เกาหลีเหนือ เกาหลีใต้

เกาหลีเหนือ เกาหลีใต้

เกาหลีเหนือ เกาหลีใต้ : มองผ่านประเด็นการรวมประเทศ ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 บรรดาดินแดนหรือประเทศที่ตกเป็นอาณานิคมต่างมุ่งหวังในการประกาศเอกราช ถ้าประเทศที่เป็นเจ้าอาณานิคมเป็น ฝ่ายพ่ายแพ้ในสงคราม กอปรกับหลักการกำหนดอนาคตตนเองของประชาชน (self-determination of peoples) ในหลักการ 14 ประการ (Fourteen Points) ของประธานาธิบดีวูดโรว์ วิลสัน (Woodrow Wilson) แห่งสหรัฐอเมริกา จึงเป็น ความหวังให้ประชาชนในดินแดนอาณานิคมจัดตั้งรัฐบาลขึ้นปกครองตนเอง เกาหลีซึ่งถูกญี่ปุ่นยึดครองเป็นอาณานิคมมาตั้งแต่ ค.ศ. 1910 ประชาชนที่รวมตัวเป็น กลุ่มเคลื่อนไหวก็ได้เรียกร้องเอกราชตลอดมา แต่ประสบความล้มเหลว จวบจนญี่ปุ่นพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ประชาชนเกาหลีจึงคาดหวังว่าเกาหลีต้องได้รับเอกราชและมีรัฐบาลที่เป็นตัวแทนประชาชนปกครองประเทศ

แต่ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 มหาอำนาจฝ่ายสัมพันธมิตรตกลงกัน ให้เกาหลีอยู่ในภาวะทรัสตี (trusteeship) หรือภาวะพิทักษ์ของมหาอำนาจไป ระยะเวลาหนึ่ง เพื่อการเตรียมพร้อมสำหรับการปกครองตนเอง เกาหลีจึงจะได้รับเอกราชอย่างสมบูรณ์ อย่างไรก็ตาม การที่ญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้ในสงคราม เมื่อเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1945 ก่อนที่มหาอำนาจคาดการณ์ไว้ สหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตจึงตกลงกันแบ่งพื้นที่รับผิดชอบที่เส้นขนานที่ 38 ในการปลดอาวุธทหารญี่ปุ่น เนื่องจากหวั่นเกรงว่าอีกฝ่ายหนึ่งจะยึดครองคาบสมุทรเกาหลีแต่ฝ่ายเดียว แต่เมื่อภารกิจดังกล่าวเสร็จสิ้น มหาอำนาจทั้งสองกลับไม่สามารถร่วมมือกันในการจัดตั้งรัฐบาลขึ้นปกครองเกาหลี ในที่สุดเส้นขนานที่ 38 จึงกลายเป็นเส้นแบ่งดินแดนระหว่างเกาหลีใต้กับเกาหลีเหนือ เมื่อสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตสนับสนุนการจัดตั้งรัฐบาลขึ้นที่กรุงโซลและกรุงเปียงยางตามลำดับใน ค.ศ. 1948

เกาหลีเหนือ เกาหลีใต้

การแบ่งเกาหลีและการก่อตั้งเกาหลีใต้และเกาหลีเหนือดังกล่าว ถือเป็นการตอบสนองต่อเจตนารมณ์และประโยชน์ของมหาอำนาจ มากกว่าการตอบสนองต่อเจตนารมณ์และประโยชน์ของประชาชนเกาหลี การแข่งขันในการเป็นรัฐบาลที่ชอบธรรมของประชาชนเกาหลี ความขัดแย้งในด้านอุดมการณ์ และความแตกต่างในข้อเสนอการรวมประเทศ รวมทั้งการแข่งขันการขยายอิทธิพลระหว่างมหาอำนาจที่หนุนหลังเกาหลีแต่ละฝ่าย จึงนำไปสู่สงครามเกาหลีระหว่าง ค.ศ. 1950-1953 ซึ่งผลของสงครามก็ได้สะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวในการรวมเกาหลีโดยใช้ กำลังทหาร

ภายหลังสงครามเกาหลี ผู้นำเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ต่างได้เสนอแนวนโยบายหรือข้อเสนอการรวมเกาหลีขึ้น เพื่อให้อีกฝ่ายหนึ่งพิจารณา แต่โดยทั่วไปบรรดาข้อเสนอได้ถูกปฏิเสธจากอีกฝ่ายหนึ่ง แต่เมื่อสภาพแวดล้อมอาจจากภายนอกหรือภายในเปลี่ยนแปลง หรือการเปลี่ยนแปลงทั้งสภาพแวดล้อมภายในและภายนอก เกาหลีทั้งสองจึงผ่อนปรนท่าทีต่อกัน โดยการจัดเจรจาและได้บรรลุความตกลง ร่วมกัน ดังความตกลงใน ค.ศ. 1972 และ 1991 และการประชุมสุดยอดผู้นำเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ใน ค.ศ. 2000, 2007 และ 2018 อย่างไรก็ตาม บรรดาความตกลงร่วมกันดังกล่าว กลับนำไปสู่การปฏิบัติแต่เพียงบางส่วน ด้วยเหตุนี้ ความขัดแย้งระหว่างเกาหลีทั้งสองจึงดำรงอยู่ เพราะความร่วมมือและความปรองดองระหว่างกันได้เกิดขึ้นเพียงช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ในขณะเดียวกันความตึงเครียด บนคาบสมุทรเกาหลีก็ไม่ใช่จำกัดอยู่เฉพาะเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ และประเด็นการรวมประเทศเท่านั้น แต่หากมีมหาอำนาจอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ดังประเด็น การพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ สำหรับประเด็นหลังนี้ดูเหมือนทำให้ประเด็นการรวมประเทศกลายเป็นประเด็นรอง

หนังสือเล่มนี้ ผู้เขียนกำหนดเป้าหมายในการอธิบายและสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างเกาหลีทั้งสอง โดยพิจารณาจากประเด็นการรวมประเทศ ในช่วงเหตุการณ์สำคัญระหว่างประเทศ 2 เหตุการณ์ คือ ยุคสงครามเย็นและยุคหลังสงครามเย็น ดังนั้น ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อผู้กำหนดนโยบายและกระบวนการทาง การเมืองในเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้จึงแตกต่างกัน รวมทั้งบทบาทของตัวแสดงอื่น โดยเฉพาะมหาอำนาจ และสภาพแวดล้อมภายนอกของเกาหลีทั้งสอง ซึ่งจะช่วยให้ได้คำตอบต่อคำถามที่ว่าทำไมเกาหลีทั้งสองจึงยังไม่สามารถรวมกันเป็นหนึ่งเดียว ในสมัยที่การแข่งขันด้านอุดมการณ์ยุติลง นอกจากนั้น เป้าหมายของหนังสือเล่มนี้ ก็มีลักษณะคล้ายกับหนังสือเล่มก่อนของผู้เขียนที่ชื่อ “เกาหลีในช่วงอลหม่าน ค.ศ. 1864-1953 : การรุกรานจากต่างชาติ การตกเป็นอาณานิคม การแบ่งแยก และสงครามเกาหลี” กล่าวคือ เพื่อประโยชน์สำหรับการศึกษาค้นคว้าของนิสิตนักศึกษา ในส่วนที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้ ความสัมพันธ์ระหว่างเกาหลีทั้งสองกับมหาอำนาจ การเมืองในเกาหลีเหนือ และเกาหลีใต้ การเมืองระหว่างประเทศในเอเชียตะวันออก และประวัติศาสตร์เกาหลี รวมทั้งนิสิตที่ศึกษาในวิชาเอเชียตะวันออกร่วมสมัย และการเมืองระหว่างประเทศในเอเชียตะวันออก คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งผู้เขียนเป็นผู้รับผิดชอบ ในขณะเดียวกันย่อมเป็นประโยชน์ต่อครูอาจารย์ นักวิชาการ และบุคคลทั่วไป ใช้ในการศึกษาค้นคว้าและการอ้างอิง

เกาหลีเหนือ เกาหลีใต้

1. บทนำ

เกาหลีเหนือ เกาหลีใต้ และประเด็นการรวมประเทศ

ในช่วงญี่ปุ่นพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อ ค.ศ. 1945 สหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตได้ตกลงกันแบ่งเกาหลีออกเป็น 2 ส่วนที่เส้นขนานที่ 38 เพื่อการปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นในดินแดนเกาหลี ทั้งนี้สืบเนื่องจากญี่ปุ่นได้ยึดครองเกาหลี เป็นอาณานิคมตั้งแต่ ค.ศ. 1910 เมื่อภารกิจเสร็จสิ้นลง การจัดตั้งรัฐบาลที่เกิดจากเจตนารมณ์ของประชาชนเกาหลีกลับไม่ได้เกิดขึ้น เพราะมหาอำนาจทั้งสองต่างสนับสนุนกลุ่มการเมืองที่มีอุดมการณ์สอดคล้องกับตนจัดตั้งรัฐบาล ท่ามกลาง การคัดค้านของประชาชนเกาหลี โดยเกาหลีส่วนใต้ซึ่งอยู่ในความควบคุมดูแลของสหรัฐอเมริกาในการปลดอาวุธทหารญี่ปุ่น ได้จัดตั้งรัฐบาลและสถาปนาสาธารณรัฐเกาหลี (Republic of Korea) หรือเกาหลีใต้ขึ้นในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1948 สำหรับเกาหลีส่วนเหนือ ซึ่งอยู่ในความควบคุมดูแลของสหภาพโซเวียต ได้จัดตั้งรัฐบาล และสถาปนาสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี (Democratic People’s Republic of Korea) หรือเกาหลีเหนือขึ้นในเดือนกันยายนปีเดียวกัน ความแตกต่างด้านอุดมการณ์ระหว่างรัฐบาลเกาหลีทั้งสอง และการมีมหาอำนาจที่ต่างแข่งขันกันขยายอิทธิพลให้การหนุนหลังแต่ละฝ่าย จึงทำให้นโยบายหรือข้อเสนอแนวทางใน การรวมเกาหลีทั้งสองเข้าด้วยกัน ไม่เกิดผลขึ้นด้วยการเจรจา ในที่สุดความขัดแย้งได้เกิดเป็นสงครามเกาหลีระหว่าง ค.ศ. 1950-1953 ซึ่งผลลัพธ์ของสงครามก็ไม่ได้ทำให้เกาหลีเหนือ และเกาหลีใต้กลับมารวมกัน

2. เกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ ในยุคสงครามเย็น

ความขัดแย้งระหว่างผู้นำการเมืองของเกาหลีทั้งสองเกี่ยวกับการรวมประเทศ ได้นำไปสู่สงครามเกาหลีช่วง ค.ศ. 1950-1953 โดยมีมหาอำนาจให้ การสนับสนุนแต่ละฝ่ายส่งทหารเข้าร่วมรบ แต่การใช้กำลังทางทหารก็ไม่สามารถทำให้เกาหลีทั้งสองกลับเข้ารวมเป็นเกาหลีเดียวได้ แม้คู่กรณีการสู้รบได้ลงนามในความตกลงสงบศึก (armistice) เพื่อยุติการสู้รบในสงครามเกาหลี เมื่อ ค.ศ. 1953 แต่ความแตกต่างด้านอุดมการณ์ทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของเกาหลีทั้งสอง จีน และสหภาพโซเวียต ซึ่งให้ความสนับสนุนเกาหลีเหนือ และสหรัฐอเมริกา ซึ่งให้ความสนับสนุนเกาหลีใต้ ต่างได้คำนึงถึงผลประโยชน์ของตนเอง ดังการสกัดกั้น การขยายอิทธิพลของอีกฝ่ายหนึ่ง รวมทั้งความไม่มั่นใจว่าเมื่อเกาหลีทั้งสองรวมกันเป็นหนึ่งเดียวแล้ว เกาหลีจะวางตัวเป็นกลางหรือเป็นพันธมิตรกับฝ่ายใด ฉะนั้นภายหลังการลงนามในความตกลงสงบศึกสงครามเกาหลี การเจรจาเพื่อแก้ไขความขัดแย้งระหว่างเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้ ในประเด็นการเมือง และการเจรจา เพื่อจัดทำสนธิสัญญาสันติภาพ ตามเจตนารมณ์ความตกลงสงบศึกจึงไม่บรรลุผล ดังการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UN General Assembly) ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1953 และการประชุมที่เจนีวา (Geneva) ในช่วงเดือนเมษายนถึง เดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1954 เมื่อการประชุมระดับพหุภาคีล้มเหลวในการแก้ไขปัญหา ในช่วงเวลาถัดมาผู้นำการเมืองหรือองค์กรต่าง ๆ ของเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ จึงเสนอแนวนโยบายการรวมเกาหลีให้อีกฝ่ายหนึ่งพิจารณา ซึ่งในบางช่วงทั้ง 2 ฝ่ายสามารถจัดการเจรจาระหว่างกันขึ้น และนำไปสู่การลงนามในความตกลงร่วมกัน ดังแถลงการณ์ร่วมเหนือและใต้ 4 กรกฎาคม ค.ศ. 1972 (South-North Joint Communique of 4 July 1972) ซึ่งมีเป้าหมายในการลดความขัดแย้ง และการสร้างความร่วมมือเพื่อนำไปสู่การรวมประเทศ ดังนั้น เนื้อหาในบทนี้จึงเป็นส่วนที่นำเสนอนโยบายหรือข้อเสนอการรวมประเทศของเกาหลีเหนือ และเกาหลีใต้ในยุคสงครามเย็น ความตกลงระหว่างเกาหลีทั้งสอง ปัจจัยที่นำไปสู่ความตกลง และการนำความตกลงไปสู่การปฏิบัติ

3. เกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ ในระยะแรกของช่วงหลังสงครามเย็น

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นภายในของเกาหลีทั้งสอง และการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมระหว่างประเทศ นับเป็นปัจจัยสำคัญต่อการปรับท่าทีและ ความสัมพันธ์ระหว่างกัน การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เห็นได้ชัดในเกาหลีใต้ก็คือ การปฏิรูปการเมืองโดยการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขครั้งที่ 9 เมื่อ ค.ศ. 1987 ถือเป็นผลให้ผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ต้องมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน จึงแตกต่างจากในยุค 20 กว่าปีก่อนหน้า ที่ผู้ดำรงตำแหน่งมาจาก การรัฐประหาร หรือแม้บางคนผ่านการเลือกตั้ง แต่กลับเป็นการเลือกตั้งที่ทุจริต เมื่อการเมืองเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย ผู้สมัครแข่งขันดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีต้องเสนอนโยบายให้ประชาชนพิจารณา เมื่อได้รับความไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศแล้ว ก็ต้องอยู่ภายใต้การตรวจสอบของประชาชน นอกจากพัฒนาการทาง การเมืองที่เกิดขึ้นในเกาหลีใต้ดังกล่าว การสิ้นสุดสงครามเย็นในปลายทศวรรษที่ 1980 ก็ถือว่ามีอิทธิพลสำคัญต่อเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ ในการปรับท่าทีให้สอดคล้อง กับนโยบายและท่าทีของมหาอำนาจที่ให้การหนุนหลัง เพื่อไม่ให้ผลกระทบจาก การเปลี่ยนแปลง กลายเป็นสิ่งคุกคามต่อความมั่นคงและผลประโยชน์ ดังนั้น เนื้อหาในบทนี้จึงนำเสนอนโยบายการรวมเกาหลี ซึ่งผู้นำเกาหลีทั้งสองได้เห็นพ้องร่วมกัน การดำเนินการตามนโยบาย และปัญหากับอุปสรรคที่เกิดขึ้น

เกาหลีเหนือ เกาหลีใต้

4. เกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ การประชุมสุดยอดผู้นำเกาหลีครั้งแรกและครั้งที่ 2

ก่อนการเกิดวิกฤตนิวเคลียร์เกาหลีเหนือครั้งที่ 2 ใน ค.ศ. 2002 ซึ่งนำไปสู่การเผชิญหน้าระหว่างเกาหลีเหนือกับสหรัฐอเมริกา โดยมีเกาหลีใต้และญี่ปุ่น ร่วมอยู่ด้วยนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้ถือว่าอยู่ในลักษณะ การปรองดอง และการร่วมมือกันอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน เพราะประธานาธิบดี คิมแดจุง (Kim Dae-jung) ผู้นำเกาหลีใต้กับคิมจองอิล (Kim Jong-il) ผู้นำเกาหลีเหนือ ได้ประชุมร่วมกันระหว่างวันที่ 13-15 มิถุนายน ค.ศ. 2000 อันเป็นการประชุมสุดยอดครั้งแรก ระหว่างผู้นำเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้ นับตั้งแต่เกาหลีถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ใน ค.ศ. 1945 ผลจากการประชุมผู้นำทั้งสองได้บรรลุความตกลง ซึ่งสาระสำคัญปรากฏตามแถลงการณ์ร่วมเหนือและใต้ 15 มิถุนายน (June 15 South-North Joint Declaration) ดังนี้ ประการแรก เกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ตกลงกันใน การแก้ไขปัญหาประเด็นการรวมประเทศอย่างอิสระ โดยผ่านความพยายามร่วมกันของประชาชนเกาหลีทั้งมวล ประการที่ 2 ทั้ง 2 ฝ่ายรับรองว่าข้อเสนอการรวมประเทศตามรูปแบบเครือจักรภพ (commonwealth) ของเกาหลีใต้ และข้อเสนอการรวมประเทศตามรูปแบบสหพันธรัฐแบบหลวม ๆ (low-level federation) ของเกาหลีเหนือ มีความคล้ายคลึงกัน โดยเกาหลีทั้งสองสนับสนุนการรวมประเทศให้ เป็นไปตามรูปแบบดังกล่าว ประการที่ 3 ทั้ง 2 ฝ่ายจะจัดการประเด็นปัญหา ด้านสิทธิมนุษยชนอย่างเร่งด่วน โดยจะให้มีการแลกเปลี่ยนการเยี่ยมเยือนระหว่าง ผู้พลัดพรากจากครอบครัวในช่วงสงครามเกาหลี และปัญหากรณีผู้ยึดมั่นในอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ ซึ่งถูกจองจำอยู่ในเกาหลีใต้ ประการที่ 4 เกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ตกลงกันในการสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจของทั้ง 2 ฝ่าย ให้มีความสมดุลกัน การสร้างความร่วมมือ ความไว้เนื้อเชื่อใจกัน และการกระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนด้านวัฒนธรรม กีฬา สาธารณสุข สิ่งแวดล้อม และอื่น ๆ และประการที่ 5 การจัดให้ มีการเจรจาในระดับเจ้าหน้าที่ เพื่อให้นำความตกลงไปดำเนินการในทางปฏิบัติ นอกจากนี้ คิมจองอิลได้ตอบตกลงในการเดินทางเยือนเกาหลีใต้ ภายในช่วงระยะ เวลาอันเหมาะสม (“South-North joint”, 2000)

5. เกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ ในยุคคิมจองอึนและมุนแชอิน

ภายหลังยุคประธานาธิบดีคิมแดจุง (Kim Dae-jung) และโนมูฮย็อน (Roh Moo-hyun) การผ่อนคลายความตึงเครียดระหว่างเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้กลับปรากฏขึ้นอีกครั้งในยุคมุนแชอิน (Moon Jae-in) ซึ่งเข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเกาหลีใต้ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2017 จึงแตกต่างจากในช่วง 10 ปีก่อนหน้า ซึ่งนักการเมืองแนวอนุรักษนิยมเป็นผู้นำประเทศ โดยรัฐบาลมุนแชอินได้ ให้ความสำคัญกับการดำเนินท่าทีประนีประนอมกับเกาหลีเหนือ ควบคู่ไปกับการ ธำรงความเป็นพันธมิตรกับสหรัฐอเมริกา

อันเป็นผลให้ประธานาธิบดีมุนแชอิน และคิมจองอึน (Kim Jong-un) ประชุมสุดยอดร่วมกันในเดือนเมษายน ค.ศ. 2018 และการประชุมสุดยอดระหว่างคิมจองอึนกับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) แห่งสหรัฐอเมริกา เกิดขึ้นในเดือนมิถุนายนปีเดียวกัน ทั้งที่ความสัมพันธ์ระหว่างเกาหลีใต้และสหรัฐอเมริกากับเกาหลีเหนือในช่วง ค.ศ. 2016-2017 อยู่ในภาวะตึงเครียด ดังนั้น เนื้อหาในบทนี้จึงเป็นการนำเสนอภาพรวมของเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ในยุคคิมจองอึนและมุนแชอินเป็นผู้นำตามลำดับ ในประเด็น ด้านการเมือง เศรษฐกิจ และการต่างประเทศ ซึ่งมีอิทธิพลต่อความสัมพันธ์ระหว่างเกาหลีทั้งสอง และการกำหนดท่าทีในการรวมเกาหลีในอนาคต ในขณะเดียวกันก็นำเสนอประเด็นการประชุมสุดยอดระหว่างคิมจองอึนกับประธานาธิบดีทรัมป์

การพบปะกันระหว่างคิมจองอึน (Kim Jong-un) ผู้นำเกาหลีเหนือ
ประธานาธิบดีมุนแชอิน (Moon Jae-in) ผู้นำเกาหลีใต้ และประธานาธิบดี
โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ผู้นำสหรัฐอเมริกาที่พื้นที่ปลอดทหาร
(demilitarized zone) ระหว่างเกาหลีทั้งสอง เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน
ค.ศ. 2019 (The White House, 2019)

6. บทสรุป

ในช่วงที่ญี่ปุ่นยึดครองเกาหลีเป็นอาณานิคมระหว่าง ค.ศ. 1910-1945 ประชาชนเกาหลีต่างเคลื่อนไหวเรียกร้องเอกราชจากญี่ปุ่น ทั้งในรูปแบบสันติวิธี และการใช้ความรุนแรง แต่การเรียกร้องและการต่อสู้ไม่บรรลุเป้าหมาย จวบจน ค.ศ. 1945 ที่ญี่ปุ่นพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงเป็นโอกาสที่เกาหลีจะได้รับเอกราช แต่ด้วยความขัดแย้งระหว่างกลุ่มการเมืองในเกาหลีที่ยึดมั่นอุดมการณ์ แตกต่างกัน กอปรกับการแข่งขันขยายอิทธิพลระหว่างมหาอำนาจ จึงเป็นเหตุให้เกาหลีถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน โดยต่อมาส่วนใต้ได้สถาปนาสาธารณรัฐเกาหลี (Republic of Korea-ROK) หรือเกาหลีใต้ และส่วนเหนือได้สถาปนาสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี (Democratic People’s Republic of Korea-DPRK) หรือเกาหลีเหนือขึ้นใน ค.ศ. 1948 โดยสหรัฐอเมริกาให้การสนับสนุนเกาหลีใต้ ส่วนสหภาพโซเวียตให้การสนับสนุนเกาหลีเหนือ การแข่งขันอ้างความชอบธรรมและความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลที่กรุงเปียงยางกับกรุงโซล ได้นำไปสู่การเผชิญหน้ากันและกลายเป็นสงครามเกาหลีระหว่าง ค.ศ. 1950-1953 ซึ่งการสู้รบไม่ได้มีเฉพาะเกาหลีทั้งสองเท่านั้น แต่มีมหาอำนาจที่ให้การหนุนหลังแต่ละฝ่ายส่งทหารเข้าร่วมรบด้วย โดยสหภาพโซเวียตและจีนให้ความช่วยเหลือเกาหลีเหนือ ในขณะที่สหรัฐอเมริกา และกองกำลังสหประชาชาติให้ความช่วยเหลือเกาหลีใต้ เมื่อผลการสู้รบไม่มี ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งชนะ การยุติสงครามจึงเป็นในลักษณะการพักรบ เนื่องจากทั้ง 2 ฝ่ายยังไม่มีการลงนามสนธิสัญญาสันติภาพระหว่างกัน ผลของสงครามเกาหลีจึงแสดงให้เห็นว่า คิมอิลซอง (Kim Il-sung) ไม่บรรลุเป้าหมายในการรวมเกาหลีโดยใช้ กำลังทหาร เพราะไม่สามารถโค่นล้มรัฐบาลประธานาธิบดีอีซึงมัน (Syngman Rhee) และรวมเกาหลีใต้เข้ากับเกาหลีเหนือ ในทำนองเดียวกันประธานาธิบดีอีซึงมัน ก็ไม่สามารถโค่นล้มรัฐบาลคิมอิลซอง และรวมเกาหลีเหนือเข้ากับเกาหลีใต้ แม้สหรัฐอเมริกาและกองกำลังสหประชาชาติรุกรบข้ามเส้นขนานที่ 38 เข้าไปใน ดินแดนเกาหลีเหนือแล้วก็ตาม

เอกสารอ้างอิง

The White House. (2019). President Trump Meets with Chairman Kim Jong Un. [Image]. Retrieved from https://commons.wikimedia. org/wiki/File:President_Trump_Meets_with_Chairman_Kim_ Jong_Un_(48164732021).jpg

Graphic Design และ Content Creator ที่หลงใหลในการเขียน Content และเชื่อว่า Content เป็นสิ่งสำคัญในการสื่อสารกับทุก ๆ คน