ระบบเกษตรกรรม

ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และเกษตรทฤษฎีใหม่ สู่ระบบเกษตรกรรมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน มุ่งเน้นการพัฒนาคนเพื่อใช้มวลทรัพยากร เป็นหลัก ซึ่งทรัพยากรมนุษย์สำคัญที่สุดและถือเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาระบบเกษตรกรรม โดยเฉพาะการพัฒนาตัวเกษตรกรเองในฐานะผู้ประกอบการ รวมทั้งนักวิชาการส่งเสริมการเกษตรและนักพัฒนาการเกษตรที่ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้แก่เกษตรกร ตลอดจน ผู้ประกอบการ ผู้ที่จะเริ่มต้นธุรกิจ และบุคคลทั่วไป ก้าวข้ามความยากจนสู่ความยั่งยืน จึงเหมาะสมสำหรับทุกคนที่ศึกษามุ่งมั่นจะพัฒนาตนเองด้วยกระบวนการคิด และจิตวิญญาณของการเป็นผู้ประกอบการธุรกิจการเกษตร และมุ่งหวังผลประโยชน์โดยรวมบนความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ที่แท้จริง

ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

การบูรณาการเนื้อหาทางวิชาการที่ใช้ในการอ้างอิงได้ ครอบคลุมองค์ความรู้และทักษะนำไปใช้ได้จริง อธิบายหลักการที่ซับซ้อนที่สุดให้เข้าใจง่าย เชื่อมโยงหลักการประกอบการตั้งแต่การเลือกระบบการผลิตพืชในรูปแบบต่าง ๆ การบริหารจัดการปัจจัยการผลิต ตั้งแต่ คน เงิน เครื่องมือ วิธีการจัดการ การจัดการสิ่งแวดล้อม การใช้ประโยชน์ในที่ดิน และการใช้เทคโนโลยี ที่เกษตรกรสามารถปรับใช้และ ยกระดับแปลงผลิตของตน จากการวิเคราะห์ข้อดี ข้อเสีย วิกฤติ โอกาส เทคนิคการเก็บข้อมูลและ การวิเคราะห์ด้วยเครื่องมือต่าง ๆ

พร้อมขั้นตอนการพัฒนาผนวกเทคนิคการบริหารจัดการฟาร์มหรือแปลงผลิต ผู้อ่านจะค้นพบวิธีพัฒนาตัวเองไปเป็นผู้ประกอบการที่สามารถบริหารจัดการผลผลิตของตนเองได้ตลอดทั้งห่วงโซ่ Supply Chain ตั้งแต่ต้นน้ำ : เริ่มผลิตจนถึงเก็บเกี่ยว ซึ่งท่านจะพบวิธีบริหารต้นทุน การลดต้นทุน การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ปรับเปลี่ยนจากขาดทุนเป็นกำไร การลดของเสียจากกระบวนการผลิตโดยเปลี่ยนกลับมาใช้เพิ่มปริมาณผลผลิต ผนวกกับความรู้ทางเศรษฐศาสตร์ที่ย่อยให้เข้าใจง่าย ใช้เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสำหรับการตัดสินใจ เพื่อวิเคราะห์ความคุ้มค่าในการลงทุน และสร้างภูมิคุ้มกันด้วยแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง มุ่งสู่เป้าหมายโดยไม่หมดกำลังใจที่จะพัฒนาตนเอง ไปสู่ กลางน้ำ : เพื่อเพิ่มกำไรโดยแปรรูปเป็นสินค้ามูลค่าเพิ่มด้วยการยกระดับมาตรฐานและคุณภาพการผลิตสินค้าให้มีขีดความสามารถในการแข่งขัน จนถึงปลายน้ำ : มุ่งเน้นให้เกษตรกรบริหารจัดการ โลจิสติกส์และทำการตลาดผ่านช่องทางที่หลากหลาย ส่งมอบสินค้าจนถึงมือผู้บริโภคได้ด้วยตนเอง

ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่าที่สุดบนความยั่งยืน และการรับมือกับช่วงเวลาวิกฤติต่าง ๆ และถูกกดดันให้ต้องรับมือการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เกษตรกรสามารถประยุกต์ใช้ระบบการผลิตทั้งแบบอาศัยธรรมชาติ กึ่งธรรมชาติ และระบบผลิตแบบทุนนิยมที่มนุษย์สร้างขึ้น และอยู่รอดได้โดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องขนาดพื้นที่และทำเลที่ตั้ง สามารถเป็นผู้เล่นใน ตลาดได้ ในระดับชุมชน สังคม และประชาคมโลก บนฐานเศรษฐกิจพึ่งพาอาศัยกันของมนุษย์และระบบนิเวศทางธรรมชาติ ด้วยระบบเกษตรกรรมที่หลากหลาย สนองตอบความต้องการใช้และบริโภคของมนุษยชาติที่แตกต่างและเปลี่ยนแปลงอย่างไม่รู้จบ เพื่อประชาชน (People) โลก (Planet) และ ผลประโยชน์จากการใช้ที่ถูกวิธี (Profit) ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม เศรษฐกิจ หลุดพ้นจากประเทศรายได้ปานกลาง อย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

1. ความสำคัญของการพัฒนาระบบเกษตร

เมื่อประเทศไทยก้าวเข้าสู่การพัฒนาประเทศตามนโยบาย Thailand 4.0 และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566-2570) เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงและวิกฤติ คุกคามในทุกมิติ (Changes, Disruptions and Crisis) เศรษฐกิจ สังคม การเมือง สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม ในอนาคตที่สำคัญคือ 1) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและโลกร้อน 2) ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ทางเศรษฐกิจ สังคมและคุณภาพชีวิต 3) ความมั่นคงทางอาหาร และความมั่นคงภาคการผลิตการเกษตรโดยภาคประชาชนส่วนใหญ่ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาระบบเกษตรกรรมและการพัฒนาภาคการผลิต เพื่อนำนวัตกรรม (Innovation) และเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่มีอยู่มาใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาสู่การ เป็นสังคมสร้างสรรค์และอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน เช่น มิติทางเศรษฐกิจและการตลาด (Economic and Marketing) มิติเทคนิคการผลิต (Production Technique) มิติการบริหารจัดการและสังคม องค์กร (Social and Organization Management) มิติมาตรฐาน คุณภาพและความรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อมและโลก (Quality Standard with Social and Environmental Responsibilities)

2. ระบบเกษตรกรรมและการพัฒนาระบบการผลิตพืช

การพัฒนาระบบภาคการผลิต ระบบเกษตรกรรม และการพัฒนาระบบการผลิต โดยมีการเกษตรเป็นแกนหลักในปัจจุบันมีความเชื่อมโยงกับกิจกรรมอื่น ๆ เช่น การแปรรูป การตลาด และ การบริการ เชื่อมโยงทั้งในและนอกภาคการเกษตร โดยมีการใช้ทรัพยากร การทำมาหากิน ความเป็นอยู่ของเกษตรกรหรือชุมชนหรือกลุ่มคนในระบบสิ่งแวดล้อมนั้นที่เกี่ยวข้องเพื่อความมั่นคงทางอาหาร สังคมและเศรษฐกิจ

3. เทคนิคการบริหารจัดการฟาร์ม

ขอสาธิตการบริหารจัดการฟาร์มด้วยระบบการผลิตพืช (Cropping Production System) เป็นหลักและเป็นส่วนหนึ่งของระบบฟาร์ม (Farming System) ซึ่งในแต่ละฟาร์มอาจมีกิจกรรมเสริม ที่หลากหลาย เช่น การเลี้ยงสัตว์ เพราะเลี้ยงสัตว์น้ำ การแปรรูป การตลาดและการบริการ เป็นต้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขีดความสามารถ องค์ความรู้และประสบการณ์ของผู้จัดการฟาร์มนั้น ๆ

4. การเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร

การก้าวนำธุรกิจการผลิตและโลกแห่งการแข่งขันด้วยข้อมูลและการคาดการณ์ตลาดจาก ความต้องการของลูกค้า มีประสิทธิภาพการผลิตสูงสุด การตลาดที่ดีและความเสี่ยงต่ำสุดตามหลัก “ขายดี ขายหมด ต้องมีกำไร” มีการเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร (Value Added Agriculture) เน้นการผลิตหรือการแปรรูป อุตสาหกรรม การตลาด หรือการบริการต่าง ๆ ที่ทำมูลค่าเพิ่มขึ้นจากมูลค่าเดิมของผลผลิตทางการเกษตรและการให้บริการ โดยลูกค้าหรือผู้บริโภคยินดีและเต็มใจที่จะจ่าย (Willingness to Pay) ในมูลค่าที่สูง (Premium)

การเป็นเกษตรกรในยุคใหม่ และผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ในยุค Thailand 4.0 นี้ นอกจากจะ “ผลิตได้ ขายเป็น” แล้ว ยังต้องมีทักษะหรือองค์ความรู้ในการเพิ่มมูลค่า (Value Added) สินค้าเกษตร เนื่องจากปัจจุบันผู้บริโภคและช่องทางการตลาดมีความหลากหลายมากขึ้น ดังนั้น เกษตรกร หรือผู้ประกอบการ ต้องทำให้มีสินค้าหลากหลายมากขึ้น (Diversified Products) เพื่อให้สามารถผลิตและตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าที่หลากหลาย (Various Need) ได้อย่างครบถ้วนทุกรูปแบบเป็นการขยายตลาดใหม่ (New Marketing Expansion) ขายตรงสู่ลูกค้า (Direct to Customer: D2C)

5. ระบบควบคุมคุณภาพและมาตรฐานระบบการผลิตทางการเกษตรและอาหาร

หัวใจสำคัญของการผลิตสินค้าเกษตร อาหารและบริการเพื่อให้เกิดความยั่งยืนในทุกมิติ ทั้งด้านรายได้ของเกษตรกรผู้ผลิตสู่สังคม และสิ่งแวดล้อมความยั่งยืนในระบบการผลิต ตลอดจน การจัดจำหน่ายผลผลิตให้แก่ผู้บริโภคได้อย่างยาวนานและยั่งยืน คือ ระบบการควบคุมคุณภาพ และมาตรฐานระบบการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารให้ได้คุณภาพสนองความต้องการตลอดห่วงโซ่ การผลิตตั้งแต่ระดับต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ จนถึงมือผู้บริโภค

ตั้งแต่ประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) ในฐานะผู้ก่อตั้งร่วมกับประเทศอื่น ๆ อีก 80 ประเทศ เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2537 มีการบังคับใช้ความตกลงด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (Agreement on the Application of Sanitary and Phytosanitary Measures: SPS) ที่กำหนดกติกาให้ประเทศต่าง ๆ ใช้มาตรการด้านมาตรฐานและ ความปลอดภัยอาหาร ควบคุมการส่งออกนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหาร ทำให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตระหนักถึงความสำคัญในการแข่งขันทางการค้าสินค้าเกษตรและอาหารระดับสากลที่จะทวีความรุนแรงมากขึ้น ด้วยเหตุนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงได้มีการปรับโครงสร้างองค์กรเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว โดยในปี พ.ศ. 2540 ได้จัดตั้ง สำนักงานมาตรฐานและตรวจสอบสินค้าเกษตร (สมก.) เป็นหน่วยงานสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อเป็นศูนย์กลางในการประสานงานและพัฒนามาตรฐานสินค้าเกษตรของประเทศให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล โดยร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ภายในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มุ่งการให้บริการแบบเบ็ดเสร็จในการนำเข้าและส่งออกสินค้าเกษตร และเมื่อปี พ.ศ. 2545 ได้จัดตั้งสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.)

6. ระบบควบคุมคุณภาพภายในสินค้าเกษตรและบริการโดยเกษตรกรมีส่วนร่วม

ในปัจจุบันมีการบริหารการควบคุมคุณภาพภายในสินค้าโดยการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย จากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน (Stakeholder) มีความสำคัญในการบริหารจัดการจากปัจจัยการผลิต ผ่านกระบวนการผลิต จนถึงผลผลิต โดยเน้นความปลอดภัยของอาหาร (Food Safety) ซึ่งเป็นการบริหารจัดการสินค้าระดับต้นน้ำ (Upstream) จาก 1) ผลผลิตหรือผลิตผลทางการเกษตร หากมี 2) การจัดการหลังการเก็บเกี่ยวหรือการแปรรูปเบื้องต้นเป็นผลิตภัณฑ์ และหรือสินค้า (Goods) โดยเกษตรกรหรือ ผู้ประกอบการเป็นผู้ทำหน้าที่หลัก ควบคุมระบบคุณภาพภายในสินค้าเกษตร โดยมีภาคส่วนต่าง ๆ ผู้มีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน เป็นหัวใจของมาตรฐานสินค้าและบริการ 3) เมื่อมีการแปรรูปหรือ การเพิ่มมูลค่าหรือการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์และบริการที่มีความหลากหลาย (Processing or Value Added or Development of Diversified Products and Service) จัดอยู่ในระดับกลางน้ำ (Mid-stream) ส่วนการจัดการตั้งแต่ผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เกิดขึ้น ผ่านระบบการตลาดจากการกระจายสินค้า (Marketing and Distribution of Product) ขนส่งลำเลียง จนถึงมือผู้บริโภคเป็นการจัดการในระดับปลายน้ำ เกิดเป็นห่วงโซ่มูลค่าของสินค้าเกษตร

7. การพัฒนาระบบเกษตรอย่างยั่งยืน

หลังจากที่เราได้เริ่มศึกษาตั้งแต่บทแรก ความเป็นมาและความสำคัญของระบบการปลูกพืช เทคนิคการพัฒนาระบบการผลิตพืช ตลอดจนได้ศึกษาเทคนิคการบริหารจัดการฟาร์ม และศึกษากระบวนการขั้นตอนการเพิ่มมูลค่าของสินค้าเกษตร อีกทั้งยังได้เรียนรู้กระบวนการจัดทำระบบควบคุมคุณภาพภายในระบบการปลูกพืชและระบบการผลิตทางการเกษตร นอกจากนี้ยังได้ศึกษาการจัดทำระบบประกันคุณภาพสินค้าเกษตรโดยให้เกษตรกรมีส่วนร่วม (Participatory Guarantee Systems: PGS) ไปแล้วนั้น ที่ผ่านมาล้วนแต่เป็นทฤษฎีและขั้นตอนการปฏิบัติในด้านต่าง ๆ โดยมีเป้าหมายองค์รวม คือแนวทางการปฏิบัติ การบริหารจัดการระบบเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพตรงตามความต้องการ และสามารถผลิตสินค้าเกษตรได้ในปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด แต่ในขณะเดียวกัน ก็จะต้องควบคุมปริมาณผลผลิตไม่ให้ล้นตลาด เพื่อป้องกันปัญหาสินค้าเกษตรล้นตลาดและเกิดราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ

นอกจากการสร้างองค์ความรู้เพื่อให้เกษตรกรสามารถนำไปปรับใช้ในระบบการผลิตของตนเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพและสามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกร แต่สิ่งสำคัญที่สุดและถือเป็นเป้าหมายสูงสุดของการพัฒนาระบบการเกษตร คือ 1) เกษตรกรต้องผลิตเป็น กล่าวคือ ผลิตได้อย่างมีมาตรฐาน ผลิตได้อย่างต่อเนื่องโดยใช้ต้นทุนการผลิตให้ต่ำที่สุดและเกิดประสิทธิภาพการผลิตมากที่สุด 2) เกษตรกรผู้ผลิตมีรายได้ที่เพิ่มมากขึ้น ระบบเศรษฐกิจในครัวเรือน ในชุมชนต้องดีขึ้น เกิดความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจระดับฐานรากสู่ประชาคมโลกจากสินค้าและบริการที่มีคุณภาพและมาตรฐาน 3) ในสังคมต้องมีคุณภาพชีวิตและสุขภาพที่ดีขึ้น และ 4) สิ่งแวดล้อมในระบบการผลิต รวมถึงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศต้องดีขึ้นด้วย จึงจะเป็นการพัฒนาระบบการผลิตเพื่อให้เกิดรายได้อย่างต่อเนื่องและนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรได้อย่างยั่งยืนนั่นเอง

Graphic Design และ Content Creator ที่หลงใหลในการเขียน Content และเชื่อว่า Content เป็นสิ่งสำคัญในการสื่อสารกับทุก ๆ คน