสังคมโลกไปสู่ความยั่งยืน (sustainable) ผ่านแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน (sustainable development concept) นั้น สามารถอธิบายการพัฒนาได้ในมิติของทิศทาง (direction) ขนาด (magnitude) ระยะเวลา (time) สาเหตุที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือต่อต้านการเปลี่ยนแปลง (change and resistance to change) ความยืดหยุ่น (resilience) และผลกระทบ (impact) ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลง (วิทยากร เชียงกูล, 2527; ดิเรก ฤกษ์หร่าย, 2543; สัญญา สัญญาวิวัฒน์, 2547; สนธยา พลศรี, 2547; วิรัช วิรัชนิภาวรรณ, ม.ป.ป.) และจำเป็นต้องอยู่บนพื้นฐานของความมั่นคง (security) และการพัฒนา ที่ทำให้ขาดความมั่นคงจะทำให้สังคมนั้นเข้าสู่ภาวะของความเสี่ยง (risk) ความเปราะบาง (vulnerability) และความขาดแคลน (scarcity) ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะถดถอยด้านการพัฒนา (development recession) ได้ และสังคมใดมีการพัฒนาที่สนับสนุนให้เกิดความมั่นคง มากยิ่งขึ้น สังคมนั้นก็จะนำไปสู่การพัฒนาที่ก้าวหน้า (progressive development) และการพัฒนาที่ยั่งยืน (sustainable development) ได้เช่นกัน

10. ชุมชน : แนวคิด ทฤษฎี และวิธีการการพัฒนา

บทความนี้ ผู้เขียนตั้งใจให้นิสิตนักศึกษาที่เรียนด้านการพัฒนานำไปใช้ทำความเข้าใจเรื่องชุมชน ตลอดจนแนวคิดทฤษฎีและวิธีการพัฒนาที่มีการเปลี่ยนแปลงมาจากอดีตจนถึงปัจจุบัน เพราะไม่ว่าจะเป็นนิสิตที่เรียนด้านพัฒนาชุมชนหรือพัฒนาสังคม ย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องทำงานกับคนและชุมชน ด้วยเหตุที่โลกปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไป อย่างรวดเร็ว ความหมายของชุมชนเองก็มีการเปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นกัน หรือแม้แต่ ผู้ที่ทำงานในสังคมทุกวันนี้ มีทั้งคนและปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) อย่างไรก็ตาม เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า คนยังคงเป็นทรัพยากรสำคัญในการพัฒนาทุกระดับ ที่สำคัญประเทศไทยยังคงเป็นประเทศกำลังพัฒนา ชุมชนต่าง ๆ จึงยังต้องการแผนการพัฒนาที่ดีเพื่อให้เกิด การเปลี่ยนแปลงที่ดี แน่นอนว่าคนที่ต้องไปทำงานกับคนและชุมชนควรเป็นคนที่มีความรู้ ความเข้าใจ มีทักษะในด้านการทำงานกับคนและชุมชน ไม่ใช่ใครก็ได้ที่จะทำงานนี้ บทความจึงมีลักษณะกึ่งวิชาการผสานกับการถ่ายทอดประสบการณ์ตรงของผู้เขียน จากการทำงานกับชุมชนในหลากหลายสถานที่และบริบท โดยเนื้อหาในบทความนี้ ประกอบไปด้วย 1) ความหมายหลากมิติของชุมชน 2) ความหมายของการพัฒนาร่วมสมัย 3) แนวคิดทฤษฎีที่สำคัญในการพัฒนา 4) แนวคิดและข้อเสนอต่อแนวทางการพัฒนา และ 5) วิธีการในการศึกษาชุมชน

11. พื้นที่กับการพัฒนา

การรับรู้เชิงพื้นที่ตามความเข้าใจของคนทั่วไปนั้น พื้นที่เปรียบเสมือนฉาก ของการกระทำ หากมองลึกลงไป พื้นที่มีความหมายที่ครอบคลุมและกว้างกว่านั้น พื้นที่ไม่ได้ถูกมองว่าเป็นรูปธรรมที่สังเกตเห็นได้ แต่ยังมีพื้นที่เชิงนามธรรมซ้อนทับอยู่ อีกต่อหนึ่ง ฉะนั้น พื้นที่จึงถือว่าเป็นประดิษฐกรรมทางวัฒนธรรมที่มีความซับซ้อน พื้นที่ อาจอยู่ในฐานะที่เป็นธรรมชาติ เป็นโครงสร้าง เป็นวัฒนธรรม หรืออยู่ในฐานะที่เป็นความสัมพันธ์ได้ ดังนั้น พื้นที่จึงเป็นที่สนใจของนักปรัชญาหลากหลายสาขา

เมื่อกล่าวถึงการศึกษาเรื่อง พื้นที่ มักจะมุ่งศึกษาถึงพื้นที่ (area) มีลักษณะเป็นรูปธรรม มีขอบเขตกายภาพ มีเส้นแบ่ง การศึกษาเรื่องพื้นที่ในลักษณะนี้เป็นการแบ่งแยกออกจากกัน เนื่องจากศึกษาในสาขาที่ต่างกัน กล่าวคือการศึกษาพื้นที่ทางกายภาพครอบคลุมส่วนของภูมิประเทศที่เป็นพื้นดิน พื้นน้ำ ได้แก่ สาขาวิชาภูมิศาสตร์และธรณีวิทยา และส่วนของร่างกายมนุษย์ซึ่งจัดเป็นพื้นที่ทางกายภาพเช่นกัน จะมีการศึกษาเชิงการแพทย์และชีววิทยา ขณะที่พื้นที่ภายในจิตใจหรือความรู้สึกนึกคิดเป็นการศึกษาแขนงจิตวิทยา สำหรับพื้นที่ทางสังคม เป็นเรื่องที่สัมพันธ์กับสายสังคมศาสตร์ เช่น สังคมวิทยา มานุษยวิทยา เป็นต้น

12. การกระจายอำนาจกับการพัฒนา

สังคมไทยมีการปกครองแบบรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ส่วนกลางมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เพื่อให้ประเทศมีความเป็นเอกภาพในการปกครอง จนกระทั่ง พ.ศ. 2475 เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบบประชาธิปไตย ในทางตรงกันข้าม สังคมไทยกลับไม่ได้เข้าสู่ความเป็นประชาธิปไตย แต่เป็น “รัฐอำมาตยาธิปไตย” (bureaucratic polity) ที่อำนาจการเมืองการบริหารรวมศูนย์ อยู่ที่ข้าราชการทหาร-พลเรือน ระบบราชการมีอำนาจและบทบาทควบคุมทั่วทั้งสังคม ประกอบกับแนวทางการพัฒนาสังคมให้ทันสมัยแบบตะวันตก (Riggs, 1966, pp.357-366) แม้ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ เป็นกฎหมายหลักในการกำหนดความสัมพันธ์ทางอำนาจ แต่เนื่องจากกฎหมายรัฐธรรมนูญของไทย ไม่มีความยั่งยืน เนื่องจากประเทศไทยมีการรัฐประหารถึง 13 ครั้งในประวัติศาสตร์ การเมืองไทย เมื่อมีการรัฐประหารก็จะมีการประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับเดิม และร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้น โดยรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารมีแนวคิดไปในทาง ที่เรียกว่าอำนาจนิยม และใช้วิธีการรวมอำนาจไว้ที่ส่วนกลางมากกว่าการกระจายอำนาจ ด้วยเหตุผลด้านความมั่นคงและความเป็นเอกภาพ

สังคมร่วมสมัย

เอกสารอ้างอิง

คณาจารย์ภาคสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. (2553). แนวคิดพื้นฐานทางสังคมและวัฒนธรรม (พิมพ์ครั้งที่ 3). เชียงใหม่: คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

ชญานิศวร์ กุลรัตนมณีพร. (2555). เต็มใจกลับหรือถูกบังคับ: เหตุผลการย้ายถิ่นกลับของแรงงานไทยจากญี่ปุ่น. วารสารญี่ปุ่นศึกษา (มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์), 29(1), 35-46.

ดิเรก ฤกษ์หร่าย. (2543). ทฤษฎีและแนวทางการพัฒนาสังคม. ใน เอกสารการสอนชุดวิชาคหกรรมศาสตร์กับการพัฒนาชุมชน. นนทบุรี: มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.

วัชรพล พุทธรักษา. (2557). บทสำรวจความคิดทางการเมืองของอันโตนิโอ กรัมชี่ (A Survey of Gramsci’s Political Thought). กรุงเทพฯ: สมมติ.

วิทยากร เชียงกูล. (2527). พัฒนาชุมชน-พัฒนาสังคม. เชียงใหม่: คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

วิรัช วิรัชนิภาวรรณ. (ม.ป.ป.). ความหมายของการพัฒนา คำที่มีความหมายใกล้เคียงและแนวคิดพื้นฐานของการพัฒนา. เอกสารอัดสำเนา. ม.ป.ท.

วิลาสินี อารียะกิจโกศล และ ศยามล เจริญรัตน์. (2559). การย้ายถิ่นแบบไม่ปกติของหมอนวดหญิงแผนไทยในเกาหลีใต้. วารสารนานาชาติ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, 6(3), 35-55.

สนธยา พลศรี. (2547). ทฤษฎีและหลักการพัฒนาชุมชน (พิมพ์ครั้งที่ 5). กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์.

สัญญา สัญญาวิวัฒน์. (2547). ทฤษฎีและกลยุทธ์การพัฒนาสังคม (พิมพ์ครั้งที่ 5). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

สุภางค์ จันทวานิช. (2559). ทฤษฎีสังคมวิทยา (พิมพ์ครั้งที่ 7). กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

สัญญา สัญญาวิวัฒน์. (2550). ทฤษฎีสังคมวิทยา เนื้อหาและแนวการใช้ประโยชน์เบื้องต้น (พิมพ์ครั้งที่ 10). กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

สุเทพ สุนทรเภสัช. (2553). ทฤษฎีมานุษยวิทยา เล่ม 2. กรุงเทพฯ: ดวงกมล.

สุเทพ สุนทรเภสัช. (2540). ทฤษฎีสังคมวิทยาร่วมสมัย. เชียงใหม่: โกลบอลวิชั่น.

ไหมไทย ไชยพันธุ์. (2562). การพัฒนาพฤติกรรมมนุษย์. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

อ้อทิพย์ ราษฎร์นิยม. (2560). การย้ายถิ่นบนเส้นทางของการพัฒนาอุตสาหกรรมไทย. วารสารเศรษฐศาสตร์และนโยบายสาธารณะ, 8(16), 67–83.

Bellina, C., Bianchi, E., Boothman, D., D’Alessandro, M. & Ferraresi, A. (2010). The history of the subaltern groups: Rome and the Middle Ages in Italy. International Gramsci Journal, 1(2), 14-20.

Brummelhuis, H. T. (1997). Mobility, marriage, and prostitution: Sexual risk among Thai in the Netherlands. In G. Herdt (Ed.), Sexual cultures and migration in the era of AIDS: Anthropological and demographic perspectives (pp.167–184). Oxford: Clarendon Press.

Crehan, K. (2016). Gramsci′s common sense: Inequality and its narratives. Durham, NC: Duke University Press.

Castles, S., de Haas, D., Miller, M.J. (2014a). Introduction. In S. Castles, H. de Haas, & M.J. Miller (Eds.), The Age of migration: International population movements in the modern world (pp.1–24). New York: Palgrave Macmillan.

Gramsci, A. (1992). Prison Notebooks Vol.1. (J. Buttigieg and A. Callari, Eds. & Trans.). New York: Columbia University Press.

Greene, R. R. (2017). Human behavior theory : A diversity framework. NY: Routledge.

Mcleod, S. (2018a). Maslow’s hierarchy of needs. Simply Psychology. Retrieved 14 February, 2020, from https://www.simplypsychology.org/maslow.html

Riggs, F.W. (1966). Thailand: The modernization of a bureaucratic polity.Honolulu: East–West Center Press.

Graphic Design และ Content Creator ที่หลงใหลในการเขียน Content และเชื่อว่า Content เป็นสิ่งสำคัญในการสื่อสารกับทุก ๆ คน