อาการทางอายุรศาสตร์

อาการทาง อายุรศาสตร์ Medical Symptomatology

การดูแลรักษาผู้ป่วยให้หายจากอาการเจ็บป่วยเป็นสิ่งที่แพทย์ทุกคนมุ่งหวัง ประวัติสุขภาพที่ถูกต้อง การตรวจร่างกายที่แม่นยา การคิดวิเคราะห์ วินิจฉัยโรคที่ครอบคลุม และการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสม เป็นกระบวนการที่แพทย์ทุกคนพึงปฏิบัติ ประวัติสุขภาพและอาการเจ็บป่วยจึงมีความสาคัญเป็นอย่างยิ่งในการนาไปสู่การวินิจฉัยโรคได้อย่างถูกต้อง

การสัมภาษณ์ประวัติหรือการซักถามประวัติการเจ็บป่วยสำหรับผู้ที่เป็นแพทย์ ถือเป็นทักษะที่สำคัญ และต้องฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอ การที่รายละเอียดของประวัติสุขภาพและอาการเจ็บป่วย จะถูกถ่ายทอดจากผู้ป่วยมาสู่แพทย์ได้อย่างครบถ้วนและถูกต้องได้นั้น นอกจากความรู้ทางวิชาแพทย์แล้วแพทย์จำเป็นต้องมีความรู้ความสามารถในการสื่อสาร และมีสัมพันธภาพที่ดีกับผู้ป่วย (doctor-patient relationship) รวมทั้งต้องมีการเตรียมตัวในการเข้าซักถามประวัติสุขภาพเป็นอย่างดี จึงจะนำไปสู่ความสำเร็จสูงสุดที่แพทย์ทุกคนมุ่งหวัง นั่นคือผู้ป่วยหายจากโรคที่เป็นอยู่

อายุรศาสตร์

ทักษะการซักถามประวัติสุขภาพ

1. การวางแผนการซักถามประวัติสุขภาพ

1.1 การเตรียมพร้อมของแพทย์
แพทย์ควรเตรียมตัวก่อนซักถาม ตั้งแต่การตรวจสอบชื่อ สกุลของผู้ป่วยว่าตรงกับผู้ที่ตนต้องการซักถาม ตรวจดูประวัติอดีต ภูมิหลังของปัญหาสุขภาพ ประวัติการรักษา หากมีบันทึกในเวชระเบียนในกรณีที่ผู้ป่วยเคยมารับการตรวจรักษาแล้ว หรือจากประวัติที่บันทึกในเอกสารการส่งตัว ในกรณีที่ผู้ป่วยถูกส่งต่อมาจากแพทย์ท่านอื่น ซึ่งจะช่วยลดระยะเวลาในการซักถาม ทั้งนี้ควรเตรียมซักถามประวัติสุขภาพที่เกิดขึ้นใหม่หรือที่ไม่มีการบันทึกไว้ด้วย หากเป็นผู้ป่วยที่มาตรวจรักษาเป็นครั้งแรก ก็จำเป็นต้องซักประวัติใหม่ทั้งหมด ในระหว่างซักถามอาจเตรียมเครื่องเขียนและกระดาษเพื่อใช้จดบันทึกย่อช่วยจำเพื่อกันลืมประเด็นการซักถาม หากจะมีการตรวจร่างกายร่วมด้วย ควรมีบุคคลที่สาม เช่น พยาบาล อยู่ในขณะทำการซักประวัติและตรวจร่างกาย

อายุรศาสตร์

1.2. ช่วงเวลาและความพร้อมของผู้ป่วย
แพทย์ควรสังเกตความพร้อมในการให้ประวัติของผู้ป่วย หากผู้ป่วยไม่สามารถให้ประวัติได้ ให้สอบถามกับญาติหรือผู้ใกล้ชิดที่ทราบอาการเจ็บป่วยนั้นแทน การซักถามประวัติเพิ่มเติม หากไม่เร่งด่วนหรือจำเป็นต่อการรักษาอย่างรวดเร็ว ควรหลีกเลี่ยงยามวิกาล หรือช่วงที่ผู้ป่วยพักผ่อน

1.3. ความพร้อมของสภาพแวดล้อม
การเตรียมสภาพแวดล้อมหรือสถานที่ ควรเอื้อประโยชน์ต่อทั้งแพทย์และผู้ป่วย ควรมีแสงสว่างที่เพียงพอ มีสิ่งรบกวนน้อยที่สุด ไม่พลุกพล่าน มีอุณหภูมิที่พอเหมาะ และมีความเป็นส่วนตัว ในกรณีการตรวจผู้ป่วยนอกบางแห่ง ที่มีห้องตรวจจำกัด จำเป็นต้องใช้โต๊ะตรวจในห้องรอรวม อาจเตรียมห้องตรวจเฉพาะไว้ในกรณีที่ต้องซักถามประวัติสุขภาพโดยเฉพาะในเรื่องที่มีประเด็นอ่อนไหวมาก เช่น ปัญหาสุขภาพทางเพศ หรือเรื่องที่ผู้ป่วยต้องการปกปิดอย่างมาก

2. กำหนดบุคลิกความเป็นแพทย์

แพทย์ควรมีการเตรียมตัวเตรียมใจที่จะพบกับผู้ป่วยที่มีความแตกต่างกันทั้งทางด้านอายุ เชื้อชาติ สภาพสังคม และสภาพอาการเจ็บป่วย โดยอยู่บนพื้นฐานของความเมตตา กรุณา เอาใจเขามาใส่ใจเรา และแสดงถึงความตั้งใจจริงที่พร้อมจะช่วยเหลือให้ผู้ป่วยหายจากอาการเจ็บป่วยที่เป็นอยู่ ทักษะและบุคลิกภาพที่ดีของแพทย์จะนำไปสู่ความร่วมมือในการตอบคำถามในขณะที่ซักถามปัญหาสุขภาพ

อายุรศาสตร์

3. พฤติกรรมความเป็นแพทย์

ในระหว่างที่ซักถามประวัติสุขภาพ นอกจากมารยาทที่ดีต่อผู้ป่วยในฐานะคู่สนทนาแล้ว พฤติกรรมต่างๆของแพทย์ยังมีความสำคัญต่อกระบวนการซักถามอย่างมาก
3.1. เริ่มต้นด้วยการแนะนำตัวเองแก่ผู้ป่วย และสอบถามชื่อ สกุลของผู้ป่วยว่าตรงกับผู้ที่ตนต้องการจะตรวจรักษาหรือไม่
3.2. แพทย์ควรนั่งหรือยืนด้วยท่าทีที่ภูมิฐาน ไม่หลุกหลิก สนใจคำถามและคำตอบของผู้ป่วย สบตากับผู้ป่วยอย่างเหมาะสม
3.3. เกริ่นนำด้วยถ้อยคำสุภาพ เมื่อจะต้องซักถามถึงเรื่องที่อาจทำให้ผู้ป่วยสะเทือนใจ เรื่องที่น่าละอาย หรือเป็นความลับ และไม่คาดคั้น ข่มขู่ หากผู้ป่วยไม่เต็มใจเปิดเผย
3.4. ตั้งใจถามและตอบอย่างสุภาพ ไม่เป็นไปในทางยียวน เย้ยหยัน หรือชวนทะเลาะ
3.5. ขณะซักถามประวัติสุขภาพ สามารถจดกันลืมไว้ได้ โดยจดเป็นข้อความสั้น ๆ ไม่ควรละความสนใจจากการเล่าประวัติของผู้ป่วยมาที่การจดทั้งหมด
3.6. ไม่ล้อเลียน ตำหนิ หรือกระทำให้ผู้ป่วยได้อาย รวมถึงไม่แสดงอาการดูถูก หรือขบขัน ต่อสิ่งที่ผู้ป่วยเล่าถึง
3.7. ไม่หลอกลวงผู้ป่วยเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลประวัติ เช่น ถ้าไม่บอกทางโรงพยาบาลจะไม่ทำการรักษา
3.8. ไม่เปิดเผยความลับหรือประวัติสุขภาพที่ผู้ป่วยต้องการปกปิด ทั้งต่อหน้าและลับหลัง หากจำเป็นต้องแจ้งให้ผู้ป่วยทราบก่อน เช่น กรณีต้องส่งต่อผู้ป่วยหรือมีแพทย์ท่านอื่นร่วมรักษา
3.9. อดทนอดกลั้น ต่อถ้อยคำหรือพฤติกรรมบางอย่างของผู้ป่วย ซึ่งอาจถูกแสดงออกมาเพราะความเจ็บป่วย หรือพื้นฐานชีวิตที่แตกต่างกัน

อายุรศาสตร์

4. รูปลักษณ์ของความเป็นแพทย์

ลักษณะภายนอกของแพทย์สามารถสร้างความน่าเชื่อถือและความศรัทธาให้แก่ผู้ป่วยได้ตั้งแต่แรกพบ ลักษณะดังกล่าวจะนำไปสู่สัมพันธภาพที่ดีต่อไป ลักษณะที่แพทย์ควรเอาใจใส่ได้แก่
4.1. ลักษณะการแต่งกาย ควรสวมใส่เสื้อผ้าที่สะอาด สุภาพ หรืออาจสวมเสื้อกาวน์ที่สะอาดคลุม หากมีการแสดง ชื่อ สกุล ด้วยจะดีอย่างยิ่ง
4.2. อนามัยส่วนตัว แพทย์ควรรักษาอนามัยส่วนบุคคลให้ดี เช่น ตัดผมให้เรียบร้อย สะอาด หากผมยาวควรรวบผมขณะปฏิบัติงาน ไม่ไว้เล็บยาว รักษาสุขภาพปากและฟันให้ดี อาจสวมผ้าปิดปากและจมูกขณะที่ตรวจได้
4.3. มีท่าทีที่สุภาพ อ่อนโยน น่าเชื่อถือ สนใจสิ่งที่ผู้ป่วยเล่า แสดงออกด้วยความจริงใจ

เนื้อหาประกอบด้วยอาการต่าง ๆ ที่สำคัญและพบบ่อยในเวชปฏิบัติทั่วไป ครอบคลุมถึง คำจำกัดความ พยาธิสรีรวิทยา พยาธิกำเนิด สาเหตุการซักประวัติ การตรวจร่างกายที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการวินิจฉัยผู้ป่วยที่มาด้วยอาการนั้น ๆ ภายในเล่มประกอบไปด้วยเนื้อหา 33 บท ได้ร่วมกันจัดทำขึ้นโดยอายุรแพทย์ซึ่งเป็นคณาจารย์ในภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวรโดยการเรียบเรียงให้เป็นฉบับปรับปรุง ซึ่งเป็นการประมวลความรู้ ทักษะ อันเกิดจากการค้นคว้าและประสบการณ์จากการทำงาน ในการดูแลผู้ป่วย เป็นเนื้อหาที่เกี่ยวกับอาการสำคัญที่พบบ่อยในเวชปฏิบัติทั่วไป โดยมุ่งให้เกิดประโยชน์สำหรับ นิสิต นักศึกษาแพทย์ และแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป รวมถึงเพื่อนร่วมสหสาขาวิชาชีพ ที่จะได้นำความรู้ไปใช้ในการวินิจฉัยและดูแลรักษาผู้ป่วยต่อไป

Graphic Design และ Content Creator ที่หลงใหลในการเขียน Content และเชื่อว่า Content เป็นสิ่งสำคัญในการสื่อสารกับทุก ๆ คน