ผี ร่างทรง และพิธีกรรม หนังสือเล่มนี้ เรียงร้อยและสังเคราะห์ขึ้นจากผลงานวิชาการและงานวิจัย จากหลากหลายมุมมอง ของนักวิชาการและนักวิจัยที่สนใจเรื่องผี พิธีกรรม และความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับโลกเหนือธรรมชาติ การปรากฏตัวของผีในหนังสือเล่มนี้จึงมีทั้ง “ผี” ที่อยู่ในรูปของเรื่องเล่าผ่านความทรงจำ การรับรู้ ความเชื่อและจินตนาการที่มีลักษณะเป็นนามธรรม และผีที่อยู่ในรูปของพิธีกรรม การแสดง และการตีความผีถูกสะท้อนปรากฏการณ์ทางสังคมประสบการณ์ ความทุกข์ยากและความหวังของผู้คน ที่มีต่อรัฐและนโยบายสังคม ในขณะเดียวกัน ผีก็สะท้อนความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ที่มีลักษณะซับซ้อน และย้อนแย้งซึ่งกระจายอยู่ทั่วไปในวิถีชีวิตของผู้คน (Davis, 1984; Tanabe, 1991)

หนังสือเล่มนี้ แบ่งการนำเสนอออกเป็น 2 ส่วน ประกอบด้วย ส่วนแรก ได้แก่ บทความที่เกี่ยวกับผีและโลกของผีในมิติต่าง ๆ ส่วนที่สอง ได้แก่ บทความที่เกี่ยวกับร่างทรงและพิธีกรรมและโลกของความเร้นลับ แต่ละบทความนำเสนอมุมมองและวิธีวิทยาที่แตกต่างหลากหลาย ของผู้เขียน ที่ใช้เพื่อศึกษาและทำความเข้าใจกับ “ผี” และ “พิธีกรรม”
บทความแรกของ กมเลศ โพธิกนิษฐ และธนรัตน์ ทรงสมบูรณ์ เรื่อง “ปีศาจและซาตานในดนตรีแบล็คเมทัล : สุนทรียศาสตร์ทางดนตรี และพิธีกรรมเชิงสัญลักษณ์กับสุนทรียะแห่งปัจเจก” นำเสนอบทวิเคราะห์ดนตรีแบล็คเมทัล (Black Metal) ซึ่งเกิดขึ้นและเบ่งบานในช่วง ค.ศ. 1980 – 1990 ซึ่งเนื้อหาของบทเพลงสอดแทรกอุดมการณ์เชิงลบต่อทุกศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งคริสต์ศาสนา รวมถึงมีการนำเสนอภาพตัวแทนของ ลัทธิซาตาน ผ่านสัญลักษณ์เฉพาะกลุ่ม ทั้งสไตล์การแต่งหน้าและแต่งกายแบบซากศพ (Corpse Paint) และการนำเอาสัญลักษณ์ตราประทับแห่งบาโฟเมต (Sigil of Baphomet) ซึ่งเป็นรูปดาวห้าแฉก กลับหัวที่มีแพะอยู่ภายใน มาใช้เป็นภาพสะท้อนแบบแบ่งคู่ตรงข้ามของตัวตนในฐานะปีศาจและซาตาน ผู้ที่อยู่ตรงข้ามกับพระเจ้า บทความนี้ วิเคราะห์ดนตรี ในฐานะที่เป็นกลไกสำคัญต่อการกล่อมเกลาจิตใจมนุษย์ และความเชื่อมโยงของดนตรีกับความเชื่อทางศาสนา การใช้ประโยชน์ทางโลก และภาพแทนของดนตรีแบล็คเมทัลในเชิงสัญลักษณ์ของความชั่วร้ายที่ถูกขีดแบ่งด้วยหลักความดีงามตามความเชื่อทางศาสนา ตลอดจนมาตรฐาน ความดี–ความงามตามแนวสากลนิยม

บทความของ กันตพัฒน์ อนุศักดิ์เสถียร เรื่อง “จิตวิทยา แห่งความกลัวผ่านการทำความเข้าใจเรื่องผี นำเสนอเรื่องผีผ่านมโนทัศน์จิตวิทยาแห่งความกลัว ผู้เขียนวิเคราะห์เรื่องผีผ่านประสบการณ์ เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ในช่วงชีวิตของบุคคลที่มีลักษณะแตกต่างกัน เพื่อทำ ความเข้าใจความเชื่อมโยงระหว่างความเชื่อเรื่อง “ผี” กับสัญลักษณ์ ที่มีความหมายเฉพาะอย่าง ในการสร้างตัวตนของผี การขยายต่อเติม ความรู้สึกที่ตกค้างในส่วนลึกของจิตใจ กลไกทางจิตในรูปแบบของ การชดเชย การโทษสิ่งอื่น การแทนค่าในบางสิ่ง หรือการเติมเต็มความเป็นตัวตนที่ยังไม่สมบูรณ์ เพื่อนำไปสู่การดำเนินชีวิตในสังคมที่เต็มไปด้วยปัญหาและความกลัวของบุคคลที่ถูกสร้างขึ้นในรูปของสัญลักษณ์ ตลอดเวลา
บทความของ ฐานิดา บุญวรรโณ เรื่อง “ในหมู่ของผีก็มีชนชั้น : ว่าด้วยชนชั้นของผีในโลกทัศน์ของชาวไทดำ” บทความนี้มีเป้าหมาย ในการศึกษาชนชั้นทางสังคมในหมู่ของผีตามความเชื่อของชาวไทดำ การแบ่งลำดับชั้นทางสังคมตามหว่าสิงสกุลออกเป็นสกุลผู้ท้าวและ สกุลผู้น้อย ไม่เพียงแต่กำกับโครงสร้างทางสังคมของคนไทดำ ให้แบ่งออกเป็นผู้สืบสกุลสายผู้ท้าวและผู้สืบสกุลสายผู้น้อยในโลกของมนุษย์เท่านั้น ในโลกหลังความตาย หว่าสิงสกุลยังกำกับชนชั้นให้แบ่งออกเป็นผีผู้ท้าว และผีผู้น้อยอีกด้วย อย่างไรก็ดี ไม่ใช่ว่าในหมู่ผีผู้ท้าวหรือผีผู้น้อยทุกตน จะมีสถานภาพในโลกหลังความตายอย่างเท่าเทียมกัน ทั้งนี้ เพราะเหตุอุบัติของความตายยังเป็นปัจจัยกำกับสถานะและชนชั้นของผีอีกด้วย เช่น ผีบรรพบุรุษที่ตายดี ซึ่งจะถูกเชิญให้ขึ้นมาเป็นผีเรือน หรือผีร้ายที่ตายโหง ที่จะไม่ถูกเชิญให้ขึ้นเป็นผีเรือน โดยสถานะและชนชั้นของผีนี้ มีผลต่อเนื่องไปยังสิทธิต่าง ๆ เช่น ผีร้ายตายโหงนอกจากจะไม่ถูกเชิญขึ้นเป็นผีเรือนแล้ว ยังมีโอกาสถูกเรียกเชิญเพื่อรับเซ่นอาหารแบบกินรวม ๆ ร่วมกับผีสามสิบหล่ำทั่วไป มิได้ถูกบรรจุชื่อในปั๊บผีเรือนเหมือนผีบรรพบุรุษที่ตายดีตน อื่น ๆ ฐานิดา ชี้ให้เห็นว่านอกจากชนชั้นของผีที่ปรากฏในชีวิตประจำวันและในพิธีกรรมจะสะท้อนความเชื่อเรื่องผี ซึ่งเป็นวัฒนธรรมของ ชาวไทดำแล้ว ยังสะท้อนโลกทัศน์ของชาวไทดำอีกด้วย

บทความของ นิรมล พิมน้ำเย็น เรื่อง “หลุดพ้นเส้นทาง ผี ซาตาน และความมรณา” นำเสนอประเด็นด้านความเชื่อของครอบครัวที่เจ็บป่วยด้วยโรคและอาการเจ็บป่วยบางประเภท ที่ถูกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นจนได้รับการตีตราว่าเป็นครอบครัวที่ถูกสาป และถูกครอบงำโดยผี ซาตาน ตั้งแต่บรรพบุรุษจนถึงรุ่นปัจจุบันและคาดว่าความเชื่อดังกล่าวจะถูกส่งต่อไป ถึงลูกหลานในอนาคตว่า พวกเขาไม่สามารถหลุดพ้นจากคำสาปของ ผีซาตานได้ และทุกคนในครอบครัวต้องเจ็บป่วย มีอาการซูบผอม ผิวซีดขาว เนื่องจากเป็นเวรกรรม ที่ถูกถ่ายทอดจากรุ่นปู่ย่าตายาย พ่อแม่ จนถึงรุ่นลูกหลานเหลน คนในชุมชนสังคมต่างเล่าขานกันปากต่อปาก จนเป็นที่รังเกียจไม่มีใครต้องการคบหา พูดคุย หรือร่วมทำกิจกรรมด้วย นิรมลเติมเต็มช่องว่างของความรู้และความเชื่อดังกล่าว ด้วยความหวัง และคำอธิบายด้วยกรอบคิดแบบวิทยาศาสตร์สังคม โดยอธิบายความเชื่อ ดังกล่าว ด้วยข้อค้นพบและงานวิจัย ด้วยกรอบคิดทฤษฎีการตีตรา ระบาดวิทยาสังคม และทุนทางสังคม ใช้การศึกษาแบบมานุษยวิทยาวัฒนธรรมสุขภาพ เพื่ออธิบายอาการเจ็บป่วยด้วยเชื้อโรควัณโรค พร้อม ข้อเสนอแนะทั้งในระดับปฏิบัติการและนโยบาย
บทความของ บันดาล บัวแดง เรื่อง “ผีน้อยเกาหลี” สะท้อนความเป็น “ผี” ร่วมสมัย ที่เกิดขึ้นเมื่อเกาหลีใต้ คือ หมุดหมายใหม่ของแรงงานไทยที่คาดหวังรายได้และค่าแรงราคาสูงจากการจ้างงาน ซึ่งไม่มีโอกาสได้รับในประเทศไทย ที่ซึ่งนโยบาย กฎหมาย มาตรการ และเงื่อนไขการเข้าเมือง เพื่อออกไปทำงานถูกออกแบบ และกำหนดไว้อย่างรอบคอบรัดกุมแต่ซับซ้อน จนกลายเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการออกไป “ขายแรงงาน” ในเกาหลี สภาพดังกล่าวทำให้แรงงานไทยจำนวนมากเลือกที่จะหลบเลี่ยงเงื่อนไขและกฎเกณฑ์เหล่านั้น ด้วยการเลือกวิธีการทำงานในต่างแดนแบบผิดกฎหมาย จนต้องมีสถานะเป็นผีน้อยเกาหลี บันดาลเสนอบทวิเคราะห์ปรากฏการณ์ผีน้อยเกาหลี มูลเหตุปัจจัย ตลอดจนกระบวนการที่ทำให้แรงงานผิดกฎหมายต้องกลายเป็นผี ซึ่งประกอบด้วย 1) ปัญหาเศรษฐกิจ และความไม่สมดุลระหว่างรายได้กับค่าครองชีพระดับครัวเรือนของไทย และ 2) เงื่อนไขการจ้างงานและค่าแรงที่มีอัตราสูงกว่าของประเทศเกาหลี “ผีน้อย” เป็นสำนวนที่เรียกแรงงานผิดกฎหมายจำนวนมาก ที่ต้องกลายเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ ถูกแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบตามรูปแบบ “การกระทำอื่นที่คล้ายกันอันเป็นการขูดรีดบุคคล แม้ว่าบุคคลนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม” มีเพียง “ผีน้อยกลุ่มเล็ก ๆ” เท่านั้นที่ประสบความสำเร็จตามที่คาดหวัง ในขณะที่ส่วนใหญ่ถูกจับกุม ดำเนินคดี จำคุก ผลักดันกลับประเทศ ถูกขึ้นบัญชีดำห้ามเข้าประเทศเกาหลี เมื่อพยายามหลบหนี ก็มักกลายเป็นผู้สาบสูญ หรือเสียชีวิต

บทความของ ณัฐนิช ฉ่ำเฉื่อย เรื่อง “การจัดวางอุดมการณ์ของรัฐไทยผ่านพิธีกรรมบนพื้นที่หน้าเสาธงโรงเรียนรัฐบาล” มีวัตถุประสงค์ เพื่อวิเคราะห์กระบวนการจัดวางอุดมการณ์ของรัฐไทยผ่านพิธีกรรม บนพื้นที่หน้าเสาธงของโรงเรียนรัฐบาล โดยมองผ่านแนวคิดอุดมการณ์ และกลไกเชิงอุดมการณ์ของรัฐ ของ Louis Althusser (1971) ใช้วิธีการวิจัยเอกสาร ณัฐนิช เสนอว่า การขับเน้นอุดมการณ์ชาตินิยม ที่มุ่งปลูกฝังคุณลักษณะอันพึงประสงค์ และค่านิยม 12 ประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุดมการณ์ “รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์” และการขับเน้นระเบียบวินัยที่สัมพันธ์กับการควบคุมเรือนร่างและการแต่งกาย เป็นอุดมการณ์ที่บ่มเพาะปัญหาความรุนแรงเชิงโครงสร้างและอำนาจนิยม ณัฐนิช ยกตัวอย่างของ การนำนักเรียนและครู มารวมตัวกันก่อนเข้าชั้นเรียน เพื่อร้องเพลงชาติ–เคารพธงชาติ สวดมนต์บูชาพระรัตนตรัย ปฏิญาณตน การรับฟังโอวาท การถูกตรวจตราความถูกต้องของเครื่องแต่งกาย ความยาวของเล็บมือ สีผม ตลอดจนการลงโทษ และประจารนักเรียนที่ประพฤติตนผิดไปจาก กฎ ระเบียบ ข้อบังคับของกระทรวงศึกษาธิการ ที่เกิดจากการตีความของ ผู้บริหารและครู ซึ่งหลายกรณีเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพเหนือร่างกายของนักเรียน และเป็นมโนทัศน์แบบลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์
บทความของ ดำรงค์ ตุ้มทอง เรื่อง “พิธีกรรมเปลี่ยนผ่านทาง การศึกษา : กรณีระบบการพัฒนาครู ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานภาคกลางตอนล่างของไทย” มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) วิเคราะห์การปฏิสัมพันธ์ เชิงสัญลักษณ์ที่ปรากฏในพิธีกรรมเปลี่ยนผ่านในระบบการพัฒนาครู ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานภาคกลางตอนล่างของไทย และ 2) สร้างทฤษฎีพิธีกรรมเพื่อการเปลี่ยนผ่านในระบบการพัฒนาครูะดับการศึกษาขั้น พื้นฐานภาคกลางตอนล่างของไทย โดยใช้ทฤษฎีฐานราก (Grounded Theory) มีกระบวนการศึกษาที่เป็นระบบ (Systematic Procedure) ซึ่งเป็นแนวทางของ Strauss and Corbin’s Grounded Theory ผู้ให้ข้อมูลจำนวน 5 ราย ประกอบด้วย 1) นักศึกษาครูที่กำลังอยู่ ในกระบวนการฝึกหัดครู จำนวน 2 ราย 2) ครูบรรจุ ใหม่ที่ปฏิบัติหน้าที่ครูมาแล้ว 2–3 ปี จำนวน 2 ราย และ 3) ครูวิชาชีพ จำนวน 1 ราย รวบรวมข้อมูลโดยการสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้าง (Structure Interview) วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูปในการวิเคราะห์ ข้อมูลเชิงคุณภาพ โดยใช้โปรแกรม ATLAS.ti (Trial Version Limitations) ดำรงค์พบว่า การปฏิสัมพันธ์เชิงสัญลักษณ์ที่ปรากฏในพิธีกรรมเปลี่ยนผ่านในระบบ การพัฒนาครู ประกอบด้วย 1) สัญลักษณ์หลัก (Dominant Symbols) ได้แก่ พิธีกรรมบายศรีสู่ขวัญ พิธีกรรมการรับน้องสาขาวิชา กระบวนการฝึกสอน และ 2) สัญลักษณ์รองประกอบด้วย กฎระเบียบการแต่งกาย ในช่วงการเรียนและการฝึกประสบการณ์สอน ในรูปของสัญลักษณ์ เชิงพิธีกรรม การประเมินตำแหน่งครู ดำรงค์เสนอข้อค้นพบในรูปของ ทฤษฎีพิธีกรรม เพื่อการเปลี่ยนผ่านในระบบการพัฒนาครูกลุ่มเป้าหมายว่าประกอบด้วย 3 ระยะ 1) ระยะการแยกตัว (Rite of Separate) ประกอบด้วย 1.1) การปรับตัวของนักศึกษาครูในช่วงแรก 1.2) ระเบียบการแต่งตัว 1.3) การสละความเป็นตนเอง 1.4) การปรับตัวเมื่อเข้าสู่ ครูวิชาชีพ 2) ระยะการเปลี่ยนผ่าน (Rite of Transition) ประกอบด้วย 2.1) พิธีกรรมการปฐมนิเทศ 2.2) พิธีกรรมการรับน้องสาขาวิชา 2.3) กิจกรรมส่งเสริมความเป็นครู 2.4) พิธีกรรมการสังเกตการสอน และการฝึกสอน 2.5) พิธีกรรมการประเมินครู และ 3) ระยะการเปลี่ยนผ่านสู่สภาพใหม่อย่างสมบูรณ์ (Rite of Incorporation) ประกอบด้วย 3.1) การเปลี่ยนแปลงความรู้สึกที่มีต่อความเป็นครู 3.2) การสำเร็จการศึกษา และ 3.3) การเปลี่ยนแปลงตำแหน่งหน้าที่ครู
บทความของ พัชรินทร์ สิรสุนทร เรื่อง “ผีกับการเมือง : การสถาปนาอำนาจผ่านพิธีกรรมร่างทรง” กล่าวถึงบทบาทของผีผ่านพิธีกรรมร่างทรง ในฐานะที่เป็นกุศโลบายทางการเมือง ที่ผู้ปกครองใช้เพื่อช่วงชิงพื้นที่ของอำนาจและความหวัง ผู้เขียนใช้รูปแบบการศึกษาเอกสารจาก 4 กรณีศึกษา ได้แก่ พิธีกรรมร่างทรง Hầu Đồng หรือร่างทรง เทวสตรีแม่ผู้สร้างโลก เวียดนาม, နတ်ကတော် หรือนัตกะด่อ เมียนมา, ร่างทรงม้าขี่ปู่เมี๊ยะของไทย และร่างทรง Bissu อินโดนีเซีย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 จนถึงปี พ.ศ. 2566 เพื่อเปิดเผยข้อค้นพบเชิง วิวาทะและ “มโนทัศน์ใหม่” เกี่ยวกับบทบาทของ “ผี” ในพื้นที่ทางการเมือง โดยใช้ การวิเคราะห์แนวคิดและเทคนิคการเล่าเรื่อง (Narrative Technique & Approach) ผลการศึกษาพบข้อจำกัดของกรอบคิดแบบศาสตร์เดี่ยว และพบว่าพิธีกรรมร่างทรงมีบทบาทสำคัญในทางการเมือง โดยเปิดเผยพลังอำนาจของบุคคล ที่เกิดขึ้นบนพื้นที่พิเศษ ซึ่งก่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้แบบผู้ใหญ่ในชุมชน (Community Adult Learning Process) การสร้างความหมายใหม่ของผีและพิธีกรรมที่มีสภาพเลื่อนไหล อ่อนตัว และพ้นพรมแดนผ่านกลไกทางสังคม ได้แก่ การปฏิสัมพันธ์ทางสังคม และเครื่องมือเฉพาะทางวัฒนธรรม จนเกิดการประกอบสร้างบทบาทใหม่ และการดำรงอยู่ในสังคมของร่างทรง ซึ่งไม่ถูกจำกัดด้วยเพศสภาพ ผู้เขียนเสนอว่า พิธีกรรมร่างทรง มีส่วนสำคัญต่อการสร้างพื้นที่แห่งการเรียนรู้ การสถาปนาอำนาจต่อรองทางการเมือง และการปรากฏตัวของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศสภาพ

บทความของ วัชรพล พุทธรักษา เรื่อง “คติชาวบ้าน (Folklore) กับนัยที่ถูกซ่อนเร้น : บทวิเคราะห์ผ่านมุมมองของกรัมชี่และมาร์กซ์” บอกเล่าเรื่องคติชาวบ้าน หรือการแสดงออกซึ่งแบบแผนทางความคิด ความเชื่อของผู้คนในรูปแบบต่าง ๆ ว่าประเด็นสำคัญในการศึกษาทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ เนื่องจากคติชาวบ้านสามารถเข้าถึง หรือทำความเข้าใจได้ผ่านทางรูปแบบที่หลากหลาย เช่น เรื่องเล่า นิทานพื้นบ้าน ตำนาน ความเชื่อ ดนตรี ฯลฯ โดยมักเชื่อมโยงกับการสื่อสาร ทางภาษาและความเชื่อทางศาสนา การทำความเข้าใจในคติชาวบ้าน จึงมีความสำคัญเพราะทำให้ความเข้าใจกับความหมายทางสังคมที่ผู้คน ในอดีตสื่อสารผ่านสื่อต่าง ๆ รวมถึงเป็นการทำความเข้าใจการประกอบสร้างของโครงสร้างทางสังคม ตลอดจนการจัดวางความคิดเกี่ยวกับอุดมการณ์และกลไกด้านอำนาจทางการเมืองของสังคมในอดีตอีกด้วย วัชรพล เสนอว่า กรัมชี่มีจุดยืนในการวิพากษ์คติชาวบ้าน เนื่องจากคติชาวบ้านเป็นปรัชญาตามสัญชาติญาณ (Spontaneous Philosophy) หรือเป็นความรู้ที่ถูกสร้างขึ้นและส่งต่ออย่างกระจัดกระจายและไม่เป็นระบบ โดยมักเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของชนชั้นปกครอง กรัมชี่มองว่าคติชาวบ้านเป็นองค์ประกอบสำคัญประการหนึ่งของการสร้างคอมมอนเซ้นส์ (Common Sense) ให้เกิดขึ้นเพื่อประโยชน์ในทางการเมืองของชนชั้นนำ การวิพากษ์แนวคิดเกี่ยวกับคติชาวบ้านของกรัมชี่ จึงมีประโยชน์ในแง่ของการสร้างความเป็นไปได้ในการต่อสู้กับอำนาจนำที่แฝงอยู่ในคติชาวบ้านรูปแบบต่าง ๆ และสร้างความรู้ใหม่ในการสร้างจิตสำนัก เชิงวิพากษ์ (Good Sense) ให้เกิดขึ้นแก่มวลชนได้อย่างแท้จริง

บทความของ วัชรวุฒิ ซื่อสัตย์ เรื่อง “ความศักดิ์สิทธิ์และสุนทรียศาสตร์ : ธุรกิจพิธีกรรมในโลกทุนนิยม” มุ่งวิเคราะห์ความศักดิ์สิทธิ์ และการประกอบสร้างสุนทรียศาสตร์ ผ่านธุรกิจพิธีกรรมในโลกทุนนิยม โดยใช้วิธีการทบทวนเอกสาร ประกอบด้วย วิทยานิพนธ์ รายงานการวิจัย และบทความทางวิชาการ ตลอดจนการสำรวจข้อมูลออนไลน์ในหน้า เพจเฟซบุ๊กเจ้าของธุรกิจพิธีกรรม และวิเคราะห์ข้อมูลแบบการวิเคราะห์เนื้อหาที่ปรากฏในเอกสาร จัดเรียงตามหมวดหมู่และนำเสนอข้อมูล แบบความเรียง วัชรวุฒิ พบว่า ระบบความเชื่อในสังคมไทยเป็นการผสมระหว่างศาสนาผีที่เป็นศาสนาดั้งเดิมเข้ากับศาสนาพราหมณ์–ฮินดู และศาสนาพุทธ จนเกิดเป็น “ศาสนาไทย” แบบทุนนิยมโลก ถูกกระทำผ่านเทคโนโลยีที่ทันสมัย และขยายช่องทางการเชื่อมต่อผู้คนในทุกสังคมด้วยวิธีการแบบพ้นพรมแดน ทำให้เกิด “ช่องทางใหม่” ในพื้นที่การสื่อสารเรื่องศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งกระทำผ่านการใช้สุนทรียศาสตร์ด้านการประกอบพิธีกรรม โดยมีความศักดิ์สิทธิ์เป็นกลไกสำคัญที่เชื่อมโยงสุนทรียศาสตร์ ในการบูชาโดยเน้น “มาตรฐานของการบูชา” ที่ถูกตีความว่าถูกต้อง ประกอบด้วย พิธีกรรม เครื่องบูชา และผู้ประกอบพิธีกรรม ได้นำไปสู่ การประกอบสร้างความศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นมาตรฐานสากล

บทความของ สันทราย วงษ์สุวรรณ เรื่อง “ความมั่นคงทางอาหาร : มุมมองผ่านพิธีกรรมการไหว้บรรพบุรุษ กรณีศึกษาจังหวัดน่าน” มีเป้าหมาย เพื่อศึกษาความมั่นคงทางอาหาร ผ่านมุมมองการเซ่นไหว้บรรพบุรุษ สันทรายเชื่อว่า ความมั่นคงทางอาหารเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิต เศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของผู้คนในพื้นที่นั้น ๆ นอกจากนี้ ความมั่นคง ทางอาหารไม่ได้เป็นเพียงปัญหาของการเกษตรกรรมหรืออุตสาหกรรม แต่เป็นความสัมพันธ์ทางสังคมที่มีปฏิสัมพันธ์กันอย่างวิภาษวิธีระหว่าง ภาครัฐ ตัวแสดงภาคเอกชน และภาคประชาชนที่เข้ามามีบทบาทใน การต่อรองอำนาจ เพื่อผลประโยชน์ของแต่ละกลุ่ม ชุมชนที่มีความมั่นคงทางอาหาร จะสะท้อนผ่านวิถีชีวิตที่มีความอุดมสมบูรณ์ ผ่านของเซ่นไหว้เช่น หมู ไก่ วัว ควาย ผลไม้ และอื่น ๆ การเลี้ยงผีบรรพบุรุษ เป็นตัวอย่างหนึ่งของการทำพิธีเพื่อระลึกถึงปู่ย่า ตายาย เป็นพิธีกรรมในระดับครัวเรือน และสายตระกูล เพื่อบอกกล่าวให้ผีบรรพบุรุษช่วยปกปักรักษาลูกหลาน ให้อยู่ดีกินดี ปลอดภัยจากโรคภัยไข้เจ็บ ดังนั้นการเซ่นไหว้บรรพบุรุษ จังหวัดน่าน จึงสะท้อนสถานะของความมั่นคงทางอาหาร ในแง่ของ การบริหารจัดการอาหารและเครื่องเซ่นไหว้อย่างมีประสิทธิภาพ และ เพียงพอที่จะทำให้ทุกคนเข้าถึงอาหารได้ ไม่อดอยาก แม้ว่าจะมีเหตุการณ์วิกฤตฉุกเฉิน
หนังสือ “ผี ร่างทรง และพิธีกรรม” ชวนให้ผู้อ่านมาร่วม ถกแถลง และร่วมออกเดินทางไปในดินแดนที่ลี้ลับ เพื่อขยายขอบเขตของการทำความเข้าใจกับ “ผี” ด้วยมโนทัศน์ที่แตกต่างหลากหลายของผู้เขียน เพื่อเพ่งมองและพินิจ ผี ร่างทรง และพิธีกรรม ผ่านกรอบคิด และวิธี วิทยาที่แตกต่าง ทั้งในมิติสังคมวิทยาการพัฒนา มานุษยวิทยาวัฒนธรรม จิตวิทยา การแพทย์และรัฐศาสตร์ ผู้เขียนทุกท่านหวังเป็นอย่างยิ่งว่า หนังสือรวมบทความเล่มนี้ จะเติมเต็มช่องว่างของความรู้ ความคิด ในประเด็นเรื่อง “ผี” และความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างมนุษย์กับ สรรพสิ่งรอบตัว