ยีสต์ คืออะไร

หนังสือ ชีววิทยาของยีสต์และการประยุกต์ใช้ทางเทคโนโลยีชีวภาพ ได้เรียบเรียงขึ้นมาโดยมีเนื้อหาครอบคลุมในเรื่องโครงสร้างเซลล์ การเจริญเติบโต ระบบการขนส่งสารภายในเซลล์ เมแทบอลิซึม เทคโนโลยีชีวภาพและการประยุกต์ใช้ทางอุตสาหกรรม ตลอดจนเทคนิคพื้นฐานที่สำคัญเพื่อปฏิบัติงานวิจัยด้านพันธุวิศวกรรมของยีสต์ องค์ความรู้เหล่านี้ มีความสำคัญยิ่งในการทำงานวิจัยขั้นสูง ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การใช้หนังสือ “ชีววิทยาของยีสต์และการประยุกต์ใช้ทางเทคโนโลยีชีวภาพ” ควบคู่กับการค้นคว้าจากสื่อออนไลน์และบทความวิจัย จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อ ผู้ที่สนใจศึกษาด้านจุลินทรีย์ยีสต์ และสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้เพื่อ ต่อยอดกับงานวิจัยที่สนใจต่อไปได้

ยีสต์ คืออะไร

ขอบเขตความรู้ด้านชีววิทยาของยีสต์และการประยุกต์ใช้ทางเทคโนโลยีชีวภาพ ได้มีบทบาทสำคัญมากขึ้นในงานวิจัยหลายด้าน เนื่องจากความโดดเด่นของจุลินทรีย์ยีสต์ที่มีความคล้ายคลึงกับเซลล์ของสิ่งมีชีวิตชั้นสูงทั้งทางด้านโครงสร้างเซลล์และลักษณะทางพันธุกรรม ทำให้ยีสต์ถูกใช้เป็นต้นแบบในการศึกษา เช่น งานวิจัยทางด้านพืช อุตสาหกรรม เภสัชกรรม และ โรคที่เกี่ยวข้องกับสิ่งมีชีวิต อย่างไรก็ตาม เอกสารอ้างอิง รายงานการวิจัย และหนังสือที่เกี่ยวข้องโดยส่วนมากเป็นเนื้อหาภาษาต่างประเทศ ทำให้ผู้ที่เริ่มศึกษาเบื้องต้นยังไม่มีความเข้าใจที่ลึกซึ้งเพียงพอ ดังนั้นแล้ว ผู้เขียนจึงได้รวบรวมองค์ความรู้และเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับยีสต์และการประยุกต์ใช้จากหนังสือ ต่างประเทศ รายงานการวิจัย และองค์ความรู้ของผู้เขียนที่ได้ปฏิบัติงานวิจัย ในเรื่องเหล่านี้มาจัดทำเป็นหนังสือภาษาไทยขึ้น ด้วยมุ่งหวังให้ผู้อ่านมีความรู้ ความเข้าใจพื้นฐาน และการประยุกต์ใช้ได้อย่างถูกต้อง

สัมภาษณ์นักเขียน

สั่งซื้อหนังสือ

บทที่ 1 โครงสร้างและหน้าที่ของเซลล์ยีสต์

ยีสต์ คืออะไร

ยีสต์เป็นจุลินทรีย์ในกลุ่มราที่ถูกค้นพบแล้วมากกว่า 1,500 ชนิด ถูกนำมาใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวางในอุตสาหกรรมและใช้เป็นรูปแบบจำลองทางด้านวิทยาศาสตร์ตั้งแต่ช่วงปี ค.ศ. 1930 โดยนักวิทยาศาสตร์ Hershel Roman ถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของยีสต์สู่วงการวิทยาศาสตร์นับตั้งแต่นั้น เป็นต้นมา ท่ามกลางสิ่งมีชีวิตที่เป็นยูแคริโอตทั้งหมด ยีสต์ Saccharomyces cerevisiae จัดเป็นจุลินทรีย์ที่ถูกนำมาใช้ประโยชน์อย่างหลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านอุตสาหกรรมอาหาร เครื่องดื่ม เครื่องสำอาง เภสัชกรรม การเกษตร สิ่งแวดล้อม และการแพทย์ เนื่องจากมีข้อได้เปรียบหลายด้าน เช่น ยีสต์มีการดำรงชีวิตแบบเซลล์เดี่ยว มีความซับซ้อนของโครงสร้างและ องค์ประกอบภายในน้อยกว่ายูแคริโอตกลุ่มอื่น สามารถเจริญเติบโตได้ในอาหารเลี้ยงเชื้อที่ทราบองค์ประกอบและปริมาณที่แน่นอน (chemically defined หรือ synthetic media) ทำให้นักวิจัยสามารถควบคุมปัจจัยต่าง ๆ ระหว่างการทดลองได้อย่างแม่นยำ นอกจากนี้ ยีสต์ได้ถูกนำมาใช้เป็นรูปแบบจำลองสำหรับสิ่งมีชีวิตยูแคริโอตอื่น เนื่องจากลักษณะโครงสร้างพื้นฐานทางชีววิทยาและกระบวนการเมแทบอลิซึมภายในยีสต์ค่อนข้างคล้ายคลึงกับยูแคริโอต ชั้นสูง เช่น กระบวนการสังเคราะห์และควบคุมสารชีวโมเลกุล วัฏจักรเซลล์ การจำลองดีเอ็นเอ การสังเคราะห์โปรตีน หรือการตอบสนองต่อสภาวะความเครียด เป็นต้น

บทที่ 2 การสืบพันธุ์และการเจริญเติบโตของยีสต์

ยีสต์ คืออะไร

ยีสต์มีการสืบพันธุ์ทั้งแบบอาศัยเพศ (sexsual reproduction) และไม่อาศัยเพศ (asexsual reproduction) การสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศจะมี การสร้างแอสโคสปอร์ (ascospore) ซึ่งเกิดจากการจับคู่กันของยีสต์สองตัว เป็นวิธีการสืบพันธุ์เพื่อเพิ่มจำนวนยีสต์แฮพลอยด์ (haploid) ด้วยการสร้าง สปอร์ภายใต้สภาวะความอดอยาก (starvation) สำหรับการสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ ยีสต์ส่วนมากมีการสืบพันธุ์แบบแตกหน่อ (budding) ซึ่งเป็นวิธีที่พบบ่อยที่สุด แต่มียีสต์บางชนิด สามารถสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศได้ด้วยวิธีการแบ่งออกเป็นสอง (fission) หรือใช้วิธีการสร้างเส้นใย (filamentous) เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตาม รูปแบบการสืบพันธุ์แต่ละประเภทมีความจำเพาะเจาะจงขึ้นอยู่กับชนิดของยีสต์ (รูปที่ 2.1) การเจริญเติบโตของยีสต์มีความเกี่ยวข้องกับลักษณะทางกายภาพ สารเคมี และปัจจัยทางชีวภาพของสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ผลกระทบจากปัจจัยความเครียด เช่น อุณหภูมิที่ไม่เหมาะสม การขาดแคลนน้ำ ความเข้มข้นเอทานอล และสารอนุมูลอิสระ สามารถส่งผลกระทบต่ออัตรา การอยู่รอดและเพิ่มโอกาสการเสียชีวิตให้กับยีสต์ แต่อย่างไรก็ตาม ปัจจัยความเครียดเหล่านี้ เป็นสิ่งที่ยีสต์จะต้องพบเจอเมื่ออยู่ในสภาวะการหมัก ในระดับอุตสาหกรรม ดังนั้นแล้ว เพื่อให้เข้าใจถึงการเจริญเติบโตและการ ตอบสนองของเซลล์ภายใต้สภาวะความเครียด จึงจำเป็นต้องศึกษาถึงลักษณะทางกายภาพ ปัจจัยทางเคมี และชีวภาพที่ส่งผลกระทบต่อการอยู่รอดและ การตายของยีสต์ เพื่อนำไปประยุกต์ใช้แก้ปัญหาในสถานการณ์จริงระดับอุตสาหกรรมต่อไป

ยีสต์ คือ

รูปที่ 2.1 การเพิ่มจำนวนของเซลล์ยีสต์ในรูปแบบต่าง ๆ ขึ้นอยู่กับสภาพสิ่งแวดล้อมและความอุดมสมบูรณ์ของอาหาร เช่น การเพิ่มจำนวนโดยอาศัยการสร้างเส้นใย การสร้างแอสโคสปอร์ หรือการแตกหน่อ เป็นต้น

บทที่ 3 ระบบการขนส่งภายในยีสต์

การขนส่งสารภายในเซลล์ยีสต์จำเป็นต้องผ่านเยื่อหุ้มเซลล์ เช่น ผนังเซลล์และเยื่อหุ้มออร์แกเนลล์ ชั้นผนังเซลล์ของยีสต์มีลักษณะโครงสร้างเป็น รูพรุนและมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา โดยเฉพาะในช่วงที่เซลล์มีการแบ่งตัวหรือเพิ่มจำนวน เยื่อหุ้มเซลล์เปรียบเหมือนเยื่อกั้นระหว่างเซลล์กับสิ่งแวดล้อมภายนอก และใช้เป็นทางผ่านระหว่างสารอาหารหรือสารชีวโมเลกุล กลไก พื้นฐานที่ใช้ในการขนส่งสารเข้าออกระหว่างเซลล์มีสี่รูปแบบ ดังนี้ (รูปที่ 3.1) คือ

ยีสต์ คือ

รูปที่ 3.1 กลไกการเข้า–ออกของสารที่แตกต่างกันทั้งสี่รูปแบบ ได้แก่ การแพร่แบบอิสระ การแพร่ผ่านโปรตีนตัวพา การแพร่ผ่านช่อง และการลำเลียงแบบใช้พลังงาน (Cooper & Adams, 2022)

  1. การแพร่แบบอิสระ (free diffusion) เป็นกระบวนการขนส่งสารที่ง่ายและช้าที่สุดภายในเซลล์ยีสต์ ตัวถูกละลายจะเคลื่อนที่ตามความเข้มข้นของสาร จากบริเวณที่มีความเข้มข้นมากไปยังความเข้มข้นต่ำกว่า กระบวนการแพร่ที่นำสารเข้าสู่เซลล์ยีสต์เกิดขึ้นกับโมเลกุลของสารกลุ่มแอลเคน (alkane) สายสั้น กรดไขมันสายยาว และโมเลกุลของกรดอินทรีย์ที่ไม่แตกตัว (undissociated organic acid) เช่น เบนโซเอท (benzoate) ซอร์เบท (sorbate) เป็นต้น
  2. การแพร่ผ่านโปรตีนตัวพา (facilitated diffusion) เป็นรูปแบบหนึ่งของกระบวนการแพร่ที่เร็วกว่าการแพร่แบบอิสระ ตัวถูกละลายเคลื่อนที่จากบริเวณความเข้มข้นมากไปยังความเข้มข้นที่ต่ำกว่าโดยใช้เอนไซม์หรือโปรตีนเป็นตัวกลางในการเคลื่อนที่ของสาร เช่น permease, carrier หรือ facilitator
  3. การแพร่สารผ่านช่อง (diffusion channel) เป็นรูปแบบการแพร่ของไอออนที่ขึ้นอยู่กับความต่างศักย์ของไอออน เช่น โพแทสเซียมไอออน- แชนเนลหรือแคลเซียมไอออนแชนแนลที่บริเวณเยื่อหุ้มเซลล์ของยีสต์ S. cerevisiae
  4. การลำเลียงแบบใช้พลังงาน (active transport) การขนส่งสารในรูปแบบที่ใช้พลังงานผ่านกระบวนการที่เรียกว่า เคมิออสโมซิส (chemiosmosis) เป็นการเคลื่อนที่ของสารจากบริเวณที่มีความหนาแน่นของสารน้อยไปยังบริเวณที่มีความหนาแน่นของสารมากกว่าโดยอาศัยพลังงาน เช่น การสร้างพลังงาน ATP ที่บริเวณไมโทคอนเดรียในปฏิกิริยาการหายใจระดับเซลล์ (cellular respiration) และการสังเคราะห์แสง (photosynthesis)

บทที่ 4 วิถีเมแทบอลิซึมของยีสต์

เมแทบอลิซึมยีสต์เกี่ยวข้องกับกระบวนการทางชีวเคมีของการดูดซึมและย่อยสลายสารอาหารเพื่อใช้ในการดำรงชีวิต ประกอบไปด้วยสองวิถี ได้แก่ วิถีการสังเคราะห์สารชีวโมเลกุล (anabolic pathway) และวิถีการสลายสารชีวโมเลกุล (catabolic pathway) วิถีการสังเคราะห์เป็นกระบวนการที่ใช้พลังงานเพื่อสังเคราะห์สารชีวโมเลกุลขึ้นมาใหม่ และนำมาใช้ในการเจริญเติบโตของสิ่งมีชีวิต ในขณะที่วิถีการสลาย เป็นกระบวนการสร้างพลังงานโดยใช้กลไกการถ่ายโอนอิเล็กตรอน โดยทั้งสองวิถีมีความเกี่ยวข้องกับเอนไซม์ดีไฮโดรจีเนส (dehydrogenase) และโคแฟคเตอร์ สองชนิดคือ ไนโคตินาไมด์ อะดีนีน ไดนิวคลีโอไทด์ ฟอสเฟต (nicotinamide adenine dinucleotide phosphate; NADP) และ นิโคตินาไมด์ อะดีนีน ไดนิวคลีโอไทด์ (nicotinamide adenine dinucleotide; NAD) กลไกการสังเคราะห์และการสลายสารชีวโมเลกุล มีความสัมพันธ์กันอย่างต่อเนื่อง และไม่สามารถเกิดขึ้นได้เพียงกลไกใดกลไกหนึ่งเท่านั้น เนื่องจากมีความสัมพันธ์กับการเจริญเติบโตและการรอดชีวิต ของเซลล์ยีสต์ (รูปที่ 4.1)

ยีสต์ คือ

รูปที่ 4.1 ความเชื่อมโยงระหว่างวิถีการสลายและการสังเคราะห์สารชีวโมเลกุล การสลายสารชีวโมเลกุลด้วยปฏิกิริยาออกซิเดชันทำให้ได้มาซึ่งพลังงานที่สามารถนำไปใช้ต่อในปฏิกิริยารีดักชันของวิถีการสังเคราะห์สารชีวโมเลกุล (Walker, 1998)

บทที่ 5 เทคนิคพื้นฐานทางจุลชีววิทยาและชีวเคมีสำหรับงานวิจัยยีสต์

S. cerevisiae เป็นยีสต์ที่มนุษย์นำมาใช้ประโยชน์อย่างแพร่หลาย เช่น การผลิตไวน์ เบียร์ หรือขนมปัง เป็นต้น โดยตั้งแต่ปี ค.ศ. 1930 ได้มี การศึกษาเกี่ยวกับโครงสร้างและกลไกพื้นฐานของเซลล์ยีสต์และสิ่งมีชีวิตอื่นที่ใช้เป็นแบบจำลองทางวิทยาศาสตร์ เช่น Drosophila หรือ Neurospora จากการศึกษาพบว่า ยีสต์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีลักษณะโดดเด่นหลายประการมากกว่าแบบจำลองชนิดอื่น เนื่องด้วยสาเหตุดังต่อไปนี้

  1. ยีสต์สามารถเพิ่มจำนวนได้อย่างรวดเร็วภายในระยะเวลาอันสั้น
  2. ยีสต์เป็นสิ่งมีชีวิตเซลล์เดี่ยวประเภทยูแคริโอตที่สามารถเจริญเติบโตได้ด้วยอาหารเลี้ยงเชื้อที่ไม่ซับซ้อน
  3. ยีสต์สามารถทำแผนที่ทางพันธุกรรมได้ โดยติดตามการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมด้วยวิธีการวิเคราะห์การกลายพันธุ์
  4. สามารถคัดแยกส่วนประกอบย่อยภายในเซลล์ยีสต์ออกมาได้ จึงมีประโยชน์อย่างมากต่อการศึกษาหน้าที่และการทำงานขององค์ประกอบภายในเซลล์

การศึกษาและทำงานวิจัยเกี่ยวกับยีสต์ จำเป็นต้องมีความรู้พื้นฐานที่ดีทางด้านการเพาะเลี้ยงเซลล์ ตลอดจนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวัฏจักรของเซลล์ ชนิดของเซลล์เพาะเลี้ยง ชนิดของอาหาร สภาวะในการเลี้ยงเซลล์ เทคนิคการเลี้ยงเซลล์แบบปลอดเชื้อ และความรู้ความเข้าใจถึงเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ที่ใช้ในการเพาะเลี้ยงเซลล์ เทคนิคการเพาะเลี้ยงเซลล์ยีสต์ที่ถูกต้องจำเป็นต้องอาศัยองค์ความรู้ทางจุลชีววิทยาและชีวเคมี เพื่อนำไปประยุกต์ใช้สำหรับการศึกษาวิจัยขั้นสูง เช่น การศึกษาการตอบสนองของเซลล์ยีสต์ ต่อสภาวะความเครียด การศึกษาหน้าที่และการแสดงออกของยีน ความเป็น พิษของสารเคมีต่อการเจริญเติบโตและการตายของเซลล์ และการถ่ายโอนยีนเพื่อให้ได้คุณลักษณะที่ต้องการทางการเกษตร อุตสาหกรรม หรือทางการแพทย์ เป็นต้น

บทที่ 6 พันธุวิศวกรรมเบื้องต้นสำหรับงานวิจัยยีสต์

นับตั้งแต่ช่วงกลางปี ค.ศ. 1950 เทคนิคทางอณูชีววิทยาได้เริ่ม เข้ามามีบทบาทและนำมาประยุกต์ใช้กับงานวิจัย ต่อมาในปี ค.ศ. 1996 ข้อมูล ทางพันธุกรรมทั้งหมดของยีสต์ S. cerevisiae ได้ถูกวิเคราะห์อย่างสมบูรณ์ ทำให้ยีสต์เป็นยูแคริโอตแรกสำหรับแบบจำลองทางวิทยาศาสตร์ และสามารถใช้อ้างอิงเปรียบเทียบกับลักษณะทางพันธุกรรมของมนุษย์ สัตว์ และพืชได้เป็นอย่างดี ปัจจุบัน เทคนิคทางพันธุวิศวกรรมได้เข้าไปมีบทบาทเกี่ยวข้องใน หลายมิติ ไม่ว่าจะเป็น งานวิจัยทางด้านการแพทย์ การเกษตร และอุตสาหกรรม ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับพันธุวิศวกรรมได้รับการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว การปฏิบัติงานทางด้านพันธุวิศวกรรมโดยใช้ยีสต์เป็นรูปแบบจำลองจึงมีความสำคัญเพิ่มมากขึ้น ความรู้พื้นฐานและเทคนิคปฏิบัติการทางอณูชีววิทยาสำหรับงานวิจัยยีสต์ที่สำคัญ ได้แก่ การสกัดดีเอ็นเอ การเพิ่มจำนวนสารพันธุกรรมด้วยปฏิกิริยาลูกโซ่พอลิเมอเรส และการโคลนนิง เป็นเทคนิคปฏิบัติการที่ทำให้งานวิจัยทางพันธุวิศวกรรมยีสต์สามารถพัฒนาต่อไปได้อย่างไม่สิ้นสุด โดยในบทนี้ ได้กล่าวถึงรายละเอียดพื้นฐานและเทคนิคปฏิบัติการที่จำเป็นสำหรับการทำดีเอ็นเอโคลนนิง

บทที่ 7 เทคโนโลยีชีวภาพของยีสต์และการประยุกต์ใช้

เทคโนโลยีชีวภาพ (biotechnology) คือการนำองค์ความรู้ทางชีววิทยาไปประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนา ต่อยอด และสร้างให้เกิดผลิตภัณฑ์เฉพาะ ด้านในสาขาต่าง ๆ เช่น การแพทย์ พันธุศาสตร์ อณูชีววิทยา จุลชีววิทยา หรือวิศวกรรม เป็นต้น ตั้งแต่อดีตกาลจนถึงปัจจุบัน เทคโนโลยีชีวภาพได้ถูกนำมาประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมเป็นจำนวนมาก สามารถแบ่งยุคของเทคโนโลยีชีวภาพได้ดังต่อไปนี้

Blue biotechnology เทคโนโลยีชีวภาพที่ใช้สำหรับการประมง เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมด้านอาหารสัตว์น้ำ ควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์น้ำ และควบคุมสัตว์น้ำที่เป็นพิษ

Green biotechnology การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับพืชและผลผลิตทางการเกษตร เช่น เทคนิคพันธุวิศวกรรมพืช การพัฒนาเครื่องหมายโมเลกุลเพื่อระบุความจำเพาะของพืช ปุ๋ยชีวภาพ หรือสารเคมีชีวภาพ เป็นต้น

Red biotechnology เทคโนโลยีชีวภาพทางการแพทย์หรืออาหารเพื่อสุขภาพ เช่น วิศวกรรมชีวการแพทย์ เทคโนโลยีการขนส่งลำเลียงยา การตรวจวินิจฉัยโรคด้วยเทคนิคทางอณูพันธุศาสตร์ หรือเทคโนโลยียีนบำบัด เป็นต้น

White biotechnology เทคโนโลยีชีวภาพที่ใช้ด้านอุตสาหกรรม โดยใช้สิ่งมีชีวิตและเอนไซม์ในการผลิตหรือแปรสภาพวัตถุดิบ ไม่ว่าจะเป็น การผลิตสารเคมี วัสดุ หรือพลังงาน รวมทั้งเชื้อเพลิงชีวภาพ เช่น การพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพด้านพลังงาน การผลิตไบโอเอทานอล ไบโอดีเซล อุตสาหกรรมการผลิตยาปฏิชีวนะ อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น

Grey biotechnology เทคโนโลยีชีวภาพที่ใช้เพื่อสิ่งแวดล้อม สามารถแบ่งออกได้เป็นสองสาขา คือ 1) การรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ และ 2) การกำจัดสิ่งปนเปื้อน

Yellow หรือ Gold biotechnology การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี ชีวสารสนเทศน์ศาสตร์เข้ามาร่วมกับเทคโนโลยีชีวภาพด้านอื่น

บทที่ 8 งานวิจัยยีสต์ด้านเทคโนโลยีชีวภาพ

นักวิทยาศาสตร์ได้เริ่มให้ความสนใจและเรียนรู้เกี่ยวกับจุลินทรีย์ตั้งแต่ช่วงต้นศตวรรษที่สิบเก้า โดยสิ่งมีชิวิตในกลุ่มของราเป็นจุลินทรีย์กลุ่มแรกที่นักวิทยาศาสตร์ได้เริ่มศึกษาและค้นคว้าวิจัย และในเวลาต่อมา การศึกษาทางด้านจุลินทรีย์ได้ขยายขอบเขตมากยิ่งขึ้น ครอบคลุมไปถึงจุลินทรีย์ในกลุ่มยีสต์ เนื่องจากยีสต์มีคุณลักษณะที่โดดเด่นคือ มีขนาดที่ใหญ่กว่าแบคทีเรียและ มีศักยภาพด้านอุตสาหกรรมการหมัก ด้วยเหตุผลดังกล่าว การศึกษาและ วิจัยเกี่ยวกับยีสต์จึงได้เริ่มต้นขึ้น โดยในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 1850–1880 นักวิทยาศาสตร์เริ่มมีการจัดจำแนกชนิดของยีสต์และศึกษาลักษณะทางสรีรวิทยาของยีสต์ที่ค้นพบ รวมทั้งมีการศึกษาวิจัยด้านชีวเคมี ที่นำไปสู่ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีชีวภาพ งานวิจัยยีสต์ด้านเทคโนโลยีชีวภาพได้ถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนนำไปสู่การพัฒนาระดับอุตสาหกรรมในหลาย ๆ ด้าน (รูปที่ 8.1)

ยีสต์ คือ

รูปที่ 8.1 การประยุกต์ใช้ยีสต์ในงานทางเทคโนโลยีชีวภาพ เช่น อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมพลังงาน และงานวิจัยด้านการแพทย์ สิ่งแวดล้อม ชีววิทยา เป็นต้น

เอกสารอ้างอิง

Cooper, G., & Adams, K. (2022). The cell: a molecular approach. Oxford University Press.
Walker, G. M. (1998). Yeast physiology and biotechnology: John Wiley & Sons.

Graphic Design และ Content Creator ที่หลงใหลในการเขียน Content และเชื่อว่า Content เป็นสิ่งสำคัญในการสื่อสารกับทุก ๆ คน