เขียนบทความ

การเขียนบทความ เป็นงานเขียนประเภทร้อยแก้วที่มีลักษณะเฉพาะคือ การนำเสนอข้อเท็จจริง ข้อมูลความรู้ และความคิดเห็นของผู้เขียนบทความ ที่สอดคล้องกับกระแสความสนใจของคนในสังคม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับสังคม เศรษฐกิจ การเมือง การศึกษา เทคโนโลยี ศิลปวัฒนธรรม ฯลฯ ดังนั้นจึงเห็นได้ว่าในปัจจุบันงานเขียนประเภทนี้ปรากฏในสื่อสิ่งพิมพ์และสื่อออนไลน์อย่างหลากหลาย อันแสดงให้เห็นว่าบทความได้รับความสนใจจากผู้อ่าน ในวงกว้าง ในขณะเดียวกันก็มีผู้สนใจที่จะเขียนบทความมากขึ้นเช่นกัน ฉะนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีหนังสือทางวิชาการที่นำเสนอความรู้เกี่ยวกับ การเขียนบทความประเภทต่าง ๆ โดยเริ่มต้นจากหลักการพื้นฐานสู่การเขียนภาคปฏิบัติ ซึ่งเป็นเหตุผลและแรงบันดาลใจของการเขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นมา

เขียนบทความ
สั่งซื้อหนังสือ

หนังสือเรื่องศิลปะการเขียนบทความ เรียบเรียงขึ้นเพื่อให้นิสิต นักศึกษา ครู อาจารย์ นักวิชาการ ตลอดจนผู้สนใจทั่วไปได้ใช้ศึกษาค้นคว้า เกี่ยวกับการเขียนบทความ ซึ่งผู้เขียนได้รวบรวมข้อมูลจากหนังสือ ตำรา บทความ และงานวิจัยต่าง ๆ รวมทั้งกลั่นกรองประสบการณ์จากการสอน การทำงานวิจัย และการเขียนบทความ นำมาวิเคราะห์ สังเคราะห์ และเรียบเรียงขึ้นอย่างเป็นระบบ เพื่อให้ผู้อ่านมองเห็นภาพรวมและเข้าใจรายละเอียดเกี่ยวกับศาสตร์ และศิลป์แห่งการเขียนบทความได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น

เนื้อหาสาระของหนังสือเล่มนี้แบ่งออกเป็น 10 บท โดยเริ่มจาก ปูพื้นฐานความรู้ในการเขียนบทความก่อน จากนั้นจึงนำเสนอแนวทางการเขียนบทความเฉพาะประเภท ได้แก่ ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับการเขียนบทความ กระบวนการเขียนบทความอย่างมีประสิทธิภาพ ศิลปะการเขียนบทความ การใช้ภาษาในการเขียนบทความ ศิลปะการเขียนบทความแสดงความคิดเห็น ศิลปะการเขียนบทความวิเคราะห์ ศิลปะการเขียนบทความวิจารณ์ ศิลปะ การเขียนบทความสัมภาษณ์ ศิลปะการเขียนบทความวิชาการ และศิลปะ การเขียนบทความวิจัย ซึ่งรายละเอียดเนื้อหาในแต่ละบทประกอบด้วย ความหมาย ลักษณะของบทความ ศิลปะการเขียนบทความ และศิลปะการใช้ภาษา อีกทั้งยังคัดสรรบทความประเภทต่าง ๆ มาเสนอเป็นตัวอย่าง และ มีแบบฝึกท้ายบทเพื่อให้ผู้อ่านสามารถศึกษาเรียนรู้ด้วยตนเองได้อย่างเข้าใจ ลึกซึ้งมากขึ้น

1. ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับการเขียนบทความ

บทความ (Article) เป็นงานเขียนประเภทร้อยแก้วที่มีเนื้อหาสาระอันเป็นข้อมูลความรู้และข้อเท็จจริงที่เชื่อถือได้ โดยมีความคิดเห็นหรือทัศนะของผู้เขียนเป็นส่วนสนับสนุน ดังนั้นบทความจึงจัดอยู่ในกลุ่มงานเขียนประเภทสารคดี (Non-fiction) เพราะเนื้อหาอิงอยู่กับข้อเท็จจริง ซึ่งแตกต่างกับ งานเขียนประเภทบันเทิงคดี (Fiction) เช่น เรื่องสั้น นวนิยาย นิทาน บทละคร ฯลฯ ที่มุ่งเน้นการถ่ายทอดความคิด จินตนาการ และอารมณ์ความรู้สึกของ ผู้เขียนเป็นสำคัญ

ในปัจจุบันบทความได้รับความสนใจจากผู้เขียนและผู้อ่านในวงกว้าง ดังปรากฏในสื่อสิ่งพิมพ์และสื่อสังคมออนไลน์ทั่วไปอย่างแพร่หลาย ทั้งนี้เพราะบทความสามารถตอบสนองความสนใจของผู้อ่านทั้งด้านข้อมูล ความรู้ และความคิดที่เป็นประโยชน์ในด้านการศึกษา เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อันส่งผลให้บทความเป็นงานเขียนที่มีผู้สนใจเขียนอย่างหลากหลายเช่นกัน ดังนั้นผู้สนใจการเขียนบทความจำเป็นต้องศึกษา เรียนรู้หลักการและศิลปะการเขียนบทความเพื่อให้สามารถเขียนบทความประเภทต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้อง

เนื้อหาในบทนี้มุ่งเสนอความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับการเขียนบทความ อันเป็นพื้นฐานสำหรับผู้เริ่มเขียนบทความซึ่งควรทราบว่าบทความมีลักษณะและองค์ประกอบอย่างไร และผู้เขียนบทความควรมีคุณสมบัติอย่างไรบ้าง ความรู้เหล่านี้จะช่วยให้ผู้เขียนบทความเกิดความมั่นใจยิ่งขึ้นและสามารถสร้างสรรค์ผลงานเขียนของตนต่อไปได้อย่างมีคุณภาพ

2. กระบวนการเขียนบทความอย่างมีประสิทธิภาพ

การสร้างสรรค์งานเขียนทุกประเภทไม่ว่าจะเป็นงานเขียนบันเทิงคดี สารคดี หรืองานเขียนทางวิชาการ ผู้เขียนจำเป็นต้องทำงานอย่างเป็นลำดับ ขั้นตอนเพื่อให้การเขียนมีความต่อเนื่องและเป็นระบบ อีกทั้งยังช่วยขจัดปัญหาความสับสนหรือติดขัดระหว่างการเขียนได้อีกทางหนึ่งด้วย

ในการเขียนบทความก็เช่นเดียวกัน หากผู้เขียนต้องการให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ผู้เขียนควรดำเนินการเป็นลำดับขั้นตอน โดยเริ่มต้นจากการวางแผนและเตรียมการเขียนให้ชัดเจน จากนั้นจึงเก็บรวบรวมข้อมูล นำมาจัดระบบ วิเคราะห์ สังเคราะห์ และเรียบเรียงเป็นงานเขียน และขั้นสุดท้ายคือการตรวจประเมินและแก้ไขให้บทความที่เขียนขึ้นมีความถูกต้องสมบูรณ์ที่สุด

เขียนบทความ

เนื้อหาในบทนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อนำเสนอรายละเอียดเกี่ยวกับกระบวนการเขียนบทความอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นพื้นฐานหรือความรู้ เบื้องต้นสำหรับผู้เริ่มเขียนบทความที่ควรเข้าใจถึงวิธีการทำงานในแต่ละขั้นตอนอย่างชัดเจน และสามารถนำไปปรับใช้ในการเขียนบทความตามลำดับขั้นตอนได้อย่างเหมาะสม โดยแบ่งออกเป็น 8 ขั้นตอนต่อเนื่องกัน ได้แก่ การกำหนดหัวข้อเรื่อง การกำหนดจุดมุ่งหมายและขอบเขตของบทความ การรวบรวมข้อมูล การวางโครงเรื่อง การเรียบเรียงเนื้อหา การตรวจทานและแก้ไขบทความ การประเมินบทความ จนถึงขั้นตอนสุดท้ายคือการเผยแพร่บทความให้เป็นประโยชน์ในวงกว้างต่อไป

3. ศิลปะการเขียนบทความ

งานเขียนประเภทบทความมีจุดมุ่งหมายอยู่ที่การนำเสนอข้อมูล ข้อเท็จจริง และความคิดเห็นของผู้เขียนโดยใช้หลักฐานอ้างอิง และข้อมูลสนับสนุนต่าง ๆ ที่มีเหตุผลและน่าเชื่อถือ โดยแยกจุดมุ่งหมายหรือวัตถุประสงค์ของบทความได้หลายประการ เป็นต้นว่าการเขียนถ่ายทอดความรู้ แสดงความคิดเห็น อธิบาย วิเคราะห์ วิจารณ์ หรือโน้มน้าวใจผู้อ่าน ดังนั้นการจะเขียนบทความให้น่าเชื่อถือและบรรลุจุดประสงค์ในการเขียนได้จึงต้องมีศิลปะ การเขียนหรือเทคนิคการนำเสนอที่น่าสนใจ

โครงสร้างของบทความแบ่งเป็น 4 ส่วน ได้แก่ ชื่อเรื่อง ความนำ เนื้อเรื่อง และความสรุป แต่ละส่วนมีบทบาทและความสำคัญต่างกัน และ จะขาดส่วนใดส่วนหนึ่งไม่ได้ ดังนั้นผู้เขียนจึงต้องมีความรู้ความเข้าใจโครงสร้างของบทความในภาพรวมเพื่อนำไปใช้ในการวางโครงเรื่องที่มีรายละเอียด ครบถ้วนสมบูรณ์ ตลอดจนนำเสนอเรื่องราวได้อย่างมีศิลปะและน่าสนใจ ประการสำคัญคือกลวิธีการเขียนหรือศิลปะการนำเสนอนั้นจะต้องมีความสอดคล้องกับเนื้อหาและจุดมุ่งหมายของบทความเรื่องนั้น ๆ

สาระความรู้เกี่ยวกับศิลปะการเขียนบทความที่นำเสนอในบทนี้ มุ่งเสนอแนวทางและกลวิธีการเขียนตามโครงสร้างหรือส่วนประกอบของบทความ ประกอบด้วย การตั้งชื่อเรื่อง การเขียนความนำ การเขียนเนื้อเรื่อง และการเขียนความสรุป เพื่อให้เป็นความรู้พื้นฐานที่สามารถนำไปปรับใช้ ในการเขียนบทความประเภทต่าง ๆ ได้อย่างมีคุณภาพ โดยยึดหลักความถูกต้อง สมบูรณ์ และสื่อสารแนวคิดได้อย่างชัดเจน

เขียนบทความ

4. การใช้ภาษาในการเขียนบทความ

ภาษาเป็นเครื่องมือในการเขียนบทความ หากผู้เขียนบทความ มีความสามารถด้านการใช้ภาษาในการเขียนสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็จะทำให้การเขียนบทความประสบความสำเร็จหรือสัมฤทธิ์ผลในการเขียน กล่าวคือ บทความเรื่องนั้น ๆ ย่อมสามารถถ่ายทอดความรู้ ข้อเท็จจริง และความคิดเห็นต่าง ๆ จากผู้เขียนบทความไปสู่ผู้อ่านได้ตามจุดมุ่งหมายของ การเขียนที่ได้กำหนดไว้

ในทางตรงกันข้าม หากผู้เขียนบทความขาดความรู้และทักษะใน การใช้ภาษา เช่น ใช้คำไม่ถูกต้องหรือไม่เหมาะสม เรียบเรียงประโยคได้ ไม่ลื่นไหล ใช้ระดับภาษาที่ไม่สอดคล้องกับเนื้อหาและประเภทของบทความ หรือขาดความสามารถในการใช้โวหารเพื่อเล่าเรื่องราวให้ชัดเจนและลงตัว บทความนั้นอาจไม่สามารถสื่อสารแนวคิดสำคัญหรือถ่ายทอดสาระที่เป็นประโยชน์ไปสู่ผู้อ่านได้อย่างมีประสิทธิภาพ

แนวทางการพัฒนาความสามารถในการใช้ภาษาอีกวิธีหนึ่งคือ การศึกษาเรียนรู้หลักการใช้ภาษาจากตำราหนังสือที่เกี่ยวข้อง รู้จักอ่าน สังเกตและวิเคราะห์ศิลปะการใช้ภาษาในงานเขียนประเภทบทความอย่างหลากหลาย ดังที่ได้นำเสนอสาระความรู้เกี่ยวกับการใช้ภาษาในการเขียนบทความในบทนี้ ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 หัวข้อ ได้แก่ การใช้คำ การใช้ประโยค การใช้ระดับภาษา และการใช้โวหาร อันจะเป็นความรู้พื้นฐานในการเขียนบทความให้ถูกต้อง และสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

5. ศิลปะการเขียนบทความแสดงความคิดเห็น

บทความแสดงความคิดเห็นเป็นงานเขียนที่เขียนขึ้นเพื่อแสดงทัศนะหรือความคิดเห็นต่อเหตุการณ์หรือเรื่องราวที่เกิดขึ้นในสังคม ซึ่งจะต้อง เป็นประเด็นที่คนส่วนใหญ่กำลังให้ความสนใจใคร่รู้ ดังนั้นปรากฏการณ์ทางสังคมที่ผู้เขียนบทความได้รับรู้มาจึงเป็นแหล่งที่มาของการเขียนบทความ และเป็นวัตถุดิบสำคัญของการขยายความประเด็นต่าง ๆ ให้เนื้อหาสาระ มีรายละเอียดที่ลุ่มลึกและเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่าน

นอกจากนั้นผู้เขียนบทความจะต้องแสดงความคิดเห็นตามความคิด ความเชื่อ หรือทัศนคติอย่างชัดเจน โดยนำข้อมูลต่าง ๆ มาอ้างอิงให้ผู้อ่าน เชื่อถือ ทั้งนี้ต้องเป็นความคิดที่มีเหตุผล แปลกใหม่และสร้างสรรค์ ตลอดจนมีศิลปะการเขียนส่วนต่าง ๆ ของบทความให้น่าสนใจติดตาม ทั้งการตั้งชื่อเรื่อง การเขียนความนำ เนื้อเรื่อง ความสรุป และกลวิธีการใช้ภาษาที่เหมาะสมลงตัว

เขียนบทความ

ฉะนั้นเพื่อให้การเขียนบทความแสดงความคิดเห็นมีคุณภาพ ทั้งด้านเนื้อหาสาระและศิลปะการเขียน ควรศึกษาสาระความรู้ในบทนี้ซึ่ง นำเสนอเกี่ยวกับความหมาย ลักษณะของบทความแสดงความคิดเห็น จุดมุ่งหมายของการเขียน องค์ประกอบสำคัญ หลักการทั่วไป กลวิธี การเขียนบทความ กลวิธีการใช้ภาษา ตัวอย่างบทความแสดงความคิดเห็น และข้อควรปฏิบัติในการเขียนบทความแสดงความคิดเห็น ซึ่งจะเป็นความรู้และแนวทางใน การเขียนบทความแสดงความคิดเห็นให้ประสบความสำเร็จต่อไป

6. ศิลปะการเขียนบทความวิเคราะห์

บทความวิเคราะห์เป็นงานเขียนที่ได้รับความนิยมจากผู้อ่านทั่วไปอย่างกว้างขวาง ดังจะเห็นได้จากสื่อสิ่งพิมพ์และสื่อออนไลน์ได้ตีพิมพ์บทความวิเคราะห์เผยแพร่อย่างหลากหลาย ทั้งนี้เพราะบทความประเภทนี้มีผลกระทบต่อสังคมส่วนรวมเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับเศรษฐกิจ การเมือง หรือการศึกษา และเป็นข้อเขียนที่นำเสนอข้อมูลแบบเจาะลึก โดยนำเอา หลักการหรือทฤษฎีมาวิเคราะห์ข้อมูลนั้นให้ทราบถึงสาเหตุของปัญหา ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น และชี้แนวทางแก้ไขปัญหาที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อ่าน และสังคมส่วนรวม

7. ศิลปะการเขียนบทความวิจารณ์

บทความวิจารณ์เป็นงานเขียนที่ปรากฏในสื่อสิ่งพิมพ์และสื่อออนไลน์อย่างหลากหลายในปัจจุบัน เช่น บทความวิจารณ์วรรณกรรมการแสดง ดนตรี ภาพยนตร์ รวมถึงผลงานศิลปะแขนงต่าง ๆ ซึ่งบทความวิจารณ์นั้นมีลักษณะเฉพาะต่างจากบทความวิเคราะห์คือ นอกจากต้องใช้การคิดเชิงวิเคราะห์ใน การแยกแยะองค์ประกอบต่าง ๆ ของสิ่งที่นำมาวิจารณ์แล้ว ผู้เขียนบทความ ยังต้องแสดงความคิดเห็นเชิงประเมินคุณค่าต่อสิ่งที่นำมาวิจารณ์อย่างมี เหตุผลด้วย การพิจารณาเชิงประเมินคุณค่าเป็นการตัดสิน กล่าวติชมถึงข้อดี คุณค่า หรือข้อบกพร่องต่าง ๆ ที่ปรากฏในสิ่งที่นำมาวิจารณ์ เช่น การวิจารณ์วรรณกรรมก็จะต้องอธิบายว่าผลงานเรื่องนั้น ๆ มีลักษณะเด่นและมีคุณค่า ในด้านใดบ้าง หรือมีจุดด้อยในเรื่องใด ดังนั้นผู้เขียนบทความวิจารณ์จำเป็นต้องมีความรู้พื้นฐานในการวิจารณ์และการนำเสนองานเขียนอย่างเหมาะสม

เขียนบทความ

8. ศิลปะการเขียนบทความสัมภาษณ์

บทความสัมภาษณ์เป็นข้อเขียนที่มีลักษณะพิเศษแตกต่างไปจากบทความประเภทอื่น ๆ คือ เน้นการนำเสนอข้อมูลของบุคคลที่สัมภาษณ์ หรือประเด็นเนื้อหาผ่านบุคคลนั้น ๆ เป็นการนำเสนอเรื่องราวชีวิต ทัศนคติและความคิดเห็นของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลให้ผู้สนใจได้ทราบ ส่วนใหญ่บุคคลที่เลือกมาสัมภาษณ์มักเป็นคนที่กำลังได้รับความสนใจในสังคม หรือมีความสำคัญต่อสังคมในวงกว้าง เช่น นักการเมือง นักแสดง นักเขียน นักวิชาการ ฯลฯ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับจุดมุ่งหมายของการเขียนและเนื้อหาสาระของบทความสัมภาษณ์ เรื่องนั้น ๆ

การเขียนบทความสัมภาษณ์แม้จะเป็นการเขียนโดยไม่ได้ยึดรูปแบบหรือหลักเกณฑ์การเขียนอย่างแน่นอนชัดเจน เช่น บทความวิชาการหรือบทความวิจัย แต่การเขียนบทความประเภทนี้ก็มีรายละเอียดหรือความรู้พื้นฐานอันเป็นหลักการและเทคนิคเบื้องต้นในการเขียนที่ผู้สนใจควรศึกษาเรียนรู้และนำไปประยุกต์ใช้ในการสร้างสรรค์งานเขียนของตนอย่างมีคุณภาพ

9. ศิลปะการเขียนบทความวิชาการ

บทความวิชาการเป็นงานเขียนที่มุ่งนำเสนอข้อมูล ความรู้ และ ความคิดเห็นจากการศึกษาค้นคว้าของนักวิชาการในศาสตร์แขนงต่าง ๆ บทความวิชาการส่วนใหญ่นิยมเผยแพร่ในวารสารวิชาการ หนังสือรวมบทความวิชาการ และนำเสนอในการประชุมวิชาการเพื่อเผยแพร่ความรู้จากการค้นคว้าและวิจัย ตลอดจนเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนความรู้และความคิดเห็น ทางวิชาการของนิสิต นักศึกษา คณาจารย์ และบุคคลทั่วไปที่สนใจสาระ ความรู้ทางวิชาการ

เขียนบทความ

ผู้ที่มีความสามารถในการเขียนบทความวิชาการเป็นบุคคลที่ถ่ายทอดความรู้ต่าง ๆ ที่มีคุณค่าให้เกิดประโยชน์แก่สังคมได้ การเขียนบทความวิชาการจึงเป็นภารกิจและหน้าที่สำคัญของคณาจารย์ นิสิต นักศึกษาในสถาบัน การศึกษาระดับอุดมศึกษา รวมถึงนักวิชาการอิสระและผู้สนใจทั่วไปในการเขียนบทความประเภทนี้ควรได้ศึกษาหลักการเขียนบทความวิชาการให้เข้าใจ อย่างถูกต้อง

10. ศิลปะการเขียนบทความวิจัย

บทความวิจัยเป็นผลงานที่เรียบเรียงจากรายงานการวิจัยฉบับสมบูรณ์ แล้วตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิชาการของหน่วยงานหรือสถาบัน ต่าง ๆ การเขียนบทความวิจัยมีจุดมุ่งหมายที่จะถ่ายทอดองค์ความรู้หรือ ข้อค้นพบที่ได้จากการวิจัยไปสู่สังคม ซึ่งจะนำเสนอผลการศึกษาเพียงบางประเด็นหรือจะนำเสนอผลการวิจัยทั้งหมดก็ได้ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้วิจัยหรือยึดตามหลักเกณฑ์ของวารสารที่จะนำไปเผยแพร่

รูปแบบการเขียนบทความวิจัยมีลักษณะบางส่วนที่คล้ายคลึงกับบทความวิชาการ และมีองค์ประกอบบางด้านที่แตกต่างกับบทความวิชาการทั่วไป ซึ่งผู้เขียนบทความต้องมีความรู้และเข้าใจเป็นอย่างดี ซึ่งสาระสำคัญ ในบทนี้กล่าวถึงหลักการพื้นฐานเกี่ยวกับการเขียนบทความวิจัย ได้แก่ ความหมายของบทความวิจัย ลักษณะของบทความวิจัย องค์ประกอบสำคัญของบทความวิจัย ขั้นตอนการเขียนบทความวิจัย กลวิธีการเขียนบทความวิจัย กลวิธีการใช้ภาษาในบทความวิจัย การประเมินบทความวิจัย การเผยแพร่บทความวิจัย ข้อควรปฏิบัติในการเขียนบทความวิจัย และตัวอย่างการเขียนบทความวิจัย ซึ่งเป็นความรู้พื้นฐาน สำหรับการเขียนบทความวิจัยอย่างมีระบบและมีคุณภาพ

Graphic Design และ Content Creator ที่หลงใหลในการเขียน Content และเชื่อว่า Content เป็นสิ่งสำคัญในการสื่อสารกับทุก ๆ คน