ระบาดวิทยา

วิทยาการระบาด หรือระบาดวิทยา

วิทยาการระบาดหรือระบาดวิทยา (Epidemiology) ได้ก้าวหน้าไปมากตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน จนกระทั่งถือว่าวิทยาการระบาดเป็นแขนงหนึ่งที่สำคัญยิ่งของสายงานด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ บุคลากร ด้านสุขภาพทุกสาขาที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องศึกษาวิทยาการระบาดสำหรับนำมาประยุกต์ใช้ในงานของตนเพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาสุขภาพของประชาชนได้มีอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งขอบเขตงานด้านวิทยาการระบาดจะครอบคลุม 3 งานหลักคือ การเฝ้าระวังโรคหรือปัญหาสุขภาพ การสอบสวนโรคและการสอบสวนทางวิทยาการระบาด และการศึกษาทางวิทยาการระบาด

ระบาดวิทยา

สัมภาษณ์นักเขียน

สำหรับหนังสือเล่มนี้ผู้เขียนต้องการเน้นเฉพาะเรื่องการศึกษาทางวิทยาการระบาดเท่านั้น โดยผู้เขียนเฉพาะเจาะจงในเรื่องระเบียบวิธีวิจัยทางวิทยาการระบาด เพื่อให้บุคลากรด้านสุขภาพ นิสิต/นักศึกษา และ ผู้ที่สนใจได้นำไปใช้ประโยชน์ในการทำวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาสุขภาพของประชาชนหรือการศึกษาเพื่อให้เกิด องค์ความรู้ใหม่อันจะช่วยในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของมวลมนุษยชาติ

การระบาด

การระบาด

หนังสือฉบับนี้ประกอบเนื้อหาด้วย 9 บท ได้แก่ บทที่ 1 แนวคิดพื้นฐานทางวิทยาการระบาด บทที่ 2 การจำแนกการศึกษาทางวิทยาการระบาด บทที่ 3-8 เป็นการศึกษาทางวิทยาการระบาดแต่ละประเภท บทที่ 9 เป็นสูตรและตัวอย่างการคำนวณขนาดตัวอย่างของการศึกษาแต่ละชนิด เนื้อหาในเรื่องรูปแบบการศึกษาทางวิทยาการระบาด ผู้เขียนอธิบายในสาระสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาแต่ละชนิดที่ผู้วิจัยสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการดำเนินการศึกษาให้ประสบความสำเร็จ ได้แก่ การออกแบบการศึกษา จุดแข็งและข้อจำกัดของการศึกษา ตัวอย่างสถิติที่ใช้สำหรับการศึกษา ประโยชน์ของการศึกษา อคติ (Bias) ที่อาจเกิดขึ้นจากการศึกษา และตัวอย่างการศึกษาแต่ละชนิด

ระบาดวิทยา

1. แนวคิดพื้นฐานทางวิทยาการระบาด

เนื้อหาในบทที่ 1 นี้ประกอบด้วยองค์ความรู้พื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับวิทยาการระบาด ได้แก่ ความหมายหรือนิยามของวิทยาการระบาด วัตถุประสงค์ของวิทยาการระบาด ธรรมชาติของโรค สาเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิด โรคหรือปัญหาสุขภาพและหลักการควบคุมและป้องกันโรค ซึ่งเนื้อหาเหล่านี้เป็นองค์ความรู้พื้นฐานที่นักวิทยาการระบาดและนักวิจัยสามารถนำไปใช้ประกอบในการดำเนินการวิจัยทางวิทยาการระบาดในลำดับต่อไป

ปัจจุบันบุคลากรด้านสุขภาพมีค่อนข้างหลากหลาย ได้แก่ แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาล นักวิชาการสาธารณสุข นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ นักกายภาพบำบัดฯ ซึ่งแต่ละวิชาชีพมีพื้นฐานด้านวิชาการ และประสบการณ์ที่แตกต่างกัน บางวิชาชีพเน้นการรักษา บางวิชาชีพเน้นด้านการควบคุมและป้องกันโรค หรือบางวิชาชีพสามารถทำงานแบบบูรณาการ ในการนำหลักการศึกษาทางวิทยาการระบาดมาใช้ในการแก้ไขปัญหาสุขภาพอาจมีมุมมองหรือแนวคิดที่แตกต่างกันได้ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของวิชาชีพนั้น ๆ และองค์ความรู้หรือสิ่งที่ได้เล่าเรียนมา ดังนั้นในการดำเนินงานด้านสุขภาพโดยนำหลักการศึกษาทางวิทยาการระบาดมาประยุกต์ใช้เพื่อแก้ไขปัญหาสุขภาพให้กับประชาชนนั้นอาจต้องอาศัยเครื่องมือช่วย เช่น หนังสือหรือตัวบุคคลที่มีประสบการณ์ในการชี้แนะแนวทางให้การดำเนินการวิจัยประสบผลสำเร็จ ซึ่งหนังสือเล่มนี้ประกอบด้วยเนื้อหา ที่มุ่งเน้นเฉพาะเรื่องการศึกษาทางวิทยาการระบาดแต่ละชนิดที่บุคลากรด้านสุขภาพและผู้ที่สนใจสามารถนำ ไปใช้เป็นแนวทางดำเนินการวิจัยได้

จากอดีตที่ผ่านมาวิทยาการระบาดได้นำมาใช้ในการศึกษาการระบาดของโรคติดต่อ (Communicable Diseases) ที่เกิดขึ้นในประชากรมนุษย์เป็นส่วนใหญ่ ได้แก่ อหิวาตกโรค กาฬโรค ฝีดาษ วัณโรค โปลิโอ เป็นต้น ปัจจุบันวิทยาการระบาดถูกนำมาใช้ในการศึกษา เพื่อแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพให้กับประชาชนไม่เฉพาะด้าน โรคติดต่อเท่านั้น แต่ยังรวมถึงโรคไม่ติดต่อเรื้อรังและปัญหาด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องและเชื่อมโยงมายังสุขภาพ ของประชาชน เช่น ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ปัญหาโรคจากการประกอบอาชีพ ภาวะจิตสังคม นอกจากนี้ ในช่วงระยะเวลา 5 ทศวรรษที่ผ่านมา วิทยาการระบาดได้พัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ ตามลำดับ โดยเฉพาะด้านการศึกษาวิจัยเพื่อแก้ปัญหาสุขภาพสำหรับประชาชนที่มีความซับซ้อน โดยวิทยาการระบาดสมัยใหม่ (Modern Epidemiology) ได้มีการศึกษาปัญหาสุขภาพที่มีความซับซ้อนและมีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น

การระบาด

ปัจจัยสามทางวิทยาการระบาด (Epidemiological Triad)

2. รูปแบบการศึกษาทางวิทยาการระบาด

วิทยาการระบาดสมัยใหม่ได้ขยายสาขาออกไปค่อนข้างหลากหลาย ทั้งขนาด ขอบเขต รวมถึงความมีอิทธิพลในเชิงวิชาการและการนำมาใช้ประโยชน์ ขณะเดียวกันนักวิทยาการระบาดทั่วโลกรวมถึงในประเทศไทยก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจากการได้รับศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยและจากการฝึกอบรมระยะสั้น ๆ จากสถาบัน ต่าง ๆ นักวิทยาการระบาดแต่ละคนอาจมีความเชี่ยวชาญในสาขาที่แตกต่างกันออกไป บางคนเชี่ยวชาญเรื่องโรค บางคนเชี่ยวชาญด้านปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคหรือบางคนอาจเชี่ยวชาญด้านการศึกษาในประชากรเฉพาะกลุ่ม เป็นต้น ซึ่งนักวิทยาการระบาดสมัยใหม่ที่เชี่ยวชาญเรื่องโรค อาจมุ่งเน้นทำการศึกษาไปทางด้านเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ โรคมะเร็งชนิดต่าง ๆ โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคติดเชื้อ หรือวิทยาการระบาดทางจิตเวช นักวิทยาการระบาดที่เชี่ยวชาญด้านปัจจัยที่ทำให้เกิดโรค เช่น วิทยาการระบาดสิ่งแวดล้อม วิทยาการระบาด ด้านพฤติกรรมที่ทำให้เกิดโรค วิทยาการระบาดด้านโภชนาการ วิทยาการระบาดด้านพฤติกรรมการใช้ยา ส่วนนักวิทยาการระบาดด้านการศึกษาในกลุ่มประชากรเฉพาะ เช่น วิทยาการระบาดปัญหาสุขภาพในกลุ่มเด็กและผู้สูงอายุ วิทยาการระบาดการเกิดโรคในกลุ่มอาชีพต่าง ๆ เป็นต้น

นอกจากนี้ ขอบเขตของงานวิจัยทางวิทยาการระบาดก็ได้ขยายออกไปหลายทิศทาง เช่น นักวิทยาการระบาดบางกลุ่มที่สนใจศึกษาปัจจัยกำหนดด้านสุขภาพ (Health Determinant) ลึกลงไปถึงระดับยีนส์ และพันธุกรรมหรือระดับโมเลกุล เพื่อศึกษาผลกระทบด้านสุขภาพที่เกิดจากการถ่ายทอดลักษณะของยีนส์ และพันธุกรรมที่แตกต่างกันทำให้เกิดโรคต่าง ๆ ได้อย่างไร แล้วนำผลที่ได้จากการศึกษามาตรวจหาลักษณะของยีนส์และพันธุกรรมในประชาชน เพื่อศึกษาความเสี่ยงต่อการเกิดโรคซึ่งจะช่วยในการวินิจฉัยโรค การรักษา และการป้องกันโรค หรือบางคนอาจสนใจตัวกำหนดด้านสุขภาพในระดับสังคมก็นับเป็นวิทยาการระบาดทางสังคม (Social Epidemiology) เป็นการศึกษาปัจจัยเสี่ยงและความไวในการเกิดโรค (Susceptibility) รวมถึงความสามารถในการต้านทานโรค (Disease Resistant) ในระดับบุคคล ครอบครัว ชุมชนและสังคม เช่น การศึกษาลักษณะทางวัฒนธรรม ความยากจน การขาดการศึกษา ปัจจัยเหล่านี้มีผลต่อการเกิดโรคต่าง ๆ อย่างไร หรือในปัจจุบันนักวิทยาการระบาดบางประเทศสนใจศึกษาในเรื่องปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคหรือปัญหาสุขภาพต่ออายุขัย (Life Span) และเส้นทางชีวิตสุขภาพ (Life Course Approach to Health) ได้แก่ การศึกษา ระยะเวลาที่ได้รับปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ในขณะตั้งครรภ์ ช่วงวัยเด็ก ช่วงวัยรุ่น หรือวัยผู้ใหญ่ตอนต้น แล้ววิเคราะห์ว่ามีผลต่อการเกิดโรคหรือปัญหาสุขภาพในระยะเวลาต่อมาอย่างไร เช่น การศึกษาเกี่ยวกับภาวะขาดสารอาหารของมารดาในขณะตั้งครรภ์มีผลต่อความเสี่ยงในการเกิดโรคเรื้อรังอะไรบ้างเมื่อลูกที่คลอดออกมาเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ เป็นต้น

3. การศึกษาวิทยาการระบาดเชิงพรรณนา

การเกิดโรคหรือปัญหาสุขภาพ มักมีการกระจายตามลักษณะบุคคล สถานที่และเวลาที่อาจจำเพาะหรือคล้ายกันก็ได้ การศึกษาวิทยาการระบาดเชิงพรรณนาถือเป็นรูปแบบการศึกษาเบื้องต้นของการศึกษาวิทยาการระบาดที่ไม่มีการตั้งสมมติฐานเพื่อพิสูจน์ใด ๆ ไม่มีกลุ่มเปรียบเทียบและกลุ่มทดลอง และไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อค้นหาสาเหตุปัจจัย

การศึกษาวิทยาการระบาดเชิงพรรณนาอาจเป็นการศึกษาระยะสั้น เช่น การศึกษาภาคตัดขวาง (Cross-sectional Study) ณ จุดเวลาใดเวลาหนึ่งเพื่อหาความชุก (Prevalence) หรืออัตราป่วย (Morbidity) อัตราตาย (Mortality) อัตราการติดเชื้อ (Infection Rate) การสำรวจความรู้ เจตคติและการปฏิบัติ (KAP) การสำรวจสภาวะภูมิคุ้มกันในประชากรกลุ่มเป้าหมาย กรณีศึกษา (Case Study) ต่าง ๆ หรืออาจเป็นการศึกษาระยะยาว เช่น การเฝ้าระวังโรค (Surveillance) เป็นต้น

การศึกษาวิทยาการระบาดเชิงพรรณนา มักจะตอบคำถามเหล่านี้ คือ

  1. เกิดโรคหรือปัญหาสุขภาพอะไร
  2. มีการป่วยหรือการตายที่เกี่ยวข้องมากน้อยเพียงใด
  3. โรคหรือปัญหานั้น ๆ เกิดขึ้นเวลาใดมากและเวลาใดน้อย
  4. โรคหรือปัญหาสุขภาพนั้น ๆ เกิดขึ้นที่ไหน บริเวณใด
  5. โรคหรือปัญหาสุขภาพนั้น ๆ เกิดขึ้นกับบุคคลกลุ่มใด ได้แก่ อายุเท่าใด เพศอะไร อาชีพอะไร
  6. โรคหรือปัญหาสุขภาพนั้น ๆ เกิดขึ้นเพราะมีปัจจัยอะไรมาเกี่ยวข้องหรือสนับสนุนหรือไม่
  7. ข้อมูลที่ได้สามารถนำมาเสนอแนะ แก้ไข ควบคุมและป้องกันโรคอย่างไร

รูปแบบการศึกษาวิทยาการระบาดเชิงพรรณนา มีดังนี้

  1. รายงานผู้ป่วย (Case Report) และการรายงานกลุ่มผู้ป่วย (Case Series)
  2. การศึกษาภาคตัดขวางเชิงพรรณนา (Cross-sectional Descriptive Study) การศึกษา ย้อนหลังเชิงพรรณนา (Retrospective Descriptive Study) การศึกษาไปข้างหน้าเชิงพรรณนา (Prospective Descriptive Study)
  3. การศึกษาทางนิเวศน์วิทยา (Ecological Study)

4. การกระจายของโรค

สำหรับเนื้อหาในบทที่ 4 นี้ เป็นการอธิบายรายละเอียดเพิ่มเติมของเนื้อหาในบทที่ 3 การศึกษาวิทยาการระบาดเชิงพรรณนาที่เน้นการอธิบายการกระจาย (Distribution) ของโรคและองค์ประกอบ (Determinants) ที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคหรือปัญหาสุขภาพที่ได้จากการศึกษาในชุมชนเพื่อให้ได้ข้อมูลเบื้องต้นของปัญหาสุขภาพนั้น ๆ โดยใช้วิธีการบรรยายแจกแจงผลการศึกษาตามลักษณะบุคคล สถานที่และเวลาที่เชื่อมโยงกับขนาดของปัญหา ได้แก่ อุบัติการณ์ ความชุก หรือการตาย การศึกษาเชิงพรรณนาที่เน้นอธิบายการกระจายของโรค หรือปัญหาสุขภาพ ได้แก่ การศึกษาภาคตัดขวางเชิงพรรณนา (Cross-sectional Descriptive Study) การศึกษาย้อนหลังเชิงพรรณนา (Retrospective Descriptive Study) และการศึกษาไปข้างหน้าเชิงพรรณนา (Prospective Descriptive Study) อย่างไรก็ตาม ในการอธิบายผลการศึกษาตามลักษณะบุคคล สถานที่ และเวลานี้ ขึ้นอยู่วัตถุประสงค์ของการศึกษาด้วย เพราะบางการศึกษาอาจเน้นการอธิบายเฉพาะลักษณะ ของบุคคลอย่างเดียว บางการศึกษาก็เน้นไปที่คุณลักษณะของบุคคลและสถานที่ หรือบางการศึกษาอธิบายทั้ง 3 คุณลักษณะ ขึ้นอยู่กับตัวแปรที่ผู้วิจัยสนใจและเก็บรวบรวมมาเพื่อตอบคำถามการศึกษา

5. การศึกษาภาคตัดขวางเชิงวิเคราะห์

การศึกษาภาคตัดขวางสามารถทำได้ทั้งในเชิงพรรณนาและเชิงวิเคราะห์ สำหรับบทที่ 5 นี้เป็น การอธิบายการศึกษาภาคตัดขวางเชิงวิเคราะห์หรือการศึกษาเชิงวิเคราะห์ ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง (Analytical Cross-sectional Study) ปัจจุบันนักวิจัยหรือนักวิทยาการระบาดได้ทำการศึกษาชนิดนี้ค่อนข้างหลากหลาย เนื่องจากมีความสะดวก รวดเร็ว และสามารถนำผลการศึกษามาใช้ในการวางแผนควบคุมและป้องกันโรคได้ ระดับหนึ่ง นักวิจัยบางคนสามารถนำผลที่ได้จากการศึกษาชนิดนี้มาพัฒนาเป็นโปรแกรมหรือรูปแบบใน การส่งเสริมสุขภาพให้กับประชาชนได้แม้ว่าจะมีข้อจำกัดในเรื่องการอธิบายความสัมพันธ์เชิงเหตุและผลของการเกิดโรคก็ตาม แต่ก็สามารถหาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยเสี่ยงและโรคได้แม้จะไม่ทราบว่าระหว่างปัจจัยเสี่ยงนั้น ๆ กับโรคสิ่งไหนเกิดก่อนหลัง เนื่องจากทั้งปัจจัยเสี่ยงและโรคถูกวัดในเวลาเดียวกัน การหากลุ่มเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มที่เป็นโรคและไม่เป็นโรคหรือกลุ่มที่มีปัจจัยเสี่ยงและไม่มีปัจจัยเสี่ยง ไม่สามารถกำหนดไว้ ก่อนล่วงหน้าเหมือนการศึกษา Case Control การศึกษา Cohort และการศึกษาเชิงทดลอง ในการศึกษา ภาคตัดขวางเชิงวิเคราะห์ ผู้วิจัยแบ่งกลุ่มเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มที่เป็นโรคและไม่เป็นโรคกับกลุ่มที่มีและ ไม่มีปัจจัยเสี่ยงได้ในขณะวิเคราะห์ข้อมูล อย่างไรก็ตามการศึกษาชนิดนี้ก็สามารถอธิบายความสัมพันธ์ของ การเกิดโรคได้เช่นเดียวกัน แต่ความหนักแน่นของความสัมพันธ์จะน้อยกว่าการศึกษาเชิงวิเคราะห์อื่น ๆ

6. การศึกษา Cohort

การศึกษา Cohort เป็นรูปแบบการศึกษาเชิงสังเกต (Observational Study) อีกชนิดหนึ่ง การศึกษา Cohort เป็นการศึกษาที่เริ่มสังเกตจากกลุ่มที่ไม่มีโรคหรือปัญหาสุขภาพที่ต้องการศึกษา กลุ่มตัวอย่างที่ศึกษาประกอบด้วย 2 กลุ่ม คือ กลุ่มได้รับปัจจัยเสี่ยงและกลุ่มที่ไม่ได้รับปัจจัยเสี่ยงที่สงสัยว่าเป็นสาเหตุของโรค หรือปัญหาสุขภาพในอนาคต โดยผู้วิจัยติดตามเฝ้าสังเกตจนกว่าทั้ง 2 กลุ่มมีการเกิดโรคหรือปัญหาสุขภาพแล้วทำการเปรียบเทียบอุบัติการณ์ของโรคหรือปัญหาสุขภาพ ระหว่างกลุ่มที่ได้รับปัจจัยเสี่ยง (Exposure) และ กลุ่มที่ไม่ได้รับปัจจัยเสี่ยง (Non-exposure) เพื่อวัดความสัมพันธ์ระหว่างสาเหตุ (Cause) หรือปัจจัยเสี่ยงกับผล (Effect) คือ โรคหรือปัญหาสุขภาพที่ศึกษา การศึกษาชนิดนี้ผู้วิจัยไม่ได้จัดกระทำใด ๆ (Without Intervention) กับกลุ่มตัวอย่าง โดยผู้วิจัยปล่อยให้กลุ่มตัวอย่างที่ได้รับปัจจัยและไม่ได้รับปัจจัยเสี่ยงเป็นไปโดยธรรมชาติ (Natural Exposure) เช่น การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการดื่มแอลกอฮอล์กับโรคมะเร็งตับ กลุ่มตัวอย่างประกอบด้วยสองกลุ่มคือกลุ่มที่ดื่มแอลกอฮอล์และกลุ่มที่ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งสองกลุ่มนี้ถูกติดตามไปใน ระยะเวลา 10 ปี เพื่อดูว่ากลุ่มไหนมีอุบัติการณ์การเกิดโรคมะเร็งตับมากกว่ากัน ในช่วงระยะเวลาที่ติดตาม ผู้วิจัยไม่ต้องแนะนำให้ใครหยุดการดื่มแอลกอฮอร์หรือใครจะเริ่มดื่มเวลาไหนก็ไม่ต้องไปแนะนำใด ๆ ทั้งสิ้น ปล่อยให้การศึกษาเป็นไปตามธรรมชาติการระบาด การออกแบบการศึกษา Prospective Cohort, Retrospective Cohort และ Ambidirectional Cohort ตามระยะเวลาที่ศึกษา

คำว่า “Cohort” มาจากคำภาษาลาตินแปลว่าทหารกลุ่มหนึ่ง ในทางวิทยาการระบาด Cohort หมายถึงกลุ่มคนที่ได้รับการติดตามในช่วงเวลาหนึ่งหรือกลุ่มคนที่มีคุณลักษณะเดียวกันหรือมีประสบการณ์ เหมือนกัน เช่น กลุ่มคนที่เกิดในปีเดียวกันมีประสบการณ์ในเรื่องเทคโนโลยีคล้ายกัน เป็นต้น หากคนกลุ่มนี้ ได้รับการติดตามไปข้างหน้าเรียกว่า Prospective หรือติดตามย้อนหลังเรียกว่า Retrospective ดังนั้น การศึกษา Cohort สามารถศึกษาได้ทั้งรูปแบบไปข้างหน้า (Prospective Cohort หรือ Concurrent Cohort) และ ย้อนหลัง (Retrospective Cohort หรือ Historical Cohort หรือ Non-concurrent Cohort) ซึ่งคำว่า Concurrent หมายถึง การเก็บข้อมูลของการได้รับปัจจัยเสี่ยง (Exposure) ไปพร้อม ๆ กับการเริ่มต้นของศึกษา นอกจากนี้การศึกษา Cohort ยังสามารถรวมการติดตามทั้งไปข้างหน้าและย้อนไปข้างหลัง เรียกการศึกษา ชนิดนี้ว่า Ambidirectional Cohort Study หรือ Retrospective Prospective Cohort หรือ Historical Prospective Cohort แม้คำว่า Cohort Study เป็นคำที่มาตรฐานสำหรับการศึกษาที่ติดตามกลุ่มคนที่มีคุณลักษณะที่เหมือนกัน นักวิทยาการระบาดหรือนักวิจัยบางกลุ่มก็เรียกการศึกษา Cohort ว่า Follow-up Study หรือ Incidence Study หรือ Longitudinal Study ได้เช่นเดียวกัน การเรียกชื่อเช่นนี้เหมือนให้ทราบว่าลักษณะประชากรของการศึกษา Cohort มาจากไหนและ Exposure สามารถเปลี่ยนแปลงตามเวลาที่ติดตามและ มีการหายไปจากการติดตาม (Lost to Follow-up)

7. การศึกษา Case Control

การศึกษา Case Control เป็นการศึกษาเชิงวิเคราะห์อีกรูปแบบหนึ่งที่นักวิทยาการระบาดได้ นำมาใช้เพื่อแก้ไขปัญหาสุขภาพให้กับประชาชน การศึกษา Case Control ถูกนำมาใช้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1920 ในปัจจุบันมีการนำมาใช้ในทางวิทยาการระบาดอย่างแพร่หลาย เป้าประสงค์ของการศึกษาชนิดนี้คือเพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างโรคหรือปัญหาสุขภาพและปัจจัยเสี่ยงที่สนใจ ชื่ออื่น ๆ ของการศึกษา Case Control ได้แก่ Case Comparison Study หรือ Case Reference Study นักวิจัยบางกลุ่มอาจเรียก Retrospective Study เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ในช่วง 3 ทัศวรรษที่ผ่านมาการศึกษา Case Control ได้มีการเปลี่ยนแปลงมากจนทำให้นักวิทยาการระบาดในปัจจุบันเห็นว่าคุณภาพของการศึกษา Case Control สามารถเทียบเคียงกับการศึกษา Cohort ได้ เนื่องจากได้มีการออกแบบการศึกษา Case Control ชนิดใหม่ (Hybrid) ที่แตกแขนงขึ้นมา ซึ่งจะกล่าวถึงต่อไป

การระบาด

การออกแบบการศึกษา Case Control

สำหรับเนื้อหาในบทที่ 7 นี้ ประกอบด้วยรายละเอียดของการศึกษา Case Control แบบแนวคิดดั้งเดิม ตามด้วยการออกแบบการศึกษา วิธีการศึกษา การคัดเลือกตัวอย่างเข้าศึกษา การวัดการสัมผัสหรือ ปัจจัยเสี่ยง (Exposure) จุดแข็งและจุดอ่อนของการศึกษา สถิติที่ใช้ในการศึกษา อคติ (Bias) ตัวแปรกวน (Confounding Factors) รูปแบบการศึกษาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ Case Control และตัวอย่างการศึกษา แต่ละชนิด

8. การศึกษาเชิงทดลอง

การศึกษาเชิงทดลองสามารถศึกษาเพื่อให้เกิดประโยชน์ได้ทั้งในด้านสาธารณสุข (Public Health) และด้านการแพทย์ (Clinical Practice) ซึ่งวัตถุประสงค์คือการช่วยแก้ไขปัญหาหรือปรับเปลี่ยนธรรมชาติของการเกิดโรค (Natural History of Disease) ของประชากร ได้แก่ ช่วยลดหรือป้องกันการเสียชีวิต ลดความพิการ ลดโอกาสเสี่ยงในการเกิดโรค เป็นต้น สิ่งที่ท้าทายสำหรับผู้วิจัยคือการนำวิธีการรักษา การป้องกัน หรือแนวทาง (Guideline) ต่าง ๆ มาใช้กับประชาชนให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ตัวอย่างการศึกษาในเชิงป้องกัน เช่น ในช่วงการระบาดของโรค COVID-19 องค์การอนามัยโลก (World Health Organization) ได้แนะนำ ให้ประชาชนเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) อย่างน้อย 1-2 เมตร ใส่หน้ากากอนามัย (Mask) และล้างมือบ่อย ๆ (Hand Washing) เพื่อป้องกันการระบาดของโรค สิ่งเหล่านี้เป็นแนวทางในการป้องกันโรค ผลการปฏิบัติดังกล่าวสามารถควบคุมและป้องกันโรคได้จริงซึ่งได้ผ่านการทดลองมาแล้ว ดังนั้นหากผู้วิจัยต้องการวัดผลการปฏิบัติตามแนวทางนี้ในชุมชนของตนเองก็สามารถทำการศึกษาเชิงทดลองได้เช่นกันเพื่อดูว่าประชาชนมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมดังกล่าวดีขึ้นหรือไม่อย่างไร สำหรับในเชิงการรักษา เช่น ประเทศจีนได้ผลิต และทดลองใช้ยาต้านไวรัส Favilavir เป็นยาต้านโรค COVID-19 ตัวแรกได้ผลดี ซึ่งได้จากผลการศึกษาเชิงทดลอง หากนักวิจัยชาวไทยนำยาดังกล่าวมาทดลองประสิทธิภาพเพิ่มเติมก็สามารถทำได้ โดยออกแบบการศึกษาใหม่ เช่น การศึกษาในผู้ป่วยที่มีอาการหรือคุณลักษณะที่ใกล้เคียงกัน อาจแบ่งผู้ป่วยออกเป็น 2 กลุ่ม ด้วยวิธีการ เลือกสุ่ม (Randomization) โดยให้กลุ่มที่ 1 เป็นกลุ่มทดลอง คือให้ผู้ป่วยได้รับยา Favilavir ร่วมกับยาต้านไวรัส เอชไอวี (HIV) กลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มควบคุม ให้ผู้ป่วยได้รับยา Favilavir อย่างเดียว แล้วเปรียบผลการรักษาว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร ลักษณะเช่นนี้เป็นการศึกษาเชิงทดลองในด้านการรักษาทางการแพทย์ (Clinical Practice)

9. การคำนวณขนาดตัวอย่างสำหรับการศึกษาทางวิทยาการระบาด

สำหรับเนื้อหาในบทที่ 9 นี้ประกอบด้วยสูตรและตัวอย่างวิธีการคำนวณขนาดตัวอย่างของการศึกษาทางวิทยาการระบาดแต่ละชนิดที่นักวิทยาการระบาดหรือนักวิจัยสามารถนำไปใช้ในการคำนวณหาขนาดตัวอย่างที่เหมาะสมสำหรับการศึกษาที่ได้ออกแบบไว้เพื่อการดำเนินการศึกษา ได้แก่ สูตรและวิธีการคำนวณขนาดตัวอย่างสำหรับการศึกษาเชิงพรรณนา (Descriptive Study) การศึกษาภาคตัดขวางเชิงวิเคราะห์ (Analytical Cross- sectional Sectional Study) การศึกษา Case Control การศึกษา Cohort การศึกษาเชิงทดลองแบบสุ่ม และมีกลุ่มควบคุม (Randomized Control Trial) และการศึกษาเชิงกึ่งทดลอง (Quasi-experimental Study)

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อาจินต์ สงทับ

คณะสาธารณสุขศาสตร์

Graphic Design และ Content Creator ที่หลงใหลในการเขียน Content และเชื่อว่า Content เป็นสิ่งสำคัญในการสื่อสารกับทุก ๆ คน