ธรณีวิทยา สำหรับวิศวกรรมโยธา

ธรณีวิทยา (Geology) เป็นศาสตร์ที่มีความสำคัญต่อวิศวกรโยธาเป็นอย่างมาก สภาวิศวกรจึงได้บรรจุวิชานี้เป็นส่วนหนึ่งในหลักสูตรระดับปริญญาตรีในสาขาวิศวกรรมโยธาของมหาวิทยาลัยในประเทศไทยรวมทั้งหลักสูตรของมหาวิทยาลัยนเรศวรธรณีวิทยาสำหรับวิศวกรของคณะวิศวกรรมศาสตร์มีเนื้อหาวิชาประกอบไปด้วย การศึกษาวัสดุในธรรมชาติ และวัสดุสำหรับก่อสร้างที่ธรรมชาติสร้างขึ้นโดยเน้นวัสดุประเภทหิน ซึ่งมีเนื้อหาโดยสรุปคือ การศึกษาลักษณะโครงสร้างของหินในธรรมชาติ ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติต่าง ๆ เช่น การเกิดดินถล่ม เกิดคลื่นสึนามิ การกัดเซาะ รวมทั้งการประยุกต์ใช้สำหรับงานวิศวกรรมโยธา เช่น การวิเคราะห์เสถียรภาพของหินเมื่อมีฐานรากถนน ฐานรากเขื่อน จนกระทั่งถึงการหาแหล่งวัสดุก่อสร้าง การแก้ไขปรับปรุงวัสดุก่อสร้างให้ได้ตามข้อกำหนดทางวิศวกรรมโยธาประเภทต่าง ๆ ธรณีวิทยาสำหรับแหล่งน้ำใต้ดิน และธรณีวิทยาสำหรับแม่น้ำ

สำหรับหนังสือ ธรณีวิทยา เล่มนี้มีวัตถุประสงค์หลักคือให้รู้จักวัสดุและแหล่งกำเนิดทางธรรมชาติและลักษณะทางกายภาพโดยทั่วไป รวมถึงการนำความรู้ในรายละเอียดดังกล่าวไปใช้งานในงานวิศวกรรมโยธา หนังสือเล่มนี้จะเป็นสื่อเพื่อให้สามารถเข้าใจในเนื้อหาต่าง ๆ ที่ครอบคลุมรายวิชาธรณีวิทยาสำหรับวิศวกรโยธา ภายในหนังสือประกอบไปด้วยเนื้อหา 13 บทที่ประกอบไปด้วย

ธรณีวิทยา

1. บทนำ ธรณีวิทยา

ความรู้ทางธรณีวิทยาสำหรับวิศวกร ความรู้พื้นฐานด้านธรณีวิทยา ธรณีวิทยาที่เกี่ยวข้องกับวิศวกรรมโยธามักเกี่ยวข้องกับการสำรวจประเภทของหิน สภาพชั้นหิน โครงสร้างของชั้นหิน หลักการหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับธรณีวิทยาที่สำคัญ คือ ทฤษฎี Uniformitarianism ซึ่งก่อตั้งโดย James Huttonames Hutton (3 มิถุนายน ค.ศ.1726 – 26 มีนาคม ค.ศ. 1797) เป็นนักฟิสิกส์ นักธรณีวิทยา นักเคมี ชาวสก๊อตแลนด์ และเป็นผู้ก่อตั้งทฤษฎี Uniformitarianism ซึ่งเป็นทฤษฎีหลักในวิชาธรณีวิทยาที่อธิบายถึงขบวนการทางธรรมชาติที่เกิดบนพื้นผิวโลกตามระยะเวลา ซึ่ง Hutton ได้ชื่อว่าเป็นบิดาของวิชาธรณีวิทยาสมัยใหม่ (Father of Modern Geology) ทฤษฎี Uniformitarianism กล่าวถึงการไม่เปลี่ยนแปลงของหลักพื้นฐานของวิทยาศาสตร์ ซึ่ง Uniformitarianism มีหลักการว่าเหตุการณ์หรือวัสดุบนพื้นผิวของโลกที่ถูกเปลี่ยนแปลงเนื่องมาจากขบวนการต่าง ๆ อย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยมีคำกล่าวถึง “The present is the key to the past” สามารถสรุปแบบง่าย ๆ คือ เหตุการณ์ใด ๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันจะเหมือนกับเหตุการณ์นั้น ๆ ที่ได้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีตด้วยอัตราการเปลี่ยนแปลงที่เท่า ๆ กัน

ธรณีวิทยาสำหรับวิศวก

ลักษณะงานของวิศวกรรมโยธา เช่น โครงสร้างอาคาร โครงสร้างเหล็ก งานเขื่อน งานกำแพงกันดิน งานอุโมงค์ และอื่น ๆ ล้วนเกี่ยวข้องกับวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้าง เช่น คอนกรีต หิน ดิน ทราย เป็นต้น โดยวัสดุในการก่อสร้างเหล่านั้นเป็นวัสดุที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติถึงแม้ว่าคอนกรีตซึ่งประกอบด้วย ซีเมนต์ ทราย หิน ซึ่งซีเมนต์ก็ทำมาจากหินปูน ดังนั้นวิศวกรโยธาจึงไม่สามารถหลีกเลี่ยงความรู้หรือศาสตร์ทางด้านธรณีวิทยาได้เลย การประยุกต์ใช้ศาสตร์ทางด้านธรณีวิทยาใช้ร่วมกับงานวิศวกรรมโยธาบางครั้งถูกเรียกว่า ธรณีวิศวกรรม ถ้าวิศวกรสามารถประยุกต์ความรู้ทางด้านธรณีวิทยาเข้ากับงานด้านวิศวกรรมได้จะทำให้โครงสร้างมีความมั่นคงและไม่ก่อให้เกิดปัญหาที่ไม่พึงประสงค์ตามมา โดยทั่วไปธรณีวิทยายังสามารถนำไปใช้กับวิศวกรรมด้านต่าง ๆ อีกด้วย เช่น วิศวกรรมปิโตรเลียม วิศวกรรมเหมืองแร่ วิศวกรรมก่อสร้างที่เป็นพื้นฐานความรู้ในวิศวกรรมด้านต่าง ๆ ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน

ธรณีวิศวกรรมมีเนื้อหาประกอบไปด้วย พื้นฐานความรู้ในด้านวัสดุ การก่อสร้าง พฤติกรรมของชั้นหินในการวางฐานรากจำเป็นต้องมีความรู้ด้านการกำเนิดของหินและดินซึ่งในที่นี้จะเป็นการปูพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง

2. แร่

นักธรณีวิทยาได้สำรวจแร่และหินที่ปรากฏบนเปลือกโลกรวมทั้งสารประเภทอินทรีย์และสารอนินทรีย์ที่ปรากฏอยู่บนโลก สารอินทรีย์เป็นสารที่มาจากสิ่งมีชีวิต เช่น พืชและสัตว์ ส่วนสารอนินทรีย์เป็นสารประกอบที่ไม่มีธาตุคาร์บอนเป็นส่วนประกอบ นักธรณีวิทยาได้ให้คำจำกัดความของแร่ คือธาตุหรือสารประกอบอนินทรีย์เนื้อเดียวที่เกิดขึ้นในธรรมชาติมีโครงสร้างที่ค่อนข้างแน่นอนหรือมีการเปลี่ยนแปลงได้เล็กน้อยซึ่งมีสมบัติทางกายภาพ สมบัติทางเคมีที่ค่อนข้างคงที่ตายตัวจึงทำให้สามารถบ่งบอกชนิดของแร่แต่ละชนิดได้ส่วนแร่เกิดจากหินหนืด (Magma) มีส่วนประกอบของหินหนืดประกอบไปด้วยแร่ชนิดต่าง ๆ แร่บางชนิดที่อยู่ในรูปของของเหลวเนื่องมาจากอิทธิพลของอุณหภูมิสูงใต้เปลือกโลก จนกระทั่งเมื่อหินหนืดลดอุณหภูมิเมื่ออยู่ใกล้ผิวโลกทำให้ธาตุต่าง ๆ ตกผลึกออกมาเนื่องมาจากแร่ชนิดต่าง ๆ นั้นมีจุดหลอมละลายแตกต่างกันไป เมื่ออุณหภูมิต่ำกว่าจุดหลอมละลายแร่ย่อมเปลี่ยนสภาวะของตัวเองเป็นรูปผลึกแข็งตัวขึ้น (ยกตัวอย่างเช่นน้ำเปลี่ยนสภาพจากของเหลวเป็นของแข็งเมื่ออุณหภูมิลดลง) ปัจจุบันพบว่าชนิดของแร่มีมากกว่า 2000 กว่าชนิดซึ่งสามารถแบ่งชนิดของแร่ได้จากลักษณะเฉพาะตัวและเป็นเอกลักษณ์ของแร่นั้น ๆ แตกต่างจากแร่ประเภทอื่น ๆ แร่เป็นสารอนินทรีย์ที่มีส่วนประกอบทางเคมีแตกต่างกันไป ธรรมชาติการจัดเรียงตัวของอะตอมในแต่ละประเภทของแร่ทำให้แร่แต่ละประเภทแตกต่างกัน

ธรณีวิทยา

ดังนั้นแร่แต่ละประเภทจึงมีสมบัติทางฟิสิกส์และทางเคมีแตกต่างกัน สมบัติทางเคมีเหล่านั้นทำให้สามารถบ่งบอกชนิดของแร่ได้และสามารถใช้จำแนกประเภทของแร่ด้วย สี รูปผลึกความวาว และสีผง เป็นต้น นอกจากนี้ยังสามารถแบ่งประเภทของแร่โดยใช้การจัดเรียงตัวของผลึก การจัดเรียงตัวของอะตอมจะทำให้ลักษณะทางกายภาพแตกต่างกันถ้าแบ่งแร่ตามองค์ประกอบทางเคมีสามารถแบ่งแร่ได้เป็นหลาย ๆ กลุ่มแต่กลุ่มที่มีมากที่สุดคือกลุ่มที่มีซิลิเกต

3. หินอัคนี

วัฏจักรของหิน Bowen เป็นบุคคลที่พยายามอธิบายวัฏจักรของหินบนพื้นโลกโดยการนำหินชนิดต่างๆบนเปลือกโลกมาหลอมเหลวใหม่และอธิบายลำดับการกำเนิดของแร่ในหินดังกล่าวในรูปของ Bowen’s series ดังมีรายละเอียดดังนี้ หลักการทำปฏิกิริยาของ Bowen ในปี ค.ศ. 1992 N.L. Bowen ได้สรุปการทดลองหลอมหินโดยใช้อุณหภูมิสูง พบว่า ในขณะที่หินหนืดเย็นตัวลงจะมีแร่ตกผลึกแยกตัวออกมาและยังมีบางส่วนที่ไม่แยกตัวและยังทำปฏิกิริยาต่อไปกับหินหนืดทำให้เกิดแร่ชนิดใหม่ขึ้นโดย Bowen ได้จัดจำแนกหินที่ประกอบจากแร่ซิลิเกตซึ่งเป็นส่วนประกอบส่วนใหญ่ในหินอัคนีแบ่งออกเป็น 2 พวก คือ ชุดการทำปฏิกิริยาแบบต่อเนื่องหรือ Continuous reaction series และ ชุดการทำปฏิกิริยาแบบไม่ต่อเนื่องหรือ Discontinuous reaction series

4. หินตะกอน

หินตะกอนเกิดมาจากตะกอน (Sediments) ซึ่งตะกอนได้มาจากผลลัพธ์ของขบวนการ ผุ กร่อนของหินทำให้ส่วนของหินหลุดออกมาเรียกว่าตะกอนและจะถูกเคลื่อนตัวด้วยตัวกลางซึ่งส่วนมากแล้วจะเป็นน้ำหรือแม่น้ำทำให้ตะกอนวางตัวในที่ต่ำกว่าเมื่อการวางตัวของตะกอนหนาซึ่งอาจต้องใช้เวลานานหลายร้อยล้านปี ส่วนล่างสุดของชั้นตะกอนจะอยู่ภายใต้ความดันและถูกอัดตัว น้ำถูกบังคับให้ไหลออกทำให้ตะกอนนั้นแข็งขึ้นทำให้เกิดการผลึกใหม่ของแร่ซึ่งอาจส่งผลให้มีขนาดใหญ่ขึ้นรวมทั้งเกิดการเปลี่ยนแปลงของสารเคมีที่เป็นองค์ประกอบ แร่ที่ละลายในน้ำฝนทำให้ส่วนผสมนั้นกลายเป็นสารเชื่อมแน่น (Cement) ซึ่งจะเป็นตัวเชื่อมตะกอนเหล่านั้นเข้าด้วยกันก่อให้ตะกอนเหล่านั้นแน่นขึ้นสารเป็นหิน หินตะกอนที่ผ่านกระบวนการนี้เราเรียกว่า “Clastic rocks”

5. หินแปร (Metamorphic rocks)

หินแปรหรือรู้จักอีกชื่อหนึ่งว่า Metamorphic rocks หมายถึงหินที่ถูกเปลี่ยนแปลงมาจากผลลัพธ์ของการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิและความดันที่เกิดขึ้นกับหินพวกนี้ ขบวนการต่าง ๆ เหล่านี้รวมเรียกว่า “Metamorphism” ขบวนการนี้เป็นขบวนการเกิดขึ้นทีละเล็กน้อยซึ่งเริ่มต้นจากความดันที่ทับชั้นหิน หรือการเปลี่ยนแปลงอย่างมากเมื่อหินต้นแบบอยู่ภายใต้แรงกระทำของแผ่นเปลือกโลกหรือแมกมาไหลผ่านหินต้นแบบเหล่านั้นซึ่งขบวนการ Metamorphism เกิดขึ้นใต้ผิวโลกในระดับลึก ๆ หลายกิโลเมตรหรือบางกรณีอาจเกิดบริเวณเปลือกโลกเช่นลาวาไหลผ่านหินต้นแบบบนผิวโลก

เมื่อมีขบวนการ Metamorphism ทำให้เกิดการตกผลึกใหม่ของแร่นั่นคือการปรับโครงสร้างของอะตอม ผลึกขนาดเล็กอาจจะจับตัวกับผลึกขนาดใหญ่กว่า หรือเกิดแร่ชนิดใหม่ที่มีเสถียรภาพในอุณหภูมิสูงและภายใต้ความดันสูงรวมทั้งมีสารละลายอื่นๆ ที่ร้อนและก๊าซเกิดขึ้นแทรกอยู่ภายในหินแปร บางครั้งก๊าซเหล่านี้มาจากแมกมาที่อยู่ใต้ผิวโลกหรืออาจกล่าวโดยรวมได้ว่าส่วนประกอบทางเคมีของหินถูกเปลี่ยนอย่างมากจึงทำให้แร่ที่ประกอบในหินแปรค่อนข้างเฉพาะเจาะจงในหินแปรชนิดต่าง ๆ

6. การประเมินคุณภาพของหินในงานวิศวกรรมโยธา

คำจำกัดความของหินประเภทต่าง ๆ การจัดจำแนกประเภทของหินเป็นขั้นตอนพื้นฐานในการนำหินมาใช้ประโยชน์ในงานวิศวกรรมโยธา วิศวกรโยธามักนำหินมาเป็นวัสดุในการก่อสร้างเขื่อนหินทิ้งแกนดินเหนียวซึ่งจะมีความสามารถในการสร้างเขื่อนขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มีความแข็งแรงสูง และเขื่อนหินทิ้งแกนดินเหนียวยังเป็นเขื่อนที่มีความสามารถในการต้านทานแผ่นดินไหวได้สูงกว่าเขื่อนชนิดอื่น ๆ นอกจากนี้วิศวกรยังนำหินมาใช้ในงานต่าง ๆ เช่น วัสดุรองพื้นทาง ส่วนประกอบของคอนกรีต ฐานรากอาคาร ฐานรากถนน การขุดเจาะอุโมงค์ในหิน เป็นต้น

ธรณีวิทยา

การจัดจำแนกประเภทของหินสามารถจัดจำแนกได้หลายรูปแบบซึ่งก่อนจะศึกษารูปแบบการจำแนกประเภท Prof. Terzaghi ได้ให้คำนิยามของของหินก่อนที่จะจัดจำแนกซึ่งในอดีตได้เริ่มใช้ในงานวิศวกรรมอุโมงค์ซึ่งใช้การบรรยายแบบพรรณนาในการจำแนกประเภทโดย Prof. Terzaghi ได้นำพฤติกรรมของหิน ประกอบกับประสบการณ์ทำงานมาใช้ในการจำแนกแบบบรรยายพรรณนา

7. การประเมินเสถียรภาพของทางลาดชันของดินและหิน

โดยคำว่าดินถล่มมักถูกกล่าวถึงเหตุการณ์ที่วัสดุที่ประกอบเป็นทางลาดชันได้เคลื่อนตัวแยกออกมารวมถึงการหล่นของหินและดิน หรือดินถมที่มนุษย์สร้างขึ้นแต่ในประเทศไทยมักใช้คำว่าดินถล่มเมื่อมีการเคลื่อนที่ของมวลดินประเภทโคลนซึ่งบางกรณีเรียกว่า “โคลนถล่ม” ด้วยอนึ่งสำหรับโคลนถล่มยังไม่มีทฤษฎีของโคลนถล่มโดยเฉพาะบุคคลทั่วไปยังเข้าใจว่าการวิเคราะห์โคลนถล่มต้องใช้หลักการสมดุลของแรงและโมเมนต์ตามวิธีที่วิเคราะห์เสถียรภาพของทางลาดชันซึ่งเป็นการเข้าใจผิด สำหรับการสูญเสียเสถียรภาพของวัสดุในทางลาดชันสามารถแบ่งออกเป็นลักษณะต่าง ๆ ดังนี้

การแยกประเภทขึ้นอยู่กับชนิดวัสดุที่เกี่ยวข้องและโหมดการเคลื่อนที่ในบางระบบสามารถใช้พารามิเตอร์ตัวอื่นในการแยกประเภท เช่น อัตราการเคลื่อนที่ปริมาณน้ำแต่ในที่นี้จะใช้พารามิเตอร์สองตัวดังกล่าว 1. Slides 2. Falls 3. Topples 4. Flows สามารถแบ่งลักษณะออกเป็น 6 ประเภทคือ 4.1 Debris flow 4.2 Debris avalanche 4.3 Earthflow 4.4 Mudflow 4.5 Creep 4.6 Lateral Spreads

8. ธรณีวิทยาสำหรับแหล่งวัสดุก่อสร้าง

ในงานวิศวกรรมโยธา เช่น งานเขื่อนและงานถนนจำเป็นต้องใช้วัสดุในการก่อสร้างเป็นจำนวนมากและวัสดุในการก่อสร้างจำเป็นต้องไปตามข้อกำหนดทางกฎหมายและข้อกำหนดทางวิศวกรรมบโดยข้อกำหนดทางวิศวกรรมมักจะพิจารณาจากลักษณะการพิบัติของโครงสร้างที่มีผลกระทบต่อการใช้งานหรือการทำหน้าที่ของโครงสร้างนั้น ส่วนข้อกำหนดทางกฎหมายได้คำนึงการพิบัติของโครงสร้างเป็นสำคัญต้องผนวกกับประสบการณ์การก่อสร้างในพื้นที่นั้นๆ โดยข้อกำหนดทางกฎหมายเป็นเพียงแค่ข้อกำหนดขั้นพื้นฐานเท่านั้นโดยข้อกำหนดนั้นได้บ่งบอกถึงคุณสมบัติขั้นพื้นฐานของวัสดุในการก่อสร้างที่เหมาะสมกับงานนั้น ๆ วัสดุที่ใช้ในการก่อสร้าง ได้แก่ หิน กรวด ทราย และดิน

9. ขบวนการแม่น้ำ

วัฏจักรของน้ำเริ่มพิจารณาการไหลของน้ำจากบริเวณที่มีความชันสูงพลังงานศักย์สูงไปสู่บริเวณพื้นที่ราบหรือบริเวณที่น้ำจะไปสะสมในลำธารสายเล็กๆ ห้วย ลำธาร และจากแม่น้ำไปรวมกันที่จุดสุดท้ายคือมหาสมุทร น้ำจากทะเลได้วนกลับไปสู่บรรยากาศโดยการระเหยเพื่อเริ่มต้นวัฏจักรอีกครั้ง กระบวนการนี้รู้จักกันในนามวัฏจักรของน้ำ (Hydrologic cycle) ดังแสดงให้เห็นในภาพที่ 9. 1 วัฏจักรน้ำ (Hydrologic cycle) จะเกี่ยวข้องกับการไหลของน้ำไปใต้ผิวดินและการเปลี่ยนกลับมาเป็นน้ำพื้นผิวของลำธารหรือมหาสมุทร

ภาพที่ 9. 1 วัฏจักรน้ำ (Hydrologic cycle)

10. ธรณีวิทยาสำหรับฐานรากถนน

ธรณีวิทยาเกี่ยวข้องกับวิศวกรรมถนน ได้แก่ การวางแนวถนน (ตำแหน่งแนวสิทธิการใช้ทาง (Right-of-way) สำหรับโครงสร้างถนน) การสำรวจสภาพชั้นดินและชั้นหินตามแนวเส้นผ่าศูนย์กลางของถนนและใต้ฐานรากสะพาน การจัดจำแนกประเภทของวัสดุ การลดปริมาณดินตัดดินถม (Cut and Fill) เพื่อลดพื้นที่ในการเก็บรักษากองวัสดุก่อสร้าง ลดปริมาณวัสดุเหลือใช้ การขุดลอกหินในปริมาณมากกว่าความจำเป็นสามารถกระทำได้โดยการ Presplitting หน้าหินก่อน (Presplitting เป็นการทดสอบเพื่อสังเกตลักษณะการแตกหักโดยวางจุดระเบิดตามแนวใดแนวหนึ่งเพื่อให้เกิดการพังเป็นระนาบหลังจากการระเบิดเพื่อนำหินมาใช้งานซึ่งครอบคลุมไปถึงลักษณะการควบคุมการแตกหักของหิน ความรู้ด้านธรณีวิทยาสามารถนำมาประมาณมุมของการตัดถนนผ่านหินประเภทต่างๆ ความรู้ด้านน้ำใต้ดินทำให้ทราบขั้นตอนการก่อสร้าง การประเมินโอกาสการเกิด Landslide การประเมินบริเวณดินที่มีความสามารถในการยุบตัวสูง Compressible soil การประเมินปริมาณของวัสดุก่อสร้าง และการประเมินกิจกรรมของมนุษย์ในการเพิ่มปัญหาให้กับโครงสร้างถนน เป็นต้น

11. ธรณีวิทยาสำหรับงานเขื่อน

ธรณีวิทยา

เขื่อนที่สร้างขึ้นในประเทศไทยมีจุดประสงค์หลักคือ แหล่งผลิตกระแสไฟฟ้า แหล่งน้ำเพื่อการเกษตรและแหล่งท่องเที่ยวสภาพทางธรณีวิทยาบริเวณสันเขื่อนเป็นปัจจัยสำคัญต่อความปลอดภัยของตัวเขื่อน อายุการใช้งานของเขื่อนและบริเวณอ่างเก็บน้ำยังส่งผลต่อการเลือกชนิดของเขื่อนด้วย ในบริเวณสภาพธรณีวิทยาเหมาะสมและหินฐานรากเป็นหินแข็งนั้นสามารถสร้างเขื่อนดินหรือเขื่อนคอนกรีตก็ได้ ในทางตรงกันข้ามถ้าหินฐานรากเป็นหินค่อนข้างอ่อนหรือหินแข็งอยู่ในระดับลึกมาก เขื่อนดินย่อมมีความเหมาะสมมากกว่าเขื่อนคอนกรีตในขณะเดียวกันสภาพทางธรณีวิทยาบริเวณอ่างเก็บน้ำก็มีความสำคัญต่อการทำหน้าที่ของเขื่อนไม่น้อยไปกว่าสภาพธรณีวิทยาบริเวณของสันเขื่อนเลย

12. ธรณีวิทยาสำหรับแหล่งน้ำใต้ดิน

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดทั่วโลกทำให้ประเทศไทยมีสภาวะอากาศแปรปรวน และประเทศตกอยู่ในภาวะความเสี่ยงด้านการขาดแคลนน้ำในการอุปโภคบริโภค การเกษตร แหล่งน้ำใต้ดินถือว่าเป็นแหล่งทรัพยากรน้ำที่มีความสำคัญประเภทหนึ่งทั้งนี้เนื่องมาจากเป็นแหล่งน้ำที่มีคุณภาพและสามารถนำมาใช้ในการอุปโภคบริโภคของมนุษย์จึงทำให้การพัฒนาแหล่งน้ำใต้ดินเป็นแหล่งน้ำหลักของประเทศมีความสำคัญมากขึ้น สำหรับความสำคัญต่องานด้านวิศวกรรมธรณีนั้นแหล่งน้ำใต้ดินได้เข้ามาเกี่ยวข้องในด้านการวิเคราะห์เสถียรภาพของลาดชัน (Slope stability) การขุดเจาะพื้นผิวและใต้ผิวดิน โครงสร้างค้ำยัน และรากฐานของสิ่งก่อสร้าง เป็นต้น

13. ขบวนการบนชายฝั่งทะเล (Coastal Process)

ธรณีวิทยา

ชายฝั่งทะเลของประเทศไทยมีความยาวประมาณ 2,615 กิโลเมตร ประกอบด้วยชายฝั่งทะเลด้านอ่าวไทยซึ่งติดต่อกับทะเลจีนใต้ในมหาสมุทรแปซิฟิคมีความยาวประมาณ 1,875 กิโลเมตร และชายฝั่งทะเลอันดามันซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมหาสมุทรอินเดียมีความยาวประมาณ 740 กิโลเมตร ซึ่งชายฝั่งทะเลของประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาทั้งนี้เนื่องมาจากแนวชายฝั่งได้พบกับปัญหาการกัดเซาะโดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนในบริเวณตอนใต้ของประเทศไทยทำให้ราษฎรสูญเสียพื้นที่อยู่อาศัยพื้นที่พักผ่อน ส่งผลให้เกิดปัญหาการพัฒนาด้านต่างๆ เช่น ด้านสังคม การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินซึ่งปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงแนวชายฝั่ง คือ คลื่น พายุ กระแสน้ำ ระดับน้ำทะเล และอื่นๆ

Graphic Design และ Content Creator ที่หลงใหลในการเขียน Content และเชื่อว่า Content เป็นสิ่งสำคัญในการสื่อสารกับทุก ๆ คน