อารยะ “ขัดขืน”

อารยะ “ขัดขืน” เป็นหนังสือรวมบทความวิชาการที่เรียบเรียงจากบทสังเคราะห์ผลงานวิจัยจำนวน 8 เรื่อง ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2558-2562) โดยมีเป้าหมายสำคัญ 2 ประการ คือ เพื่อเปิดพื้นที่ให้งานวิจัยทางสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ได้นำเสนอมุมมองและข้อค้นพบ ที่สะท้อนปรากฏการณ์และความจริงที่เกิดขึ้น ในสังคมไทยในปัจจุบัน และเพื่อบอกเล่าความจริงเรื่องอำนาจของสามัญชน ที่แสดงออกในรูปของการขัดขืน

ที่ผ่านมาพบว่า นักสังคมศาสตร์ ได้เสนอแนวคิดเกี่ยวกับอำนาจไว้ เป็นจำนวนมาก อาทิ Max Weber (ค.ศ. 1856-1920) กล่าวถึง อำนาจในมิติของความสัมพันธ์ที่บุคคลมีต่อบุคคลอื่นในสังคม และให้ความหมายของอำนาจไว้ว่า หมายถึง เจตนารมณ์ของบุคคลในการกระทำการใด ๆ เพื่อให้ตนเองบรรลุผลตามที่ต้องการไม่ว่าจะมีการต่อต้านหรือมีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใดในการบรรลุเป้าหมายนั้นอำนาจในทัศนะนี้ จึงเน้นอำนาจทางสังคม (Social Power) ที่บุคคลกระทำผ่านกลไกของความสัมพันธ์

ในขณะที่มีกลุ่มนักคิดบางกลุ่มให้ความสำคัญกับโฉมหน้าของอำนาจ ที่มีความซับซ้อนมากขึ้น อาทิ Robert A. Dahl ที่เสนอแนวคิดเรื่องอำนาจไว้ในหนังสือชื่อ The One Face of Power เมื่อปี ค.ศ. 1957 โดยให้ความสำคัญกับพฤติกรรมของบุคคลในการตัดสินใจในประเด็นซึ่งเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งในผลประโยชน์ ที่สังเกตเห็นได้ ซึ่งแนวคิดดังกล่าว สอดคล้องกับแนวคิดของ Peter Bachrach and Morton S. Baratz ที่ปรากฏในหนังสือชื่อ The Two Faces of Power เมื่อปี ค.ศ. 1962 เพียงแต่อำนาจในความหมายใหม่ซับซ้อนขึ้น โดยเพิ่มอำนาจในมิติของการยับยั้ง ไม่ตัดสินใจที่จะแบ่งปันผลประโยชน์ จนถึงในปี ค.ศ. 1974 Stephen Lukes จึงได้เพิ่มโฉมหน้าที่ 3 ของอำนาจว่า คือ ความสามารถในการทำให้ผู้อื่นคล้อยตาม โดยการเข้าควบคุมความคิดและความต้องการ อำนาจในความหมายนี้ จึงครอบคลุมการกระทำกับความคิดของบุคคลและสังคมเพิ่มมากขึ้น กล่าวคือ ครอบคลุมการทำให้บุคคลยอมรับฐานะที่ตนเองเป็นอยู่ มีอยู่ และเชื่อว่าสิ่งที่ตนเองเป็นอยู่ หรือมีอยู่เป็นธรรมชาติดีอยู่แล้ว และไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้ เนื่องจากสภาพ หรือสถานภาพนั้นเป็นสิ่งที่พระเจ้าหรือสวรรค์เป็นผู้กำหนด

ในขณะที่ Michel Foucault กล่าวถึง อำนาจ ไว้ในงานเขียนชื่อ Discipline and Punish: The Birth of the Prison ซึ่งพิมพ์เผยแพร่เมื่อปี ค.ศ. 1975 โดยเสนอแนวคิดเรื่อง “Panopticism” ว่า การออกแบบกลไกของอำนาจเพื่อรับประกันความไม่เสมอภาค หรือที่เรียกว่า “การปกครอง (Government)” ทำให้อำนาจ ไม่ได้ถูกผูกไว้กับตัวของผู้ปกครองอีกต่อไป แต่อำนาจถูกออกแบบจนกลายเป็นระบบที่ทำงานได้ด้วยตนเอง ในรูปของการสร้างวินัย (Discipline Power) เหนือชีวิต ของบุคคลโดยที่ปัจเจกบุคคลไม่รู้สึกอีกต่อไปว่าตนเองกำลังถูกบังคับหรืออยู่ใต้อำนาจของบุคคลอื่นเนื่องจากบุคคลได้ควบคุมตนเองให้เป็นไปตามกฎระเบียบและข้อบังคับเหล่านั้น อย่างเคร่งครัด จนการยอมรับและการปฏิบัติตามอำนาจกลายเป็นเรื่องปกติ จนบุคคลเกิดความ “เชื่องหงอย” และเฝ้าระวังตนเองไม่ให้กระทำการใด ๆ ที่แตกต่าง
ออกไป

แม้ว่าแนวคิดเรื่องการขัดขืน (Resistance) เป็นแนวคิดทางสังคมศาสตร์ที่มีมานานแล้ว และการขัดขืนไม่ใช่เรื่องใหม่ ตัวอย่างเช่น ในกรณีของ Socrates การปฏิเสธที่จะหลบหนีและยอมรับโทษประหารชีวิตด้วยการดื่มยาพิษก็เป็น การขัดขืน รูปแบบหนึ่งที่เรียกว่า อารยะขัดขืน ดังที่ปรากฏในตอนหนึ่งของงานเขียน เรื่อง Apology ของ Plato เมื่อปี ค.ศ. 2000 แปลความได้ว่า “ฉันยอมตายหลังจากได้ให้การไปตามนั้นมากกว่าที่จะมีชีวิตอยู่เพราะให้การเป็นอย่างอื่น” ซึ่งกล่าวได้ว่า การขัดขืนแบบของ Socrates เป็นรูปแบบหนึ่งของการขัดขืน แต่เป็นการขัดขืนแบบตั้งรับ (Passive Disobedience) ชนิดยอมตายถวายชีวิต

การขัดขืน จึงมีพัฒนาการเรื่อยมา ทั้งทางความคิดและการปฏิบัติ ในทัศนะของนักคิดในยุคแสงสว่างทางปัญญา อาทิ งานเขียนเรื่อง The Politics of Johannes Althusius ของ Johannes Althusius เมื่อปี ค.ศ. 1964 และงานเขียนของ John Locke ชื่อ Second Treatise of Government เมื่อปี ค.ศ. 1980 และงานของ Stephanus Brutus ในหนังสือชื่อ The Legitimate Power of a Prince over the People, and the People over a Prince ที่เผยแพร่ ในปี ค.ศ. 1994 ล้วนกล่าวถึง สิทธิอันชอบธรรมของประชาชน ในการลุกฮือขึ้นโค่นล้มผู้ปกครองที่ลุแก่อำนาจ เนื่องจากอำนาจอธิปไตย แท้จริงแล้วเป็นของประชาชน ผู้ปกครองจึงมีและต้องใช้อำนาจผ่านการยินยอมของประชาชน ประชาชนจึงมีสิทธิในการยินยอม ถอดถอน หรือขัดขืนต่อต้าน แม้กระทั่งฆ่าผู้ปกครองได้

ในขณะที่งานเขียนเรื่อง Discourse on Voluntary Servitude ของ Etienne de la Boetie (ค.ศ. 1530-1563) กล่าวถึงการขัดขืน แต่เป็นการขัดขืน ในเชิงรุกมากกว่า โดยเสนอว่ามนุษย์ทุกคนเกิดมาพร้อมอิสรภาพ ดังนั้น อิสรภาพ จึงเป็นสภาวะธรรมชาติที่มนุษย์ต้องปกป้องหวงแหน ต่อสู้และขัดขืนเพื่อรักษาไว้ เพียงแต่ de la Boetie ไม่ได้เน้นการขัดขืนแบบพลีชีพในแบบของ Socrates ก็ต้องขอบใจ de la Boetie ที่เสนอแนวคิด ที่ช่วยลดการตายของนักสังคมศาสตร์ลงโดยเสนอแนวคิดเรื่องการขัดขืน ที่อยู่ในรูปของอารยะขัดขืน หรือการต่อต้าน แบบสันติวิธี ที่เสนอว่า ไม่มีความจำเป็นอะไร ที่บุคคลจะต้องไปต่อสู้ด้วยพละกำลังเพื่อโค่นล้มทรราชย์หรือเผด็จการเพียงคนเดียว เพราะเขาย่อมพ่ายแพ้ไปโดยปริยาย หากคนในสังคมปฏิเสธที่จะเป็นทาส การขัดขืนแบบนี้ จึงต้องอดทนรอกันบ้าง

การขัดขืน ทั้งในแง่ความคิด ความหมาย และวิธีการ จึงแปรผันไปตามบริบทของสังคม และวัฒนธรรมของอำนาจที่สังคมนั้นเห็นว่าถูกต้อง ดีงาม ดังพบว่าในช่วงที่มีการปฏิวัติในฝรั่งเศส อเมริกา เฮติ การปฏิวัติของชนชั้นกรรมาชีพล้วนเกิดจากการไม่อาจทนทานกับการปกครองที่กดขี่และชีวิตที่ยากลำบากต่อไปได้ สภาพสังคมที่เลวร้าย ทำให้การขัดขืนขยายใหญ่โตจนเป็นขบวนการเคลื่อนไหวที่มีผู้นำมีโครงสร้างขององค์กร มีแผนและรูปแบบการต่อสู้ที่เป็นระบบชัดเจน ทั้งที่กระทำผ่านพรรคการเมือง กลุ่มปัญญาชน ชนชั้นกรรมาชีพ หรือเครือข่ายประชาชนที่ทุกข์ยากดังพบหลักฐานจากทฤษฎีปฏิวัติของ Lenin และแนวคิดปฏิวัติของ Slavoj Zizek ที่เน้นการขัดขืนที่กระทำผ่านมวลมหาประชาชน (The Multitude) อย่างไรก็ตาม กล่าวได้ว่า แนวคิดของ Zizek ละเลยการขัดขืนของสามัญชน และการขัดขืนที่กระทำผ่านกิจกรรมปกติในชีวิตประจำวัน และมุ่งเพียงต่อต้านกระฎุมพีที่เพลิดเพลิน กับการแสดงออกซึ่งตัวตนของตนเอง โดยเสนอว่า การขัดขืนในลักษณะดังกล่าว ไม่ได้มีความสำคัญใด ๆ ตัวอย่างการขัดขืนในลักษณะนี้ ได้แก่ การขัดขืนด้วยการ แต่งกายแหวกแนวเพื่อปฏิเสธสินค้าแบรนด์เนม หรือการใช้สินค้าที่ผลิตโดยกระบวนการธรรมชาติเพื่อต่อต้านบรรษัทข้ามชาติ เพราะการกระทำดังกล่าวเป็นเพียงการสร้างความรู้สึกดีต่อตัวเอง ในขณะเดียวกันก็ยังช่วยส่งเสริมระบอบทุนนิยมต่อไป

การขัดขืนของสามัญชนจึงเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ผ่านการแสดงออก และการกระทำ เพื่อให้บุคคลเรียนรู้ รับรู้ และตระหนักในอำนาจที่ตนเองมีอยู่ ผ่านการแต่งกาย เช่น เครื่องนุ่งห่มของคานธี ที่เชอร์ชิลเรียกว่า “กึ่งเปลือย” แต่ในที่สุดได้กลายเป็นรูปแบบหนึ่งของการปลดปล่อยประชาชนอินเดียออกจากอำนาจที่กระทำผ่านวัฒนธรรมของเจ้าอาณานิคม ผ่านการรื้อฟื้นความรู้สึกนับถือ ตัวเองของคนยากไร้ในอินเดีย นอกจากนี้ ยังพบการขัดขืน ที่กระทำผ่านวิถีชีวิต เช่น แนวคิดเรื่อง Minimalism การขัดขืนที่กระทำผ่านงานศิลปะ เช่น Poor Art หรือ Impoverished Art หรือ Art Povera หรือที่บางคนเรียกว่า “ศิลปะอนาถา” หรือ “ศิลปะสมถะ” ที่ถือกำเนิดขึ้นในช่วงกลางทศวรรษที่ 1960 ถึงกลางทศวรรษ 1970 ในอิตาลี ในยุคที่เกิดความไม่สงบทางการเมือง โดยศิลปินมีเป้าหมาย เพื่อต่อต้านคุณค่าของความงามตามขนบ เช่น ผลงาน United (12 Horses) ในปี ค.ศ. 1969 ของ Jannis Kounellis ศิลปินชาวกรีกในกลุ่ม Art Povera ซึ่งแสดงความขัดขืนผ่านผลงานศิลปะ เพื่อต่อต้านแนวคิดศิลปะแบบเดิมและสร้างกระแส การเคลื่อนไหวทางศิลปะแบบหัวก้าวหน้า (Avant-garde) ที่มีอิทธิพล มากที่สุดในยุโรป ศิลปินกลุ่มนี้ เลือกใช้วัสดุที่ธรรมดา เช่น กระดาษหนังสือพิมพ์ ไปจนถึงวัสดุไร้ค่า เช่น ของเก่า ข้าวของเหลือใช้ ชำรุดทรุดโทรม ไปจนถึงวัสดุสามานย์เช่น อุจจาระ ผ้าขี้ริ้ว มาสร้างงานศิลปะ

หนังสือ “ขัดขืน” ต้องการชี้ให้เห็นว่า การชุมนุมประท้วง การปฏิวัติ ขบวนการมวลชน หรือการต่อสู้อย่างเป็นระบบ เพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของอำนาจตามที่นักคิดในสำนัก Marxism ได้เคยเสนอไว้ เป็นรูปแบบหนึ่งของการขัดขืน ที่อาจเกิดขึ้นได้ในบางบริบทของสังคม ไม่ใช่ทุกสังคม เนื่องจากพบว่ามีกลุ่มชนชั้นล่างจำนวนมากมายมหาศาล ที่ไม่มีต้นทุนมากพอที่จะเข้าร่วมกระบวนการดังกล่าวได้ หนังสือเล่มนี้ สนับสนุนงานของ James C. Scott ที่เสนอความคิดไว้ในหนังสือชื่อ Weapons of the Weak: Everyday Forms of Peasant Resistance เมื่อปี ค.ศ. 1985 และงานเขียนชื่อ Domination and the Arts of Resistance: Hidden Transcripts เมื่อปี ค.ศ. 1990 ในการศึกษาเรื่อง The Struggles of a Handful of History การขัดขืนที่ปรากฏในหนังสือเล่มนี้ สะท้อนรูปแบบการต่อต้านขัดขืน ที่หลากหลาย ที่ไม่ได้ดูผลสำเร็จจากมิติทางการเมืองเท่านั้น แต่ให้ความสำคัญกับมิติทางความคิดและวัฒนธรรมของอำนาจ ที่ถูกประกอบสร้างขึ้นและใช้โดยสามัญชน ในลักษณะการทำงานของคลื่นใต้น้ำจำนวนมากที่เป็นธรรมชาติเกิดขึ้นทุกวัน เพื่อนำไปสู่ผลสำเร็จในทำนองเดียวกันกับข้อเสนอของสำนัก Marxism โดยเน้นว่า ทุกการขัดขืน แม้ว่าจะเป็นเรื่องราวที่เล็กน้อยที่สุดของคนที่ไม่มีความสำคัญอะไรเลยล้วนหลอมรวมกัน ผ่านกาลเวลาและเงื่อนไขของความทุกข์ยาก และความสุข ที่หลากหลายก่อนการปะทุออกมาอย่างเปิดเผย ผ่านการดิ้นรนขัดขืนและความสุข ในสิ่งเล็กสิ่งน้อยที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการขัดขืนในเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆของบุคคล เช่น การคิดและการแสดงออกซึ่งพฤติกรรมที่ตนเองเห็นว่าดีงามถูกต้อง ได้แก่ การใส่ร้ายป้ายสี การแกล้งโง่ การหลอกลวง รักร่วมเพศ การไม่จ่ายหนี้ การขัดขืนในระดับสถาบัน เช่น การเลี้ยงสายผี หรือการประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อการยึดมั่นในลัทธิหรือศาสนาอื่น หรือการแสดงออกซึ่งวัฒนธรรมเฉพาะกลุ่ม ไปจนถึงการขัดขืนที่ขยายใหญ่ขึ้นไปสู่ระดับของการสร้างวัฒนธรรมของอำนาจ เช่น การยกเลิกระบบวีรบุรุษวีรสตรี การต่อสู้เชิงภาษาและสัญลักษณ์ เพราะการขัดขืนผ่านสิ่งเล็ก ๆน้อย ๆ เหล่านี้ ล้วนตอกย้ำอำนาจของบุคคลในการคิดและจัดการกับชีวิตของตนเองก่อนหลอมรวมกันเป็นการแบ่งปันโอกาสและอำนาจของคนทุกคน ทุกกลุ่มเหล่า ในสังคม ในการสร้างวัฒนธรรมของอำนาจของตนเองขึ้นในสังคม

ข้อเสนอของ James C. Scott ว่า ไม่มีทางเป็นไปได้เลยที่การกระทำทางการเมืองหรือการใช้อำนาจของชนชั้นปกครองในสังคมใด จะครอบงำความคิดและอยู่เหนือชีวิตของสามัญชนได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เพราะการควบคุมบงการจากชนชั้นปกครอง จะกระทำได้ก็เพียงในพื้นที่สาธารณะเท่านั้น แต่ไม่อาจกระทำ ได้เลยในพื้นที่สีเทา หรือพื้นที่ซึ่งมีความคลุมเครือ ดังจะเห็นได้จากกรณีของ Street Art ที่กระทำขึ้นเพื่อต่อต้านชนชั้นปกครองที่ทุจริตและเผด็จการ

หนังสือเล่มนี้ นำเสนอหลักฐานเพื่อแสดงอำนาจในการคิดและอำนาจ ในการขัดขืนของสามัญชน ที่เกิดจากการศึกษาวิจัยอย่างเป็นระบบเพื่อชี้ให้เห็นว่า การขัดขืน ถูกกระทำในหลากหลายรูปแบบ ทั้งผ่านการหยิบฉวยมายาคติที่ผู้ปกครองใช้เพื่อสถาปนาอำนาจของตนเอง เช่น มายาคติเรื่องความสงบร่มเย็น (Pacification) ค่ายอบรมเพื่อปรับทัศนคติ (Re-education Camp) หรือการตีตรา (Stigmatization) คนจนว่าขี้เกียจ หรือชี้นำว่าคนต่างจังหวัดโง่เขลา หรือการขัดขืนที่อยู่ในรูปของ การอุปมาอุปมัย ที่กระทำอย่างแยบยลและในเชิงสัญญะ การขัดขืนที่ปรากฏในหนังสือเล่มนี้ สะท้อนอำนาจของการศึกษาแบบกรณีศึกษา ที่ James C. Scott เคยนำเสนอไว้ผ่านการยกกรณีตัวอย่างกฎหมายในอดีตที่ผู้ปกครองเคยนำมาใช้เพื่อกล่าวอ้าง ความชอบธรรม อาทิ กฎห้ามทาสมากกว่าห้าคนมาชุมนุมกันโดยปราศจากการดูแลควบคุมของผู้คุมผิวขาว ซึ่งกฎหมายนี้ สหรัฐอเมริกา ประเทศที่กล่าวว่ามีความเป็นประชาธิปไตยมากที่สุดก็เคยใช้เมื่อกว่าสองร้อยปีมาแล้วแต่เลิกใช้ไปแล้วในปัจจุบัน การค้นพบความเชื่อมโยงของกฎหมาย และนโยบายที่มีเป้าหมายเพื่อลดการสื่อสารระหว่างผู้ใต้ปกครอง และกดดันไม่ให้สามัญชนมีโอกาสในการสร้างพื้นที่เสรีภาพขึ้นในสังคม สะท้อนความสำเร็จของการใช้อำนาจของผู้ปกครองในพื้นที่สาธารณะ แต่ล้มเหลวในการใช้อำนาจในพื้นที่สีเทา

แนวคิดเรื่องการขัดขืนโดยการพรางตัว (Resistance of Disguise) เพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าทางการเมืองในพื้นที่สาธารณะ โดยใช้พื้นที่สีเทา พื้นที่ชีวิต ผ่านกลไกทางวัฒนธรรม ที่ปรากฏในรูปของ “การขัดขืน” ที่ผู้เขียนนำเสนอผ่านงานเขียนทั้ง 8 เรื่อง นำเสนอรูปแบบของการขัดขืน ผ่านกลไกทางวัฒนธรรม โดยมีเป้าหมายสำคัญเพื่อสะท้อนให้เห็นถึง “อำนาจ (Power)” ของสามัญชน ที่แสดงออกทั้งในรูปของการกระทำและความคิดเพื่อ “ขัดขืน” นโยบายที่ขาดประสิทธิภาพหรือการปกครองของชนชั้นปกครองที่เลวร้ายหรือโง่เขลา หรือเมื่อต้องเผชิญกับวิกฤตในชีวิตที่รุนแรง จึงเป็นการแสดงออกถึงศักยภาพและอำนาจของบุคคลและชุมชน ที่เกิดขึ้นทุกวัน วันละเล็กละน้อยจนกลายเป็น “วัฒนธรรมของอำนาจ” ที่สร้าง และพัฒนาขึ้นในพื้นที่ชีวิตด้วยเรื่องหลังม่านของสามัญชน จนในที่สุดกลายเป็น “วัฒนธรรมย่อย (Subculture)” ที่ทุกคนสร้างได้ไม่ว่าจะอยู่ในชนชั้นใด ชาติพันธุ์ใดมีความเชื่อในระบอบการเมือง หรือมีวัฒนธรรมแบบใด

อำนาจที่แท้จริง จึงเลื่อนไหล ไม่หยุดนิ่ง และเกิดขึ้นจากการต่อสู้ และไม่ยอมจำนนของสามัญชนต่ออำนาจที่ไม่ชอบธรรม ในขณะที่พัฒนาการ ทางประวัติศาสตร์ล้วนยืนยันการต่อสู้ของชนชั้นปกครองที่ดิ้นรนเพื่ออำนาจ และผลประโยชน์ของตนเองเรื่อยมา การขัดขืน จึงเป็นอำนาจที่ดำรงอยู่คู่กับสามัญชนในทุกสังคม ไม่ว่าจะถูกปกครองด้วยผู้ปกครองที่เลวร้าย โง่เขลา หรือระบอบการเมืองแบบใด และ “การขัดขืน” เป็นรูปแบบหนึ่งของอำนาจ ที่ขยายขอบเขตออกไป กว้างไกลกว่ามิติของการเมือง หรือระบอบเศรษฐกิจ แต่ครอบคลุมพื้นที่ชีวิตของทุกคนอยู่นอกเหนือการควบคุมบงการของผู้ปกครองหรือสถาบันการเมืองแบบทางการ แต่เป็นอำนาจของสามัญชนในการคิดและแสดงออกอย่างหลากหลาย

พัชรินทร์ สิรสุนทร

สำหรับหนังสือเล่มนี้ประกอบไปด้วย 3 ขัดชืน ขัดขืนที่ 1 ความเป็นปกติในความเป็นอื่น : การส่งเสียงและการมีอยู่ ขัดขืนที่ 2 การเลื่อนไหล การต่อรอง และหลีกเร้นต่ออำนาจรัฐ ขัดขืนที่ 3 สัญญะ : การใช้กลไกวัฒนธรรม ทั้งหมด 8 การขัดขืนรวมถึงมีบทสังเคราะห์ภาพรวม “การขัดขืน” และบทกล่าวตาม : การขัดขืน/ต่อต้านโดยการ Crack

Graphic Design และ Content Creator ที่หลงใหลในการเขียน Content และเชื่อว่า Content เป็นสิ่งสำคัญในการสื่อสารกับทุก ๆ คน