สัทวิทยา ภาษาที่สอง (L2 phonology)

สัทวิทยา ภาษาที่สอง การสอนการฟังและพูดภาษาที่สองเป็นสิ่งที่ท้าทายสำหรับผู้สอนภาษาต่างประเทศ เนื่องจากภาษาที่สองมักมีระบบเสียงและหน่วยเสียงที่แตกต่างจากภาษาแม่ของผู้เรียน บ่อยครั้งที่จำเป็นต้องใช้ความรู้เรื่องอวัยวะในการออกเสียงมาช่วยในการอธิบายการออกเสียงและการรับรู้เสียงในภาษาที่สองด้วย ในเรื่องของการฟังและการพูดภาษาที่สองนั้น มิได้จำกัดแต่เพียงการเรียนการสอนเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการวิจัย ซึ่งแม้ว่าในปัจจุบัน จะมีหนังสือด้านสัทวิทยาภาษาที่สองออกมามากมาย แต่ก็ยังขาดหนังสือที่รวมเอาทฤษฎีภาษาที่สองและวิธีการในการทำวิจัยในการทำงานวิจัยด้านสัทวิทยาภาษาที่สองนี้เข้าไว้ด้วยกัน โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นกลุ่มผู้อ่านคนไทย นักวิจัยชาวไทย และผู้สอนชาวไทย

สัทวิทยาภาษาที่สอง

หนังสือเล่มนี้ เป็นหนังสือเล่มแรกที่มีเนื้อหาเพื่อการทำวิจัยด้านสัทวิทยาภาษาที่สองโดยเริ่มจากบทที่ 1 ที่กล่าวถึงความรู้ทางสัทศาสตร์เบื้องต้น เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจว่า ในการศึกษาด้านเสียงในภาษาพูดนั้น จะต้องทราบถึงสิ่งใดบ้าง และมีสิ่งใดที่ควรต้องยึดถือเมื่ออธิบายเรื่องเสียงโดยจะกล่าวอิงกับสัทอักษรเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากในการเปรียบเทียบความเหมือนและความต่างระหว่างภาษาที่หนึ่งและภาษาที่สองนั้น นักสัทวิทยาภาษาที่สองมักใช้สัทอักษรที่ใช้ในการแทนเสียงในแต่ละภาษาเป็นองค์ประกอบสำคัญในการเปรียบเทียบ จากนั้น ในบทที่ 2 จะเป็นเรื่องสัทวิทยาภาษาที่สอง ซึ่งเป็นพื้นฐานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับภาษาที่สอง โดยมีเรื่องของแนวคิดเรื่องการวิจัยงานวิจัยด้านสัทวิทยาภาษาที่สอง การตั้งวัตถุประสงค์ของการวิจัย การตั้งคำถามวิจัย การตั้งสมมุติฐาน การเตรียมคำสำหรับให้ออกเสียง การบันทึกเสียง การเตรียมเสียงสำหรับให้ฟัง และการหากลุ่มตัวอย่าง ซึ่งในบทนี้ จะทำให้ผู้อ่านเข้าใจในธรรมชาติและลักษณะของงานวิจัยทางสัทวิทยาภาษาที่สอง

1. ความรู้ทางสัทศาสตร์เบื้องต้น

ก่อนจะกล่าวถึงสัทศาสตร์นั้น เราต้องทำความเข้าใจถึงคำว่า “สัทวิทยา” (Phonology) ก่อน สัทวิทยาหมายถึงการศึกษาระบบเสียงในภาษาพูด การศึกษาระบบเสียงคือการศึกษาเพื่อทำความเข้าใจในเรื่องหน่วยเสียงใหญ่ ซึ่งหมายถึงเสียงที่ทำให้เกิดความแตกต่างในด้านความหมาย นักสัทวิทยา (Phonologist) จะสนใจศึกษาระบบเสียงในแง่ของจำนวนของหน่วยเสียงใหญ่ เช่น ในภาษานั้นมีกี่หน่วยเสียงใหญ่ มีเสียงใดบ้างที่เกิดได้ในตำแหน่งต้นคำ (“initial” หรือ “beginning”) มีเสียงใดบ้างที่เกิดในตำแหน่งท้ายคำ (“final”) กฎของเสียงในภาษา เช่น หากเสียงหนึ่งตามหลังเสียงอีกเสียงหนึ่งในบริบทหนึ่งจะทำให้กลายเป็นอีกเสียงหนึ่ง เป็นต้น นอกจากนี้นักสัทวิทยายังเปรียบเทียบระบบเสียงในภาษาและใช้ทฤษฎีมาอธิบายการเกิดขึ้นของระบบเสียงอีกด้วย

2. สัทวิทยาภาษาที่สอง

หากจะกล่าวถึงประเภทของภาษาพูดนั้น จะแบ่งได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ ได้แก่ ภาษาที่หนึ่ง (L1 หรือ First Language) และภาษาที่สอง (L2 หรือ Second Language) ภาษาที่หนึ่ง หมายถึง ภาษาที่พูดก่อนภาษาอื่น ส่วนภาษาที่สอง หมายถึง ภาษาที่พูดหลังจากผู้เรียนได้เรียนรู้ภาษาหนึ่งไปแล้ว ซึ่งคำว่า “ภาษาที่สอง” นั้น จะตีความได้เป็นสองกรณี กรณีแรกจะหมายถึงภาษาที่เรียนเป็นลำดับที่สองต่อจากภาษาแรกเท่านั้น และภาษาที่เรียนต่อจากภาษาที่สองจะเรียกว่า“ภาษาที่สาม” และภาษาที่เรียนลำดับถัดไป ก็จะเรียกด้วยลำดับถัดไป ในกรณีนี้จำนวนของภาษาที่สองจะมีได้ภาษาเดียว คือ ภาษาที่เรียนเป็นลำดับที่สองกรณีที่สองจะหมายถึงภาษาที่เรียนเป็นลำดับที่สองและลำดับถัดมา ซึ่งในกรณีที่สองนี้ จำนวนของภาษาที่สองอาจมีหลายภาษาก็ได้

เช่น เด็กคนหนึ่งพูดภาษาไทยกับพ่อแม่ตั้งแต่แรกเกิด ต่อมาเมื่ออายุ 2 ขวบ ได้มีพี่เลี้ยงเป็นชาวพม่า ซึ่งพี่เลี้ยงได้พูดภาษาพม่าสลับกับภาษาไทยกับเด็กคนนี้ จากนั้น ได้เข้าเรียนในโรงเรียนที่ประเทศไทย เมื่ออายุ 3 ขวบได้เริ่มเรียนภาษาอังกฤษ ในบริบทนี้ภาษาที่หนึ่งของเขา คือภาษาไทย ส่วนภาษาที่สองนั้น หากตีความว่าเป็นความหมายในกรณีแรก ภาษาที่สองจะเป็นภาษาพม่า และภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สาม หากตีความว่าเป็นความหมายในกรณีที่สอง ภาษาที่สองจะเป็นภาษาพม่าและภาษาอังกฤษ เป็นต้น

ในการศึกษาภาษาที่สองนั้น เราจำเป็นต้องทราบพื้นฐานของสัทวิทยาภาษาที่สองเสียก่อน ดังนั้น ในบทนี้จะเรียนเกี่ยวกับความหมายของสัทวิทยาภาษาที่สอง งานวิจัยด้านสัทวิทยาภาษาที่สอง การตั้งวัตถุประสงค์งานวิจัย คำถามงานวิจัย การตั้งสมมุติฐาน การเตรียมคำสำหรับแบบทดสอบการออกเสียง การบันทึกเสียง การเตรียมเสียงสำหรับให้ฟัง และการหากลุ่มตัวอย่าง ซึ่งเนื้อหาทั้งหมดนี้จะเป็นพื้นฐานที่ดีในการอ่านบทต่อ ๆ ไป

ในบทที่ 3 เป็นเรื่องทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับสัทวิทยาภาษาที่สอง ซึ่งเป็นทฤษฎีที่นิยมนำมาใช้ในการตั้งสมมุติฐานงานวิจัยและอธิบายผลการวิจัยที่เกิดขึ้นในการเรียนรู้เสียงในภาษาที่สองซึ่งประกอบด้วย 5 ทฤษฎีหลัก แต่ละทฤษฎีจะมีวัตถุประสงค์และลักษณะการตั้งสมมุติฐานในการเรียนรู้เสียงในภาษาที่สองที่มีลักษณะที่แตกต่างกันไป บางทฤษฎีจะเน้นเรื่องการเรียนรู้เสียงโดยทั่วไป บางทฤษฎีจะเน้นเรื่องการรับรู้เสียงโดยเฉพาะ ต่อมา ในบทที่ 4 เป็นเรื่องปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้เสียงในภาษาที่สอง ซึ่งทำให้เกิดความหลากหลายในการออกเสียงและการรับรู้เสียง ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญสำหรับนักวิจัยทางสัทวิทยาภาษาที่สองเนื่องจากสามารถนำไปอธิบายการเรียนรู้เสียงได้ และยังทำให้งานวิจัยทางสัทวิทยาภาษาที่สองไม่มีทางจบสิ้น เพราะนักวิจัยสามารถศึกษาปัจจัยหลายปัจจัยสลับสับเปลี่ยนกันไป ในบทที่ 5 เป็นเรื่องวิธีวิจัยทางสัทวิทยาภาษาที่สองซึ่งแบ่งเป็นวิธีวิจัยด้านการออกเสียง วิธีวิจัยด้านการรับรู้เสียง และวิธีวิจัยเชิงพรรรณา ซึ่งสองวิธีแรกมักเป็นหลักในการศึกษาการเรียนรู้เสียงในภาษาที่สอง ในขณะที่วิธีวิจัยที่สามเป็นวิธีการที่นักสัทวิทยาภาษาที่สองใช้ประกอบการศึกษาในการวิจัยสองวิธีแรก ทำให้ได้ข้อมูลเชิงลึก

3. ทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับสัทวิทยาภาษาที่สอง

สำหรับบทนี้จะอธิบายเกี่ยวกับทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับสัทวิทยาภาษาที่สองที่ได้รับความนิยมในการใช้อธิบายและคาดการณ์ผลลัพธ์ในการเรียนรู้เสียงในภาษาที่สองโดยประกอบด้วย 5 ทฤษฎี ได้แก่ ทฤษฎีสมมุติฐานการวิเคราะห์ความขัดแย้ง (ContrastiveAnalysis Hypothesis) ทฤษฎีการเรียนรู้ภาษาพูด (Speech Learning Model) ทฤษฎีการกลืนเสียงเชิงการรับรู้ภาษาที่สอง (Perceptual Assimilation Model-L2) ทฤษฎีการรับรู้เชิงภาษาศาสตร์ภาษาที่สอง (Second-Language Linguistic Perception) และทฤษฎีความแปลกเด่น (Markedness) โดยรวมแล้วทฤษฎีจะมีจุดมุ่งหมายใหญ่ เพื่ออธิบายการเรียนรู้เสียงในภาษาที่สอง แต่เป้าหมายรองของแต่ละทฤษฎีอาจแตกต่างกันออกไป ในการนำทฤษฎีไปใช้ในงานวิจัยนั้นไม่จำเป็นต้องใช้ทุกทฤษฎี อาจเลือกเพียงทฤษฎีที่เกี่ยวข้องมาใช้ในงานวิจัย ดังจะเห็นได้จากงานวิจัย เช่น งานของเอสกูเดอโรและวาสิไลฟ์ (Escudero, & Vasiliev, 2011) ที่เลือกใช้ทฤษฎีการกลืนเสียงเชิงการรับรู้ภาษาที่สองและทฤษฎีการรับรู้เชิงภาษาศาสตร์ภาษาที่สองมาใช้อธิบายผลของงานวิจัยเท่านั้น

4. ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้เสียงในภาษาที่สอง

ปัจจัยที่ส่งผลต่อการเรียนรู้เสียงในภาษาที่สองเป็นตัวแปรที่ผู้วิจัยสามารถนำมาศึกษาว่าเกี่ยวข้องกับการเรียนรู้เสียงในภาษาที่สองที่สนใจหรือไม่ ด้วยความที่งานวิจัยทางสัทวิทยาภาษาที่สองเป็นงานที่ศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมของมนุษย์ และมนุษย์เองก็เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความซับซ้อนดังนั้นนักวิจัยจะพบว่าปัจจัยหนึ่งอาจสัมพันธ์ในทางบวกกับการเรียนรู้เสียงหนึ่งในกลุ่มผู้เรียนกลุ่มหนึ่ง แต่เมื่อมีกลุ่มผู้เรียนหลายกลุ่ม นักวิจัยอาจพบว่าปัจจัยตัวนั้นไม่สัมพันธ์กับการเรียนรู้ของผู้เรียนกลุ่มอื่นเลยหรือมีความสัมพันธ์ในทางลบ ทั้งที่เป็นผู้เรียนภาษาที่สองเหมือนกัน แต่ทั้งนี้ไม่ว่าผลวิจัยออกมาเช่นใด นักวิจัยย่อมสามารถอธิบายผลที่เกิดขึ้นได้เสมอ โดยกล่าวถึงบริบทของการทำวิจัย เช่น มีลักษณะเฉพาะของผู้เรียนอย่างไร เครื่องมือเก็บข้อมูลเป็นอย่างไร หรือวิธีการวิเคราะห์ของผู้วิจัยเองที่แตกต่างจากงานวิจัยอื่น เพื่ออธิบายว่าทำไมผลที่ออกมาจึงไม่เหมือนกับงานวิจัยอื่นทั้งที่เป็นปัจจัยตัวเดียวกัน

5. วิธีวิจัยทางสัทวิทยาภาษาที่สอง

หลังจากได้กล่าวในเรื่องของทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับการเรียนภาษาที่สองและปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ดังกล่าวแล้ว ส่วนสำคัญต่อไปคือวิธีวิจัยทางสัทวิทยาภาษาที่สองเราจะมาเรียนกันว่า นักสัทวิทยาภาษาที่สองใช้วิธีการใด ในการพิสูจน์สมมุติฐานที่ทางทฤษฎีเสนอไว้ หรือมีวิธีการใดที่จะนำมาซึ่งผลที่จะบอกว่า ปัจจัยที่ศึกษาอยู่นั้นสนับสนุนหรือคัดค้านกับงานวิจัยหรือทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นบทนี้จะกล่าวถึงรายละเอียดเกี่ยวกับวิธีวิจัย ซึ่งประกอบไปด้วย 3 ด้านหลัก ได้แก่ วิธีวิจัยด้านการออกเสียง วิธีวิจัยด้านการรับรู้เสียง และวิธีวิจัยเชิงพรรณาซึ่งวิธีวิจัยด้านการออกเสียงนั้นจะกล่าวถึง 4 วิธีวิจัยที่นักสัทวิทยาภาษาที่สองนิยมนำมาใช้เพื่อพิสูจน์ทฤษฎีในบทที่ 3 ได้แก่ วิธีวิจัยการระบุเสียงโดยนักสัทศาสตร์ (Impressionistic Study) วิธีวิจัยการระบุเสียงโดยเจ้าของภาษา (Sound Identification Study) วิธีวิจัยการให้คะแนนสำเนียงที่ออก (Accent Rating Study) และวิธีวิจัยการศึกษาลักษณะทางกลสัทศาสตร์ (Acoustic Study) โดยจาก 4 วิธีนี้ วิธีวิจัยการระบุเสียงโดยนักสัทศาสตร์เป็นวิธีดั้งเดิมใช้กันมานานตั้งแต่สมัยที่งานด้านสัทวิทยาภาษาที่สองเริ่มพัฒนาขึ้น

ในบทที่ 6 นั้น เป็นเรื่องการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณ ซึ่งเกี่ยวข้องกับสถิติที่นิยมใช้ในงานวิจัยสัทวิทยาภาษาที่สอง โดยประกอบด้วยสถิติเชิงพรรณาและเชิงอนุมาน ซึ่งผู้เขียนได้นำโปรแกรมไมโครซอฟท์เอ็กเซล (Microsoft Excel) และโปรแกรมอาร์สตูดิโอ (RStudio) หรือโปรแกรมอาร์ (R) ซึ่งผู้เขียนได้ใช้ในงานวิจัยของตนเองมาเป็นหลักในการอธิบาย โดยพยายามใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย เพื่อให้ผู้อ่านมีพื้นฐานที่ดีในการเข้าใจสถิติขั้นสูงต่อไป และบทที่ 7 เป็นเรื่องการรายงานผลข้อมูล ซึ่งประกอบด้วยการเลือกแผนภาพให้เหมาะสมกับข้อมูลงานวิจัย การใช้ตารางและการเขียนรายงานการวิจัย ซึ่งในหัวข้อสุดท้ายนี้ จะเป็นประโยชน์กับผู้อ่านในแง่ที่ผู้อ่านจะทราบองค์ประกอบโดยรวมของการเขียนงานวิจัย ซึ่งแต่ละองค์ประกอบจะมีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันไปผู้เขียนได้เขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาจากการรวบรวมความรู้ในหนังสือ อินเทอร์เน็ต และจากประสบการณ์การทำวิจัยด้านสัทวิทยาภาษาที่สองของผู้เขียนเอง ซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เมื่ออ่านจบแล้ว จะทำให้ผู้อ่านที่สนใจในการทำวิจัยด้านสัทวิทยาภาษาที่สองมีความรู้ความเข้าใจในการทำวิจัยเรื่องนี้มากขึ้น

6. การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณ

การศึกษาวิธีการวิเคราะห์ข้อมูลเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับนักวิจัย เพราะเป็นวิธีการเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อค้นพบ ซึ่งจะนำไปสู่การตอบคำถามวิจัย ในบทนี้จะอธิบายถึงการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณ โดยสถิติที่นักสัทศาสตร์นิยมใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ สถิติเชิงพรรณนาและสถิติเชิงอนุมาน สถิติเชิงพรรณาจะใช้อธิบายข้อมูลที่มีอยู่ แต่ไม่สามารถอ้างอิงผลไปยังประชากรกลุ่มใหญ่ได้ สถิติเชิงอนุมานเป็นสถิติที่สามารถนำผลไปคาดการณ์หรืออ้างอิงยังกลุ่มประชากรกลุ่มใหญ่ได้ ดังนั้นจึงมักเป็นสถิติหลักในการค้นหา อธิบายและคาดการณ์การเรียนรู้เสียงในภาษาที่สอง อย่างไรก็ตามนักสัทวิทยาภาษาที่สองควรเข้าใจและสามารถใช้สถิติทั้งสองประเภทได้

สัทวิทยา

Graphic Design และ Content Creator ที่หลงใหลในการเขียน Content และเชื่อว่า Content เป็นสิ่งสำคัญในการสื่อสารกับทุก ๆ คน