ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ

ระเบียบวิธีวิจัย “เชิงคุณภาพ”

ระเบียบวิธีวิจัย เชิงคุณภาพ ได้นำไปใช้ในการดำเนินวิจัยอย่างหลากหลาย ที่เป็นเช่นนี้ เพราะกระบวนการวิจัยเชิงคุณภาพเข้าถึงกลุ่มผู้ให้ข้อมูลมากกว่า ซึ่งนักวิจัยที่ใช้กระบวนการวิจัยเชิงคุณภาพนั้นจะต้องเข้าไปสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับกลุ่มผู้ให้ข้อมูลเพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นจริง ตามสภาพการณ์ แล้วจึงนำมาถ่ายทอดให้แก่ผู้ที่หยิบยกงานวิจัยขึ้นมาอ่าน ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ จะต้องได้รับการฝึกฝนมาเป็นอย่างดี หากผู้ที่ไม่มีประสบการณ์ในเรื่องดังกล่าว นับว่าเป็นเรื่องที่ยากยิ่ง ดังนั้นในการหาทางลัดสำหรับผู้ที่มีประสบการณ์น้อยหรือไม่มีประสบการณ์ก็ควรที่จะศึกษา จากประสบการณ์ของนักวิจัยท่านอื่น ๆ ซึ่งจะต้องเลือกให้สอดคล้องกับบริบทที่ตนจะศึกษา

ระเบียบวิธีวิจัย

การวิจัยเชิงคุณภาพ

“งานวิจัยมีหลายประเภท แต่ละประเภทมีขั้นตอน กระบวนการและการให้คำตอบที่แตกต่างกัน งานวิจัยที่เป็นเชิงคุณภาพ ก็เป็นประเภทหนึ่ง ที่มีขั้นตอน กระบวนการ และการให้คำตอบที่นำไปใช้ประโยชน์ได้ในรูปแบบของการอธิบาย ให้รู้ถึงภูมิหลังที่มา สภาพปัจจุบัน และอนาคต ได้เป็นอย่างดี หนังสือเล่มนี้ ได้กล่าวถึง ขั้นตอน กระบวนการในการได้มาซึ่งคำตอบของงานวิจัย เชิงคุณภาพอย่างละเอียด ตามประสบการณ์ที่ผู้เขียนได้รวบรวมมา”

การวิจัยเชิงคุณภาพ

ระเบียบวิธีวิจัย

บทที่ 1 ระเบียบวิธีวิจัย เชิงคุณภาพ

วิจัยเชิงคุณภาพ คือ ความสำคัญของระเบียบวิธีวิจัย เมื่อกล่าวถึงความหมายของคำว่าระเบียบวิธีวิจัยนั้นจำเป็นจะต้องศึกษาจากความหมาย ของผู้รู้อื่น ๆ ดังต่อไปนี้

นงลักษณ์ วิรัชชัย (2560 : ออนไลน์) กล่าวว่า คำว่าวิธีวิทยาตรงกับศัพท์ภาษา อังกฤษว่า methodology (meta + hodos = way) +logie ตามรากศัพท์วิธีวิทยา หมายถึง วิทยาการ หรือการศึกษาที่มีระบบเกี่ยวกับวิธีการหรือเทคนิควิธี คำว่า “วิธีวิทยาการวิจัย” จึงมีความหมายครอบคลุมระเบียบวิธีดำเนินการทุกขั้นตอนในการวิจัย ได้แก่ การกำหนดปัญหาวิจัย การศึกษาเอกสารและรายงานที่เกี่ยวข้องกับการวิจัย การกำหนดสมมติฐานการวิจัย การกำหนดกลุ่มประชากรและการเลือกกลุ่มตัวอย่าง การสร้างเครื่องมือวิจัย การรวบรวม การนำเสนอ การวิเคราะห์และการแปลความหมายผลการวิเคราะห์ข้อมูลซึ่งรวมอยู่ในวิธีวิทยาทางสถิติ ตลอดจนเทคนิควิธีการวัดและการประเมินผล

ระเบียบวิธีวิจัย

ในขณะที่รัตนะ บัวสนธ์ (2551 : น.8) ได้อธิบายว่า ระเบียบวิธีวิจัย หมายถึง โลกทัศน์ (World view) หรือบางทีก็เรียกว่า กระบวนทัศน์ (Paradigm) ทฤษฎี หลักการ และการดำเนินงาน ที่ครอบคลุมทุกขั้นตอนตั้งแต่การกำหนดกรอบปัญหาการวิจัยจนกระทั่งการนำผลการวิจัยไปเผยแพร่ และใช้ประโยชน์ สำหรับพจนานุกรมศัพท์ศึกษาศาสตร์ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน (2555 : น.548) ได้ใช้คำว่าวิธีวิทยาการวิจัย (research methodology) ซึ่งให้ความหมายว่า ศาสตร์ว่าด้วยวิธีการวิจัย (research methods) ซึ่งใช้ในการศึกษา ค้นคว้า แสวงหาความรู้ความจริงและการประดิษฐ์นวัตกรรม ในด้านต่าง ๆ ระเบียบวิธีวิจัยแบ่งได้หลายประเภทขึ้นอยู่กับเกณฑ์ที่ใช้ในการแบ่ง เช่น ถ้าใช้การควบคุมตัวแปรเป็นการแบ่งประเภทสามารถจำแนกวิธีวิจัยเป็นวิธีทดลอง (experimental methods) และวิธี ไม่ทดลอง (non-experimental methods) ถ้าใช้ลักษณะข้อมูลและการออกแบบวิจัยเป็นเกณฑ์ แบ่งประเภท สามารถจำแนกระเบียบวิธีวิจัยเป็นระเบียบวิธีเชิงปริมาณ (quantitative methods) ระเบียบวิธีเชิงคุณภาพ (qualitative methods) และระเบียบวิธีเชิงผสม (mix methods) ดังนั้นอาจสรุปได้ว่า ระเบียบวิธีวิจัยนั้นหมายถึง กระบวนการที่นักวิจัยใช้ในการดำเนินการวิจัยตั้งแต่ต้นจนเสร็จสิ้นกระบวนการวิจัยในครั้งนั้น ๆ ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่การกำหนดปัญหา การกำหนดแนวทางในการศึกษาเอกสาร การกำหนดกรอบแนวคิดในการวิจัย การกำหนดวัตถุประสงค์และสมมติฐาน การกำหนดกลุ่มเป้าหมาย การกำหนดเครื่องมือที่ใช้ การเก็บและรวบรวมข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล การสรุปผลการวิจัย ตลอดจนการเผยแพร่ผลการวิจัยนั้น ๆ

บทที่ 2 การกำหนดชื่อเรื่องที่เหมาะสมกับการวิจัยเชิงคุณภาพ

ระเบียบวิธีวิจัย

ชื่อเรื่องของงานวิจัยจะบอกความเป็นตัวตนของงานวิจัยเล่มนั้นว่างานเล่มนั้นมีลักษณะ เป็นอย่างไร ทำการศึกษาอะไร กับใคร ซึ่งหากผู้อ่านคุ้นชินกับงานวิจัยเชิงปริมาณแล้วจะพบว่า ในการตั้งชื่อเรื่องของงานวิจัยเชิงปริมาณนั้นจะมีรูปแบบ (pattern) ค่อนข้างตายตัว โดยปกติในชื่อเรื่องนั้นมักจะตั้งโดยอาศัยคำถาม 3 ข้อ เป็นเบื้องต้น ได้แก่ ทำอะไร ทำกับใคร และทำอย่างไร ซึ่งหากอธิบาย โดยใช้ศัพท์ในเชิงวิจัยแล้วจะพบว่า

ทำอะไร หมายถึง นักวิจัยต้องการศึกษาตัวแปรอะไร

ทำกับใคร หมายถึง นักวิจัยต้องการศึกษากับกลุ่มเป้าหมายใด

ำอย่างไร หมายถึง นักวิจัยต้องการศึกษาในลักษณะใด

บทที่ 3 การเขียนความเป็นมาและปัญหา การวิจัยเชิงคุณภาพ

การเขียนความเป็นมา ในการเขียนความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา ภูมิหลัง สุดแท้แต่หน่วยงาน หรือสถาบันแต่ละแห่งจะกำหนด ซึ่งก็ให้ความหมายเดียวกัน คือ การแสดงให้เห็นว่าทำไมผู้วิจัยจึงสนใจที่จะศึกษา ปัญหานี้ สอดคล้องกับจิตราภา กุณฑลบุตร (2560 : ออนไลน์) ได้กล่าวว่า การเขียนความสำคัญ และความเป็นมาของการวิจัย เป็นการเขียนเพื่อตอบคำถามว่าเหตุใดจึงต้องวิจัยเรื่องนี้ ข้อค้นพบ จากการวิจัยจะนำมาใช้ประโยชน์อย่างไร มีความคุ้มค่าหรือไม่ในการวิจัยเรื่องดังกล่าว นิยมเขียน เป็นความเรียงที่เน้นความเป็นเหตุเป็นผล มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงของเนื้อหาสาระ โดยให้มีความกระชับเข้าใจง่าย การเขียนนำเข้าสู่ปัญหาวิจัยควรเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวปัญหา โดยเขียนให้ข้อมูลที่ชัดเจนว่า ณ เวลาปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานงานวิจัยในอดีตที่สามารถตอบปัญหาดังกล่าวได้ และปัญหาดังกล่าวสมควรได้รับการแก้ไขด้วยการหาคำตอบ โดยกระบวนการวิจัย ในการเขียนความเป็นมาของปัญหาในงานวิจัย เชิงคุณภาพนั้นก็มีจุดเริ่มต้นไม่ต่างจากงานวิจัยเชิงปริมาณซึ่งงานวิจัยทั้งสองลักษณะนี้ก็จะแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของปัญหาด้วยกันทั้งคู่

โดยทั่วไปแล้วการเขียนส่วนนี้จะมีหลักการเขียนโดยใช้การเชื่อมโยงให้เหตุผลแบบสามเหลี่ยมหัวกลับ ดังนี้

ภาพที่ 1 การเขียนความเป็นมาของปัญหา
ภาพที่ 1 การเขียนความเป็นมาของปัญหา

บทที่ 4 การกำหนดวัตถุประสงค์การวิจัยเชิงคุณภาพ

การกำหนดวัตถุประสงค์การวิจัย

ก่อนที่ผู้เขียนจะแนะนำการกำหนดวัตถุประสงค์รวมไปถึงวิธีการเขียนนั้น ผู้เขียนใคร่ขออธิบายถึงคำว่าวัตถุประสงค์พอเป็นสังเขปดังนี้

ตามพจนานุกรมศัพท์ศึกษาศาสตร์ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน (2555 : น.379) ได้กล่าวว่า วัตถุประสงค์ ตรงกับภาษาอังกฤษว่า objective ซึ่งให้ความหมายไว้ 3 ลักษณะดังนี้

ลักษณะที่ 1 ในการเรียนการสอน หมายถึง ข้อความที่แสดงเจตจำนงของผู้สอนและผู้เรียน ซึ่งต้องการให้ผู้เรียนบรรลุผลสำเร็จ เช่น ความรู้ ความคิด ความสามารถและความดี หรืออย่างใด อย่างหนึ่งซึ่งต้องสามารถวัดและประเมินผลได้ ส่วนในระดับการวางแผนการสอนใช้คำว่า จุดประสงค์

ลักษณะที่ 2 ในการบริหาร หมายถึง เจตจำนงหรือข้อความที่ระบุผลสำเร็จของนโยบาย มาตรการ แผน โครงการ การปฏิบัติงานทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ มีลักษณะสำคัญ คือ วัตถุประสงค์นั้นสามารถปฏิบัติได้ วัดและประเมินได้ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาต่อไป

ลักษณะที่ 3 ในการวิจัย หมายถึง ข้อความที่ต้องการจะหาคำตอบและสามารถทดสอบ หรือพิสูจน์ได้

ระเบียบวิธีวิจัย

บทที่ 5 การกำหนดขอบเขตการวิจัยเชิงคุณภาพ

การกำหนดขอบเขตของการวิจัย ในการดำเนินการวิจัยนั้น จำเป็นจะต้องกำหนดขอบเขตของการวิจัยไว้ เพื่อให้ผู้ทำวิจัยได้ ดำเนินการภายใต้สิ่งที่ตนได้วางกรอบไว้ มิเช่นนั้นแล้วนักวิจัยจะไม่มีทิศทางในการดำเนินงาน ทำให้เกิดอาการสะเปะสะปะ ทำไปเรื่อย ซึ่งสิ่งที่นักวิจัยต้องกำหนดไว้ในขอบเขต ได้แก่ ขอบเขตด้านเนื้อหา หรือประเด็นที่ศึกษา ขอบเขตด้านระเบียบวิธีวิจัย ขอบเขตด้านพื้นที่ และ/หรือขอบเขตด้านระยะเวลา เช่นเดียวกับ ทิวัตถ์ มณีโชติ (2560 ออนไลน์) ซึ่งได้กล่าวว่าขอบเขตการวิจัย หมายถึง การจำกัด หรือกำหนดขอบเขตให้แก่การวิจัยไม่ควรนำไปปนกับข้อจำกัดของการวิจัยซึ่งมักจะกล่าวถึงในตอนท้าย การกำหนดขอบเขตการวิจัยนั้น อาจกำหนดได้หลายอย่าง  เช่น

  1. ขอบเขตที่เกี่ยวกับเนื้อหาที่ศึกษา
  2. ขอบเขตที่เกี่ยวกับกลุ่มตัวอย่าง
  3. ขอบเขตที่เกี่ยวกับเวลา
  4. ขอบเขตที่เกี่ยวกับวิธีการรวบรวมข้อมูล
  5. ขอบเขตที่เกี่ยวกับตัวแปรที่ต้องศึกษา

การเขียนขอบเขตของการวิจัย จะต้องระบุให้ชัดเจน และถ้าเป็นไปได้ควรให้เหตุผลไว้ด้วยว่าทำไมจึงกำหนดขอบเขตไว้เช่นนั้น

บทที่ 6 การศึกษาวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยเชิงคุณภาพ

“การทบทวนไม่ใช่แค่การรวบรวม แต่ต้องประเมินด้วย” (โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์, 2553 : น.38) ผู้เขียนมีความเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งกับวลีดังกล่าว ทั้งนี้เพราะการศึกษาทฤษฏี แนวคิด เอกสาร วรรณกรรม และงานวิจัยที่เกี่ยวข้องนั้น นักวิจัยต้องใช้วิจารณญาณที่ค่อนข้างสูงในการเลือกเอกสารต่าง ๆ มาศึกษา และทำการประเมินว่าเอกสารที่หยิบมานั้นมีความน่าเชื่อถือ และเกี่ยวข้องกับงานวิจัยของตนมากน้อยเพียงใด มิใช่เป็นเพียงแค่การรวบรวมงานที่เกี่ยวข้องแล้วนำมาจัดพิมพ์ลงในเล่มรายงานวิจัยเท่านั้น

ความหมายและความสำคัญของการทบทวนวรรณกรรม ใครจะทำวิจัยเรื่องใด ต้องไปศึกษาวรรณกรรมหรือทบทวนวรรณกรรมให้มาก ๆ (สิน พันธ์พินิจ, 2551 : น.71) ทั้งนี้เพราะวรรณกรรมนั้น เป็นปัจจัยป้อนสู่กระบวนการวิจัยที่สำคัญ เพราะการศึกษาวรรณกรรมนั้นจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการสร้างแนวคิด ทฤษฎี และข้อมูลเชิงประจักษ์สำหรับ การกำหนดเรื่องวิจัย อีกทั้งยังเป็นกรอบสำหรับกำหนดสิ่งที่จะศึกษาและเป็นเสมือนเกณฑ์ฐาน เพื่อเอาไว้เปรียบเทียบกับผลการวิจัย (Punch, 1998 : p.44, Creswell, 1994 : p.21) ทั้งนี้นักวิจัยควรศึกษาวรรณกรรมก่อนที่จะกำหนดแนวคิด วัตถุประสงค์ หรือขอบเขตของการวิจัย จนกระทั่งรวมไปถึงนิยามศัพท์ในงานวิจัยเสียด้วยซ้ำไป

บทที่ 7 ขั้นตอนการวิจัยเชิงคุณภาพ

การออกแบบการวิจัย หมายถึง แผนงานหรือแนวทางในการศึกษาการดำเนินการวิจัยเพื่อให้ผู้วิจัยใช้เป็นแนวทางในการดำเนินการวิจัยตั้งแต่กระบวนการขั้นต้น ได้แก่ การกำหนดปัญหา การกำหนดกลุ่มเป้าหมาย การเก็บรวบรวมข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล จนกระทั่งการสรุปผลการวิจัย เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่ากระบวนการวิจัยเชิงคุณภาพนั้นสามารถปรับเปลี่ยนได้ ยืดหยุ่นได้ หากแต่การปรับเปลี่ยนจะมีผลกระทบต่อการดำเนินการในขั้นถัดไปดังแนวคิดของทฤษฎีความโกลาหล (The Butterfly Effect) “ว่ากันว่าแม้เพียงปีกผีเสื้อกระพือ ก็อาจจะก่อให้เกิดพายุกระหน่ำแรงถึงครึ่งโลก” นั่นคือ หากมีการปรับเปลี่ยนปัญหาการวิจัย กระบวนการต่อไปก็ต้องได้รับการปรับเปลี่ยนไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเป้าหมาย วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล จนกระทั่งถึงผลการวิจัย ดังเช่นการขยับปีกของผีเสื้อเพียงหนึ่งครั้ง หากมีช่วงระยะเวลาที่เหมาะสม การกระพือปีกนั้น ก็จะส่งผลต่อ ๆ กันไปจนทำให้เกิดพายุที่ยิ่งใหญ่ต่อไปได้นั่นเอง

ภาพที่ 2 กรอบแนวคิดที่สร้างจากข้อมูล
ภาพที่ 2 กรอบแนวคิดที่สร้างจากข้อมูล

บทที่ 8 การสร้างเครื่องมือการวิจัยเชิงคุณภาพ

แม้ว่าตัวผู้วิจัยจะเป็นเครื่องมือหลักของการเก็บรวบรวมข้อมูลในการวิจัยเชิงคุณภาพ หากแต่นักวิจัยเมื่อลงไปทำการเก็บข้อมูลโดยที่ไม่มีการเตรียมความพร้อมหรือวัสดุอุปกรณ์ เครื่องช่วยต่าง ๆ ย่อมได้ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนหรือได้ข้อมูลที่ไม่ดีพอ ดังนั้นเมื่อนักวิจัยจะลงไปในสนามเพื่อทำการเก็บรวบรวมข้อมูลนั้นจำเป็นจะต้องมีอุปกรณ์หรือเครื่องมือที่ใช้สำหรับช่วยในการเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อให้สะดวกสำหรับนักวิจัยและเก็บข้อมูลได้ครบถ้วนตามประเด็นที่ต้องการ

สำหรับเครื่องมือหรือวิธีการที่นิยมใช้เป็นหลักในการเก็บรวบรวมข้อมูลในงานวิจัยเชิงคุณภาพนั้น ได้แก่ การสังเกต การสัมภาษณ์ และการสนทนากลุ่ม ซึ่งในบทนี้จะกล่าวถึงประเภท และวิธีการสร้าง เครื่องมือแต่ละชนิด

ระเบียบวิธีวิจัย

บทที่ 9 การเก็บรวบรวมข้อมูลการวิจัยเชิงคุณภาพ

หลังจากที่ผู้วิจัยได้ดำเนินการสร้างเครื่องมือเพื่อเป็นตัวช่วยในการเก็บรวบรวมข้อมูลแล้ว จากนั้นนักวิจัยก็ต้องนำเครื่องมือวิจัยที่สร้างขึ้นไปทำการเก็บรวบรวมข้อมูล ซึ่งข้อมูลแต่ละชนิด แต่ละประเภทล้วนมีเทคนิค วิธีการ ความยากง่ายในการเก็บที่แตกต่างกัน ซึ่งในบทนี้ผู้เขียนจะได้นำเสนอวิธีการเก็บข้อมูลตามลักษณะของเครื่องมือในแต่ละประเภทที่สืบเนื่องมาจากบทที่ผ่านมา และยกตัวอย่างของข้อมูลในแต่ละประเภทเพื่อให้เห็นภาพได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

การบันทึกภาคสนาม “บันทึกภาคสนาม” (อานันท์ กาญจนพันธุ์, 2557) ในทางมานุษยวิทยาถือเป็นงาน ที่มีความสำคัญ ในความเป็นจริง การบันทึกเรื่องราวต่าง ๆ ไม่ได้เป็นเรื่องเฉพาะนักมานุษยวิทยาเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของใครก็ตามที่สนใจและต้องการที่จะเข้าใจคนอื่น ในปี ค.ศ. 1296-1297 นักเดินทางชาวจีน ชื่อ Chou Ta Kuan ได้บักทึกการเดินทางไปนครวัดในหนังสือชื่อ “Reporting Angkor” โดยเป็นมุมมองของคนในยุคนั้น งานดังกล่าวมีการแปลหลายภาษา

บรรณานุกรม

โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์. (2553). 10 ขั้นตอนง่าย ๆ วิจัยเชิงคุณภาพ เคล็ดวิชาจากสามัญสู่ขั้นเทพ. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์สุขศาลา.

จิตรภา กุณฑลบุตร. (2560). การเขียนความสำคัญและความเป็นมาของการวิจัย. สืบค้น 9 ตุลาคม 2560,
จาก https://www.gotoknow.org/posts/261202

ทิวัตถ์ มณีโชติ. (2560). เทคนิคการเขียนรายงานการวิจัย. สืบค้นเมื่อ 20 กันยายน 2560, จาก
http://rlc.nrct.go.th/ewt_dl.php?nid=1454

นงลักษณ์ วิรัชชัย. (2560). วิธีวิทยาการวิจัยขั้นสูงด้านการวิจัยและสถิติ. สืบค้นเมื่อ 27 มีนาคม 2560,
จาก https://witclub.wordpress.com

ราชบัณฑิตยสถาน. (2555). พจนานุกรมศัพท์ศึกษาศาสตร์ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. กรุงเทพฯ: อรุณการพิมพ์.

รัตนะ บัวสนธ์. (2551). ปรัชญาวิจัย. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

รัตนะ บัวสนธ์. (2552). วิจัยเชิงคุณภาพทางการศึกษา. กรุงเทพฯ: คำสมัย.

สิน พันธุ์พินิจ. (2551). เทคนิคการวิจัยทางสังคมศาสตร์ (พิมพ์ครั้งที่ 3). กรุงเทพฯ: วิทยพัฒน์.

อานันท์ กาญจนพันธุ์. (2557). สรุปปาฐกถาเรื่อง “พัฒนาการและคุณค่าของบันทึกภาคสนาม” โดย ศาสตราจารย์ เกียรติคุณ ดร.อานันท์ กาญจนพันธุ์. ในงานเสวนาวิชาการ บันทึกภาคสนาม : ความรู้ ความลับ และความทรงจำ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ร่วมกับภาควิชาโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร และสมาคมนักสังคมวิทยา และมานุษยวิทยาสยาม (SASA). จัดขึ้นเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2557.

Punch, K. F. (1998). Introduction to Social Science Research : Quantitative and Qualitative
Approaches. London: SAGE Publication.

Graphic Design และ Content Creator ที่หลงใหลในการเขียน Content และเชื่อว่า Content เป็นสิ่งสำคัญในการสื่อสารกับทุก ๆ คน