สงครามยูเครน

สงครามยูเครน : สงครามร้อนแรกในสงครามเย็นใหม่

สงครามยูเครน : สงครามร้อนแรกในสงครามเย็นใหม่ หลังจากงานฉลองปีใหม่ของปี ค.ศ. 2022 ผ่านไปแล้ว ผมเริ่มนั่งอ่านรายงานข่าวต่างประเทศจาก AP, Reuters และ The Guardian ด้วยรู้สึกว่าสถานการณ์ตามแนวชายแดนยูเครน-รัสเซีย ไม่น่าจะปกติเท่าใดนัก แต่ก็ยังหวัง (ลม ๆ แล้ง ๆ) แบบคนเรียนรัฐศาสตร์ว่า รัสเซียคงจะยังไม่ตัดสินใจบุกยูเครน เพราะ “สงครามโรคระบาด” ที่เริ่มต้นจริงในปี ค.ศ. 2020 และทำให้บรรดารัฐทั้งหลายต้องต่อสู้ โดยมีโควิด-19 เป็นข้าศึกนั้น ยังอยู่ในสถานการณ์รบหนัก ข้าศึกที่เป็นเชื้อโควิดยังเปิดการรุกหนักต่อเนื่องในต้นปี ค.ศ. 2022


สงครามยูเครน
สั่งซื้อ

ในขณะที่โลกกำลังผันผวนอย่างหนักจากการโจมตีของโควิด-19 ประธานาธิบดีปูตินจึงไม่น่าจะใช้เงื่อนไขเช่นนี้เปิดสงครามใหญ่ แม้ว่าด้านหนึ่งเขาเดินทางไปส่งข่าวให้ปักกิ่งรับรู้ด้วยตนเองในงานโอลิมปิกฤดูหนาว เพื่อหวังความสนับสนุนจากจีนในโอกาสข้างหน้า

เขียนโดย ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

เขียนโดย ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

แต่มุมมองระหว่างนักวิชาการกับประธานาธิบดีปูตินไม่มีทางที่จะไปในทิศทางเดียวกันอย่างแน่นอน เนื่องจากการยืนอยู่บนพื้นฐานของข้อพิจารณาที่แตกต่างกัน … ในวันที่ 28 มกราคม ค.ศ. 2022 เป็นครั้งแรกที่ผมเริ่มเขียนบทความเกี่ยวกับ “วิกฤตยูเครน” ลงในมติชนออนไลน์ และทิ้งท้ายว่า ไม่ว่าสงครามยูเครนจะเกิดหรือไม่ก็ตาม แต่สิ่งที่รัสเซียต้องการคือ การทำแผนที่ทางภูมิรัฐศาสตร์ของยุโรปใหม่ และการขยายอิทธิพลเข้าควบคุมยูเครน

สำหรับผมแล้ว ภาพข่าวที่เริ่มปรากฏในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2022 เป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่า ยุโรปน่าจะหลีกเลี่ยงสงครามไม่ได้ การเคลื่อนไหวทางทหารขนาดใหญ่ของรัสเซียเป็นสัญญาณที่ชี้ชัดในตัวเองว่า การบุกยูเครนกำลังเริ่มนับถอยหลัง และต่อมาในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ผมเริ่มเขียนบทความ ชิ้นที่ 2 ลงมติชนออนไลน์ เพื่อแจ้งเตือนสังคมไทยว่า ประตูสงครามกำลังเปิดที่ยูเครนแล้ว

ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ กองทัพรัสเซียก็เปิดการรุกข้ามพรมแดนเข้าไปในยูเครน … ผมเขียนบทความชิ้นที่ 3 ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ด้วยข้อสรุปว่า สงครามยูเครนจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการเมืองโลกในยุคสมัยของเรา

สงครามเริ่มต้นขึ้นจริง ๆ แล้ว … อดนึกย้อนอดีตแบบคนที่ต้องสอนประวัติศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศไม่ได้ว่า ก็คงมีคนแบบผมที่กรุงเทพฯ นั่งฟังรายงานข่าวการรุกของกองทัพนาซีข้ามพรมแดนโปแลนด์ในวันที่ 1 กันยายน ค.ศ. 1939 และตามมาด้วยการประกาศสงครามของอังกฤษ อันเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ก็ “โชคดี” ในทางการเมืองและการทูตครั้งนี้ว่า การบุกยูเครนของประธานาธิบดีปูตินปี ค.ศ. 2022 ไม่นำไปสู่การเกิดของ “สงครามโลก” ในแบบเดียวกับการบุกโปแลนด์ของฮิตเลอร์ในปี ค.ศ. 1939

สงครามยูเครน

อย่างไรก็ตาม ในฐานะของการเป็นนักเรียนรัฐศาสตร์ในสาขา “ยุทธศาสตร์ศึกษา” นั้น ทำให้ผมต้องนั่งเรียนรู้สงครามยูเครนด้วยความใคร่ครวญ ผมเตือนลูกศิษย์ที่เรียนวิชายุทธศาสตร์กับผมเสมอว่า ห้าม “โรแมนติก” กับสงคราม เพราะในสงคราม มีคนตายจริง และเจ็บจริง ไม่ใช่สงครามในภาพยนตร์ ที่เมื่อแสดงเสร็จแล้ว นักแสดงยังมีชีวิตตามปกติ และกลับไปหาครอบครัวหลังจากการถ่ายทำสิ้นสุดลง แต่ในสงคราม คนที่ปรากฏอย่างนิรนามหลายคนในภาพข่าวไม่มีโอกาสกลับไปหาครอบครัว…

ใครที่ตามดูรายงานข่าวต่างประเทศจะเห็นได้ว่า สนามรบในยูเครนโหดร้าย และอาจจะหนักหน่วงกว่าการรบที่เราเคยเห็นในอิรัก ซีเรีย และ อัฟกานิสถาน หรือบางคนอาจจะบอกว่า โหดร้ายคนละแบบต่างจากการรบที่ โมซุล รักกา และ อะเลปโป หรือบางคนอาจจะย้อนอดีตว่า สิ่งที่กองทัพรัสเซีย กระทำกับยูเครนวันนี้ ก็คือสิ่งที่กองทัพรัสเซียทำกับอะเลปโปในสงคราม กลางเมืองซีเรียคือ การโจมตีเป้าหมายพลเรือนอย่างไม่จำแนก

แต่กระนั้น ภาพความสูญเสีย ทั้งตาย บาดเจ็บ และสูญหายจาก การโจมตีของรัสเซียต่อเป้าหมายพลเรือนในยูเครน คือบทพิสูจน์คำกล่าว ของนายพลแกรนท์ในสงครามกลางเมืองอเมริกันที่ว่า “สงครามคือนรก” และทุกสงครามก็เป็นเช่นนั้น ไม่แตกต่างกัน

ในฐานะของความเป็นนักเรียนในสาขายุทธศาสตร์ สงครามยูเครนเป็น “ความใหม่” ที่อาจจะเทียบเคียงได้กับสงครามอ่าวเปอร์เซียในปี ค.ศ. 1991 แต่ครั้งนั้น ประเด็นสำคัญดูจะเป็นเทคโนโลยีทหารที่เป็น “smart weapons” อันนำไปสู่ข้อถกแถลงในทางทฤษฎีเรื่อง “การปฏิวัติในกิจการทหาร” (Revolution in Military Affairs หรือ RMA)

สงครามยูเครน

แต่สงครามยูเครนครั้งนี้ เราเห็นมิติใหม่ ๆ ในหลาย ๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นสงครามปืนใหญ่… สงครามโดรน… สงครามไซเบอร์… สงครามสนามเพลาะ… สงครามไฮบริด… สงครามทอนกำลัง จนต้องตั้งเป็นข้อสังเกตว่า สงครามยูเครนเป็น “โรงเรียนเสนาธิการทหารบกที่ดีที่สุด” เท่า ๆ กับเป็น “วิทยาลัยการทัพที่ใหญ่ที่สุด” ของนักการทหารทั่วโลก และ “ทหารอาชีพ” ทุกคนควรต้องเรียนรู้การสงครามในยูเครน และอาจกล่าวในอีกมุมหนึ่งได้ว่า สงครามยูเครนเป็น “ครูทหารที่ดีที่สุด” คนหนึ่งของยุคปัจจุบัน

มิติทางรัฐศาสตร์เป็นอีกส่วนที่น่าสนใจมาก คือ ปัจจัย “อำนาจกำลังรบที่ไม่มีตัวตน” ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของบทบาทการนำของประธานาธิบดี เซเลนสกีที่เป็น “ศูนย์รวมใจ” ในการต่อสู้กับการรุกรานของรัสเซีย… “ขวัญกำลังใจ” ของประชาชนยูเครนที่มุ่งมั่นในการทำสงคราม แม้ต้องเผชิญกับการโจมตีอย่างหนักของกองทัพรัสเซีย… ความเข้มแข็งและเอกภาพของ “พันธมิตร ยูเครน” ที่ให้การสนับสนุนด้านอาวุธอย่างต่อเนื่อง… ขีดความสามารถของ กองทัพยูเครนที่สามารถ “ยัน” การรุกของกองทัพรัสเซียได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าที่หลายฝ่ายคาด

ปัจจัยเช่นนี้กลายเป็นสัญญาณในตัวเองว่า รัสเซียไม่น่าจะบรรลุวัตถุประสงค์ทางยุทธศาสตร์ด้วยชัยชนะในการควบคุมยูเครน จนอาจเปรียบเทียบได้ว่า ยูเครนกำลังเป็น “แจ็คผู้ฆ่ายักษ์” ในสงครามครั้งนี้

ฉะนั้น ผลของสงครามยูเครนจึงไม่ใช่การตัดสินด้วยปัจจัยพื้นฐาน แบบเดิมของวิชาทหารในเรื่องของ “อำนาจกำลังรบที่มีตัวตน” กล่าวคือ ไม่ใช่ด้วยปัจจัยของความเป็นรัฐมหาอำนาจใหญ่ หรือการมีกองทัพที่ใหญ่กว่าในทำเนียบกำลังรบ … อำนาจกำลังรบที่ใหญ่กว่าไม่ใช่เครื่องตัดสินชัยชนะ ในสงครามแต่อย่างใด

ว่าที่จริงแล้ว เรากำลังเห็นอาการ “หมีติดกับดัก” เช่นที่กองทัพโซเวียตเคยติดกับดักกับสงครามอัฟกานิสถานมาแล้วถึง 10 ปี … ไม่มีอะไร น่ากลัวเท่ากับ “กับดักสงคราม” ที่รัฐมหาอำนาจเข้าไปติด แล้วถอนตัวไม่ขึ้น การตัดสินทิ้งสนามรบในอัฟกานิสถานของประธานาธิบดีไบเดน อาจจะเป็นอีกด้านของบทเรียนนี้ เพราะกองทัพสหรัฐอเมริกาเข้าไปติดอยู่ในอัฟกานิสถาน นานถึง 20 ปี และไม่สามารถที่จะบรรลุวัตถุประสงค์ทางยุทธศาสตร์ที่ต้องการได้ ทางออกที่ดีที่สุดคือ การถอนตัวออก

วันนี้จึงน่าชวนคิดอย่างมากว่า อะไรคือทางออกของประธานาธิบดีปูติน แต่คำตอบที่ชัดเจนในสถานการณ์จริงคือ กองทัพรัสเซียยังเปิดการโจมตีด้วยอาวุธระยะไกล และยังไม่มีวี่แววที่จะเห็น “แสงแห่งสันติภาพ” จากสนามรบในยูเครนแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม ความพยายามในการเรียนรู้ถึง “พลวัตสงคราม” ทำให้ผมเริ่มเขียนบทความเกี่ยวกับสงครามยูเครนลงใน “หนังสือมติชนสุดสัปดาห์” ตั้งแต่เมื่อการบุกเริ่มขึ้น และนำเสนออย่างต่อเนื่อง ด้วยความหวังของการเปิด “ห้องเรียนสงคราม” ในทางวิชาการ

หนังสือเล่มนี้จะเป็นประโยชน์แก่ทุกท่าน ทั้งนักวิชาการ นักธุรกิจ ผู้กำหนดนโยบายภาครัฐและเอกชน และภาคประชาสังคมส่วนต่าง ๆ ของ สังคมไทย ที่สนใจเรื่องความมั่นคงและการเมืองระหว่างประเทศที่จะรับรู้ เรียนรู้ ศึกษา วิเคราะห์ ต่อยอด และนำข้อคิดของท่านอาจารย์ สุรชาติ ไปกำหนดท่าที นโยบาย ที่หน่วยงานของท่านเกี่ยวข้องหรือมีบทบาทในการ ปรับตัวเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงของภูมิรัฐศาสตร์เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติบ้านเมืองต่อไป

ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

ศาสตราจารย์กิตติคุณ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Graphic Design และ Content Creator ที่หลงใหลในการเขียน Content และเชื่อว่า Content เป็นสิ่งสำคัญในการสื่อสารกับทุก ๆ คน