การพยาบาลผู้ป่วยมะเร็งปอด

โรคมะเร็งปอด เป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญทั่วโลก พยาธิสรีรวิทยาของโรคมะเร็งปอด มีความซับซ้อนซึ่งส่วนใหญ่มักตรวจพบโรคได้เมื่อมีอาการหรืออาการแสดงในขณะโรคอยู่ในระยะลุกลามแล้ว จึงเป็นโรคเรื้อรังที่มีความรุนแรงและเป็นภาวะคุกคามต่อชีวิต แม้ว่าปัจจุบันวิทยาการทางการแพทย์จะมีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง แต่อุบัติการณ์การเกิดโรคและการเจ็บป่วยด้วย โรคมะเร็งปอดยังคงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากพยาธิสรีรวิทยาของโรคมะเร็งปอด ที่มีความซับซ้อน กระบวนการรักษาที่ต้องรักษาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานและมีค่าใช้จ่าย

ในการรักษาเป็นจำนวนมาก รวมถึงผลข้างเคียงของการรักษาจึงส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของ ผู้ป่วยและครอบครัว ตลอดจนส่งผลกระทบต่อระบบสาธารณสุขและระบบเศรษฐกิจ ดังนั้นผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายจึงต้องให้ความสำคัญในการดูแลผู้ป่วยและครอบครัว เพื่อป้องกันการสูญเสียและผลกระทบที่รุนแรงตามมา “พยาบาลวิชาชีพ” ในฐานะเป็นบุคลากรในทีมสุขภาพที่มีบทบาทสำคัญในการดูแลผู้ป่วยร่วมกันกับสหสาขาวิชาชีพจึงจำเป็นต้องมีองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับโรคมะเร็งปอดตลอดจนพัฒนาตนเองให้มีความรู้ที่ทันสมัยอยู่เสมอ เพื่อนำไปสู่การให้การพยาบาลผู้ป่วยมะเร็งปอดและครอบครัวร่วมกับสหสาขาวิชาชีพอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วยและครอบครัวตลอดระยะเวลาการเจ็บป่วย

อุบัติการณ์โรคมะเร็งปอด

โรคมะเร็งปอดเป็นสาเหตุการตายอันดับต้นของโรคมะเร็งทั้งหมด จากข้อมูลสถิติล่าสุดเกี่ยวกับโรคมะเร็งทั่วโลก พบว่าในปี ค.ศ. 2022 (พ.ศ. 2565) มีผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ทั่วโลกประมาณ 19.98 ล้านคน เป็นมะเร็งปอดประมาณ 2.48 ล้านคน (พบมากเป็นอันดับ 1 ของมะเร็งทุกชนิด) และเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งทุกชนิดประมาณ 9.74 ล้านคน โดยมะเร็งปอดเป็นสาเหตุการเสียชีวิตสูงเป็นอันดับหนึ่งของมะเร็งทุกชนิด(1)

มะเร็งปอด

สำหรับประเทศไทย พบว่าข้อมูลสถิติล่าสุด ในปี พ.ศ. 2565 จากจำนวนประชากรทั้งหมดประมาณ 70.08 ล้านคน มีผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ประมาณ 183,541 คน เป็นมะเร็งปอดประมาณ 23,494 คน (พบมากเป็นอันดับ 2 รองจากมะเร็งตับ) และเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งทุกชนิดประมาณ 118,829 คน โดยเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปอดประมาณ 19,864 คน ซึ่งจำนวนการเสียชีวิตสูง เป็นอันดับสองรองจากมะเร็งตับ(2) นอกจากนี้จากสถิติล่าสุดของการวิเคราะห์ข้อมูลการตาย จากข้อมูลมรณบัตรของกองยุทธศาสตร์และแผนงานกระทรวงสาธารณสุข ย้อนหลังใน 5 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560-2564(3) พบอัตราการตายด้วยโรคมะเร็งปอดเป็นอันดับสองรองจากมะเร็งตับ และท่อน้ำดี เพิ่มขึ้นทุกปีอย่างต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่อัตรา 20.90 ต่อประชากรแสนคนในปี พ.ศ. 2560 เพิ่มเป็นอัตรา 22.49 ต่อประชากรแสนคนในปี พ.ศ. 2564

ทั้งนี้เมื่อพิจารณาถึงสาเหตุการตายด้วยโรคมะเร็งจำแนกตามชนิดของโรคมะเร็งและเพศ พบว่าในชายไทยอันดับแรกเกิดจากมะเร็งตับ และท่อน้ำดี รองลงมา คือ มะเร็งปอด โดยมีอัตราการตาย 27.59 ต่อประชากรแสนคนในปี พ.ศ. 2560 และเพิ่มขึ้นทุกปีอย่างต่อเนื่องเป็นอัตรา 29.45 ต่อประชากรแสนคนในปี พ.ศ. 2564 ส่วนในเพศหญิง ในปี พ.ศ. 2560-2564 พบมะเร็งตับและท่อน้ำดีเป็นสาเหตุการตายอันดับแรก เช่นเดียวกันกับเพศชาย รองลงมาอันดับสอง คือ มะเร็งปอด โดยมีอัตรา 14.13 ต่อประชากร แสนคนในปี พ.ศ. 2560 แต่หลังจากนั้นเป็นต้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561-2564 กลับพบว่ามะเร็งปอดเป็นสาเหตุการตายอันดับแรกในเพศหญิงด้วยอัตราที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นอัตรา 15.31, 15.57, 16.22, 15.85 ต่อประชากรแสนคนตามลำดับ(3)

มะเร็งปอด

จากสถานการณ์โรคมะเร็งปอดที่เป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญในระดับโลกและ ระดับชาติ และเป็นสาเหตุการตายอันดับต้น ๆ ในประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่องหลายปี อีกทั้ง ยังมีแนวโน้มความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นการลดปัจจัยเสี่ยงรวมถึงการดูแลผู้ป่วยมะเร็งปอด ให้มีคุณภาพและมีคุณภาพชีวิตที่ดีจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ

หนังสือเล่มนี้ ผู้เขียนมีความตั้งใจในการจัดทำขึ้น โดยการศึกษาค้นคว้ารวบรวมข้อมูลความรู้จากแหล่งต่าง ๆ หนังสือ ตำรา งานวิจัยร่วมกับประสบการณ์ทางคลินิกและการทำวิจัยที่เกี่ยวข้องกับโรคมะเร็งปอด สอดแทรกการวิเคราะห์และความคิดเห็นของผู้เขียนเพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่าน ทั้งนักศึกษาพยาบาล พยาบาลวิชาชีพทุกระดับที่เป็นผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้ป่วยมะเร็งปอด ตลอดจนผู้อ่านที่มีความสนใจเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการนำไปประยุกต์ใช้สู่การให้การพยาบาลและการดูแลผู้ป่วยมะเร็งปอด

มะเร็งปอด

หนังสือการพยาบาลผู้ป่วยมะเร็งปอดเล่มนี้ประกอบด้วยเนื้อหาที่ครอบคลุมองค์ความรู้ที่สำคัญและจำเป็นสำหรับพยาบาลวิชาชีพในการดูแลผู้ป่วยมะเร็งปอด ประกอบด้วยความรู้ เกี่ยวกับโรคมะเร็งและมะเร็งปอด บทบาทและสมรรถนะของพยาบาลวิชาชีพในการดูแลผู้ป่วย มะเร็งปอด การพยาบาลผู้ป่วยมะเร็งปอดที่ได้รับการรักษาโดยวิธีต่าง ๆ อาการ กลุ่มอาการ การจัดการอาการและกลุ่มอาการในผู้ป่วยมะเร็งปอด และตัวอย่างกรณีศึกษา ซึ่งผู้เขียนหวังว่า จะสามารถช่วยให้นักศึกษาพยาบาล พยาบาลวิชาชีพทุกระดับที่เป็นผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับ การดูแลผู้ป่วยมะเร็งปอด และผู้อ่านทุกท่านได้เข้าใจโรคและผู้ป่วยมะเร็งปอดมากขึ้น ตลอดจนสามารถให้การดูแลผู้ป่วยมะเร็งปอดได้อย่างมั่นใจและมีประสิทธิภาพ

บรรณานุกรม

  1. World Health Organization International Agency for Research on Cancer (IARC). [Internet]. GLOBOCAN 2022: estimated cancer incidence, mortality and prevalence worldwide in 2022. [cited 2024 Apr 11]. Available from: https://gco.iarc.who.int/media/globocan/factsheets/cancers/39-all-cancers-fact-sheet.pdf
  2. World Health Organization International Agency for Research on Cancer (IARC). [internet]. GLOBOCAN 2022: Thailand-estimated cancer incidence, mortality and prevalence worldwide in 2022. [cited 2024 Apr 11]. Available from: https://gco.iarc.who.int/media/globocan/ factsheets/populations/764-thailand-fact-sheet.pdf
  3. กองยุทธศาสตร์และแผนงาน. ข้อมูลการตายจากข้อมูลมรณบัตร. [อินเทอร์เน็ต]. นนทบุรี: สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข; [เข้าถึงเมื่อ 11 เมษายน 2567]. เข้าถึงได้จาก: www.hiso.or.th/thaihealthstat/topic/index.php?t=02&m=01

Graphic Design และ Content Creator ที่หลงใหลในการเขียน Content และเชื่อว่า Content เป็นสิ่งสำคัญในการสื่อสารกับทุก ๆ คน