การเว้นวรรคเครื่องหมายและคำ ให้ถูกต้องตามหลักราชบัณฑิตฯ

การเขียนหรือพิมพ์เป็นหนึ่งในการสื่อสารที่สำคัญมาก นอกจากการสะกดให้ถูกต้องแล้ว ยังต้องให้ความสำคัญกับการเว้นวรรคระหว่างข้อความให้ถูกต้องด้วย เพื่อที่จะได้มีความเข้าใจตรงกัน ถูกต้อง ชัดเจน และอ่านได้ไหลลื่นมากขึ้น แต่ในภาษาไทยของเรานั้นมีเครื่องหมายและคำมาก จึงอาจทำให้เกิดการสับสนได้ว่า เครื่องหมายอันนี้ คำนี้ จะต้องเว้นวรรคข้างหน้าอย่างเดียว เว้นวรรคข้างหลังอย่างเดียว หรือเว้นวรรคทั้งข้างหน้าและข้างหลัง และเพื่อเป็นประโยชน์ให้กับทุกคนเข้าใจมากขึ้น เราจึงจะมาบอกการเว้นวรรคเครื่องหมายและคำให้ถูกต้องตามหลักราชบัณฑิตฯ มีการเว้นวรรคยังไง ไปดูกันเลย

1. วิธีเว้นวรรคเครื่องหมาย

เครื่องหมายในภาษาไทยมีมากมายและรูปแบบการใช้งานก็ต่างกัน ทำให้มีวิธีการเว้นวรรคเครื่องหมายที่ต่างกันไปด้วย โดยจะแบ่งการใช้งานได้ตามนี้

1.1 เว้นวรรคหลังเครื่องหมาย

เว้นวรรคโดยการเคาะ 1 ครั้งหลังเครื่องหมาย

เว้นวรรค

เครื่องหมายจุลภาค (,) ใช้คั่นจำนวนตัวเลข คำหรือข้อความ

ตัวอย่างการใช้งาน : สระในภาษาอังกฤษมี 5 ตัว คือ a, e, i, o, u

เครื่องหมายมหัพภาค (.) ใช้กับอักษรย่อ จบประโยค 

ตัวอย่างการใช้งาน : เด็กผช. อายุ 7 ปี กำลังวิ่งเล่นอยู่ในสนามเด็กเล่น

เครื่องหมายอัฒภาค (;) ใช้แยกประโยคเปรียบเทียบออกจากกัน

ตัวอย่างการใช้งาน : โปเต้ไปเที่ยวอุทยาน; เจมส์ไปทำงาน

เครื่องหมายไปยาลน้อย (ฯ) ใช้ในการย่อคำเพื่อให้เขียนสั้นลง

ตัวอย่างการใช้งาน : สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ

1.2 เว้นวรรคหน้าและหลังเครื่องหมาย

เว้นวรรคโดยการเคาะ 1 ครั้ง ทั้งหน้าและหลังเครื่องหมาย

เครื่องหมายทวิภาค (:) ใช้แจกแจงรายการ บอกว่าจะมีรายละเอียดแบ่งเป็นข้อ ๆ

ตัวอย่างการใช้งาน : ชื่อ : แฮริน นามสกุล : คัง

เครื่องหมายวงเล็บ () ที่ใช้สำหรับคร่อมข้อความเพื่ออธิบายข้อความข้างหน้าเพิ่มเติม

ตัวอย่างการใช้งาน : วันอาทิตย์ (Sunday) วันจันทร์ (Monday) วันอังคาร (Tuesday)

เครื่องหมายอัญประกาศ (“……”) ใช้แสดงว่าเป็นคำพูดหรือเน้นข้อความเพื่อให้เด่นขึ้น

ตัวอย่างการใช้งาน : “BTS” เข้ากรมรับใช้ชาติครบแล้ว รอกลับมาครบ 7 คน ในปี 2025

เครื่องหมายไม้ยมก (ๆ) ใช้หลังคำ หรือประโยคเพื่อให้อ่านซ้ำ

ตัวอย่างการใช้งาน : มหาวิทยาลัยนเรศวรมีนิสิตที่มาจากจังหวัดอื่น ๆ ด้วย ไม่ใช่แค่ในจังหวัดพิษณุโลก

เครื่องหมายไปรยาลใหญ่ (ฯลฯ) ใช้สำหรับละข้อความท้ายประโยคที่อยู่ในประเภทเดียวกัน แสดงว่ามีอีกมาก

ตัวอย่างการใช้งาน : เกมทำสวน มีผักให้ปลูกมากมาย เช่น ผักกาดขาว, กะหล่ำดอก, แตงกวา, ฯลฯ

เครื่องหมายเสมอภาคหรือเท่ากับ (=) ใช้เพื่อแสดงว่าคำหรือข้อความทั้งสองข้างนั้นเสมอกัน

ตัวอย่างการใช้งาน : 1 เมตร = 100 เซนติเมตร

2. วิธีเว้นวรรคคำ

นอกจากเครื่องหมายที่ต้องเว้นวรรคให้ถูกต้องแล้ว คำก็ต้องเว้นวรรคให้ถูกต้องเหมือนกัน เพื่อให้สามารถอ่านได้ง่ายและมีความไหลลื่นมากขึ้น ดังนี้

2.1 เว้นวรรคหน้าคำ

เว้นวรรคโดยการเคาะ 1 ครั้งที่หน้าคำ

และ ใช้แสดงให้เห็นว่าในประโยคมีบางอย่างเกี่ยวข้องกัน

ตัวอย่างการใช้งาน : LE SSERAFIM, ATEEZ และ The Rose ศิลปิน K-Pop เตรียมขึ้นแสดงในงาน Coachella 2024

หรือ ใช้ในกรณีให้เลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง

ตัวอย่างการใช้งาน : เธอชอบเพลง Super Shy หรือเพลง Hype Boy มากกว่ากัน

แต่ ใช้ในกรณีที่ในประโยคมีการขัดแย้งกัน

ตัวอย่างการใช้งาน : ฉันเกิดที่พิษณุโลกแต่ไปอยู่ที่สุโขทัย

*ถ้าเป็นประโยคสั้นมีแค่ 2 รายการให้เขียนติดกันไม่ต้องเว้นวรรค เช่น เธอและฉันอยากไปทำงาน

เป็นต้น ใช้แสดงว่าที่ยกมาเป็นแค่ตัวอย่าง

ตัวอย่างการใช้งาน : ฉันชอบกินอาหารเกาหลี เช่น ข้าวผัดกิมจิ ต๊อกบกกี บิบิมบับ เป็นต้น

2.2 เว้นวรรคหลังคำ

เว้นวรรคโยการเคาะ 1 ครั้งที่หลังคำ

เว้นวรรค

ว่า ใช้ในกรณีที่ข้อความต่อมาเป็นประโยค

ตัวอย่างการใช้งาน : แม่บอกฉันว่า “รอถูกหวยก่อน”

2.3 เว้นวรรคหน้าและหลังคำ

เว้นวรรคโดยการเคาะ 1 ครั้ง ทั้งหน้าและหลังคำ

เว้นวรรค

ได้แก่ ใช้เพื่อยกตัวอย่างประกอบ ที่มีรายการมากกว่า 1 รายการ

ตัวอย่างการใช้งาน : เมนูยอดนิยมของคนไทย ได้แก่ ส้มตำ ยำ ข้าวผัดกะเพรา เป็นต้น

เช่น ใช้ยกตัวอย่างประกอบ

ตัวอย่างการใช้งาน : ทวีปเอเชียมีหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ และอื่น ๆ

และในขั้นตอนการจัดทำหนังสือของสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยนเรศวรเอง ก็มีการตรวจสอบการเว้นวรรคเครื่องหมายและคำให้ถูกต้องตามหลักราชบัณฑิตฯ ด้วย

ขอบคุณข้อมูลจาก สำนักงานราชบัณฑิตยสภา

นักศึกษาฝึกงานมหาวิทยาลัยนเรศวร คณะบริหารธุรกิจ เศรษฐศาสตร์และการสื่อสาร สาขาวิชาบริหารธุรกิจ