นวัตเภสัชกรรม Pharmacy innovation

นวัตเภสัชกรรม หนังสือที่ตั้งใจถ่ายทอดประสบการณ์จริงที่ผู้เขียนได้เรียนรู้ผ่านการทำงานวิจัยและสร้างนวัตกรรมของผู้เขียนและคณะ ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา โดยถอดบทเรียนต่าง ๆ ให้ผู้อ่านเห็นโดยละเอียด ผ่านการใช้ภาษาที่เป็นมิตรกับผู้อ่าน แบ่งออกเป็น 9 บท เริ่มนำเสนอตั้งแต่ขั้นแรกของการทำงานวิจัย ซึ่งเป็น “หัวใจ” ที่สำคัญที่สุด ได้แก่ วิธีคิดเพื่อให้ได้คำถามงานวิจัยที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน หรือท้าทายต่อองค์ความรู้เดิม การกำหนดวัตถุประสงค์ การเลือก หรือออกแบบระเบียบวิธีวิจัยขึ้นมาใหม่ให้เหมาะสมกับวัตถุประสงค์ของงานวิจัย

การวิจัยทางเภสัช

จากนั้น จึงนำผู้อ่านเข้าสู่ “วิธีคิดให้ได้นวัตกรรมที่นำไปใช้ประโยชน์ได้จริงในเวลาอันจำกัดและแนวทางในการนำนวัตกรรมนั้นไปใช้” ตลอดจนเปิดเผยประสบการณ์การนำผลงานวิจัยจากทิ้งไปสู่ห้างที่ทั้งสนุก เกิดปัญหาที่ต้องแก้ไขและนำไปสู่คำถามใหม่

ปิดท้ายด้วยการให้แนวคิดเกี่ยวกับการทำการวิจัยและสร้างสรรค์นวัตกรรม ในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ สถานการณ์ที่มีข้อจำกัดต่าง ๆ และประสบการณ์ในการสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่

บทที่ 1 การวิจัยและการสร้างนวัตกรรมในงานบริบาลทางเภสัชกรรม

ความหมายของ “การวิจัย” โดยทั่วไป คือ กระบวนการตอบคำถามโดยใช้หลักการของความเป็นเหตุผล มีความเป็นวิทยาศาสตร์ อยู่ภายใต้กรอบหลักจริยธรรมการวิจัย และสามารถทำซ้ำได้1 ในขณะที่ ความหมายของ “นวัตกรรม” คือ สิ่งที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้ในการแก้ไขปัญหาหรือตอบคำถามอย่างใดอย่างหนึ่งที่สนใจ โดยเป็นสิ่งใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน2 อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของผู้เขียนอยากนิยามความหมายของงานวิจัยและนวัตกรรมขึ้นใหม่ในมุมมองที่แตกต่างออกไป ดังนี้

“การวิจัย” หมายถึง กระบวนการสร้างคำตอบ ขึ้นมาจากกรอบหรือบริบทที่จำกัดขอบเขตของคำตอบ ด้วยกระบวนการหรือกลวิธีที่ถูกเลือกหรือออกแบบขึ้นมาใหม่อย่างเฉพาะเจาะจงและเหมาะสมกับคำถามงานวิจัย

“นวัตกรรม” หมายถึง กระบวนการ วิธีการ หรือเครื่องมือใด ๆที่มีความเป็นรูปธรรม อาจไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งใหม่เสมอไป แต่ต้องสามารถใช้ในการแก้ปัญหาได้อย่างเฉพาะเจาะจง ทำซ้ำได้ มีความยืดหยุ่นในการใช้งานสูง และสามารถปรับเปลี่ยนให้ทันต่อการแก้ปัญหา

บทที่ 2 การคิดคำถามงานวิจัย

“คำถามสำคัญกว่าคำตอบ ” เป็นวลีที่ยังเป็นจริงอยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการทำงานด้านการวิจัยและนวัตกรรม เนื่องจากคำถามจะกำหนดวัตถุประสงค์ของงานวิจัย และนำไปสู่การเลือกรูปแบบการวิจัยหรือออกแบบระเบียบวิธีวิจัยที่เหมาะสมและเฉพาะเจาะจงสำหรับสร้างคำตอบ นอกจากนี้ การตั้งคำถามงานวิจัยที่ดีจะทำให้ได้ผลลัพธ์ที่มีโอกาสสูงว่าจะเกิดประโยชน์ในทางคลินิอีกด้วย อย่างไรก็ตาม การตั้งคำถามให้ได้ดีนั้นเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ ที่คนทั่วไปอาจคิดว่าการตั้งคำถามงานวิจัย “จะต้องมีคำตอบรออยู่ข้างหน้าเสมอ” โดยอาจไม่ทันรู้ตัวว่าความคิดเช่นนี้เป็น “อคติ” ที่เกิดจากการคิดคำถามนั้นมาจากคำตอบที่ “คาดหวังเอาไว้ก่อนล่วงหน้า” และอาจย้อนกลับมาขัดขวาง ไม่ให้เกิดนวัตกรรมได้

การวิจัยทางเภสัช

บทที่ 3 การกำหนดและ/หรือสร้างระเบียบวิธีวิจัยให้เหมาะสมกับวัตถุประสงค์ของงานวิจัย

จากอดีตจนถึงปัจจุบันมีระเบียบวิธีวิจัยต่าง ๆ ถูกพัฒนาออกมาเป็นจำนวนมากเพื่อใช้ดำเนินการวิจัยและสร้างคำตอบของการวิจัย อย่างไรก็ตาม การกำหนดว่าจะใช้ระเบียบวิธีวิจัยอะไรในงานวิจัยใด ๆ นั้น จะต้องเลือกให้สอดคล้องกับ “วัตถุประสงค์” ของการวิจัยให้มากที่สุด ทั้งนี้เพื่อให้คำตอบที่ได้มีโอกาสที่จะถูกต้องมากที่สุดในทางทฤษฎี

หลักการเลือกระเบียบวิธีวิจัยสำหรับการวิจัยทางคลินิก แสดงดังรูปที่ 7 ในการวิจัยเพื่อสร้างนวัตกรรมสามารถใช้รูปแบบการวิจัยทางคลินิกเพื่อสร้าง “กรอบ” ได้ยกตัวอย่างเช่นใช้การทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบ (systematic review, SR) เพื่อให้ได้ข้อมูลพื้นฐานทั้งหมดที่มีจากอดีตจนถึงปัจจุบันของหลักฐานเชิงประจักษ์ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นที่จะทำงานวิจัย

จากนั้นจึงนำมาวิเคราะห์เพื่อกำหนดเป็นประเด็นสำคัญ เช่น ประเด็นที่กล่าวตรงกัน ประเด็นที่ไม่เคยมีการกล่าวถึงมาก่อนหรือเพื่อเป็นการตรวจสอบความซ้ำซ้อนของนวัตกรรมกับสิ่งประดิษฐ์หรือหลักการที่มีอยู่ก่อนหน้า เป็นต้น

บทที่ 4 การนำผลการวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์

ในโลกนี้มีนวัตกรรมอยู่มากมาย แต่มีเพียงนวัตกรรม “บางอย่าง” เท่านั้น ที่ถูกนำไปใช้ประโยชน์เพื่อประชาชนและสังคม ตัวอย่างที่ชัดเจนของนวัตกรรมทางการแพทย์ที่ถูกนำไปใช้แล้วเกิดประโยชน์ในวงกว้างได้แก่ ผลงานที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ แสดงดังรูปที่ 13 โดยข้อสังเกตที่สำคัญ คือแต่ละผลงานเป็นงานวิจัยพื้นฐานที่เป็นองค์ความรู้สำหรับการต่อยอดให้เกิดนวัตกรรมต่าง ๆ ทางการแพทย์ตามมาอีกมากมาย

บทที่ 5 การจัดการนวัตกรรมจากหิ้งสู่ห้าง

หัวข้อนี้ ผู้เขียนขอยกบทเรียนที่ได้จากการสร้างนวัตกรรม EDGNU หรือ Eazy Drop* เป็นตัวแทนเกี่ยวกับ “การจัดการนวัตกรรมจากหิ้งสู่ห้าง” ของบทนี้ แต่ก่อนที่จะกล่าวถึงเนื้อหา ผู้เขียนขอนำเสนอความเป็นมาของนวัตกรรมนี้ เพื่อให้ผู้อ่านได้ทราบถึง “ที่มาและความรู้สึก” ของผู้เขียนที่มีต่นวัตกรรมนี้เสียก่อน

ในช่วงปี พ.ศ. 2563 ผู้เขียนมีโอกาสเข้าไปปฏิบัติงาน ณ หอผู้ป่วยจักษุโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร เพื่อให้คำแนะนำการใช้ยาก่อนกลับบ้านซึ่งพบว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีปัญหาเรื่องการบริหารยาตาไม่ถูกวิธี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ยาในรูปแบบที่มีการสั่งใช้บ่อย เช่น ยาหยอดตา ถึงแม้ว่าจะสอนวิธีการบริหารยาและให้ผู้ป่วยทดลองปฏิบัติตามซ้ำแล้วซ้ำอีก ก็ยังพบว่าไม่ได้ผล การปฏิบัติที่ถูกต้องเหมือนเดิมทุกครั้ง และพบว่ามีผู้ป่วยบางรายที่ไม่สามารถหยอดตาด้วยตนเองอย่างถูกต้องและปลอดภัยได้เลย

บทที่ 6 การสร้างกลุ่มวิจัยและการบริหารกลุ่มวิจัยอย่างยั่งยืน

ในการทำงานด้านนวัตกรรมจำเป็นต้องมี “กลุ่มวิจัย” ที่เข้มแข็ง เนื่องจากในการวิจัยที่ลุ่มลึกต้องการแนวคิดที่หลากหลาย ต้องการผู้ที่มีความสามารถเฉพาะทาง และต้องการการอำนวยความสะดวกในเรื่องต่าง ๆ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์งานวิจัย “การสร้างกลุ่มวิจัย” จึงเป็นทักษะสำคัญที่ผู้วิจัยต้องมี

ในบทนี้ผู้เขียนจะแสดงให้เห็นถึงประสบการณ์การทำงานร่วมกับกลุ่มวิจัยประเภทต่าง ๆ การสร้างกลุ่มวิจัย ปัญหาและอุปสรรคที่พบในการสร้างกลุ่มวิจัย และการบริหารกลุ่มวิจัยอย่างยั่งยืน

การวิจัยทางเภสัช

บทที่ 7 การทำงานวิจัยกับบริษัทยา

ในทัศนะของผู้เขียน อาจารย์มหาวิทยาลัยหรือคณะทำงานฯ เชิงวิชาชีพ มีบทบาทที่จะต้องนำความรู้ความสามารถไปใช้ เพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชนและสังคมโดยรวม ตราบใดที่การทำงานนั้นไม่ผิดต่อกฎหมาย หลักจริยธรรมวิชาชีพและข้อกำหนดของการเกิด COI ในคณะทำงานฯ ที่ตนมีส่วนเกี่ยวข้องอยู่

การทำงานกับบริษัทยาก็เช่นกัน นักวิจัยที่มีบทบาทในเชิงนโยบายหรือเชิงวิชาชีพสามารถเลือกเข้าไปมีส่วนร่วมได้เพื่อให้เกิดการพัฒนา ตัวอย่างการทำงานร่วมกับบริษัทยาของผู้เขียน จะเป็นบทบาทในการทำงานวิจัยเป็นหลัก โดยผู้เขียนเป็นผู้กำหนดหัวข้อวิจัยร่วมกันกับผู้กำหนดนโยบายของบริษัทยาเพื่อสร้างคำถามการวิจัย วัตถุประสงค์การศึกษา และกำหนดระเบียบวิธีวิจัยที่ถูกต้องเหมาะสมต่อการสร้างคำตอบ

บทที่ 8 การทำงานวิจัยในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19

การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นเหตุการณ์ที่ “อาจจะเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวในช่วงชีวิตของเรา” การเกิดโรคดังกล่าว ได้เปลี่ยนแปลงชีวิตของประชากรทั้งโลกไปสู่ความปกติใหม่ที่จะไม่หวนหลับมาเหมือนเดิมอีกต่อไป โควิด-19 เป็นทั้งตัวก่อกวน (disruptor) ตัว “เร่ง” และ “หน่วง” ปฏิกิริยาทำให้เกิด ปัญหา คำถาม ซึ่งนำไปสู่องค์ความรู้และนวัตกรรมมากมาย ในบทนี้ผู้เขียนจะนำเสนอประสบการณ์การทำงานวิจัยในช่วงที่มีการระบาดของโรคนี้

การวิจัยทางเภสัช

บทที่ 9 บทบาทในฐานะครูและที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์

“การสอน” เป็นสิ่งที่ผู้เขียนคิดว่ายากและท้าทายที่สุด เนื่องจากเมื่อเข้าทำงานเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย (ในวุฒิการศึกษาปริญญาตรี) กลับพบว่าไม่ได้ผ่านการอบรมหรือมีประสบกรณ์ในการสอนหรือมีความเข้าใจศาสตร์ในการสอน “อย่างจริงจัง” แต่กลับต้องมาสอน “รุ่นน้อง” ที่เข้าเรียนห่างกันเพียงแค่ 1 ปี เท่านั้น ส่งผลให้กว่าจะเข้าที่เข้าทางก็ผ่านการทำงานมา “เกือบ 10 ปี”

ในปัจจุบัน ผู้เขียนมีความเข้าใจมากขึ้นว่า ครูที่ดีคือครูที่สามารถส่งเสริมทำให้ศิษย์ “ตั้งคำถามและคิดแก้ปัญหาได้” โดยยึดโยงกับข้อเท็จจริงหลักฐานทางวิชาการ ข้อมูลเฉพาะบางอย่าง ที่เป็นตัวกำหนดวิธีคิดและแนวทางในการสร้างคำตอบ แต่อย่างไรก็ตาม คำตอบที่ได้ไม่จำเป็นต้องดีที่สุดหรือไม่สามารถปรับปรุงให้ดีไปกว่านี้ได้อีกแล้ว การคิดและลงมือทำอาจได้ปัญหาหรือคำถามใหม่ ๆ ออกมา ซึ่งล้วนถือเป็นสิ่งที่ดีและมีประโยชน์ทั้งสิ้น

เอกสารอ้างอิง

  1. Çaparlar CÖ, Dönmez A. What is scientific research and how can it be
    done? Turk J Anaesthesiol Reanim. 2016;44:212-8.
  2. Kelly CJ, Young AJ. Promoting innovation in healthcare. Future Healthc J. 2017;4:121-5.

นักศึกษาฝึกงานมหาวิทยาลัยนเรศวร คณะบริหารธุรกิจ เศรษฐศาสตร์และการสื่อสาร สาขาวิชาบริหารธุรกิจ