องค์ประกอบของหนังสือ ตำรา มีอะไรบ้าง

ถ้าพูดถึงส่วนประกอบของหนังสือ ตำรา เราได้คุ้นเคยกันมาตั้งแต่สมัยตอนเรียนตอนเด็ก ๆ เราก็จะรู้ว่าหนังสือนั้นก็จะมี หน้าปก คำนำ สารบัญ และส่วนของเนื้อหาต่าง ๆ แต่บางเล่มเราอาจจะพบส่วนประกอบของหนังสือ ที่มีมากกว่าส่วนประกอบที่เราคุณเคย เช่น กิติกรรมประกาศ คำนิยม บรรณานุกรรม หรือดัชนี โดยส่วนใหญ่องค์ประกอบต่าง ๆ ที่เพิ่มมานี้จะเป็นหนังสือทางวิชาการ ที่จะต้องมีการอ้างอิง รวมถึงการที่ได้รับการพิจารณาจากผู้ทรงคุณวุฒิต่าง ๆ มากมายทำให้นักเขียนมักจะเขียนกิติกรรมประกาศ รวมถึงการขอคำนิยมจากผู้ที่นักเขียนนับถือ จากประสบการณ์ของสำนักพิมพ์ ม.นเรศวร ที่ได้จัดพิมพ์หนังสือ ตำราทางวิชาการ จึงได้รวบรวมส่วนประกอบของหนังสือ ตำรา ว่ามีอะไรบ้าง เพื่อเป็นตัวช่วยสำหนับนักเขียนที่จะเริ่มเขียนหนังสือ ตำรา

1. หน้าปก

ตัวอย่างหน้าปกหนังสือ ตำรา

โดยพื้นฐานองค์ระกอบของหน้าปก จะประกอบไปด้วย 1. ชื่อหนังสือ 2. ชื่อผู้เขียน 3. ภาพประกอบปก 4. ตราสัญญาลักษณ์ (Logo) ของสำนักพิมพ์ หรือหน่วยงาน

2. ปกใน

ตัวอย่างปกใน

ตัวอย่างปกใน

ลักษณะพื้นฐานของปกในหนังสือ ตำรา จะประกอบไปด้วย ชื่อหนังสือ 2. ชื่อผู้เขียน 4. ตราสัญญาลักษณ์ (Logo) ของสำนักพิมพ์ หรือหน่วยงาน แต่โดยปกติแล้วนักออกแบบจะทำให้ปกในดูสบายตา ไม่ใช้กราฟิกที่มากเกินไปทำให้ได้อารมณ์ที่สบาย ๆ

3. หน้าลิขสิทธิ์

ตัวอย่างหน้าลิขสิทธิ์

ตัวอย่างหน้าลิขสิทธิ์

หน้าหน้าลิขสิทธิ์ จะประกอบไปด้วยข้อมูลทางบรรณานุกรมของสำนักหอสมุดแห่งชาติ ที่ทางนักเขียน หรือสำนักพิมพ์จะต้องไปแจ้งความประสงค์ขอเพื่อได้เลขประจำหนังสือ หรือที่เราเรียกกันว่า ISBN ซึ่งจะเป็นเลขสำหรับบาร์โค้ด ในการจำหน่ายและการค้นหาหนังสือของเรา (ซึ่งจะอธิบายในส่วนของปกหลัง) รวมถึงการระบุการจัดทำข้อมูลบรรณานุกรมสิ่งพิมพ์ หรือ Cataloging in Publication เรียกแบบย่อว่า CiP คือ การกําหนดข้อมูลให้รายละเอียดรายการทางบรรณานุกรม ตามหลักเกณฑ์ในการทํารายการ เลขหมู่หนังสือ หัวเรื่อง ให้แก่สํานักพิมพ์หรือผู้จัดพิมพ์หนังสือ ก่อนที่จะจัดพิมพ์หนังสือนั้น เพื่อสํานักพิมพ์หรือผู้จัดพิมพ์จะได้นําข้อมูลที่กําหนดให้นั้น พิมพ์ไว้ด้านหลังหน้าปกในของหนังสือแต่ละเล่ม (สํานักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร, 2551)

4. คำนำ

ตัวอย่างคำนำ

ตัวอย่างคำนำ

คำนำ คือส่วนเรื่มต้นที่นักเขียนจะได้สื่อสารเป็นครั้งแรกกับผู้อ่าน โดยส่วนใหญ่คำนำจะเป็นการอธิบายภาพรวมของหนังสือ ตำรา มีวัตถุประสงค์เพื่ออะไร? หนังสือมีเนื้อหาสาระเกี่ยวกับอะไร? หนังสือเหมาะสมกับกลุ่มไหนที่จะอ่าน? จึงถือได้ว่าคำนำก็คือ โหมโรง สำหรับการเริ่มต้นการแสดงของหนังสือ ตำรา ผู้เขียนจึงจำเป็นต้องมีส่วนประกอบนี้อยู่ภายในหนังสือ ตำรา

5. กิติกรรมประกาศ (ถ้ามี)

ตัวอย่างกิติกรรมประกาศ

ตัวอย่างกิติกรรมประกาศ

กิติกรรมประกาศ คือ ส่วนที่ผู้เขียนจะได้กล่าวคำขอบคุณหรือให้เครดิตต่าง ๆ สำหรับผู้ที่มีอุปการคุณกับหนังสือ ตำรา เล่มนี้ ในส่วนนี้จะมีหรือไม่มีก็ได้

6. คำนิยม (ถ้ามี)

ตัวอย่างคำนิยม

ตัวอย่างคำนิยม

คำนิยม คือ ส่วนประกอบหนึ่งในหนังสือ ตำรา ที่ผู้เขียนหรือสำนักพิมพ์ จะขอความกรุณาจากผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญ หรือเป็นบุคคลที่ผู้เขียนเคารพนับถือ จึงได้ให้ความกรุณาเขียนคำนิยม เพื่อสรุปประเด็นของหนังสือ หรือกล่าวแนะนำหนังสือเล่มนี้ ตลอดจนการให้การชื่นชมกับผู้เขียนที่ได้เขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นมา โดยในส่วนนี้จะมีหรือไม่มีก็ได้

7. สารบัญ

ตัวอย่างสารบัญ

ตัวอย่างสารบัญ

สารบัญ เป็นส่วนสำคัญมากที่หนังสือ ตำรา จะขาดไปไม่ได้เพราะจะเป็นส่วนที่ทำให้ผู้อ่านสามารถเลือกอ่านตามเรื่องที่ต้องการได้แล้ว และยังเป็นส่วนช่วยให้ผู้อ่านสามารถตัดสินใจได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้นที่จะซื้อหนังสือ ตำรา เล่มนี้ไปอ่านดีหรือไม่ ส่วนของสารบัญจะต้องประกอบไปด้วย ชื่อบทต่าง ๆ แต่นักเขียนควรใส่รายละเอียดหัวข้อย่อยในแต่ละบทลงไปโดยไม่ควรเกิน 2 หัวข้อย่อย เพื่อให้สารบัญมีความละเอียดและช่วยดึงดูดผู้อ่านได้มากยิ่งขึ้น

8. ตัวย่อและสัญญาลักษณ์ / อภิธานศัพท์ (ถ้ามี)

ตัวอย่างตัวย่อและสัญญาลักษณ์ / อภิธานศัพท์

ตัวย่อและสัญญาลักษณ์ / อภิธานศัพท์ เป็นส่วนที่จะระบุให้ผู้อ่านเข้าใจตัวย่อและสัญญาลักษณ์ต่าง ๆ ในหนังสือ ตำรา โดยส่วนมากเราจะพบตัวย่อและสัญญาลักษณ์ / อภิธานศัพท์ ในหนังสือตำราเฉพาะทาง ที่จะมีตัวย่อและสัญญาลักษณ์ คำศัพท์ที่ใช้เรียกกันเป็นประจำในสาขานั้น ๆ เพื่อสร้างความเข้าใจให้กับผู้อ่าน ผู้เรียน ส่วนนี้จึงเป็นส่วนเริ่มต้นที่จะบอกรายละเอียดการใช้ตัวย่อและสัญญาลักษณ์ คำศัพท์เฉพาะในหนังสือเล่มนี้

9. เนื้อหา

ตัวอย่างเนื้อหา

ตัวอย่างเนื้อหา

เนื้อหา เป็นส่วนสำคัญของหนังสือ ตำรา เรียกว่าเป็นหัวใจหลักของหนังสือก็ว่าได้ที่จะสื่อสาร สาระสำคัญ องค์ความรู้ต่าง ๆ จากผู้เขียนผ่านตัวอักษร ไปยังผู้อ่านผู้เรียน ที่จะใช้ในการสร้างการเรียนรู้และทบทวนความรู้ต่าง ๆ โดยองค์ประกอบย่อย ๆ ของ หนังสือ ตำรา ถ้าในเชิงวิชาการก็จะประกอบไปด้วย

ตำรา การอธิบายหรือการวิเคราะห์ การสรุป ทั้งนี้ควรมีการอ้างอิงแหล่งข้อมูลที่ทันสมัยและครบถ้วนสมบูรณ์การอธิบายสาระสำคัญมีความชัดเจนโดยอาจใช้ข้อมูล แผนภาพ ตัวอย่าง หรือกรณีศึกษาประกอบจนผู้อ่านสามารถทำความเข้าใจในสาระสำคัญนั้นได้โดยเบ็ดเสร็จ

หนังสือ มีเนื้หามีความทันสมัยและครบถ้วนสมบูรณ์ โดยอาจมีข้อมูล แผนภาพ ตัวอย่าง หรือกรณีศึกษาประกอบด้วยก็ได้ ตามรูปแบบอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้
1. เป็นงานที่นักวิชาการเขียนทั้งเล่ม (authored book) คือ เอกสารที่ผู้เขียนเรียบเรียงขึ้นทั้งเล่มอย่างมีเอกภาพ มีรากฐานทางวิชาการที่มั่นคง และให้ทัศนะของผู้เขียนที่สร้างเสริมปัญญา ความคิด และสร้างความแข็งแกร่งทางวิชาการ

2. เป็นงานวิชาการบางบทหรือส่วนหนึ่งในหนังสือที่มีผู้เขียนหลายคน (book chapter) โดยจะต้องมีความเป็นเอกภาพของเนื้อหาวิชาการซึ่งผู้อ่านสามารถทำความเข้าใจ ในสาระสำคัญนั้นได้โดยเบ็ดเสร็จในแต่ละบท และเป็นงานศึกษาค้นคว้าอย่างมีระบบมีการวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูลด้วยวิธีวิทยาอันเป็นที่ยอมรับจนได้ข้อสรุปที่ทำให้เกิดความก้าวหน้าทางวิชาการ หรือน าไปประยุกต์ใช้ได้ กรณีที่ในแต่ละบทมีผู้เขียนหลายคนจะต้องระบุบทบาทหน้าที่ของแต่ละคนอย่างชัดเจน
หากนำผลงานไปขอตำแหน่งทางวิชาการ จำนวนบทที่จะนำมาแทนหนังสือ 1 เล่ม ต้องมีจำนวนอย่างน้อย 5 บท และมีจำนวนหน้ารวมกันแล้วไม่น้อยกว่า 80 หน้า โดยเนื้อหาสาระของบทในหนังสือทั้ง 5 บท จะต้องไม่ซ้ำซ้อนกันและอยู่ในขอบข่ายสาขาวิชาที่เสนอขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการ ทั้งนี้ อาจอยู่ในหนังสือเล่มเดียวกันหรือหลายเล่มก็ได้ และสำหรับการประเมินคุณภาพจะต้องประเมินคุณภาพโดยรวมทั้งหมด (หลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์ พ.ศ. 2563, 2563)

ตัวอย่างบทสรุป

10. เอกสารอ้างอิง / บรรณานุกรม

เอกสารอ้างอิง / บรรณานุกรม

บรรณานุกรม หรือเอกสารอ้างอิง เป็นส่วนสำคัญที่สำคัญของการเขียนงานต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเอกสารทางวิชาการ หนังสือ ตำรา รายงานการวิจัย หรือที่เราเห็นกันมากก็คือวิทยานิพนธ์ ซึ่งจะปรากฏอยู่ท้ายเล่มของผลงานที่เป็นเป็นแหล่งรวบรวบรายการข้อมูลที่งานเขียนนั้น ๆ ได้อ้างอิงถึง อีกทั้งยังเป็นส่วนที่จะเชื่อมโยงไปยังต้นทางของแหล่งข้อมูลที่ให้ผู้อ่านสามารถค้นหาและสืบค้นเพิ่มเติมได้

โดยส่วนใหญ่แล้วการเขียนบรรณานุกรม หรือเอกสารอ้างอิง จะนิยมใช้มาตรฐานการเขียนที่ชื่อว่า APA หรือ (American Psychological Association) เพื่อเป็นมาตรฐาน ในการเขียนอย่างเป็นระบบสำหรับการทำวิจัย รายงานการวิจัย การทบทวนวรรณกรรม บทความและกรณีศึกษา สำหรับนักเขียนและนักศึกษานำมาใช้ในวิทยานิพนธ์ซึ่งเป็นรูปแบบที่นิยมใช้อย่างแพร่หลาย โดยในปัจจุบัน APA ได้พัฒนามาถึงเวอร์ชันที่ 6 ที่มีมาตราฐานใหม่ที่เป็นแปลงจากเดิมไปพอสมควร ทางสำนักพิมพ์ ม.นเรศวร ได้เขียนบทความ วิธีการเขียนบรรณานุกรม รูปแบบ APA 6 ในงานวิชาการ ไว้ให้แล้วสามารถเข้าไปดูตัวอย่างการเขียนได้เลย

11. ภาคผนวก

ตัวอย่างภาคผนวก

ตัวอย่างภาคผนวก

ภาคผนวก เป็นส่วนท้ายที่เพิ่มเติมเข้ามานอกจากเนื้อหาที่จะเขียนในกรณีการยกตัวอย่างกรณีศึกษา หรือส่วนขยายที่อาจจะมีเนื้อหามากเกินกว่าที่จะเอาไปไว้ในเนื้อหา โดยส่วนมากอาจจะพบในหนังสือที่มีการยกตัวอย่างกรณีศึกษา ผลการทำลอง สถิติ หรือหลักฐานต่าง ๆ

12. ดัชนี หรือ ดรรชนี

ตัวอย่างดัชนี หรือ ดรรชนี

ดัชนี หรือ ดรรชนี ในภาษาอังกฤษเราจะเข้าใจก็คือ Index ส่วนนี้จะประกอบไปด้วยคำสำคัญที่จะใช้เป็นดัชนีคำค้นภายในหนังสือของเราเพราะโครงสร้างพื้นฐานของดัชนีคำค้นนั้นจะมีการระบุหน้าขอวคำ ๆ นั้นว่าอยู่ในหน้าไหนซึ่งจะทำให้ผู้ผ่านนั้นสามารถหาคำสัำคัญหรือหัวข้อสำคัญในหนังสือเล่มนี้ได้ ซึ่งการทำนั้นทางสำนักพิมพ์ ม.นเรศวร จึงขอแนะนำเทคนิคการตั้ง ดัชนี (Index) อัตโนมัติใน Word โดยข้อดีของการทำก็คือเราจะได้ต้องกังวลเวลาที่เรามีการขยับเลื่อนเนื้อหา ท้ายสุดแล้วเราสามารถไปทำการอัพเดทเลขหน้าของดัชนีได้ทันทีช่วยลดระยะเวลาการทำงานได้เป็นอย่างมาก

13. ประวัตินักเขียน

ตัวอย่างประวัตินักเขียน

ประวัตินักเขียน นั้นจะประกอบไปด้วย ชื่อผู้เขียน ภาพถ่ายผู้เขียน สถานที่ทำงาน (หรืออาจจะมีข้อมูลติดต่อ เช่น Email เบอร์โทรสำนักงาน หรือถ้าสะดวกที่จะให้เบอร์มือถือก็ได้) ประวัติการศึกษา และสาขาวิชาการที่มีความเชี่ยวชาญ โดยส่วนใหญ่ก็จะพบในหนังสือทางวิชาการ เพื่อจะทำให้ผู้อ่านทราบถึงประสบการณ์และความเขี่ยวชาญของนักเขียน หรืออาจจะเคยไปพบผลงานของนักเขียนในงานต่าง ๆ ก็จะช่วยให้นักอ่านตัดสินใจซื้อหนังสือเราได้

14. ปกหลัง

ตัวอย่างคำโปรย

คำโปรย คือ คำอธิบายแบบสั้น ๆ หลังปกหนังสือ ตำรา ที่เราจะสื่อสารได้อย่างชัดเจนกับผู้ที่พบเห็นและกำลังจะตัดสินใจซื้อ ซึ่งจะต้องระบุสารสำคัญของหนังสือ ตำรา สรุปประเด็น และสุดท้ายหนังสือเหมาะกับใคร อ่านแล้วได้อะไร แต่จะต่างไปจากคำนำ ที่อาจจะมีประเด็นที่ขยายสาระสำคัญออกไปได้อีก แต่คำโปรยนั้นจะต้องสื่อสารแบบกระชับและเข้าใจได้ง่ายที่สุด

ตัวอย่าง Barcode ISBN และการระบุราคาจำหน่าย

ส่วนประกอบท้ายเล่มอีกอย่างที่สำคัญคือการใส่ Barcode ISBN และราคาที่ไว้ใช้สำหรับการจำหน่าย โดยส่วนมากนิยมใส่กันในส่วนท้ายเล่มด้านล่าง โดยจะใส่ทางด้านไหนนั้นขึ้นอยู่กับมาตราฐานของสำนักพิมพ์ หรือการออกแบบที่สวยงาม

15. สันหนังสือ

ตัวอย่างสันหนังสือ

สันหนังสือ เป็นอีกส่วนสำคัญที่นักเขียนอาจจะมองข้ามไป สันหนังสือมีความสำคัญอย่างมาก ทั้งด้านการจำหน่ายและการค้นหา ถ้าเราไปร้านหนังสือหรือหอสมุดต่าง ๆ เราก็จะคุณเคยกันดีว่าหนังสือทุกเล่มไม่ได้หันด้านหน้าปกออกมาให้ผู้อ่านได้เห็นเสมอ เนื่องจากทางศูนย์หนังสือหรือหอสมุดจะต้องบริหารจัดการพื้นที่เก็บหนังสือให้ได้มากที่สุดด จึงพบว่าสันหนังสือจะเป็นส่วนที่สำคัญมาก ในการสื่อสารกับนักอ่านที่จะเลือกหยิบขึ้นมาอ่าน โดยส่วนประกอบของสันหนังสือนั้นก็จะประกอบไปด้วย ตราสัญญาลักษณ์สำนักพิมพ์ (Logo) ชื่อเรื่อง ชื่อผู้แต่ง ราคา หรือส่วนต่าง ๆ ตามมาตราฐานของสำนักพิมพ์นั้น ๆ นั่นเอง

สุดท้ายนี้จึงอยากจะฝากถึงนักเขียนและนักอ่านทุกท่านว่าจากที่ได้อ่านมาแล้วนั้นกระบวนการและองค์ประกอบของหนังสือนั้นมีมากมาย ยังไม่รวมถึงขั้นตอนการทำต้นฉบับ การออกแบบ การพิมพ์ออกมาเป็นเล่มยังมีอีกหลายกระบวนการมากมายกว่าจะออกมาเป็นหนังสือ 1 เล่ม ให้เราได้เห็นและอ่านกันในศูนย์หนังสือและหอสมุดนั้น หนังสือมีกระบวนการเดินทางมาอย่างยาวนานและหนังสือ ตำรา ยังคงจะอยู่ต่อไปถ้ายังได้รับการสนับสนุนจากทุก ๆ ฝ่าย ทั้งนักเขียน สำนักพิมพ์ ศูนย์หนังสือ และสำคัญสุดคือผู้อ่าน ที่จะเป็นผู้ที่จะสนับสนุนขับเคลื่อนให้องค์ความรู้ จากหนังสือไปใช้เพื่อเพิ่มประสบการณ์และทักษะการเรียนรู้ได้ และยังเป็นกำลังใจให้นักเขียน และสำนักพิมพ์ได้อีกด้วย

เอกสารอ้างอิง

สํานักหอสมุดแห่งชาติ. (2551). เลขมาตรฐานสากลประจําหนังสือ International Standard Book Number-ISBN. สืบค้น 26 ตุลาคม 2563, จาก http://e-service.nlt.go.th/File/DetailByName?fileName=E%3A\_files\Folio.Test\AdminDownload\1c3c85d7-3542-4f2e-b4d5-5370b7ddb5c5.pdf

หลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์ พ.ศ. 2563. (23 มิถุนายน 2563). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 137 ตอนพิเศษ 147 ง. หน้า 72-75.

Graphic Design และ Content Creator ที่หลงใหลในการเขียน Content และเชื่อว่า Content เป็นสิ่งสำคัญในการสื่อสารกับทุก ๆ คน