ธาราบำบัด สำหรับเด็ก เล่มนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมความรู้ปัจจุบันในศาสตร์ธาราบำบัดสำหรับเด็ก มีแนวทางปฏิบัติพร้อมรูปภาพประกอบจากประสบการณ์ทางคลินิกของคณะผู้เขียน มีงานวิจัย และหลักฐานอ้างอิงเชิงประจักษ์รองรับหรือมีการเรียนการสอนในสถาบันวิชาชีพกายภาพบำบัด ตามหลักสากล เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา อิสราเอล และภาคพื้นยุโรป มานำเสนอแก่ผู้อ่าน นักกายภาพบำบัดทางเด็กและนักธาราบำบัดสามารถใช้เป็นแนวทางการวางแผนกระตุ้นพัฒนาการ ส่งเสริมการออกกำลังกายและสันทนาการในน้ำสำหรับเด็กและเยาวชนที่มีความต้องการพิเศษ ได้หลากหลายประเภท ไปจนถึงกิจกรรมที่มีความหมายสูงสุด นั่นคือ การว่ายน้ำขั้นพื้นฐาน แบบประยุกต์สำหรับเด็กพิเศษ ซึ่งการเรียนรู้ขั้นตอนทั้งหมดนี้ช่วยให้ผู้ป่วยเด็กมีทั้งกิจกรรม และการมีส่วนร่วมทางสังคมได้อย่างสนุก มั่นใจและภาคภูมิใจ

เนื้อหาทั้ง 7 บท ครอบคลุมทุกมิติในงานธาราบำบัด เช่น การประมวลศัพท์ธาราบำบัดในปัจจุบัน ความรู้พื้นฐานทางฟิสิกส์และสรีรวิทยาเกี่ยวกับน้ำและการใช้คุณสมบัติของน้ำ ในทางคลินิก ข้อควรระวังและข้อห้าม หลักการออกแบบอาคาร ระบบสระน้ำและอุปกรณ์ ธาราบำบัด ในภาคผนวกมีความรู้เสริมเกี่ยวกับรหัสทั้ง 5 มิติของ The International Classification of Functioning, Disability and Health for Children and Youth (ICF-CY; WHO 2007) ที่เกี่ยวข้องในงานธาราบำบัดสำหรับเด็ก และแบบประเมินผู้ป่วยในน้ำ Water Orientation Test Alyn 1&2 (WOTA-1 และ 2) ฉบับภาษาไทย
สั่งซื้อหนังสือ1. ประวัติ นิยามศัพท์ และกรอบแนวคิดด้านสุขภาวะในศตวรรษที่ 21 (Historical, definition, and framework of aquatic therapy)
ธาราบำบัด (hydrotherapy) มีรากศัพท์มาจากภาษากรีก 2 คำรวมกัน hydro [Greek hýdõr] แปลว่า น้ำ therapy [Greek therapÍa = healing] แปลว่า การบำบัดรักษา1,2 นับย้อนไป 700 ปีก่อนคริสตกาล (ค.ศ.) ชาวกรีกโบราณนิยมชมชอบการอาบน้ำรวมกันในอ่างอาบน้ำสาธารณะ (public baths) เป็นอย่างยิ่ง เพลโต (Plato) นักปราชญ์ชาวกรีกกล่าวว่า “ผู้ชายจะ ไม่ได้เรียนรู้ จนกว่าเขาจะสามารถอ่าน เขียน และว่ายน้ำได้” ในเวลาถัดมา ฮิปโปเครติส (Hippocrates) นักปราชญ์ชาวกรีกได้เป็นผู้ค้นพบและประยุกต์ใช้น้ำมาใช้ในทางการแพทย์เป็นครั้งแรก โดยได้ใช้น้ำร้อนและน้ำเย็นในการรักษาโรคต่าง ๆ และแนะนำให้ประชาชนชาวกรีกอาบน้ำผสมสมุนไพรหอมระเหยและนวดน้ำมันทุกวัน (scented bath and oil massage)2-5
ในยุคโรมัน 100 ปีก่อนคริสตกาล อ่างอาบน้ำสาธารณะถือเป็นวิถีชีวิตในอาณาจักรโรมันด้วยเช่นกัน ห้องอาบน้ำสาธารณะเหล่านี้ได้ถูกสร้างขึ้นในยุคโรมันที่ยิ่งใหญ่อลังการ เช่น อ่างอาบน้ำสาธารณะคาราคัลลา (Caracalla) ในกรุงโรม ใช้น้ำแร่บริสุทธิ์จากเนินเขาที่อยู่ห่างออกไป 50 ไมล์ ลำเลียงผ่านทางระบบท่อส่งน้ำของเมือง ชาวโรมันอาบและแช่น้ำแร่เพื่อการรักษาอาการปวดข้อและการผ่อนคลายกล้ามเนื้อ อย่างไรก็ตามในยุคนั้นยังมีการว่ายน้ำในสระไม่มากนัก แม้ว่าจะมี การฝึกฝนนักกีฬาว่ายน้ำในสระโรมันเพื่อการแข่งขันก็ตาม2-5

ตั้งแต่ราว ๆ ศตวรรษที่ 18 บิดาแห่งธาราบำบัดสองท่าน ได้แก่ วินเซนต์ พริสนิทซ์ (Vincent Priessnitz, 1799–1851)3 ชาวออสเตรีย และเซบาสเตียน คไนป์ (Sebastian Kneipp, 1821–1897)4 ชาวเยอรมัน ได้ริเริ่มนำศาสตร์ธาราบำบัดในยุโรปเข้าสู่ยุคการแพทย์สมัยใหม่ อย่างเป็นทางการ ด้วยแนวคิด “การแช่ร่างกายในน้ำอุ่น (baths and thermal medicine) เพื่อวัตถุประสงค์ในการรักษาโรค” ด้วยความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ในยุคนั้นทำให้เริ่มมีการศึกษาทดลองทางชีวเคมีเกี่ยวกับคุณสมบัติของน้ำแร่และข้อบ่งชี้ทางคลินิก การศึกษาวิจัยด้านอุณหภูมิของน้ำ2-5 ที่ส่งผลต่อเนื้อเยื่อต่าง ๆ ของร่างกาย ในปัจจุบันหลายประเทศในยุโรปมีเครือข่าย การจัดอบรมการศึกษาต่อเนื่องด้านธาราบำบัดขึ้นอย่างเป็นทางการ ในระดับประกาศนียบัตร หลังการศึกษาระดับปริญญาตรี เช่น อังกฤษ เยอรมัน สวิตเซอร์แลนด์ ตุรกี
2. พลศาสตร์ของไหล (Fluid mechanics)
เมื่อเริ่มต้นชีวิต ทารกอยู่ในครรภ์แม่นานเป็นระยะเวลา 9 เดือนในถุงน้ำคร่ำซึ่งเป็นของเหลว ทำให้เกิดการรับรู้แรงดันภายในมดลูกผ่านตัวกลางที่เป็นน้ำคร่ำ เมื่อคลอดออกมาแล้ว ทารกแรกเกิดจึงเริ่มรับรู้สิ่งแวดล้อมภายนอกครรภ์ ได้แก่ แรงโน้มถ่วงโลก อากาศและความชื้น ในอากาศ และบรรยากาศบนพื้นโลก เมื่อทารกเติบโตขึ้นจึงมีการปรับตัวจนคุ้นเคยและอยู่ในสภาพที่ล้อมรอบไปด้วยแรงดันอากาศทดแทนสิ่งแวดล้อมในครรภ์แม่ ดังนั้นในสภาพแวดล้อมปกติ (บนพื้นดินหรือบนบก) การเคลื่อนที่และเคลื่อนไหวของมนุษย์ในชีวิตประจำวันเป็นการเคลื่อนที่ผ่านตัวกลางที่เป็นอากาศหรือก๊าซ ซึ่งจัดเป็นของไหลชนิดหนึ่ง ปกติแล้วหากไม่มีความเร็วลมหรือความชื้นสัมพัทธ์ของอากาศเข้ามาเกี่ยวข้องกับร่างกาย คนเราจะรู้สึกปกติธรรมดา เพราะร่างกายชินที่จะสัมผัสอากาศและความดันอากาศมาตั้งแต่แรกเกิด เมื่ออยู่ในสระธาราบำบัด ทันทีที่ลง สระน้ำ ร่างกายสัมผัสน้ำ หรือเมื่อเราเคลื่อนไหวร่างกายในน้ำ ว่ายน้ำ เราจะรู้สึกถึงความแตกต่างจากสัมผัสบนพื้นดินหรือบนบก ซึ่งในบางคนอาจไม่เคยชินกับสภาพแวดล้อมในน้ำเช่นนี้

มีปัจจัยหลายด้านที่เกี่ยวข้องกับคนเราและสิ่งแวดล้อม เมื่อมีการเคลื่อนที่หรือเคลื่อนไหวในของไหล คือ อากาศและน้ำ ผู้บำบัดรักษาและผู้ที่ออกกำลังกายในน้ำจึงควรทราบถึงธรรมชาติและอิทธิพลทางด้านฟิสิกส์ ได้แก่ พลศาสตร์ของไหล (fluid mechanics or hydrodynamics) ซึ่งส่งผลต่อประสิทธิภาพในการกระทำของร่างกายหรือการออกแรงทำงานเคลื่อนไหวในน้ำ โดยเฉพาะในการเล่นกีฬาและการแข่งขันกีฬาทางน้ำ
3. สรีรวิทยาของการบำบัดทางน้ำ ข้อควรระวังและข้อห้าม ในงานธาราบำบัดสำหรับเด็ก (Physiology of immersion, risks, contraindications and precautions)
โดยทั่วไปธาราบำบัดสำหรับเด็กและการออกกำลังกายในน้ำเพื่อการรักษา (aquatic therapy and hydrotherapy) ใช้สระน้ำอุ่นอุณหภูมิประมาณ 33-36 องศาเซลเซียส6,7 โดยข้อกำหนดฉบับปรับปรุงล่าสุดของสมาคมธาราบำบัดแห่งสหราชอาณาจักร (Aquatic Therapy Association of Chartered Physiotherapy; ATACP)6,7 กำหนดไว้ว่า ในการทำงานกับเด็กพิเศษ (children with special needs) อุณหภูมิน้ำอุ่นห้ามสูงเกิน 36 องศาเซลเซียส ระยะเวลาทำธาราบำบัดขึ้นอยู่กับอายุ ความทนทานและพลังงานร่างกายของเด็ก โปรแกรมสำหรับทารกอายุต่ำกว่า 1 ขวบและเด็กเล็ก (Neonatal hydrotherapy and Aqua baby programs)3 จะใช้เวลาใน สระสั้น ๆ ประมาณ 10-15 นาที หรือไม่เกิน 30 นาที ในเด็กโตและวัยรุ่นจะใช้เวลาบำบัดรักษา ในสระน้ำนานประมาณ 20 นาที ถึง 1 ชั่วโมง โดยส่วนใหญ่อยู่ที่ประมาณ 45 นาทีต่อการรักษา 1 ครั้ง6-8

4. เทคนิคทางธาราบำบัดสำหรับเด็ก (Aquatic specialty techniques in pediatrics)
การใช้ธาราบำบัดเป็นทางเลือกชนิดหนึ่งในงานกายภาพบำบัดและเวชศาสตร์ฟื้นฟู รวมถึงงานส่งเสริมสุขภาพแก่บุคคลทั่วไป ในหลายบริบทนั้นพบว่าธาราบำบัดหรือการออกแบบโปรแกรมการออกกำลังกายในน้ำนั้นเป็นทางเลือกที่ดีกว่าสำหรับผู้ที่มีความจำกัดในการเคลื่อนไหวบนพื้นดินหรือบนบก โดยการฝึกกิจกรรมในสระน้ำเพื่อให้ผู้ป่วยนั้นสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ บางประการที่เป็นทักษะจำเป็นในชีวิตประจำวัน เช่น การควบคุมการหายใจ การฝึกองค์ประกอบในการทรงท่าทาง นั่ง ยืน เดิน วิ่ง ฯลฯ9-13
ธาราบำบัดสำหรับเด็ก (aquatic therapy หรือ hydrotherapy in pediatrics) เป็นศาสตร์การบําบัดทางเลือกที่นำมาใช้ร่วมกับกายภาพบำบัดตามแบบแผนดั้งเดิม (pediatric physical therapy; land-based therapy; pediatric rehabilitation) เพื่อช่วยในงานส่งเสริม กระตุ้น หรือฟื้นฟูพัฒนาการสําหรับเด็กที่มีความบกพร่องทางกล้ามเนื้อและการเคลื่อนไหว มีปัญหาทางระบบประสาทพัฒนาการ (neurodevelopmental disorders) เช่น ภาวะสมองพิการ (cerebral palsy), กลุ่มอาการดาวน์ (Down syndrome), กลุ่มกระดูกสันหลังโหว่ตั้งแต่กำเนิด (spina bifida), โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (spinal muscular atrophy; SMA), พัฒนาการล่าช้า (global delay), ไขข้ออักเสบ (Juvenile rheumatoid arthritis), ออทิสติก (Autistic) ในหนังสือเล่มนี้มิได้ลงรายละเอียดด้านโรคและอาการเจ็บป่วยที่ยกตัวอย่างไป ผู้อ่านควรศึกษาเพิ่มเติมจากตำรากุมารเวชศาสตร์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง9-12,14-16
5. การจัดสันทนาการด้วยศาสตร์ฮาลิวิค (Aquatic recreation based on the Halliwick Concept)
หลักการสันทนาการ การจัดกลุ่ม ตามแนวทางฮาลิวิค เด็กและเยาวชนที่มีความต้องการพิเศษ เด็กพิการ และผู้พิการ มีแนวโน้มแยกตัวอยู่ ตามลำพังจากข้อจำกัดทางร่างกาย โดยหลักการสุขภาวะองค์รวมขององค์การอนามัยโลก ICF-CY (WHO 2007)17 ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมทางกิจกรรมและสันทนาการของคนทุกสุขภาวะและทุกวัย ในทุกบริบท ทั้งที่บ้าน โรงเรียน หรือชุมชน หลักการฮาลิวิคจะเรียกผู้เรียนทุกประเภทความบกพร่องและความพิการว่า “นักว่ายน้ำ – swimmer”18 ในที่นี้ผู้เขียนจะใช้คำแทนว่า เด็ก เพื่อให้ง่ายต่อการอ่านในบริบทของหนังสือเล่มนี้
สำหรับเด็กที่เพิ่งเริ่มลงน้ำเบื้องต้นและใหม่ต่อแผนการฝึกผู้ฝึกสอนจะต้องดูแลใกล้ชิดและลงสระด้วยกันเป็นรายบุคคล (จับคู่ 1 ต่อ 1 กับผู้สอน) เพื่อทำการทดสอบและประเมิน ความสามารถพื้นฐานของเด็ก18-24
วิธีการจัดแบ่งกลุ่ม ในการฝึกสอนในน้ำต้องพิจารณาถึงความสามารถในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในน้ำ (aquatic physical performance) หากเด็กมีสภาพจิตใจพร้อมแต่พิการรุนแรง ให้ประยุกต์อุปกรณ์ช่วยพยุงการลอยตัวเสริม นั่นคือในกลุ่มจะประกอบด้วยผู้พิการต่าง ๆ คละปนกัน ในลักษณะที่ทุกคนมีความสามารถเท่ากันหรือใกล้เคียงกัน จับคู่กับผู้ฝึกสอน (และ/หรือผู้ปกครอง อาสาสมัครงานจิตอาสาที่ได้รับการฝึกฝนงานธาราบำบัดเพื่อเป็นผู้ช่วย นักกายภาพบำบัด) สำหรับเด็กรายใดที่เคยว่ายน้ำเป็นมาก่อนแล้วการจัดเข้ากลุ่มจะต้องทำ การตรวจประเมินอย่างอย่างละเอียดรอบคอบ ก่อนที่จะจัดเข้ากลุ่มเช่นเดียวกับรายอื่น ๆ18-25
6. อาคาร ระบบสระน้ำและอุปกรณ์ธาราบำบัด (Aquatic therapy pool system, building and equipment)
งานธาราบำบัดต้องมีพื้นที่สำหรับการลงน้ำเพื่อการรักษา กำกับดูแลและปฏิบัติงาน โดยนักกายภาพบำบัด หรือทีมสหวิชาชีพเวชศาสตร์ฟื้นฟูที่ผ่านการอบรมเฉพาะทางด้านธาราบำบัด (physical, occupational or speech therapist with certified training in hydrotherapy/aqua therapy) โดยสามารถสอนผู้ช่วยเหลือในทีม (advocates, volunteers) ให้ลงช่วยเหลือ ผู้ป่วยร่วมด้วย เช่น ผู้ช่วยธาราบำบัด ครูพละ ผู้ดูแลสระ หรือผู้ปกครองของเด็กผู้ป่วย สำหรับ สระธาราบำบัดสิ่งแรกที่ต้องคำนึงถึง คือ อุณหภูมิของน้ำและความสะอาดของน้ำ รวมถึงพื้นที่ รอบสระสำหรับใช้งานต้องมีความปลอดภัยทั้งภายในและภายนอกอาคารสถานที่ สำหรับอุปกรณ์ธาราบำบัดที่ใช้ในการฝึกบำบัดรักษา มีทั้งชนิดที่จำเป็น และชนิดที่ไม่จำเป็น (หากหาสิ่งอื่น ทดแทนได้)26,27
ในการปลูกสร้างอาคารสถานที่พร้อมสระน้ำ ก่อนจะลงมือควรวางแผนแบบและโครงการสระธาราบำบัด โดยต้องพิจารณา 3 ประการ ดังนี้28-35
1. ขนาดพื้นที่สำหรับสระน้ำและตัวอาคาร
2. วัตถุประสงค์ของงานบริการและกลุ่มเป้าหมาย
3. งบประมาณหรือทุนทรัพย์
7. งานวิจัยและหลักฐานเชิงประจักษ์ (Evidence-based practice in pediatrics aquatic therapy and hydrotherapy)
ธาราบำบัดและการบำบัดด้วยเทคนิคพิเศษทางน้ำ (aquatic therapy) และธาราบำบัดในน้ำอุ่น (hydrotherapy) เป็นสองแนวทางการบำบัดรักษาที่ได้รับการยอมรับมาเป็นเวลายาวนานถึงประสิทธิภาพในการปรับปรุงการทำงานทางร่างกายและคุณภาพชีวิตของเด็กที่มีความต้องการพิเศษ เด็กพิการ และเด็กพัฒนาการล่าช้ากลุ่มต่าง ๆ กายภาพบำบัดในน้ำทั้งสองแบบได้รับ ความนิยมเพิ่มขึ้นในหลายปีที่ผ่านมาในหลายประเทศทั่วโลก36-38 อย่างไรก็ตามในส่วนของการปฏิบัติตามหลักฐานเชิงประจักษ์ (Evidence-based practice of aquatic therapy and hydrotherapy in pediatrics) แม้ปัจจุบันจะมีแนวโน้มไปสู่การปฏิบัติตามหลักฐานเชิงประจักษ์ แต่การทบทวนวรรณกรรมและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องยังมีจำนวนน้อย มัทนา (พ.ศ. 2566)39 ได้รายงานการทบทวนวรรณกรรมในทางคลินิก (Clinical review: Aquatic therapy and hydrotherapy based on the Halliwick Concept in children with disabilities) ผลการทบทวนวรรณกรรมพบว่า งานวิจัยที่สืบค้นได้จนถึงปีปัจจุบัน พ.ศ. 2566 (สืบค้นระหว่างปี ค.ศ. 1975-2023 ตามภาษาอังกฤษซึ่งเป็นระบบกลางในการทบทวนวรรณกรรม) คือ งานวิจัยขนาดเล็กและมีความจำกัดในด้าน การออกแบบวิธีวิจัย (research design) ขอบเขตการวิจัย หรือเครื่องมือตรวจสอบค่าพารามิเตอร์ (parameters) ที่ต้องการทดสอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความจำกัดในแง่อาสาสมัครที่เข้าร่วม การศึกษา ซึ่งพบว่ามีช่วงอายุ หรือมีการวินิจฉัยโรคและกลุ่มอาการที่แตกต่างหลากหลาย (the heterogeneous types of participants) ทำให้ยากต่อการให้ข้อสรุปทางประสิทธิผล การบำบัดรักษาที่ชัดเจนที่จะนำไปใช้กับประชากรผู้ป่วยเด็กและเยาวชนในภาพรวม ดังนั้นผลการศึกษาโดยส่วนใหญ่จึงสามารถใช้อ้างอิงได้เฉพาะเจาะจงในกลุ่มผู้ป่วยเด็กเป็นประเภท ๆ ไป หรือมักพบอยู่ในรายงานกรณีศึกษา และแนวทางเวชปฏิบัติ/คำแนะนำสำหรับการปฏิบัติทางคลินิก (Clinical guideline)
เอกสารอ้างอิง
- Angus S. Definition of Water Cure: Shorter Oxford English Dictionary, Vol. 2, N-Z. 6th ed. Oxford: Oxford University Press; 2007.
- International SPA Association. Hydrotherapy – What is it and why are we doing it? Kansas: USA; 2009.
- Czeranko, S. The history of Vincent Priessnitz (1799-1851) and Priessnitz’s contributions to hydrotherapy. Integrative Medicine (Encinitas): A Clinician’s Journal. 2019;18:25.
- Locher C, Pforr C. The Legacy of Sebastian Kneipp: Linking Wellness, Naturopathic, and Allopathic Medicine. J Altern Complement Med 2014;20:521–526.
- Lepore, M. Aquatics. In: Winnick J, editor. Adapted physical education and sport: Human Kinetics. Illinois: Champaign; 2011:481–501.
- Wratten S. Hydrotherapy pools: New guidance and the impact on the aquatic physiotherapist. [Internet]. the UK: Aquatic Therapy Association of Chartered Physiotherapy (ATACP); 2023 [cited 2022 July 15]. Available from: https://atacp.csp.org.uk
- Hydrotherapy Pools: Expert Clinical Considerations in Planning and Design, ATACP Publication and Guidance on Good Practice in Aquatic Physiotherapy. [Internet]. the UK: Aquatic Therapy Association of Chartered Physiotherapy (ATACP); 2019 [cited 2022 July 15]. Available from: https://atacp.csp.org.uk
- Caroline Joy Co, editor. Aquatic Therapy Rehabilitation. USA: Rehabsurge; 2021.
- Caroline Joy Co, editor. Aquatic Therapy Rehabilitation. USA: Rehabsurge; 2021.
- Lambeck J. Clinical Spotlight: Pediatric Aquatic Therapy. [Internet]. Valens, Switzerland: IOPTP newsletter (subgroup of WCPT); 2015. [Cited 2022 April 9]. Available from: https://www.halliwicktherapy.org
- Becker, BE. Aquatic therapy: Scientific foundations and clinical rehabilitation applications. PM&R 2009;1:859-872.
- ประภาส โพธิ์ทองสุนันท์. ธาราบำบัด: การบริหารกายในน้ำ (Hydrotherapy). พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร: ฟันนี่ พลิบบลิชชิ่ง; พ.ศ. 2533.
- Mooventhan A., Nivethitha L. Scientific evidence-based effects of hydrotherapy on various systems of the body. N Am J Med Sci 2014;6(5):199-209.
- Reilly T., Dowzer CN., Cable NT. The physiology of deep-water running. J Sports Sci 2003;21:959-72.
- Fragala-Pinkham M., Haley SM., O’Neil ME. Group aquatic aerobic exercise for children with disabilities. Dev Med Child Neurol 2008;50:822-827.
- American Medical Association (AMA). CPT Professional: Current Procedural Terminology (Professional edition), 4th edition. USA: Amer Medical Assn; 201
- World Health Organization. International Classification of Functioning Disability and Health – Children and Youth version (ICF-CY) [Internet]. Geneva: WHO; 2007.
- Gresswell A, Mhuiri AN, Knudsen BF, et al. THE HALLIWICK CONCEPT 2010: International Halliwick Education and Research Committee. [Internet]. London, UK: International Halliwick Association; 2012. [Cited 2022 October 5]. Available from https://www.halliwick.org
- Caroline Joy Co, editor. Aquatic Therapy Rehabilitation. USA: Rehabsurge; 2021.
- ประภาส โพธิ์ทองสุนันท์. ธาราบำบัด: การบริหารกายในน้ำ (Hydrotherapy). พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร: ฟันนี่ พับบลิชชิ่ง; พ.ศ. 2533.
- Maes JP, Gresswell A. The Halliwick Concept for clients with cerebral palsy or similar conditions: The British Association of Bobath Trained Therapists (BABTT). [Internet]. London, UK: International Halliwick Association; 2010(62). [Cited 2022 October 5]. Available from https://www.halliwick.org
- Barrett U, Maes JP. The Halliwick Concept according to the ICF Framework. [Internet]. London, UK: International Halliwick Association; 2021. [Cited 2022 October 5]. Available from https://www.halliwick.org
- Kokaridas D, & Lambeck J. The Halliwick Concept: Toward A Collaborative Aquatic Approach. Inq Sport Phys Educ 2015;13(2):65–76.
- Aquatic Physiotherapy Group. Australian guidelines for aquatic physiotherapists working in and/or managing hydrotherapy pools, 2nd ed. Aquatic Physiotherapy Group: Australian Physiotherapy Association; 2015.
- Fragala-Pinkham M., Haley SM., O’Neil ME. Group aquatic aerobic exercise for children with disabilities. Dev Med Child Neurol 2008;50:822-827.
- American Medical Association (AMA). CPT Professional: Current Procedural Terminology (Professional edition), 4th edition. USA: Amer Medical Assn; 2019.
- Aquatic Physiotherapy Group. Australian guidelines for aquatic physiotherapists working in and/or managing hydrotherapy pools, 2nd ed. Aquatic Physiotherapy Group: Australian Physiotherapy Association; 2015.
- ประภาส โพธิ์ทองสุนันท์. ธาราบำบัด: การบริหารกายในน้ำ (Hydrotherapy). พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร: ฟันนี่ พลิบบลิชชิ่ง; พ.ศ. 2533.
- Aquatic Therapy Association for Chartered Physiotherapists (ATACP). Hydrotherapy Pools: Expert Clinical Considerations in Planning and Design, Guidance on Good Practice in Aquatic Physiotherapy. [Internet]. London, UK: Aquatic Therapy Association for Chartered Physiotherapists (ATACP) publication; 2019. [Cited 2022 October 5].
- Giselle Roeder, editor. Healing with Water. New York: Alive Books; 2000.
- Margaret Reid Campion, editor. Hydrotherapy in Pediatrics. The UK: Aspen; 1985
- Horay P, Harp D, editors. Hot Water Therapy. New York: Vision Books; 2004.
- Wratten S. Hydrotherapy pools: New guidance and the impact on the aquatic physiotherapist. [Internet]. London, UK: Aquatic Therapy Association for Chartered Physiotherapists (ATACP) publication; 2023. [Cited 2023 July 15].
- ประภาส โพธิ์ทองสุนันท์. หลักการบำบัดรักษาด้วยน้ำ (Hydrotherapy): ศูนย์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. ชลบุรี: โรงพิมพ์พัทยากราฟฟิคปริ้นท์ ชลบุรี; 2550.
- ประภาส โพธิ์ทองสุนันท์. การใช้น้ำเพื่อสุขภาพ: กองการแพทย์ทางเลือก กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข. กรุงเทพมหานคร: สำนักงานกิจการโรงพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก; 2551.
- Kelly M and Darrah J. Aquatic exercise for children with cerebral palsy. Dev Med Child Neurol 2005;47:838–842.
- Caroline Joy Co, editor. Aquatic Therapy Rehabilitation. USA: Rehabsurge; 2021.
- Gorter JW, Currie SJ. Aquatic exercise programs for children and adolescents with cerebral palsy: what do we know and where do we go?. Int J Pediatr 2011;v.2011(712165):1-7. doi:10.1155/2011/712165
- Bhumipraphat M. Pediatric Hydrotherapy/Aquatic Therapy based on the Halliwick Concept for children with special needs: Clinical review. 2023 [Submitted]