ระเบียบวิธีวิจัย (Research Methodology) คือ กระบวนการที่เป็นระบบในการดำเนินการวิจัย ตั้งแต่การกำหนดปัญหาการวิจัย การออกแบบวิธีการศึกษา การเก็บรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล จนถึงการสรุปผลและเผยแพร่ผลการวิจัย ซึ่งประกอบด้วยทฤษฎี หลักการ และขั้นตอนต่าง ๆ ที่ครอบคลุมทั้งด้านโลกทัศน์ (World view) หรือกระบวนทัศน์ (Paradigm) และการเลือกใช้วิธีการที่เหมาะสมกับลักษณะของการวิจัยนั้น ๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งความรู้หรือผลลัพธ์ที่น่าเชื่อถือและเป็นประโยชน์ในการนำไปใช้ต่อไป จากความหมายที่เราได้อ่านมานั้นได้พิจารณาจากความหมายต่าง ๆ ที่นักวิจัยให้หลักแนวคิดไว้ดังนี้
รัตนะ บัวสนธ์ (2551) ได้ให้ความหมายของระเบียบวิธีวิจัยว่าเป็นการรวมกันของโลกทัศน์ (World view) หรือกระบวนทัศน์ (Paradigm) ทฤษฎี หลักการ และขั้นตอนการดำเนินงาน ที่ครอบคลุมทุกขั้นตอน ตั้งแต่การกำหนดปัญหาการวิจัยจนถึงการนำผลวิจัยไปเผยแพร่และใช้ประโยชน์
พจนานุกรมศัพท์ศึกษาศาสตร์ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน (2555) ให้คำนิยามของวิธีวิทยาการวิจัย (research methodology) ว่าเป็นศาสตร์เกี่ยวกับวิธีการวิจัยที่ใช้ในการศึกษาและค้นคว้าเพื่อแสวงหาความรู้หรือการประดิษฐ์นวัตกรรม และระเบียบวิธีวิจัยนี้สามารถแบ่งออกได้หลายประเภท เช่น วิธีทดลองและไม่ทดลอง หรือการวิจัยเชิงปริมาณ เชิงคุณภาพ และเชิงผสม
ชำนาญ ปาณาวงษ์ (2567) เสริมว่า ระเบียบวิธีวิจัยคือกระบวนการที่นักวิจัยใช้ในการดำเนินการวิจัยตั้งแต่การกำหนดปัญหาจนถึงการเผยแพร่ผลวิจัย
ระเบียบวิธีวิจัย แบ่งออกเป็นหลายประเภท ขึ้นอยู่กับลักษณะของการวิจัย ซึ่งหลัก ๆ จะแบ่งเป็น
1. Basic กับ Applied
- การวิจัยพื้นฐาน (Basic Research) การวิจัยที่มุ่งเน้นการเพิ่มพูนความรู้พื้นฐานโดยไม่คำนึงถึงการนำไปใช้ในทางปฏิบัติในทันที เช่น การศึกษาเกี่ยวกับโครงสร้างของ DNA เพื่อทำความเข้าใจลักษณะทางพันธุกรรม
- การวิจัยประยุกต์ (Applied Research) การวิจัยที่มุ่งเน้นการนำความรู้ที่ได้ไปใช้ในทางปฏิบัติหรือแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน เช่น การวิจัยเพื่อพัฒนาวัคซีนใหม่สำหรับโรคเฉพาะ
2. Qualitative VS Quantitative
- การวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) การวิจัยที่เน้นการศึกษาและทำความเข้าใจปรากฏการณ์ผ่านข้อมูลที่ไม่ใช่ตัวเลข เช่น การสัมภาษณ์ การสังเกตพฤติกรรม การวิเคราะห์เนื้อหา
- การวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) การวิจัยที่เน้นการเก็บรวบรวมข้อมูลในรูปแบบของตัวเลขและการใช้สถิติในการวิเคราะห์ เช่น การสำรวจโดยใช้แบบสอบถาม การทดสอบสมมติฐาน
3. Field กับ Documentary
- การวิจัยภาคสนาม (Field Research) การวิจัยที่ดำเนินการในสถานที่จริงที่ปรากฏการณ์เกิดขึ้น เช่น การสัมภาษณ์หรือการสังเกตพฤติกรรมในสถานที่ทำงานหรือชุมชน
- การวิจัยจากเอกสาร (Documentary Research) การวิจัยที่อาศัยการวิเคราะห์ข้อมูลจากเอกสารที่มีอยู่แล้ว เช่น หนังสือ รายงาน บันทึกทางประวัติศาสตร์
4. Cross-sectional กับ Longitudinal
- การวิจัยภาคตัดขวาง (Cross-sectional Research) การวิจัยที่เก็บรวบรวมข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งเพื่อทำการเปรียบเทียบหรือวิเคราะห์ข้อมูล ณ ช่วงเวลานั้น
- การวิจัยระยะยาว (Longitudinal Research) การวิจัยที่ติดตามกลุ่มตัวอย่างเดียวกันในช่วงเวลาหลายปีหรือหลายช่วงเวลา เพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาการของกลุ่มตัวอย่างนั้น
5. Experimental กับ Non-experimental
- การวิจัยเชิงทดลอง (Experimental Research) การวิจัยที่มีการควบคุมตัวแปรและสภาพแวดล้อมการทดลอง เพื่อทดสอบสมมติฐานและศึกษาผลกระทบของตัวแปรอิสระต่อตัวแปรตาม เช่น การคิดค้นวัคซีน
- การวิจัยที่ไม่ใช่เชิงทดลอง (Non-experimental Research) การวิจัยที่ไม่มีการควบคุมตัวแปรหรือสภาพแวดล้อมการทดลอง แต่ศึกษาและสังเกตปรากฏการณ์ตามที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ
6. Quasi-experiment
- การทดลองกึ่งทดลอง (Quasi-experiment) การวิจัยที่มีการควบคุมตัวแปรบางอย่าง แต่ไม่สามารถควบคุมได้ทั้งหมดเหมือนในการทดลองเชิงทดลอง มักใช้ในสถานการณ์ที่การสุ่มกลุ่มตัวอย่างไม่สามารถทำได้
7. Inductive กับ Deductive
- วิธีการวิจัยเชิงอุปนัย (Inductive Research) วิธีการที่เริ่มจากการสังเกตปรากฏการณ์เฉพาะเจาะจงและพัฒนาเป็นทฤษฎีหรือข้อสรุปทั่วไป
- วิธีการวิจัยเชิงนิรนัย (Deductive Research) วิธีการที่เริ่มจากทฤษฎีหรือข้อสรุปทั่วไปแล้วใช้ข้อมูลหรือหลักฐานเฉพาะเจาะจงเพื่อตรวจสอบความถูกต้องของทฤษฎีนั้น
8. Descriptive กับ Explanatory
- การวิจัยเชิงพรรณนา (Descriptive Research) การวิจัยที่มุ่งเน้นการอธิบายหรือพรรณนาปรากฏการณ์หรือลักษณะของสิ่งที่กำลังศึกษาโดยไม่มีการทดลองหรือทดสอบสมมติฐาน
- การวิจัยเชิงอธิบาย (Explanatory Research) การวิจัยที่มุ่งเน้นการอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรหรือเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์หนึ่ง ๆ เพื่อให้เข้าใจกลไกหรือสาเหตุของปรากฏการณ์นั้น ๆ
ระเบียบวิธีวิจัย มีองค์ประกอบสำคัญดังต่อไปนี้
- การกำหนดปัญหาวิจัย เป็นจุดเริ่มต้นของการวิจัย โดยระบุประเด็นที่ต้องการศึกษาให้ชัดเจน
- การทบทวนวรรณกรรม ศึกษางานวิจัยและทฤษฎีที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างพื้นฐานความเข้าใจและกรอบแนวคิด
- การออกแบบการวิจัย เลือกวิธีการที่เหมาะสมในการเก็บและวิเคราะห์ข้อมูล
- การเลือกกลุ่มตัวอย่าง กำหนดประชากรและวิธีการเลือกตัวอย่างที่เหมาะสม
- การสร้างเครื่องมือวิจัย พัฒนาเครื่องมือที่มีความเที่ยงตรงและเชื่อถือได้
- การเก็บรวบรวมข้อมูล ดำเนินการเก็บข้อมูลตามแผนที่วางไว้
- การวิเคราะห์ข้อมูล ใช้วิธีการที่เหมาะสมกับประเภทของข้อมูลและวัตถุประสงค์การวิจัย
- การสรุปและอภิปรายผล ตีความผลการวิเคราะห์และเชื่อมโยงกับทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง
ซึ่งเราคุ้นเคยกันมากในงานวิทยานิพนธ์ ที่จะประกอบไปด้วย 5 บทหลัก ๆ โดยเราได้เขียนอธิบายในบทความก่อนหน้านี้ (อ่านเพิ่มเติม) โดยงานวิจัยจะแบ่งย่อยไปตามแต่ละสาขาความเฉพาะในสาขานั้น ๆ หากใครที่สนใจเรื่องการวิจัยในสาขาต่าง ๆ ก็สามารถดูจากหนังสือที่เกี่ยวเนื่องกับศาสตร์การวิจัยในสาขานั้น ๆ ได้
บรรณนุกรม
ชำนาญ ปาณาวงษ์. (2567). ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ : จากแนวคิดทฤษฎีสู่การปฎิบัติ (พิมพ์ครั้งที่ 3) พิษณุโลก: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยนเรศวร
ราชบัณฑิตยสถาน. (2555). พจนานุกรมศัพท์ศึกษาศาสตร์ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. กรุงเทพฯ: อรุณการพิมพ์.
รัตนะ บัวสนธ์. (2551). ปรัชญาวิจัย. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
สมชัย ศรีสุทธิยากร. (14 เมษายน 2563). ความรู้เบื้องต้นของการวิจัย. [วิดิโอ]. YouTube. https://www.youtube.com/watch?v=vYOjYAjFuaE&t=2750s