การส่งเสริมสุขภาพ

หลักการส่งเสริมสุขภาพ

สังคมในยุคปัจจุบัน การดำเนินชีวิต มีความซับซ้อนมากขึ้นผนวกกับปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อสุขภาพได้เปลี่ยนแปลงไปตามสภาพเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรม ทำให้เกิดโรคที่มาจากพฤติกรรมของปัจเจกบุคคล สิ่งสำคัญในการดูแลสุขภาพ ในยุคนี้คือการเพิ่มความสามารถของบุคคลให้มีศักยภาพเพื่อการดำรงคงอยู่ของสุขภาวะ ที่จะต้องมีการสร้างและส่งเสริมให้ดีขึ้น ตลอดจนการควบคุมปัจจัยและสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ เพื่อให้คนมีสุขภาพดี กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ “การส่งเสริมสุขภาพ” นั่นเอง

การส่งเสริมสุขภาพ

หลักการส่งเสริมสุขภาพเล่มนี้ เหมาะสำหรับผู้สนใจเรียนรู้หลักการส่งเสริมสุขภาพ ได้นําไปใช้ในการเรียนการสอน และการประยุกต์ใช้ใน การทำงานส่งเสริมสุขภาพ โดยตำราเล่มนี้เขียนขึ้นเพื่อใช้ประกอบการเรียนการสอนกระบวนวิชาการส่งเสริมสุขภาพ เนื้อหาวิชาประกอบด้วยประเด็นที่สําคัญ ๆ ที่ผู้เขียนได้พยายามรวบรวมประเด็นที่สําคัญของแต่ละเรื่องไว้ ตลอดจนสรุปใจความให้มีความกระชับและอ่านเข้าใจง่ายที่สุด เนื้อหาในแต่ละหัวข้อจะเริ่มจากแนวคิดพื้นฐานแล้วจึงกล่าวถึงการส่งเสริมสุขภาพประยุกต์ เพื่อให้ผู้อ่านสามารถทำความเข้าใจและสรุปภาพรวมได้ ตำราเล่มนี้ได้เรียบเรียงให้สามารถใช้ในการศึกษาค้นคว้าได้ด้วยตนเอง เนื่องจากตำราทางด้านการส่งเสริมสุขภาพที่เป็นภาษาไทยมีค่อนข้างจำกัด จึงหวังว่าตำราเล่มนี้จะเป็นประโยชน์กับนิสิต นักศึกษา ผู้ที่ทำงานด้านสาธารณสุขและผู้ที่สนใจทั่วไปในเรื่องนี้

การส่งเสริมสุขภาพ

ภายในเล่มประกอบไปด้วยเนื้อหา 14 บท ที่อธิบายถึง 1 . แนวคิดและหลักการส่งเสริมสุขภาพ 2. แนวคิดการส่งเสริมสุขภาพแบบองค์รวม 3. กลยุทธ์การส่งเสริมสุขภาพ 4. โครงการและกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพ 5. การส่งเสริมสุขภาพในชุมชน 6.การส่งเสริมสุขภาพในโรงเรียน 7. การสร้างสุขภาวะในสถานที่ทำงาน 8. การส่งเสริมสุขภาพในโรงพยาบาล 9. การเคลื่อนไหวออกแรง 10. อาหารส่งเสริมสุขภาพ 11. การจัดการความเครียด 12. การป้องกันอุบัติเหตุและการบาดเจ็บ 13. แอลกอฮอล์ 14. บุหรี่

1 . แนวคิดและหลักการส่งเสริมสุขภาพ

การส่งเสริมสุขภาพเป็นสิ่งที่มีมานาน นับตั้งแต่การสาธารณสุขได้พัฒนาขึ้นมาเป็น ศาสตร์หนึ่ง นับจากศตวรรษที่ 17 เป็นต้นมาจนถึงการเปลี่ยนรูปแบบไปของระบาดวิทยาในช่วง ศตวรรษที่ 20 ทำให้สาเหตุหลักของการตายและทุพพลภาพที่เกิดจากโรคติดเชื้อ ได้เปลี่ยนมาเป็นการเจ็บป่วยด้วยโรคไม่ติดเชื้อแบบเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็ง โรคความดันโลหิตสูงและอุบัติเหตุ โดยที่รูปแบบการดำเนินชีวิตมีผลต่อการเกิดความเจ็บป่วย ดังกล่าว (Naidoo & Will, 2001) และในแต่ละปี ทุก ๆ ประเทศ ได้ใช้จ่ายเงินจำนวนมหาศาล เพื่อรักษาสุขภาพของประชาชน ส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันอันตรายต่าง ๆ รวมทั้งป้องกันโรคที่ก่อให้เกิดการเจ็บป่วย เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน อย่างไรก็ดีวงการสาธารณสุขได้เริ่มให้ ความสำคัญกับงานส่งเสริมสุขภาพในมิติระดับสังคมที่มีแนวคิดของการส่งเสริมสุขภาพอย่างเป็นระบบ สอดคล้องกับโครงสร้างทางสังคมและแบบแผนการดำเนินชีวิตของบุคคลแต่ละช่วงวัย นับตั้งแต่ก่อนเกิดจนถึงตาย

ซึ่งขอบข่ายและแนวคิดเกี่ยวกับการส่งเสริมสุขภาพ มีมิติของความ สลับซับซ้อน กว้างขวาง ลึกซึ้ง และมีพลวัตแตกต่างไปจากเดิม ทั้งลักษณะปรัชญาและแนวคิดทฤษฎี หลักการ นโยบายในเชิงอุดมการณ์ รวมถึงยุทธวิธีที่จะนำไปสู่กิจกรรมที่สอดคล้องสัมพันธ์กับ ความต้องการและปัญหาอย่างแท้จริงทั้งในปัจจุบันและในอนาคต และการส่งเสริมสุขภาพเป็นที่ รับรู้กันในปัจจุบันว่าเป็นภารกิจที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายองค์กรในการปรับปรุงสุขภาพ ไม่สามารถจะทำได้โดยหน่วยงานด้านสุขภาพเพียงลำพัง แต่จะต้องมีการประสานการดำเนินการ ในด้านต่าง ๆ ร่วมกัน เพราะกระบวนการเพิ่มความสามารถของบุคคลให้สามารถดูแลสุขภาพตนเองให้เต็มศักยภาพ ซึ่งจะส่งผลให้ประชาชนมีสุขภาวะ ทั้งทางกาย จิต สังคม และจิตวิญญาณที่สมบูรณ์แข็งแรงนั้นเป็นการรับผิดชอบร่วมกันของสังคม การส่งเสริมสุขภาพเป็นที่รับรู้กันในปัจจุบันว่าเป็นภารกิจที่ต้องอาศัยองค์กรหลายองค์กรร่วมมือกัน การปรับปรุงสุขภาพไม่สามารถจะทำได้โดย หน่วยงานด้านสุขภาพเพียงหน่วยงานเดียว แต่จะต้องมีการประสานการดำเนินการในด้านต่าง ๆ ร่วมกัน เพราะกระบวนการเพิ่มความสามารถของบุคคลให้สามารถดูแลสุขภาพตนเองให้ เต็มศักยภาพ ซึ่งจะส่งผลให้ประชาชนมีสุขภาวะทั้งทางกาย จิต สังคม และจิตวิญญาณที่สมบูรณ์แข็งแรงนั้นเป็นการรับผิดชอบร่วมกันของสังคม (ณรงค์ศักดิ์ หนูสอน, 2553)

การส่งเสริมสุขภาพ

2. แนวคิดการส่งเสริมสุขภาพแบบองค์รวม

การส่งเสริมสุขภาพแบบองค์รวมมีความหมายกว้างขวาง ครอบคลุมในมิติทางชีววิทยา การแพทย์ สังคมวิทยา จิตวิทยา รวมถึงนิเวศน์วิทยา มีการเปลี่ยนแปลงจุดเน้นจากการส่งเสริม สุขภาพแบบดั้งเดิมเปลี่ยนเป็นมุมมองในองค์รวมของการส่งเสริมสุขภาพในระดับบุคคล ครอบครัว ชุมชนและในระดับประชากร โดยให้ความสำคัญต่อความหมายของชีวิต ความสุข บนข้อสันนิษฐาน เบื้องต้นว่า บุคคลทุกคนมีข้อดี ใช้กระบวนการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและสถานะทางสุขภาพ โดยการให้ความช่วยเหลือในการทำความเข้าใจในตนเอง และเยียวยาชีวิตภายใต้การต่อสู้กับพฤติกรรมและการเจ็บป่วย การมองสุขภาพในแนวสุขภาพแบบองค์รวม เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ ทั้งชีวิต มากกว่าการเน้นแค่ความเจ็บป่วยทางกายหรือการจัดการส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย ซึ่งการสร้างเสริมสุขภาพแบบองค์รวมจะพิจารณา “ตัวคนทั้งคน”

ความเกี่ยวเนื่องของร่างกาย จิตใจ จิตวิญญาณ รวมถึงปัจจัยทางสังคม สิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ที่มีปฏิสัมพันธ์กับบุคคล แนวคิดการสร้างเสริมสุขภาพได้พัฒนามาจากกฎบัตรออตตาวาในปี ค.ศ. 1986 วิวัฒนาการนี้ เป็นการเปลี่ยนแปลงตามหลักฐานและปรัชญา ในช่วงต้นของการพัฒนาการสร้างเสริมสุขภาพ การรับรู้พฤติกรรมสุขภาพส่วนบุคคลหรือวิถีชีวิต เป็นสาเหตุสำคัญของการนำไปสู่สุขภาพที่ไม่ดี และได้มีการเรียกร้องให้บุคคลต้องรับผิดชอบต่อสุขภาพของตนเอง กล่าวคือ การสร้างเสริมสุขภาพ เป็นการรับผิดชอบต่อตนเอง หรือเปลี่ยนมุมมองพฤติกรรม อย่างไรก็ตาม มีหลักฐานที่ชัดเจนว่า สังคม ปัจจัยทางเศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมเป็นปัจจัยสำคัญของพฤติกรรมและภาวะสุขภาพ มุมมองโครงสร้างหรือปัจจัยโครงสร้าง และความรับผิดชอบต่อบุคคลโดยไม่ได้พิจารณาปัจจัย ด้านโครงสร้างที่เป็นการมองที่ไม่รอบด้าน (Jancey et al., 2016)

3. กลยุทธ์การส่งเสริมสุขภาพ

กลยุทธ์ด้านการส่งเสริมสุขภาพได้มุ่งเน้นให้ความสำคัญตั้งแต่ต้นน้ำ หรือวิธีการที่ทำงานเพื่อแก้ไขรากเหง้าของปัญหาทางสุขภาพ โดยการเปลี่ยนเงื่อนไขและสภาพแวดล้อม ในที่อยู่อาศัย สถานที่ทำงาน และที่พักผ่อนหย่อนใจ โดยธรรมชาติแล้วกลยุทธ์การส่งเสริมสุขภาพจะมีความสัมพันธ์และเสริมซึ่งกันและกันในแต่ละแผนงานหรือกิจกรรม นอกจากนี้อาจเป็นการริเริ่มใน แผนกลยุทธ์อื่น ๆ ในโปรแกรมอื่น ๆ ดังนั้นแผนกลยุทธ์ทางการส่งเสริมสุขภาพที่มีประสิทธิภาพ ควรประกอบด้วยความหลากหลายของกิจกรรม และมักจะต้องมีความร่วมมือกันในหลาย ๆ สาขาหรือหลาย ๆ กลยุทธ์ การส่งเสริมสุขภาพในปัจจุบันมีความเฉพาะเจาะจงมากขึ้น มีการบูรณาการกิจกรรมต่าง ๆ และการดำเนินงานที่ครอบคลุมตามยุทธศาสตร์ 5 ประการของการสร้างเสริม สุขภาพตามแนวคิด “สร้างนำซ่อม” ของกฎบัตรออตตาวา (Ottawa Chapter for Health Promotion) (WHO, 1986) ดังนั้น กลยุทธ์ด้านการส่งเสริมสุขภาพ จึงเป็นแนวทางในการทำงานของบุคลากรที่ทำหน้าที่ด้านการส่งเสริมสุขภาพ โดยมีการกำหนดรูปแบบกิจกรรมในการพัฒนาบริการสุขภาพที่บูรณาการเข้ากับงานด้านการส่งเสริมสุขภาพ มีวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายที่มี ความชัดเจน สอดคล้องกับการลำดับความสำคัญของปัญหาสุขภาพ การมีส่วนร่วม และรูปแบบ การปฏิบัติงานที่มีความเหมาะสมกับบริบทของแต่ละพื้นที่

4. โครงการและกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพ

การส่งเสริมสุขภาพ (Health Promotion) ในยุคปัจจุบันได้ดำเนินการในระบบบริการสุขภาพทุกระดับทั้งในระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และตติยภูมิ ซึ่งนับว่ามีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนทำให้การสร้างเสริมสุขภาพบรรลุเป้าหมายของการนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ดีด้านสุขภาพต่อประชาชน ซึ่งปัจจุบันบทบาทการสร้างเสริมสุขภาพได้มีการให้ความสำคัญกับโปรแกรมสร้างเสริมสุขภาพ มากขึ้น ทั้งในรูปของโครงการ (Projects) และกิจกรรมต่าง ๆ (Klunklin et al., 2015) เพื่อช่วยในการจัดการกับสาเหตุในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการสร้างเสริมสุขภาพให้เหมาะสมและสอดคล้องกับบริบท สถานการณ์และกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น กิจกรรมและโครงการส่งเสริมสุขภาพเป็นกิจกรรมที่อาจเกิดขึ้นจากหลายกรณี เช่น กรณีปัญหา กรณีความสนใจ เป็นต้น ซึ่งมีลักษณะพิเศษ คือ เกิดความสนใจและการมีเป้าหมายร่วมกันของคนในชุมชน ทำให้มีการรวมพลัง มีการสนทนาอย่างพินิจพิเคราะห์ ริเริ่มกิจกรรมอย่างสร้างสรรค์หลากหลาย มีการจัดการร่วมกันภายใต้ความสัมพันธ์ในแนวราบ เรียนรู้ สรุปบทเรียนร่วมกัน ลักษณะความร่วมมือในการดำเนินกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพ จึงเป็นลักษณะของเครือข่ายความร่วมมือจากหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องเป็นพหุภาคี กล่าวคือ องค์กรต่าง ๆ ที่มีอยู่ทั้งในองค์กร ชุมชนและท้องถิ่น โดยมีสำนึกและรู้สึกในความเป็นเจ้าของพื้นที่หรือกิจกรรม มีการเข้ามาร่วมมือในลักษณะของความเป็นหุ้นส่วน คือ ร่วมคิดและร่วมตัดสินใจ ร่วมวางแผน ร่วมปฏิบัติ และระดมทรัพยากร มีการแบ่งงานกันทำและร่วมตรวจสอบประเมินผล รับรองผลจากการพัฒนาที่มีเป้าหมายสาธารณะ เพื่อพัฒนาสุขภาพของคนในระดับต่าง ๆ การดำเนินการที่เป็นรูปธรรมในทางปฏิบัติโดยมีเป้าหมายสำคัญคือ ให้ประชาชนมีส่วนร่วม ในกิจกรรมโครงการในท้องถิ่น โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจและดำเนินการ มีองค์กร ที่ไม่เป็นทางการหรือองค์กรอาสาสมัคร มีบทบาทสำคัญในท้องถิ่น มีกลุ่มองค์กรต่าง ๆ ทั้งใน และนอกชุมชนร่วมมือดำเนินกิจกรรมเพื่อเป้าหมายของการมีส่วนร่วม สิ่งเหล่านี้จะทำให้กิจกรรมโครงการส่งเสริมสุขภาพมีประสิทธิภาพและมีความยั่งยืน

5. การส่งเสริมสุขภาพในชุมชน

การสาธารณสุขในโลกปัจจุบันแม้จะเจริญก้าวหน้า สามารถกำจัดโรคร้ายหลายชนิดและทำให้คนมีชีวิตที่ยืนยาว แต่วิกฤติที่ควบคู่กันไปกับความสำเร็จนี้ คือ การดูแลสุขภาพแบบแยกส่วน และไม่สามารถตอบโจทย์ปัญหาสุขภาพใหม่ คือ โรคเรื้อรัง โรคอุบัติใหม่ โรคอุบัติซ้ำได้ ปัญหาสุขภาพที่เป็นผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศของโลก และปัญหาผู้สูงอายุที่เกิด การเปลี่ยนโครงสร้างประชากร ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจ สังคม การเมือง วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม พฤติกรรมและวิถีชีวิตของประชาชน ล้วนส่งผลต่อปัจจัยกำหนดสุขภาพของประชาชนทั้งด้านบวกและลบ องค์การอนามัยโลกได้กำหนดเป้าหมายว่า ประชาชนควรได้รับการพัฒนา ให้มีสุขภาพที่สามารถดำรงชีวิตได้อย่างปกติสุข ตามภาวะเศรษฐกิจและสังคมของท้องถิ่นนั้น ๆ ตามแนวทางของกฎบัตรออตตาวา (Ottawa Charter) ที่มุ่งเน้นการสร้างนโยบายสาธารณะที่เอื้อต่อสุขภาพ การสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ การเพิ่มความสามารถของชุมชน การพัฒนาทักษะส่วนบุคคลและการปรับเปลี่ยนระบบบริการสุขภาพ

โดยประเทศไทยได้มีการกระจายอำนาจ ด้านสุขภาพให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตาม พ.ร.บ. กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจ พ.ศ. 2542 มาตรา 16 การสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพื่อขยายโอกาสการเข้าถึงบริการสุขภาพและรัฐบาลมีนโยบายดำเนินการตามแนวทางของกฎหมายสุขภาพแห่งชาติ โดยเร่งดำเนินมาตรการสร้างเสริมสุขภาพ และลดปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อสุขภาพและการเจ็บป่วยเรื้อรัง (พรเทพ ศิริวนารังสรรค์, 2552) ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว การส่งเสริมสุขภาพในชุมชนหรือในระดับ ท้องถิ่น เป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งที่จะส่งเสริมให้ประชาชนทุกคนมีสุขภาพที่ดี สามารถสร้างเสริมสุขภาพของตน และควบคุมปัจจัยต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อสุขภาพ โดยสร้างมาตรการทางสังคมกำหนดให้สุขภาพเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของสังคม เริ่มต้นจากระดับปัจเจกบุคคล ครอบครัว และชุมชน

6. การส่งเสริมสุขภาพในโรงเรียน

การมีสุขภาพดีเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนพึงปรารถนา การมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ การดูแลสุขภาพที่ถูกต้อง และสามารถนำไปปฏิบัติได้จริงสามารถตัดสินใจเลือก สิ่งที่ดีเพื่อการดำรงชีวิตได้อย่างเหมาะสม โดยองค์ความรู้ดังกล่าวจะสามารถพัฒนาควบคู่ไปกับการศึกษา โดยองค์การอนามัยโลก (WHO, 2019a) ได้กำหนดยุทธศาสตร์การส่งเสริมสุขภาพในโรงเรียนโดยใช้แนวคิด การอนามัยในโรงเรียนแห่งโลก (Global School Health Initiative : GSHI) ขึ้นในปี ค.ศ. 1995 เพื่อขับเคลื่อนและสร้างความเข้มแข็งของกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพไปพร้อมกับการให้การศึกษา เป้าหมายของโครงการ คือ การเพิ่มจำนวนโรงเรียนที่มีการดำเนินการส่งเสริมสุขภาพในโรงเรียน อย่างแท้จริง โดยจะต้องทำให้โรงเรียนเป็นสถานที่สำหรับการใช้ชีวิต เรียนรู้และทำงานได้อย่างมีสุขภาพดี จุดเริ่มต้นของแนวคิดดังกล่าว มาจากข้อตกลงจากการประชุมประเทศสมาชิกขององค์การอนามัยโลกเกี่ยวกับข้อเสนอแนะในการขับเคลื่อนการส่งเสริมสุขภาพ ในปี ค.ศ.1986 (WHO, 2019b) ที่ประเทศแคนาดา กลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านการส่งเสริมสุขภาพและการศึกษาขององค์การอนามัยโลก ระบุถึงลักษณะของการดำเนินการต้องมีการสนับสนุนด้านสุขภาพและการเรียนรู้โดยใช้ทรัพยากรทั้งหมดของโรงเรียนที่มีอยู่ และการมีส่วนร่วมของบุคลากรในโรงเรียน คณะกรรมการนักเรียน ผู้ปกครองสถานพยาบาล และผู้นำชุมชน ในการที่จะทำให้โรงเรียนเป็นสถานที่ที่มี สุขภาพดี (Kickbusch et al., 1998) จากการประชุมดังกล่าว เป็นผลให้แต่ละประเทศเกิด การพัฒนารูปแบบบริการสุขภาพที่เน้นการให้บริการเชิงรุก โดยนำแนวคิดการสร้างเสริมสุขภาพ (Health Promotion) มาเป็นกลยุทธ์หลักที่จะนำไปสู่การดูแลสุขภาพประชาชนแต่ละกลุ่มที่มีความ แตกต่างกัน โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชนซึ่งเป็นทรัพยากรที่สำคัญ ซึ่งยังพบปัญหาสุขภาพ เช่น ภาวะน้ำหนักเกิน อ้วน ฟันผุ สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ รวมทั้งการเจ็บป่วยเรื้อรังและปัญหาสุขภาพจิตเพิ่มสูงขึ้น (Wijlaars et al., 2016) ปัญหาดังกล่าวอาจนำไปสู่ปัญหาอื่น ๆ ตามมา กลุ่มเด็กนักเรียนมีความต้องการทางสุขภาพที่ซับซ้อนมากขึ้นและที่สำคัญสุขภาพของนักเรียนมีความ สัมพันธ์กับความสามารถในการเรียนรู้ (Sharma et al., 2018) ดังนั้นการสร้างเสริมสุขภาพในโรงเรียน จึงเป็นโอกาสที่ดีที่สุดของการสร้างสุขภาพแก่นักเรียน ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและ ลดพฤติกรรมเสี่ยงต่าง ๆ (WHO, 2017b)

7. การสร้างสุขภาวะในสถานที่ทำงาน

การทำงานถือเป็นมิติที่สำคัญอย่างหนึ่งของชีวิตมนุษย์ โดยบุคคลที่อยู่ในวัยทำงานมักจะใช้เวลาใช้ชีวิตอยู่ในสถานที่ทำงานหรือสถานประกอบการถึงวันละ 8-12 ชั่วโมง สถานที่ทำงาน จึงถือเป็นปัจจัยที่มีผลอย่างมากต่อแบบแผนการดำเนินชีวิตและภาวะสุขภาพของบุคคล สถานที่ทำงานหรือสถานประกอบการที่มีลักษณะเอื้อต่อการปฏิบัติงาน เช่น มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกในการทำงาน มีบรรยากาศการทำงานที่ดี ย่อมจะส่งผลให้ผู้ปฏิบัติงานมีสภาพจิตใจ และอารมณ์ที่ดี ซึ่งส่งผลให้ศักยภาพในการทำงานเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ในทางตรงกันข้ามการที่ต้องทนปฏิบัติงาน ในสถานที่ทำงานที่มีสภาพแวดล้อมไม่เอื้อต่อการปฏิบัติงาน ย่อมจะก่อเกิดผลเสียต่อสุขภาพ ทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ หรือเกิดอุบัติเหตุจากการปฏิบัติงานได้ง่าย ๆ จนอาจทำให้เกิด การเจ็บป่วย กระทั่งมีการขาดหรือลางานบ่อย ๆ และส่งผลเสียต่อผลผลิตของงานตามมา วิทยาลัยการพยาบาลแห่งสหราชอาณาจักร (CDC, 2016) ได้กล่าวว่า การใช้โปรแกรมและนโยบายดูแลสุขภาพพนักงานสามารถลดความเสี่ยงด้านสุขภาพ ลดค่าใช้จ่ายโดยตรงเกี่ยวกับสุขภาพ เช่น เบี้ยประกัน และค่าสินไหมทดแทนของพนักงาน นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบเชิงบวกต่อต้นทุน ทางอ้อม เช่น การขาดงานและการทำงานของพนักงาน นายจ้าง ลูกจ้างครอบครัวและชุมชน ทั้งหมดได้รับประโยชน์จากการป้องกันโรค การบาดเจ็บและสุขภาพที่ยั่งยืน ดังนั้นการสร้าง สุขภาวะให้เกิดขึ้นในที่ทำงาน จึงถือเป็นมาตรการสำคัญอันหนึ่งที่สถานประกอบการหรือองค์กร ทุกแห่งควรตระหนักถึงความสำคัญ และมีการกำหนดมาตรฐานเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่เอื้อ ต่อการส่งเสริมสุขภาพ เช่น การควบคุมเรื่องแสง เสียง กลิ่น อุณหภูมิและการรบกวนทางสายตา ซึ่งล้วนแต่ส่งผลกระทบต่อกระบวนการในการปฏิบัติงานทั้งสิ้น นอกจากนี้การจัดสภาพแวดล้อมในที่ทำงานให้มีที่ดี สะอาด ปลอดภัย และถูกสุขลักษณะ นอกจากจะมีส่วนช่วยให้พนักงานปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ยังจะเป็นการสร้างบรรยากาศที่ดีในการทำงาน ส่งเสริมให้เกิดการทำกิจกรรมร่วมกัน เกิดความรักความสามัคคี และการทำงานเป็นทีมตามมา (กรมอนามัย, 2549; ดวงเนตร ธรรมกุล, 2555)

8. การส่งเสริมสุขภาพในโรงพยาบาล

หลังจากปี พ.ศ. 2529 เป็นต้นมา แนวคิดและกระแสของการส่งเสริมสุขภาพได้เกิดขึ้น อย่างกว้างขวาง แนวทางที่ได้มีการนำมาดำเนินการมาก คือ การส่งเสริมสุขภาพตามสถานที่ (Setting) เช่น การจัดสถานที่ทำงานให้น่าอยู่น่าทำงาน (Healthy Workplace) การพัฒนาเมืองให้น่าอยู่ (Healthy Cities) การดำเนินการโรงเรียนให้เป็นโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ (Health Promoting School) โรงพยาบาลเป็นสถานที่ทำงาน (Workplace) ประเภทหนึ่ง และเป็นสถานที่ทำงานที่ประกอบด้วยบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถทางการแพทย์ และสาธารณสุข ดังนั้น โรงพยาบาลจึงมีศักยภาพที่จะสร้างคุณค่าให้แก่สังคม ซึ่งวิธีการ ได้แก่ การดำเนินการให้โรงพยาบาลเป็น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ (Health Promoting Hospital) โดยคำว่า โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2531 (ค.ศ.1988) ณ กรุงโคเปนเฮเกน ผู้เชี่ยวชาญจากกลุ่มประเทศในทวีปยุโรป ได้มีการประชุมถึงเรื่อง แนวคิด ขอบเขต และกลยุทธ์การส่งเสริมสุขภาพ โดยใช้โรงพยาบาล เป็นฐาน ซึ่งแนวคิดดังกล่าว มีอิทธิพลมาจากแนวคิดพื้นฐานของกฎบัตรออตตาวา คำว่า โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพได้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ตัวอย่างเช่น ได้จัดให้มีการประชุมวิชาการระหว่างประเทศ เรื่อง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2536 (ค.ศ.1993) และ ครั้งที่ 7 เมื่อปี พ.ศ. 2542 (ค.ศ.1999) สำหรับโรงพยาบาลในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปมีกิจกรรมเกือบทั้งหมดมุ่งเน้นการรักษาพยาบาลเป็นหลัก ส่วนกิจกรรมด้านการส่งเสริมสุขภาพมีสัดส่วนน้อยมาก ดังนั้น ถ้ายึดมั่นกับคำจำกัดความของ การส่งเสริมสุขภาพ และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ อาจต้องยอมรับว่า โดยภาพรวมของประเทศไทยในโรงพยาบาลใหญ่ ๆ ระดับจังหวัด อาจมีกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพน้อยและ ยังไม่ครอบคลุม แต่ในโรงพยาบาลระดับชุมชนจะมีกิจกรรมด้านส่งเสริมสุขภาพมากกว่า (บวร งามศิริอุดม และสายพิณ คูสมิทธิ, 2559)

9. การเคลื่อนไหวออกแรง

ในช่วงเริ่มต้นของศตวรรษที่ 21 การเคลื่อนไหวออกแรง ในการทำกิจกรรมของมนุษย์ได้ลดลง ผู้คนอาจเริ่มมองข้ามความสำคัญของสุขภาพและด้วยความเป็นอยู่ที่ดีด้วยอาหารที่อุดมสมบูรณ์ ทำให้คนส่วนใหญ่ในหลาย ๆ ประเทศ ประสบกับปัญหาโรคอ้วนเพิ่มขึ้น การเคลื่อนไหวออกแรงเป็นกิจกรรมทางกายของมนุษย์ ซึ่งร่างกายมนุษย์มีวิวัฒนาการมานับหลายล้านปีมาแล้ว มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ซับซ้อนซึ่งสามารถทำงานได้หลากหลาย ตั้งแต่ใช้กลุ่มกล้ามเนื้อมัดใหญ่ใน การเดิน วิ่ง หรือปีนป่าย เพิ่มความคล่องแคล่วด้วยตนเอง ซึ่งการลดลงของการเคลื่อนไหวออกแรง อาจดูขัดแย้งกับการรับรู้ทั่วไป โดยเฉพาะประเทศตะวันตก จะเต็มไปด้วยผู้คลั่งไคล้การออกกำลังกาย มีสโมสรและสิ่งอำนวยความสะดวกเกี่ยวกับกีฬาและมีรายการในสื่อมวลชนเกี่ยวกับสุขภาพ และการออกกำลังกายมากขึ้น แต่ดูเหมือนจะไม่ได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมสุขภาพ มากนัก วิถีการดำเนินชีวิตที่ปฏิบัติเป็นประจำและมีผลกระทบร้ายแรงต่อสุขภาพของประชาชน ที่เห็นได้ชัดที่สุด คือ การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของโรคอ้วนทั่วทุกภูมิภาคในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

โรคอ้วนเกี่ยวข้องกับภาวะสุขภาพ ได้แก่ เป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคเบาหวานและโรคหัวใจและ หลอดเลือด (CVD) เห็นว่าการไม่ออกกำลังกายเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเกิดโรค การเสียชีวิต และความพิการของประชากรทั่วโลก นอกจากนี้การไม่ออกกำลังกายเป็นปัจจัยเสี่ยงสำหรับโรคหัวใจและหลอดเลือดแล้ว ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงในโรคเรื้อรังอื่น ๆ ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง (ลำไส้ใหญ่และเต้านม) โรคอ้วน โรคความดันโลหิตสูง โรคกระดูกและโรคข้อ (โรคกระดูกพรุนและ โรคข้อเข่าเสื่อม) และภาวะซึมเศร้า ความชุกของการไม่ออกกำลังกาย สูงกว่าปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ทั้งหมด จากการทบทวนวรรณกรรม พบว่า การออกกำลังกายสามารถป้องกันการเสียชีวิต ก่อนวัยอันควรจากสาเหตุโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน โรคมะเร็งบางชนิด และโรคกระดูกพรุนได้ (Cavill et al., 2006)

10. อาหารส่งเสริมสุขภาพ

อาหารเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีความสำคัญกับสุขภาพร่างกายที่ให้ทั้งคุณประโยชน์ที่ทำให้ร่างกายมีการเจริญเติบโตและเสริมสร้างให้ร่างกายมีสุขภาพแข็งแรง ระบบกลไกการทำงานของร่างกายจะเป็นไปตามปกติได้ต้องอาศัยสารอาหารและแร่ธาตุต่าง ๆ มนุษย์เราต้องอาศัยอาหาร ในการดำรงชีพ ในขณะเดียวกัน การได้รับสารอาหารมากเกินไป หรือได้รับน้อยเกินไปก็ให้โทษ ต่อร่างกายได้เช่นกัน ซึ่งพบว่าปัญหาที่เกิดจากการกินอาหารที่ขาดหรือเกินสมดุลของร่างกาย ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพในปัจจุบันนี้ ได้แก่ ปัญหาภาวะโภชนาการเกิน ทำให้เกิดโรคเรื้อรัง หลายชนิด เช่น กลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ซึ่งมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ประกอบกับโครงสร้างประชากรที่มีแนวโน้มเป็นผู้สูงอายุมากขึ้น ที่พบว่าความเสื่อม ของร่างกายกับพฤติกรรมการกินอาหารมากเกินไป ทำให้มีโอกาสเกิดโรคเรื้อรังสูงซึ่งจะเป็นปัญหาในระบบบริการสุขภาพในอนาคตอันใกล้นี้ ในขณะเดียวกันภาวะการขาดสารอาหารก็ยังพบในเรื่องการขาด สารอาหารบางชนิด ได้แก่ ภาวะโลหิตจาง จากการขาดธาตุเหล็กที่เกิดในหญิงมีครรภ์ ที่อาจมีผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของเด็กในครรภ์และการคลอด หรือภาวะการขาดแคลเซียมในคนสูงอายุที่มีผลต่อภาวะกระดูกพรุน นอกจากนี้จากผลการวิจัยยังพบว่า อาหารบางชนิด เช่น อาหารสีเขียว เส้นใยอาหาร อาหารกลุ่มสารสีแดง ยังสามารถป้องกันการเกิดโรคมะเร็งบางชนิดได้อีกด้วย (ณรงค์ศักดิ์ หนูสอน, 2553)

11. การจัดการความเครียด

คนจำนวนมากต้องพบกับความเครียดที่เกิดจากปัญหาการดำเนินชีวิตประจำวันจาก การทำงาน และสิ่งแวดล้อม ความเครียดทำให้เกิดผลกระทบเชิงลบแก่บุคคลทั้งร่างกายและจิตใจ โดยส่งผลให้คุณภาพชีวิต และศักยภาพในตัวบุคคลลดลง อารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย และไม่สามารถควบคุมอารมณ์ ขาดสมาธิ ขาดวิจารณญาณในการแก้ไขปัญหาและตัดสินใจ ขาดความคิดสร้างสรรค์ และไม่มีความพึงพอใจในชีวิต หากบุคคลมีความเครียดในการปฏิบัติงานจะส่งผลให้เกิด ความสูญเสียต่อความสำเร็จหรือล้มเหลวทั้งในระดับบุคคลและระดับองค์กร แต่ละคนมีกลไก การปรับตัวไม่เหมือนกัน บางคนไม่เคยประสบกับสภาวะกดดัน ปัญหา หรือความทุกข์ จึงเกิดความเครียดได้ง่าย ส่งผลให้มีการตอบสนองที่รุนแรง เช่น มีอาการทางกาย ปวดศีรษะ ปวดท้อง เป็นไข้ หรือมีการแสดงกิริยาไม่ดีใส่คนรอบข้าง เป็นต้น ความเครียดเรื้อรังอาจส่งผลกระทบต่อ การเผชิญความเครียด ทักษะในการรับมือกับการปรับตัว ทำให้บุคคลมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นสำหรับอาการของโรคจิตเภท รวมถึงความวิตกกังวล ภาวะซึมเศร้า และผลกระทบของความเครียดอาจจะเด่นชัดในช่วงวัยรุ่น (Reising et al., 2017)

12. การป้องกันอุบัติเหตุและการบาดเจ็บ

ในปัจจุบันการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ ยังคงเป็นปัญหาที่สำคัญของทุกประเทศทั่วโลก การบาดเจ็บก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาล และทรัพย์สินเสียหาย ผลกระทบทางด้านสุขภาพ พบว่า ผู้ที่ประสบเหตุมีอาการบาดเจ็บรุนแรงจะมีร่องรอยของความพิการคงอยู่ มีผลต่อการดำรงชีวิตประจำวัน การกลับสู่สังคม และ เป็นภาระแก่ครอบครัวและสังคมในระยะยาว ผู้ป่วยที่อาการบาดเจ็บรุนแรงส่งผลทำให้พยาธิสภาพในระบบต่าง ๆ ของร่างกายเปลี่ยนไป เช่น ความดันโลหิต อัตราการหายใจ และระดับความรู้สึกต้องได้รับการช่วยเหลือตามมาตรฐานทางการแพทย์ (American College of Surgeons, 2015) จากการศึกษาดัชนีการเกิดโรคจากทั่วโลก ในปี ค.ศ. 2013 (The Global Burden of Diseases Study 2013) พบว่า สาเหตุหลักของการเสียชีวิตมาจากการได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุบนถนน ร้อยละ 29 การทำร้ายตัวเอง ร้อยละ 17.6 การหกล้ม ร้อยละ 11.6 และการใช้ความรุนแรง ต่อบุคคล ร้อยละ 8.5 แบ่งเป็นลักษณะการบาดเจ็บรุนแรงที่เข้ารับการรักษาในแผนกฉุกเฉินของ โรงพยาบาล ร้อยละ 5.8 เข้ารับการรักษาต่อในแผนกผู้ป่วยใน ร้อยละ 38.5 ส่วนใหญ่เกิดจาก การแตกหักของกระดูกและการบาดเจ็บเล็กน้อยและเข้ารับการรักษาเป็นผู้ป่วยนอก ร้อยละ 75.2 ในทุกภูมิภาคมีอัตราการบาดเจ็บที่สูงมากจะเกิดในผู้ชายมากกว่าในผู้หญิง ยกเว้นในกลุ่มผู้สูงอายุ

การหกล้มเป็นสาเหตุที่สำคัญในกลุ่มของผู้สูงอายุ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1990 แนวโน้มอัตราการบาดเจ็บ ส่วนใหญ่ลดลงในภูมิภาคที่มีรายได้สูง แต่กลับพบว่าเกิดขึ้นมากในประเทศที่มีรายได้ต่ำและรายได้ปานกลาง ในการศึกษาต่าง ๆ พบเหตุผลเพราะเกิดจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ ความหนาแน่นของการจราจร การบังคับใช้กฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่มีการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว เช่น บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีนและแอฟริกาใต้ ซึ่งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในวิถีชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและการเสียชีวิต จากการศึกษาพบว่า ประเทศเหล่านี้มีอัตราการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนค่อนข้างสูง (Haagsma et al., 2015)

13. แอลกอฮอล์

ในปัจจุบันสถานการณ์การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นพฤติกรรมทางสังคม ซึ่งแพร่หลายทั่วโลก เนื่องจาก ความพิเศษของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เป็นสารออกฤทธิ์ ต่อจิตประสาท และสมอง (Psychoactive Substance) เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะถูกดูดซึมที่ กระเพาะอาหารเข้าสู่สมองและไขสันหลังอย่างรวดเร็ว ทั้งยังส่งผลต่อการรับรู้ อารมณ์ สติ การสั่งการของสมอง และพฤติกรรมในการกดการทำงานของสมอง และการทำงานของสารสื่อประสาทที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะโดบามีน (Dopamine) และเอนโดฟิน (Endorphins) ส่งผลให้มีความรู้สึกเคลิบเคลิ้ม และเสพติด หากดื่มติดต่อกันเป็นประจำ (ทักษพล ธรรมรังสี และอรทัย วลีวงศ์, 2559) เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์จึงแทรกซึมอยู่ในความหลากหลายทางวัฒนธรรมยาวนานหลายศตวรรษ จากรายงานสถานการณ์สุขภาพและการดื่มแอลกอฮอล์และสุขภาพ พบว่า ในปี ค.ศ. 2018 ผลของการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีความเสี่ยงต่อภาวะสุขภาพ และเป็นสาเหตุการเกิดโรคเรื้อรัง ได้แก่ โรคตับแข็ง โรคมะเร็ง โรคหัวใจและหลอดเลือด ความผิดปกติทางจิต และโรคพิษสุราเรื้อรัง

นอกจากนี้การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยังส่งผลกระทบต่อสังคม กล่าวคือ เมื่อเกิดอาการมึนเมายิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุการจราจร การทำร้ายร่างกาย การทะเลาะวิวาท ความรุนแรง และการฆ่าตัวตาย อันนำมาสู่ปัญหาและภาระแก่บุคคล ครอบครัว สังคม และเศรษฐกิจ และ จากการศึกษายังพบความสัมพันธ์ระหว่างการดื่มต่ออุบัติการณ์ของโรคติดเชื้อเอชไอวี วัณโรค และผลเสียต่อสมองของทารกในครรภ์ และภาวะแทรกซ้อนที่เกิดในระยะก่อนคลอด โดยในปี ค.ศ. 2018 พบผู้เสียชีวิตจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 3.3 ล้านคน หรือร้อยละ 5.9 ของ การเสียชีวิตทั่วโลก (WHO, 2018a) ในปี ค.ศ. 2010 พบปริมาณการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประชากรที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป เท่ากับ 13.5 กรัมต่อวัน และยังพบนักดื่มหน้าใหม่ที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป เพิ่มขึ้นร้อยละ16 นอกจากนี้ยังพบว่า ยิ่งมีความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจของประเทศยิ่งมีการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มมากขึ้น (WHO, 2018b) ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลพฤติกรรมการบริโภค เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในระดับบุคคลและระดับสังคมประกอบด้วย ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม การพัฒนาทางเศรษฐกิจ วัฒนธรรม ความพร้อมดื่มของแอลกอฮอล์ และการครอบคลุมการบังคับใช้นโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

14. บุหรี่

บุหรี่เป็นสิ่งเสพติดที่หาซื้อได้ง่ายตามท้องตลาด และการสูบบุหรี่ เป็นจุดเริ่มต้นของ การติดสิ่งเสพติดชนิดอื่น ๆ ผู้สูบบุหรี่มักไม่ค่อยตระหนักถึงผลกระทบที่ตามมาจากการสูบบุหรี่ มากนัก การสูบบุหรี่เป็นสาเหตุของการเสียชีวิติก่อนอันควรถึง 15 ปี ร้อยละ 50 ของผู้สูบบุหรี่ มักจะเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ ซึ่งในจำนวนผู้เสียชีวิตทั่วโลก พบว่า ร้อยละ 12 เกิดจากการสูบบุหรี่ และร้อยละ 14 เสียชีวิตด้วยโรคเรื้อรัง โดยเฉพาะโรคหัวใจ โรคมะเร็ง โรคเบาหวานและโรคปอด นอกจากนี้ยังมีผู้เสียชีวิตที่เสียชีวิตด้วยโรคติดเชื้อที่มีการสูบบุหรี่เป็นสาเหตุร่วมด้วย โดยคิดเป็น ร้อยละ 5 ของผู้เสียชีวิตทั่วโลก ซึ่งร้อยละ 7 เสียชีวิตจากโรควัณโรค ร้อยละ 12 เสียชีวิตเนื่องจาก การติดเชื้อระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง (WHO, 2017) ผลกระทบจากการสูบบุหรี่ ประกอบด้วยผลกระทบต่อสุขภาพ คือ หัวใจเต้นเร็วขึ้น และความดันโลหิตสูงขึ้น มีกรดในกระเพาะอาหาร มากขึ้น มีกลิ่นปาก และการสูบบุหรี่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดแดงใหญ่ โป่งพอง โรคถุงลมโป่งพอง ทางเดินหายใจอุดกั้นเรื้อรัง หลอดลมอักเสบ หอบหืด โรคมะเร็งปอด มะเร็งช่องปาก มะเร็งหลอดลม มะเร็งตับอ่อน มะเร็งกล่องเสียง เป็นต้น การสูบบุหรี่ตั้งแต่เป็น วัยรุ่นเป็นเหมือนการฝึกปฏิบัติที่จะนำไปใช้ในการใช้เสพยาเสพติดอื่น ยาสูบเป็นประตูด่านแรกของการติดยาเสพติดหรือที่เรียกว่า Gate Way Drug โดยผู้ที่ติดยาเสพติดเกือบทั้งหมด เริ่มมาจาก การเสพติดบุหรี่ก่อน เยาวชนที่สูบบุหรี่มีการใช้ยาเสพติดชนิดอื่นมากกว่าเยาวชนที่ไม่สูบบุหรี่ถึง 17 เท่า (อาภาวรรณ โสภณธรรมรักษ์, 2558)

เอกสารอ้างอิง

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข. (2549). สถานที่ทำงาน น่าอยู่ น่าทำงาน. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ:
สำนักงานกิจการโรงพิมพ์ องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก.

ดวงเนตร ธรรมกุล. (2555). การสร้างสุขภาวะในองค์กร. วารสารวิจัยทางวิทยาศาสตร์สุขภาพ,
6
(1), 1-9.

ณรงค์ศักดิ์ หนูสอน. (2553). การส่งเสริมสุขภาพในชุมชน แนวคิดและการปฏิบัติ. กรุงเทพฯ:
โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ทักษพล ธรรมรังสี และอรทัย วลีวงศ์. (2559). เอกสารวิชาการชุดแอลกอฮอล์และสมอง.
สืบค้น 2 มิถุนายน 2560, จาก ttp://resource.thaihealth.or.th/system/file/
document/

บวร งามศิริอุดม และสายพิณ คูสมิทธิ. (2559). บทความพิเศษโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ: มิติใหม่
ของโรงพยาบาล. วารสารการส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม, 22(2). สืบค้น 28
กันยายน 2561, จาก http://advisor.anamai.moph.go.th/main.php?
filename=JHealthVol22No2_02

พรเทพ ศิริวนารังสรรค์. (2552). นโยบายสาธารณสุขเพื่อแก้ไขปัญหาสาธารณสุขของ
ประเทศ
. (เอกสารประกอบการสอนรายวิชาปรัชญาการสาธารณสุขขั้นสูง). พิษณุโลก:
คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร.

อาภาวรรณ โสภณธรรมรักษ์. (2558). ป้องกันยาเสพติดในเด็กโดยป้องกันไม่ให้ติดบุหรี่.
สืบค้น 1 มิถุนายน 2561, จาก https://www.thaihealth.or.th/

American College of Surgeons. (2015). Advanced trauma life support course.
(8th ed.). Chicago (IL); n. p.

Cavill, N., Kahlmeier, S., & Racioppi, F. (2006). Physical activity and health in Europe:
evidence for action
. Copenhagen: World Health Organization, Printed in
Denmark.

Center for Disease Control and Prevention. (2016). Workplace health model. Retrieved
July 18, 2019, from https://www.cdc.gov/workplacehealthpromotion/
model/index.html.

Haagsma, J. N., Graetz, I., & Bolliger. (2015). The global burden of injury: incidence,
mortality, disability-adjusted life years and time trends from the global
burden of disease study 2013. Inj Prev, 0, 1-16.

Jancey, J., Barnett, L., Smith, J., Binns, C., & Howat, P. (2016). We need a comprehensive
approach to health promotion. Health Promotion Journal of Australia,
27
(1), 1-3. doi:10.1071/HEv27n1_ED

Kickbusch, I., Jones, J. T., & O’Byme, D. (1998). Newsletter of connect UNESCO
international science
. Technology & Environment Education, 13(2).
139-153.

Klunklin, A., Wichaikhum, O., Kunaviktikul. W., & Jaiwilai, W. (2015). Nurses’ role on
developing health promotion innovation in Northern. Nursing Journal, 42,
178 – 186.

Naidoo, J., & Wills, J. (Eds.). (2001). Health studies: An Introduction. Basingstoke:
Macmillan.

Reising, M. M, Bettis, A. H., Dunbar, J. P., Watson, K. H., Gruhn, M., Hoskinson,
K. R. & Compas,. B. E. (2017). Stress coping, executive function, and brain
activation in adolescent offspring of depressed and nondepressed mothers.
Child Neuropsychology, 24(5),1-19. https:/dx.doi.org/10.1080/09297049.
2017.1307950

Wijlaars, L. P. M. M., Gilbert, R., & Hardelid, P. (2016). Chronic conditions in children
and young people: learning from administrative data. Archives of Disease
in Childhood, 101
(10), 881. doi: 10.1136/archdischild-2016-31071

World Health Organization. (17-21 Nov, 1986). Ottawa charter for health promotion.
In First International Conference on Health Promotion, 405–460. Ottawa,
Canada: World Health Organization.

World Health Organization. (2019a). Global school health initiative. Retrieved June
12, 2019, from https://www.who.int/school_youth_health/gshi/en/

World Health Organization. (2019b). The Ottawa charter for health promotion.
Retrieved August 8, 2019, from https://www.who.int/healthpromotion/
conferences/previous/ottawa/en/

Graphic Design และ Content Creator ที่หลงใหลในการเขียน Content และเชื่อว่า Content เป็นสิ่งสำคัญในการสื่อสารกับทุก ๆ คน