การพัฒนาหลักสูตร

การพัฒนาหลักสูตร

หลักสูตรเป็นหัวใจของการจัดการศึกษา เป็นแก่นสำคัญในการวางแนวทางการจัด การศึกษา เป็นตัวกำหนดทิศทางของการศึกษาในการที่จะให้ความรู้ การเสริมสร้าง เจตคติ ตลอดทั้งการฝึกฝนในด้านต่าง ๆ เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการพัฒนารอบด้าน หลักสูตรเป็นหลักและหัวใจของ การจัดการเรียนการสอน ทำให้การศึกษาดำเนินไปสู่เป้าหมายที่วางไว้และทำให้การศึกษา มีประสิทธิภาพ หลักสูตรเป็นเสมือนเบ้าหลอมพลเมืองที่ดีและมีคุณภาพ คุณภาพของพลเมือง จะดีหรือไม่ขึ้นอยู่กับหลักสูตรว่าต้องการให้ผู้ผ่านการศึกษามีคุณสมบัติอย่างไร

หนังสือการพัฒนาหลักสูตรที่ได้รับความนิยมอย่างมาก พูดถึงทฤษฎี หลักการ และวิธีการจัดทำหลักสูตร เหมาะสำหรับเป็นคู่มือสำหรับผู้ที่จะเริ่มเรียนรู้การพัฒนาหลักสูตร หรือเป็นอ้างอิงในงานวิจัย

หนังสือที่นักการศึกษาห้ามพลาด

หนังสือการพัฒนาหลักสูตรที่ถูกพูดถึงมากที่สุด

หนังสือ Best seller of the year

การพัฒนาหลักสูตร

สัมภาษณ์นักเขียน

การพัฒนาหลักสูตร ที่ดีนั้นจะต้องรู้ถึงปัญหา สภาพของปัญหาก่อนแล้วจึงระดมความคิดในการแก้ไขปัญหา หลักสูตรที่ดีต้องสอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียนและสังคม มีความหมายต่อชีวิตของผู้เรียน ยืดหยุ่นได้ตามความเหมาะสม และสร้างขึ้นด้วยความร่วมมือกันของผู้มี ส่วนเกี่ยวข้องหลายฝ่ายเพื่อให้หลักสูตรที่ผ่านการพัฒนานั้นมีคุณภาพ ในกระบวนการพัฒนาหลักสูตรการกำหนดจุดมุ่งหมายเป็นขั้นตอนที่สำคัญมากขั้นตอนหนึ่ง เพราะจะบอกถึงความมุ่งหวังว่าจะพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณลักษณะและความรู้ความสามารถในลักษณะใดรวมทั้งยังเป็นแนวทาง ในการกำหนดเนื้อหาสาระ กิจกรรมและประสบการณ์การเรียนรู้รวมทั้งการวัดและประเมินผล การเรียนรู้ของผู้เรียน นักพัฒนาหลักสูตรจึงต้องพิจารณากำหนดจุดประสงค์อย่างรอบคอบ กำหนดอย่างชัดเจนและเหมาะสมสอดคล้องกับปรัชญาและค่านิยมของสังคม สภาพปัญหาและความต้องการของสังคมและผู้เรียน ตลอดจนมีความสมดุลระหว่างความรู้และทักษะหรือระหว่างทฤษฎีกับการปฏิบัติ

1. หลักการและแนวคิดในการจัดทำหลักสูตร

ความหมายของการศึกษา

พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 กล่าวถึงความหมายของการศึกษาว่า “การศึกษา” หมายถึง กระบวนการเรียนรู้เพื่อความเจริญงอกงามของบุคคลและสังคม โดยการถ่ายทอดความรู้ การฝึก การอบรม การสืบสานทางวัฒนธรรม การสร้างสรรค์จรรโลง ความก้าวหน้าทางวิชาการ การสร้างองค์ความรู้อันเกิดจากการจัดสภาพแวดล้อม สังคมการเรียนรู้และปัจจัยเกื้อหนุนให้บุคคลเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต

ชัยอนันต์ สมุทวณิช (2542) กล่าวว่า การศึกษาเป็นกิจกรรมทางสังคมที่เป็นรากฐานสำคัญของการสร้างและสะสมพลังของชาติ ชาติใดมี “ทุนทางสังคม” แข็งแกร่ง มีคุณภาพดีมากน้อยเพียงใด มีปริมาณมากแค่ไหน ย่อมขึ้นกับคุณภาพของระบบการศึกษา

ปรัชญา เวสารัชช์ (2545) กล่าวว่า การศึกษาเป็นกระบวนการให้และรับความรู้ และประสบการณ์ การปรับเปลี่ยนทัศนคติ การสร้างจิตสำนึก การเพิ่มพูนทักษะ การทำความเข้าใจให้กระจ่าง การอบรมปลูกฝังค่านิยม การถ่ายทอดศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรมของสังคม การพัฒนาความคิด โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะให้บุคคลมีความเจริญงอกงามทางปัญญา มีความรู้ ความสามารถที่เหมาะสมสำหรับการประกอบอาชีพ สามารถดำรงชีวิตได้อย่างเหมาะสม มีค่านิยมที่ดีและอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างมีความสุข

สาโรช บัวศรี (2549) ให้ความหมายว่า การศึกษา คือ ความเจริญงอกงาม โดยเป็น การจัดประสบการณ์ที่เหมาะสมให้แก่ผู้เรียน เพื่อให้ผู้เรียนงอกงาม หรือหมายถึงการศึกษา เพื่อการพัฒนา สิ่งที่เรียกว่า การพัฒนาขันธ์ 5 ซึ่งประกอบด้วย 1) รูป คือ ร่างกาย รวมทั้งคุณสมบัติและพฤติกรรมทั้งปวง 2) เวทนา คือ อารมณ์ทุกข์ และสุขของมนุษย์ 3) สัญญา คือ การเรียนรู้ และเป็นตัวสร้างความจำ 4) สังขาร คือ องค์ประกอบทางจิตที่คอยปรุงแต่งให้คิดดีหรือชั่ว และ 5) วิญญาณ คือ การรับรู้ที่เกิดจากการสัมผัส ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มีความโลภ ความโกรธ ความหลงอยู่ จะได้ลดน้อยถอยไป และได้บรรลุถึงชีวิตที่ร่มเย็นตามควรแก่กรณี

ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ (2555) กล่าวว่าการศึกษา หมายถึง กระบวนการเรียนรู้เพื่อความเจริญงอกงามของบุคคลและสังคม โดยการถ่ายทอดความรู้ การฝึก การอบรม การสืบสาน ทางวัฒนธรรม การสร้างสรรค์จรรโลงความก้าวหน้าทางวิชาการ การสร้างองค์ความรู้อันเกิดจากการจัดสภาพแวดล้อม สังคมการเรียนรู้ และปัจจัยเกื้อหนุนให้บุคคลเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต

จากความหมายของการศึกษาที่ประมวลมา แสดงให้เห็นว่า การศึกษาเป็นกระบวนการที่มุ่งให้บุคคลเกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิตและส่งเสริมให้บุคคลเจริญเติบโตมีความงอกงามทาง ร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม และสติปัญญา จนเป็นสมาชิกที่มีคุณภาพของสังคม

2. การวิเคราะห์ปรัชญาการศึกษาและหลักสูตร

ปรัชญาเป็นแนวความคิดความเชื่อที่มีต่อการจัดการศึกษาที่จะนำมาใช้กำหนดทิศทางในการจัดหลักสูตร ดังนั้นการวิเคราะห์ปรัชญาจึงดำเนินการเพื่อให้ทราบชัดเจนถึงความคิดความเชื่อที่จะนำไปใช้ในการกำหนดเป้าหมายและทิศทางของหลักสูตร การพัฒนาหลักสูตรมีสิ่งที่จะต้องกระทำเป็นประการแรก คือการกำหนดความมุ่งหมายของหลักสูตร ในการกำหนดความมุ่งหมายจะต้องคำนึงถึงปรัชญา จิตวิทยา เศรษฐกิจ การเมือง การปกครองสังคม จริยธรรม วัฒนธรรม เทคโนโลยีซึ่งแวดล้อมตัวผู้เรียน รวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมและความต้องการของผู้เรียน ข้อมูลที่ได้จากการพิจารณาปัจจัยดังกล่าวจะนำมาใช้เป็นรากฐานในการเลือกเนื้อหาวิชา และประสบการณ์ในการเรียนรู้ที่จะนำเข้ามาบรรจุในหลักสูตร เพื่อช่วยให้ผู้เรียนได้พัฒนาไปในทิศทางที่ได้กำหนดไว้ในความมุ่งหมาย

หลักสูตรควรได้มาจากการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐานด้านต่าง ๆ อย่างรอบคอบ หลักสูตรควรพัฒนาให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการของผู้เรียนและสังคม หลักสูตรควรเกิดจากความร่วมมือของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder) พื้นฐานใน การพัฒนาหลักสูตรโดยทั่วไปประกอบด้วยพื้นฐาน 4 ด้าน ได้แก่ พื้นฐานด้านปรัชญา พื้นฐาน ด้านจิตวิทยา พื้นฐานด้านสังคมวิทยา และพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยใน การดำเนินการพัฒนาหลักสูตรจะต้องการความรู้ความเชี่ยวชาญในศาสตร์สาขาต่าง ๆ ที่เป็นองค์ความรู้ตามโครงสร้างของหลักสูตร รวมทั้งในบริบทของการจัดการศึกษาของไทยที่จะต้องดำเนินการตามหลักการของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545

3. การจัดทำหลักสูตร

หลักสูตรเป็นหัวใจสำคัญของการจัดการศึกษา การพัฒนาหลักสูตรเป็นงานที่จะต้อง ปฏิบัติอย่างเป็นระบบ และมีการวางแผนการดำเนินงานเป็นอย่างดีจึงจะทำให้ได้หลักสูตรที่มีคุณค่าสนองตอบต่อการแก้ไขปัญหาและตรงตามความต้องการของผู้เรียน สังคม และการพัฒนาแบบยั่งยืน หลักสูตรมี 4 ระดับ คือ หลักสูตรระดับชาติ หลักสูตรระดับท้องถิ่น หลักสูตรระดับโรงเรียน และหลักสูตรระดับห้องเรียน การจัดทำหลักสูตรหรือการสร้างหลักสูตร หมายถึง การจัดหลักสูตรขึ้นมาใหม่ โดยที่ยังไม่เคยมีหลักสูตรนั้นมาก่อน หรือไม่เคยมีหลักสูตรเดิมเป็นรากฐานมาก่อน และ ต้องดำเนินการอย่างเป็นกระบวนการและเป็นขั้นตอน ตั้งแต่การวางแผนหลักสูตร โดยทำการ ร่างแผนงานการจัดทำหลักสูตรโดยกำหนดเป้าหมายว่าหลักสูตรที่จะจัดทำนั้นทำเพื่อใคร จะพัฒนาบุคลากรเหล่านั้นไปในทิศทางใด ใช้ระยะเวลาการดำเนินการตามหลักสูตรเท่าไร จะมีกระบวนการในการพัฒนาบุคคลเหล่านั้นอย่างไร

จากนั้นดำเนินการออกแบบหลักสูตร โดยเป็นการกำหนดลักษณะและรูปแบบของหลักสูตรให้สอดคล้องกับแผนงานการจัดทำหลักสูตรเพื่อให้หลักสูตรเป็นไปตามเป้าหมายที่วางแผนไว้ รวบรวมข้อมูลที่มีผลต่อการจัดหลักสูตร จัดหารูปแบบการจัดหลักสูตรหลาย ๆ รูปแบบ ทดสอบว่ารูปแบบใดเป็นรูปแบบที่ดีที่สุด ที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายที่วางแผนไว้ในการออกแบบหลักสูตร ทำการตัดสินใจกำหนดรูปแบบ โครงสร้าง และองค์ประกอบของหลักสูตร ซึ่งรูปแบบของหลักสูตรเป็นอย่างไรนั้นจะแสดงออกให้เห็นชัดเจนในขั้นตอนของการจัดเนื้อหาวิชาและประสบการณ์สำหรับผู้เรียน โดยผู้พัฒนาหลักสูตรจะต้องตอบคำถามต่อไปนี้

1) จะเลือก เนื้อหาอะไร และอย่างไร ให้บรรลุตามเป้าหมาย

2) จะจัดเนื้อหาและเรียงลำดับเนื้อหาอย่างไร

3) จะถ่ายทอดเนื้อหาอย่างไร

4) จะประเมินผลการเรียนรู้อย่างไร

5) จะจัดทำเอกสารหลักสูตรอย่างไร มีการจัดหลักสูตรเป็นการลงมือจัดหลักสูตรตามรูปแบบที่ตัดสินใจเลือกไว้แล้ว

โดยดำเนินการตามขั้นตอนกระบวนการของการพัฒนาหลักสูตร ถ้าเป็นหลักสูตรระดับท้องถิ่น หรือระดับโรงเรียนหรือระดับชั้นเรียนจะต้องวิเคราะห์และตัดสินใจเลือกกระบวนการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาให้สอดคล้องกับสภาพท้องถิ่นได้ สามารถใช้ทฤษฎี หลักการ และรูปแบบ การพัฒนาหลักสูตร พัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาให้สอดคล้องเหมาะสมกับสภาพท้องถิ่นและผู้เรียนได้ รวมทั้งมีการปรับความเชื่อมโยงตลอดแนวหลักสูตร

4. การนำหลักสูตรไปใช้

การนำหลักสูตรไปใช้เป็นขั้นตอนที่สำคัญยิ่งในการพัฒนาหลักสูตร เพราะเป็นการนำหลักสูตรไปสู่การปฏิบัติจริง โดยนำอุดมการณ์ จุดมุ่งหมายของหลักสูตร เนื้อหาวิชา และประสบการณ์การเรียนรู้ที่คัดสรรอย่างดีแล้วไปสู่ผู้เรียน เป็นตัวบ่งชี้ถึงความสำเร็จหรือความล้มเหลวของหลักสูตรโดยตรง การนำหลักสูตรไปใช้ต้องดำเนินการอย่างเป็นขั้นตอนตามลำดับ นับตั้งแต่ ขั้นการวางแผน และเตรียมการในการประชาสัมพันธ์หลักสูตรเพื่อสร้างการรับรู้และสร้างความเข้าใจ และการเตรียมบุคลากรที่เกี่ยวข้อง

ขั้นต่อมาคือการดำเนินการนำหลักสูตรไปใช้อย่างมีระบบ เริ่มจากการจัดครูเข้าสอนตามหลักสูตร การบริการวัสดุหลักสูตรและสิ่งอำนวยความสะดวกในการนำหลักสูตรไปใช้ และดำเนินการเรียนการสอนตามหลักสูตร ส่วนขั้นสุดท้ายต้องติดตามประเมินผล การนำหลักสูตรไปใช้ ดำเนินการนิเทศติดตามผลการใช้หลักสูตร การติดตามและประเมินผล การใช้หลักสูตร การนำหลักสูตรไปใช้ถือเป็นกระบวนการที่สำคัญ ที่จะทำให้หลักสูตรที่สร้างขึ้นบรรลุผลตามจุดหมาย และเป็นกระบวนการที่ต้องได้รับความร่วมมือจากบุคคลที่เกี่ยวข้อง หลาย ๆ ฝ่าย และที่สำคัญที่สุดคือครูผู้สอน

5. การพัฒนาหลักสูตร

การพัฒนาหลักสูตร หมายถึง กระบวนการที่มีระบบเป็นเหตุเป็นผลในการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงหลักสูตรให้ดีขึ้น หรือกระบวนการในการจัดทำหลักสูตรเพื่อให้เหมาะกับความต้องการของบุคคล และสภาพสังคม รวมทั้งมีการนำหลักสูตรไปใช้ และการประเมินหลักสูตร การพัฒนาหลักสูตรควรดำเนินการแบบมีส่วนร่วมรับผิดชอบของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ต้องคำนึงถึงกระบวนการพัฒนาหลักสูตรในขั้นตอนต่าง ๆ ที่มีขั้นตอนต่อเนื่องกันตามลำดับ โดยผลที่ได้ในแต่ละขั้นตอนด้วยกระบวนการวิจัยจะนำไปสู่การดำเนินงานในขั้นตอนต่อไป เริ่มตั้งแต่การศึกษาข้อมูลพื้นฐานที่จำเป็นต่อการพัฒนาหลักสูตร การยกร่างสร้างหลักสูตร การทดลองใช้หลักสูตร และการประเมินหลักสูตร รวมไปถึงการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงหลักสูตรเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและคุณภาพที่ดีที่สุด

ในการนำหลักสูตรไปใช้ในการจัดการเรียนรู้ให้กับผู้เรียน การที่จะพัฒนาหลักสูตรได้ควรมีความรู้เกี่ยวกับปรัชญาแนวคิดทฤษฎีการศึกษา จิตวิทยาการเรียนรู้ ประวัติความเป็นมาและระบบ การจัดการศึกษาไทย วิสัยทัศน์และแผนพัฒนาการศึกษาไทย ทฤษฎีหลักสูตร การพัฒนาหลักสูตร มาตรฐานและมาตรฐานช่วงชั้นของหลักสูตร การพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา ปัญหาและแนวโน้มในการพัฒนาหลักสูตร รวมทั้งควรเป็นผู้มีสมรรถนะเกี่ยวกับความสามารถวิเคราะห์หลักสูตร สามารถปรับปรุงและพัฒนาหลักสูตรได้อย่างหลากหลาย สามารถประเมินหลักสูตรได้ทั้งก่อนและหลังการใช้หลักสูตร และสามารถจัดทําหลักสูตรได้

6 การประเมินหลักสูตรและการนำผลประเมินไปใช้ในการพัฒนาหลักสูตร

การประเมินหลักสูตร หมายถึง การศึกษารวบรวมข้อมูลของหลักสูตรทั้งหมดเกี่ยวกับกระบวนการจัดทำ การดำเนินการใช้และผลของการใช้หลักสูตร ตลอดจนการตัดสินคุณค่าและคุณภาพของหลักสูตร แล้วนำมาวิเคราะห์เทียบกับเกณฑ์เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจให้คุณค่าแก่หลักสูตรว่าหลักสูตรมีข้อดี ข้อเสียในเรื่องใด รวมทั้งผลการใช้หลักสูตรและตัดสินว่าหลักสูตร มีคุณค่าตามเป้าหมายที่กำหนดไว้หรือไม่ การประเมินผลหลักสูตรเป็นขั้นตอนสำคัญในการพัฒนาหลักสูตรเพราะจะทำให้ทราบว่าหลักสูตรประสบผลสำเร็จเพียงใด มีอะไรที่จะต้องปรับปรุง เปลี่ยนแปลง หรือจะตัดสินใจอย่างไรต่อไป การประเมินหลักสูตรมี 3 ระยะหลัก ๆ คือ การประเมินหลักสูตรก่อนนำหลักสูตรไปใช้ การประเมินระหว่างการใช้หลักสูตร และการประเมินหลังการใช้หลักสูตร ถ้าต้องการได้ข้อมูลที่เป็นภาพรวมของการพัฒนาหลักสูตรทั้งหมดเมื่อใช้หลักสูตรครบ รอบแล้ว ก็ควรประเมินทั้งระบบหลักสูตร

หนังสือ การพัฒนาหลักสูตร : จากทฤษฎีสู่การปฏิบัติ รวบรวมและเรียบเรียงขึ้น เพื่อให้นิสิตระดับปริญญาตรีและระดับบัณฑิตศึกษา รวมทั้งครูอาจารย์ ผู้สนใจศึกษาค้นคว้าทั่วไป ได้ใช้ในการศึกษาอ้างอิง การเขียนหนังสือเล่มนี้ผู้เขียนได้รวบรวมและเรียบเรียงจากการศึกษาเอกสาร งานวิจัย ตำราต่าง ๆ ตลอดจนประสบการณ์จากการมีส่วนร่วมพัฒนาหลักสูตรทั้ง ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ระดับอุดมศึกษา และหลักสูตรที่ไม่ใช่ระดับปริญญา

บรรณานุกรม

ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์. (2555). เอกสารประกอบการชุมวิชาการประจำปี 2555 เรื่อง “ฝ่าวิกฤตอุดมศึกษาไทย”. กรุงเทพฯ: สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน).

ชัยอนันต์ สมุทวณิช. (2542). รายงานการวิจัยระบบบริหารจัดการเพื่อการจัดสรรทรัพยากรสำหรับการศึกษาขั้นพื้นฐาน 12 ปีที่สอดรับกับ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 [เอกสารอัดสำเนา]. กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ.

ปรัชญา เวสารัชช์. (2545). ชุดฝึกอบรมผู้บริหาร : ประมวลสาระ. ใน โครงการพัฒนาผู้บริหารการศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา ครู ผู้นำชุมชนและผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น [เอกสารอัดสำเนา]. กรุงเทพฯ: สำนักงานปฏิรูปการศึกษา..

สาโรช บัวศรี. (2549). การศึกษาและจริยธรรม. กรุงเทพฯ: กริดส์ ดีไซน์ แอนด์ คอมมูนิเคชั่น.

Graphic Design และ Content Creator ที่หลงใหลในการเขียน Content และเชื่อว่า Content เป็นสิ่งสำคัญในการสื่อสารกับทุก ๆ คน