พื้นฐานการเคลื่อนไหว และการเพิ่มสมรถนะการเคลื่่อนไหว

พื้นฐานการเคลื่อนไหว และการเพิ่มสมรถนะการเคลื่อนไหว

ระบบประสาทเป็นระบบที่มีความซับซ้อนทั้งในด้านโครงสร้างและหน้าที่ และเป็นระบบที่มีความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากทำหน้าที่ควบคุมและประสานงานการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกายให้ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างเหมาะสม โดยรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ จากสิ่งแวดล้อมและภายในร่างกาย นำมาวิเคราะห์ เก็บสะสมไว้ และส่งคำสั่งมายังอวัยวะเป้าหมาย เพื่อให้เกิดการตอบสนองอย่างเหมาะสม

การแบ่งระบบประสาทสามารถแบ่งได้เป็น 2 รูปแบบ คือ แบ่งตามตำแหน่งทางกายวิภาคศาสตร์ และแบ่งตามความสัมพันธ์กับหน้าที่

1. การแบ่งตามตำแหน่งทางกายวิภาคศาสตร์จะแบ่งออกเป็น 2 ระบบหลัก ๆ คือ
1.1 ระบบประสาทส่วนกลาง (central nervous system) ประกอบด้วยสมอง (brain) และไขสันหลัง (spinal cord) ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลที่ได้รับ นำมาประมวลผล แล้วสั่งการให้เกิดการตอบสนอง รวมทั้งเก็บสะสมข้อมูลไว้เป็นความจำ เพื่อนำมาใช้ในการประมวลผลในอนาคต
1.2 ระบบประสาทส่วนปลาย (peripheral nervous system) ประกอบด้วยเส้นประสาทสมอง (cranial nerves) เส้นประสาทไขสันหลัง (spinal nerves) และกลุ่มปมประสาท(ganglia) ทำหน้าที่นำสัญญาณประสาท
2. การแบ่งตามความสัมพันธ์กับหน้าที่จะแบ่งได้เป็น 3 ระบบหลัก ๆ คือ
2.1 ระบบประสาทรับความรู้สึก (sensory nervous system) ทำหน้าที่รับความรู้สึกและรับรู้การเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมและภายในร่างกาย
2.2 ระบบประสาทส่วนกลาง (central nervous system) ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลที่ได้รับ นำมาประมวลผล แล้วสั่งการให้เกิดการตอบสนอง รวมทั้งเก็บสะสมข้อมูลไว้เป็นความจำ เพื่อนำมาใช้ในการประมวลผลในอนาคต
2.3 ระบบประสาทสั่งการ (motor nervous system) ทำหน้าที่สั่งการไปยังอวัยวะเป้าหมาย ได้แก่ กล้ามเนื้อ และต่อมต่าง ๆ เป็นต้น ให้เกิดการตอบสนองระบบประสาทส่วนกลาง โดยเฉพาะสมองจะเป็นศูนย์กลางในการประสานงาน ประมวลและประเมินข้อมูลต่าง ๆ ที่ได้รับเข้ามา เพื่อสั่งการให้เกิดการตอบสนอง เช่น เกิดการเคลื่อนไหวให้เหมาะสมกับความต้องการ ในบทนี้จะขอกล่าวถึงเฉพาะโครงสร้างและหน้าที่ของสมองที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหว

ภาพ 1.1 โครงสร้างของสมอง (Brain) 1 = สมองส่วนหน้า (forebrain), 2 = สมองส่วนกลาง
(midbrain), 3 = สมองส่วนท้าย (hindbrain)

สมอง (Brain) สมองเป็นส่วนหนึ่งของระบบประสาทส่วนกลาง ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการประมวลผลข้อมูล เพื่อให้เกิดการตอบสนองตามความต้องการได้อย่างเหมาะสม สมองจะอยู่ภายในกะโหลกศีรษะแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ 1) สมองส่วนหน้า (forebrain) ประกอบด้วย สมองใหญ่ (cerebrum) และส่วนท้ายของสมองส่วนหน้า (diencephalon) 2) สมองส่วนกลาง (midbrain)และ 3) สมองส่วนท้าย (hindbrain) ประกอบด้วย medulla oblongata, pons และ สมองน้อย (cerebellum) ดังแสดงในภาพ 1.1

การมีสมรรถนะการเคลื่อนไหวที่ดีจำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตให้มีประสิทธิภาพในทุกด้าน เช่น การทำกิจวัตรประจำวัน การทำงาน หรือแม้แต่การท่องเที่ยว นอกจากนี้การมีสมรรถนะการเคลื่อนไหวที่ดีจะช่วยเสริมสร้าง ป้องกัน บำบัดรักษา ฟื้นฟู และชะลอความเสื่อมของร่างกาย ทำให้มีสุขภาพดีอยู่เสมอ ดังนั้นเนื้อหาในหนังสือเล่มนี้ผู้เขียนจึงมีวัตถุประสงค์ให้ผู้อ่านได้ใช้เป็นแนวทางในการนำไปประยุกต์ใช้เพิ่มสมรรถนะการเคลื่อนไหวทั้งกับบุคคลทั่วไป และบุคคลที่มีการเคลื่อนไหวบกพร่อง เป็นต้น

หนังสือเล่มนี้แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนที่ 1 อธิบายถึงความรู้พื้นฐานของการเคลื่อนไหวประกอบด้วยโครงสร้างและหน้าที่ของสมอง กระบวนการประมวลผลข้อมูล หลักการการเคลื่อนไหวและหลักการการเรียนรู้การเคลื่อนไหว เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจถึงความรู้พื้นฐานของการเคลื่อนไหวซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการนำไปประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มสมรรถนะการเคลื่อนไหว ส่วนที่ 2 จะกล่าวถึงวิธีการที่จะสามารถเพิ่มสมรรถนะการเคลื่อนไหว ซึ่งประกอบด้วยการออกกำลังกาย ความใส่ใจและการจินตนาการการเคลื่อนไหว ซึ่งเนื้อหาในส่วนนี้เป็นการบูรณาการความรู้พื้นฐานสู่การปฏิบัติโดยได้มีการสอดแทรกองค์ความรู้จากงานวิจัยต่าง ๆ รวมทั้งงานวิจัยที่ผู้เขียนได้ศึกษาเอง

ภายในเล่มประกอบไปด้วยเนื้อหา 2 ส่วน ทั้งหมด 7 บท ส่วนที่ 1 ความรู้พื้นฐานของการเคลื่อนไหว (Fundamental of Movement)บทที่ 1 โครงสร้างและหน้าที่ของสมอง (Structure and Function of Brain) บทที่ 2 กระบวนการประมวลผลข้อมูล (Human Information Processing) บทที่ 3 หลักการการเคลื่อนไหว (Concept of Movement) บทที่ 4 หลักการการเรียนรู้การเคลื่อนไหว (Concept of Motor Learning) ส่วนที่ 2 การเพิ่มสมรรถนะการเคลื่อนไหว (Increasing Motor Performance) บทที่ 5 การออกกำลังกายและสมรรถนะการเคลื่อนไหว (Exercise and Motor Performance) บทที่ 6 ความใส่ใจและสมรรถนะการเคลื่อนไหว (Attention and Motor Performance) บทที่ 7 จินตนาการการเคลื่อนไหวและสมรรถนะการเคลื่อนไหว (Motor Imagery and Motor Performance)

Graphic Design และ Content Creator ที่หลงใหลในการเขียน Content และเชื่อว่า Content เป็นสิ่งสำคัญในการสื่อสารกับทุก ๆ คน