ผี ร่างทรงกะเทย กับการเมืองในอุษาคเนย์ ดินแดนอุษาคเนย์ หรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นอาณาบริเวณที่มีพัฒนาการทางประวัติศาสตร์มายาวนาน และเนื่องจากเป็นดินแดน ที่ครอบคลุมพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาล จึงมีชนชาติต่าง ๆ เข้ามาอาศัยอยู่จำนวนมาก นอกจากนี้การที่ผู้คนซึ่งอาศัยอยู่ในบริเวณนี้ มีพัฒนาการ ทางสังคมซึ่งเกิดจากการร่วมความเป็นมา ร่วมบรรพบุรุษ ร่วมเดินทาง ร่วมความทรงจำ ร่วมสืบสานและส่งต่อความเชื่อ ผ่านการเรียนรู้ การแก่งแย่งแข่งขัน การค้า และสงคราม ทำให้การประกอบสร้างระบบความเชื่อมีความหลากหลาย เนื่องจากสะสมประสบการณ์ตลอดจนพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ นอกจากนี้ การพัฒนาความสามารถใน การคัดสรรความเชื่อที่เหมาะสมกับชาติพันธุ์ และกลุ่มสังคมของตน ยังมีส่วนสำคัญต่อการสร้างเสริมพลังอำนาจและความคิดความเชื่อของ ผู้คนในดินแดนแถบนี้ในด้านหนึ่งเกิดจากความสามารถในการคิดและ การปรับตัวเพื่อผสมผสานความเชื่อเดิมเข้ากับความเชื่อใหม่ จนเกิด เป็นระบบความเชื่อและพิธีกรรมที่เชื่อมโยงเข้าด้วยกันด้วยโครงข่าย ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิตของผู้คน ในสังคม โดยมีเป้าหมายสำคัญคือ เพื่อการอาศัยอยู่ร่วมกันอย่างปกติสุขและพึ่งพาตนเอง กล่าวอีกนัยหนึ่ง การยอมรับในความหลากหลายของความเชื่อ เป็นบทเรียนสำคัญบทแรก ๆ ที่ผู้คนในดินแดนอุษาคเนย์เรียนรู้และสั่งสมประสบการณ์เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างปกติสุข

หนังสือเล่มนี้เปิดเผยกระบวนการสถาปนาอำนาจของชนชั้นปกครอง ผ่านการจัดวางระบบความเชื่อชุดใหม่ทับซ้อนลงบนการรับรู้ตาม “กรอบอ้างอิงคน-ผี-เทพเจ้า” ซึ่งมีบทบาทสำคัญในพิธีกรรมเข้าทรงโดยอาศัยการสร้างเรื่องราวและการให้ความหมายใหม่ต่อปฏิบัติการทางสังคม ที่สร้างความเชื่อมโยงระหว่างผู้ปกครองกับอำนาจเหนือธรรมชาติ ตลอดจน ประกอบสร้างพื้นที่ทางสังคมใหม่ทับซ้อนลงบนอาณาบริเวณเดิมซึ่ง ใช้ในกระบวนการพิธีกรรม จนสามารถสถาปนาสัญลักษณ์ของพลังอำนาจของชนชั้นปกครองได้ ในขณะที่ร่างทรงซึ่งเป็นผู้แสดงทางสังคมคนสำคัญในพิธีกรรม ซึ่งได้ใช้อาณาบริเวณใหม่ที่ถูกสถาปนาขึ้น เป็นพื้นที่ปลอดภัยในการเปิดเผยอัตลักษณ์ทางเพศ และเพศวิถีที่สอดคล้องกับสภาพใจ ของตนเอง พร้อม ๆ กันนั้น ก็เปิดพื้นที่ใหม่ให้กับ “ผู้ชม” ซึ่งประกอบด้วยผู้คนจากหลากหลายชนชั้น เข้ามามีส่วนในการประกอบสร้างจินตนาการใหม่ขึ้นในพื้นที่ส่วนตัว และเสริมสร้างทักษะในการสร้างสมดุลของกาย จิต และสังคม โดยสอดแทรกกระบวนการพิธีกรรมตามที่ตนประสงค์ จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันซึ่งแฝงเร้นอยู่ในพื้นที่ส่วนตัว

หนังสือเล่มนี้ชวนผู้อ่านร่วมเดินทางไปในดินแดนลี้ลับ เพื่อคิดถึงความเชื่อเรื่องผี ร่างทรง และพิธีกรรมในมุมมองใหม่ ที่ถูกกำหนด โดยกรอบอ้างอิง และปัจจัยภายในของปัจเจกบุคคล ก่อนแสดงออกในรูป ของปฏิบัติการทางสังคมผ่านการประกอบพิธีกรรมเข้าทรง หนังสือเล่มนี้ประกอบด้วยเนื้อหาสำคัญ 4 ส่วน ดังนี้
ส่วนแรก กล่าวถึงลักษณะทั่วไปของดินแดนอุษาคเนย์ ซึ่งมีความหลากหลายและเป็นแหล่งหลอมรวมความเชื่อที่เก่าแก่ที่สุดของศาสนาผี ก่อนถูกผสมผสานและ/ หรือเบียดขับจากศาสนาอื่น และการปฏิบัติการในระดับนโยบายของผู้ปกครองในเวลาต่อมา พร้อมชวนถกแถลงเชิงทฤษฎีถึงข้อเสนอชุดใหม่ว่า กระบวนการรับรู้ (Cognitive Process) ที่มีรากฐานมาจากปัจจัยภายในของบุคคล มโนทัศน์เชิงทฤษฎีจิตวิทยาการรับรู้หรือทฤษฎีการเรียนรู้แนวปัญญานิยม และกรอบอ้างอิงของผู้คนในดินแดน อุษาคเนย์ เพื่อเติมเต็มช่องว่างทางความรู้ในประเด็นดังกล่าว

ส่วนที่สอง ผู้เขียนนำเสนอแนวคิดทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง เช่น มโนทัศน์ว่าด้วยการเข้ามาชุมกันและมโนทัศน์กรอบอ้างอิง เพื่อเปิดเผยกรอบคิดเชิงทฤษฎี ที่สนับสนุนปฏิบัติการทางสังคม ที่อยู่ในรูปของกระบวนการพิธีกรรม และแนวนโยบาย เพื่อสถาปนาอำนาจของผู้ปกครอง ลบล้างความเชื่อเรื่องผีและการนับถือศาสนาผีของสามัญชน เพื่อจัดวางความเชื่อชุดใหม่ลงบนการรับรู้ตาม “กรอบอ้างอิงอำนาจ” ของผู้ปกครอง ที่กระทำผ่านนโยบายความทันสมัย พิธีกรรมรูปแบบใหม่ การสร้างเรื่องเล่าชุดใหม่ การประกอบสร้าง “ผี” ตนใหม่ และปฏิบัติการทางสังคม รูปแบบใหม่ที่สอดคล้องกับอุดมการณ์ทางการเมืองและมโนทัศน์การพัฒนาของผู้ปกครอง โดยอาศัยการกระทำผ่านความสัมพันธ์ชุดใหม่ที่มีผู้ปกครองเป็นองค์ประธาน ในขณะเดียวกัน ผู้อ่านจะได้รับรู้ถึงการต่อต้าน ขัดขืน และพลังอำนาจของสามัญชนที่กระทำในรูปของการเคลื่อนไหวเพื่อทวงคืนพื้นที่ของ “ผีชาวบ้าน” ผ่านปฏิบัติการของการเมืองในชีวิตประจำวัน บนพื้นที่ส่วนบุคคล การปรับตัวของร่างทรงและความสัมพันธ์รูปแบบใหม่ระหว่างปัจเจกบุคคลกับผี ที่อาศัยพื้นที่ของพิธีกรรมเข้าทรงเพื่อแบ่งปันประสบการณ์ อุดมการณ์ และเปล่งเสียงบอกเล่าความทุกข์ ความต้องการของตนเอง โดยอาศัยผีและอำนาจของสิ่งเหนือธรรมชาติเป็นกระบอกเสียง

ส่วนที่สาม เป็นการนำเสนอ กรณีศึกษาพิธีกรรม “ร่างทรงกะเทย” ได้แก่ ผู้ประกอบพิธีกรรมเข้าทรง ประเทศเวียดนาม เมียนมา ไทย และอินโดนีเซีย เพื่อสนับสนุนข้อเสนอเรื่อง พลังอำนาจของปัจจัยภายในที่นำมาสู่ปฏิบัติการบนพื้นที่จินตกรรมที่ถูกทับซ้อนลงบนพื้นที่ ทางกายภาพซึ่งใช้ประกอบพิธีกรรมเข้าทรง ซึ่งร่างทรงกะเทย ใช้ความเชื่อเรื่อง “ผี” และกระบวนการประกอบพิธีกรรมเป็นกลไกสำคัญ ผู้เขียน เปิดเผยชุดความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ที่ถูกเบียดขับออกจากวัฒนธรรมกระแสหลัก การต่อต้านขัดขืน การแทรกตัวเข้ามาในกระบวนการพิธีกรรม ตลอดจนความพยายามในการช่วงชิงพื้นที่คืนของผู้ปกครอง โดยจำแนกประเด็นการนำเสนอ ได้แก่ การบอกเล่าพัฒนาการและความเป็นมาของ “ผี” พิธีกรรม และร่างทรงของแต่ละกรณีตัวอย่าง บทบาทของ “ผี” ในมิติต่าง ๆ การเปลี่ยนแปลงและความหมายใหม่จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน การเกิดขึ้นของชุมชนรูปแบบใหม่ในพื้นที่ทางกายภาพซึ่งประกอบเป็น ร่างทรงกะเทย และพิธีกรรมเข้าทรงในทางการเมือง

ส่วนสุดท้าย ได้แก่ ส่วนสรุป เป็นการเปิดเผยชุดภาพแทน ความจริงแบบนามธรรมที่ทับซ้อนแต่เชื่อมโยงกัน ประกอบด้วยโครงสร้างการรับรู้โลกของ “ร่างทรง” และผู้แสดงทางสังคมทั้งที่อยู่ในกระบวนการพิธีกรรมและผู้ที่เฝ้ามอง ตลอดจนการรับรู้และกระบวนการทำความเข้าใจของปัจเจกบุคคลกับปรากฏการณ์รอบตัว เมื่อต้องเผชิญกับสิ่งเร้าผ่านประสาทสัมผัส “กรอบอ้างอิงคน-ผี-เทพเจ้า (Human-Ghost-Deity Frame of Reference)” การนำมโนทัศน์การเข้ามาชุมกัน ของ Deleuze และ Guattari ทำให้เห็นกระบวนการเกิดขึ้นของชุมชนแบบใหม่ ที่กระทำผ่านความเชื่อมโยงระหว่างบุคคลกับการเคลื่อนไหวทางสังคม การจัดเรียงสิ่งต่าง ๆ ในสังคมใหม่ ที่ไม่ได้มีเพียงมนุษย์ แต่ครอบคลุมถึงความเชื่อ ศาสนา สำนึก อุดมการณ์ และสิ่งอื่น ๆ ที่ประกอบกันเข้าเป็นชุมชน เสมือนจริงที่มีสภาวะไร้พรมแดน และชี้ให้เห็นถึงความเชื่อมโยงของ ความคิด ความเชื่อ ความทรงจำ การปฏิสัมพันธ์ทางสังคม พิธีกรรม และกุศโลบายทางการเมือง