การบริหารและการจัดการศึกษา

13 บทกับหลักการ ทฤษฎี การบริหารการศึกษา

หลักการ ทฤษฎี การบริหารการศึกษา ในหนังสือ “การบริหารและการจัดการศึกษาสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” เล่มนี้ ผู้เรียบเรียงได้รวบรวมหลักการ แนวคิด ทฤษฎีและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้นิสิต นักศึกษา ทั้งในระดับปริญญาตรี ระดับ ป. โท บริหารการศึกษา และ ป. เอก บริหารการศึกษา ครู ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษา และบุคลากรทางการศึกษาอื่น ๆ รวมทั้งบุคคลทั่วไปโดยยึดหลักการทฤษฎีสู่แนวทางในการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง

บริหารการศึกษา

หนังสือเล่มนี้ มีทั้งสิ้น 13 บท ประกอบด้วย บทที่ 1 แนวคิดการจัดการศึกษาเพื่อเสริมสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืน บทที่ 2 ทฤษฎี และหลักการบริหารจัดการองค์การ บทที่ 3 ภาวะผู้นำทางการศึกษา บทที่ 4 การเรียนรู้วัฒนธรรม และการติดต่อสื่อสารในองค์การ บทที่ 5 การคิดอย่างเป็นระบบ และการประสานประโยชน์องค์การ บทที่ 6 การส่งเสริมมนุษยสัมพันธ์ในองค์การ บทที่ 7 การส่งเสริมการทำงานเป็นทีม บทที่ 8 การจัดระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการ บทที่ 9 การจัดทำโครงการพัฒนาองค์การ บทที่ 10 การจัดการในชั้นเรียน บทที่ 11 การศึกษาพฤติกรรมนักเรียน และการสร้างวินัยในชั้นเรียน บทที่ 12 การประกันคุณภาพการศึกษาบทที่ 13 การศึกษากับการพัฒนาชุมชน โดยในแต่ละบท ผู้เรียบเรียงได้เสนอประเด็นที่เป็นประโยชน์และทำการสรุปแต่ละบท เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

1. แนวคิดการบริหารและการจัดการศึกษาเพื่อเสริมสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืน

แนวคิดการบริหารและการจัดการศึกษาเพื่อเสริมสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนเกิดจากการจัดการศึกษาตามแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2560-2579 สอดคล้องกับหลักการพัฒนาประเทศตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ยึดหลัก “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” “การพัฒนาที่ยั่งยืน” และ “คนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา” โดยอาศัยเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มาเป็นกรอบในการกำหนดเป้าหมายที่จะบรรลุใน 5 ปี โดยที่เป้าหมายและตัวชี้วัดต้องสอดคล้องกับกรอบเป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมที่องค์กรระหว่างประเทศโดยสหประชาชาติกำหนดขึ้น คือ การพัฒนาที่ยั่งยืน

แนวคิดการบริหารและการจัดการศึกษา

แนวคิดการบริหารและการจัดการศึกษา ตามแผนการศึกษาแห่งชาติ ยึดหลักสำคัญในการจัดการศึกษา ประกอบด้วย หลักการจัดการศึกษาเพื่อปวงชน (Education for All) หลักการจัดการศึกษาเพื่อความเท่าเทียมและทั่วถึง (Inclusive Education) หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy) และหลักการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนของสังคม (All for Education) อีกทั้งยึดตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs 2030) ประเด็นภายในประเทศ (Local Issues) อาทิ คุณภาพของคนทุกช่วงวัย การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรของประเทศ ความเหลื่อมล้ำของการกระจายรายได้ และวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อม โดยนำยุทธศาสตร์ชาติ (National Strategy) มาเป็นกรอบความคิดสำคัญในการจัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติ (สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา, 2560)

บริหารการศึกษา

2. ทฤษฎี และหลักการบริหารจัดการองค์การ

การบริหารจัดการองค์การให้ประสบความสำเร็จต้องอาศัยทฤษฎี และหลักการเป็นแนวปฏิบัติเพื่อให้เกิดกระบวนการทำงานโดยมีระบบขั้นตอนและการวางแผนที่มุ่งไปสู่เป้าหมายนั้นเป็นสิ่งสำคัญ ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาต้องศึกษาและทำความเข้าใจ เนื่องจากองค์การเป็นระบบของกลุ่มคนหมู่มากที่ต้องอยู่ภายใต้ระเบียบและข้อบังคับ อันจะนำไปสู่แนวทางการปฏิบัติให้เกิดประสิทธิภาพในองค์การ ทั้งนี้ต้องมีความรู้ในศาสตร์ด้านการบริหารจัดการองค์การและต้องเข้าใจในบริบทของโรงเรียนนั้น ๆ เพื่อการบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยยึดมั่นในทฤษฎี และหลักการที่ถูกต้อง และถือเป็นนโยบายและแนวทางในการปฏิบัติต่อไป

บริหารการศึกษา

3. ภาวะผู้นำทางการศึกษา

การศึกษาเรื่อง ภาวะผู้นำทางการศึกษา เป็นเรื่องที่มีความสำคัญและจำเป็นต่อการศึกษาให้เกิดองค์ความรู้ และเกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง เนื่องจากเกิดจากภายในตัวบุคคลอันเกิดจากความต้องการการเปลี่ยนแปลงและมีอุดมการณ์ที่มีความเกี่ยวข้องกับการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมกับอารยประเทศได้ ด้วยหลักสำคัญที่ว่า การศึกษาสร้างคน คนสร้างชาติ ดังนั้น การบริหารการศึกษาเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศจึงควรมีผู้นำองค์กรทางการศึกษาที่มีความรู้ ความสามารถ มีวิสัยทัศน์ มีสมรรถนะในการบริหารจัดการการศึกษาให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ของชาติ และสามารถผลิตบุคลากรที่เกิดจากผลผลิตทางการศึกษาที่มีคุณภาพได้อีกด้วย การศึกษาเรื่องภาวะผู้นำทางการศึกษาก่อให้เกิดหลักการและทฤษฎีตามหลักวิชาการที่ถูกต้อง สามารถนำไปใช้ประโยชน์ และวางรากฐานอันเป็นพื้นฐานต่อการพัฒนาประเทศได้ตามลำดับ

บริหารการศึกษา

4. การเรียนรู้วัฒนธรรม และการติดต่อสื่อสารในองค์การ

การที่บุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปได้เข้าร่วมกันปฏิบัติกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งให้บรรลุผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ และเป้าหมายที่ได้กำหนดไว้นั้น คณะบุคคลดังกล่าวได้ร่วมมือร่วมใจกันปฏิบัติกิจกรรมด้วยความกระตือรือร้น อันเป็นผลเนื่องมาจากสภาพแวดล้อม และพฤติกรรมในการปฏิบัติงานที่เกิดขึ้นจากการมีส่วนร่วมเป็นการกำหนดข้อสมมุติฐาน เพื่อนำไปสู่ค่านิยมร่วมกัน โดยการกำหนดออกมาเป็นพฤติกรรมการปฏิบัติงานไปในทิศทางเดียวกัน มีการติดต่อสื่อสารระหว่างกันในองค์การ หรือสนับสนุนซึ่งกันและกันให้เกิดเป็นสัญลักษณ์ที่ส่งผลทำให้บรรลุวัตถุประสงค์ และเป้าหมายพร้อมทั้งสามารถทำให้การปฏิบัติกิจกรรมของคณะบุคคลมีความยั่งยืนและมั่นคง ดังนั้น ลักษณะดังกล่าวข้างต้นเรียกว่า วัฒนธรรมองค์การ ซึ่งบุคคลในองค์การต้องมีการเรียนรู้วัฒนธรรมองค์การ (Learning of Organizational Culture) และนำไปปฏิบัติ (Implementation) เพื่อให้การเรียนรู้วัฒนธรรม และการติดต่อสื่อสารในองค์การเกิดความมั่นคง และเจริญก้าวหน้าตามลำดับต่อไป

บริหารการศึกษา

5. การคิดอย่างเป็นระบบ และการประสานประโยชน์องค์การ

เมื่อมีสิ่งใดสิ่งหนึ่งผิดพลาดเกิดขึ้น สิ่งที่มักจะได้ยินจากผู้บริหารที่ตำหนิความผิดพลาดที่เกิดขึ้นว่า“ทำงานไม่เป็นระบบ” หรือเมื่อเราขับรถอยู่บนถนนพบเห็นการขุดถนนฝังท่อระบายน้ำเสีย อีกไม่กี่เดือนต่อมาก็ขุดที่เดิมอีก คราวนี้ฝังสายไฟฟ้า เรามักตำหนิอยู่ในใจว่า “ทำงานไม่เป็นระบบ” ไม่รู้จักประสานงานกันให้ดีระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ที่จะต้องขุดถนนตรงนี้ และแม้แต่ครู-อาจารย์ เมื่อตรวจงานของนักศึกษายังตำหนิว่า เขียนรายงานอย่างไม่เป็นระบบ สิ่งทั้งหลายที่เกิดขึ้นอีกมากมายที่เป็นปัญหามักจะถูกโยนไปให้ “ระบบ” เป็นตัวสร้างปัญหา ทั้ง ๆ ที่ตัวระบบเองนั้น เกิดขึ้นจากคนที่คิดระบบให้ออกมาสามารถทำงานได้อย่างดี ฉะนั้น การคิดอย่างเป็นระบบจึงมีความสำคัญในการวางแผน ทำให้สามารถทำงานบรรลุผล และสำเร็จอย่างราบรื่น เรียบร้อยรวดเร็ว และร่วมกันทำการวางแผนการทำงานจึงเริ่มต้นที่ความสามารถในการคิดก่อน

6. การส่งเสริมมนุษยสัมพันธ์ในองค์การ

ความมีมนุษยสัมพันธ์เป็นบุคลิกส่วนบุคลซึ่งมีอยู่ในตัวครู และผู้บริหาร อันจะนำมาซึ่งผลสำเร็จต่อองค์การ เนื่องด้วยความเป็นผู้มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีนั้นนำมาซึ่งผลสำเร็จในองค์การ เกิดการติดต่อสื่อสารการเกี่ยวข้องกับตัวบุคลที่ได้พบเห็น การเป็นสัญลักษณ์ที่เกิดความน่าเชื่อถือ เชื่อมั่นในตัวบุคคล เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจให้กระทำการใด ๆ ตามวัตถุประสงค์ และเป้าหมายของงานนั้น รวมถึงการประสานงานกับผู้ปกครอง ชุมชนสังคม คณะกรรมการสถานศึกษา

ความหมายของมนุษยสัมพันธ์ในองค์การ การที่มนุษย์จะอยู่ร่วมกันเพื่อดำเนินกิจกรรมอันมีเป้าหมายเดียวกัน หรือแตกต่างกันเป็นจำเพาะของกลุ่ม ในการอยู่ร่วมกันจะต้องมีการประสานสัมพันธ์ทั้งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่ความรับผิดชอบและส่วนที่เกี่ยวข้องในด้านส่วนตัว ซึ่งทั้งสองลักษณะนี้ถือว่าจะต้องเป็นความสัมพันธ์ทั้งสิ้น ทั้งระหว่างบุคคลต่อบุคคล และบุคคลต่อองค์การ

7. การส่งเสริมการทำงานเป็นทีม

การส่งเสริมทำงานเป็นทีม มีบทบาทสำคัญยิ่งต่อหน่วยงาน หรือองค์การต่าง ๆ เนื่องด้วยการทำงานในหน่วยงานหรือองค์การนั้น เป็นลักษณะการทำงานเป็นทีมโดยอาศัยแรงขับที่มีพลังคิดบวก มิใช่เป็นการทำงานโดยตนเอง โดยเฉพาะในปัจจุบัน ระบบการบริหารงานภายในหน่วยงานมีสภาพที่ยุ่งยากซับซ้อนมากขึ้น ในสภาพเช่นนี้ การทำงานให้ประสบผลสำเร็จ ทุกคนต้องเข้ามาส่วนร่วมในการทำงาน และรับฟังความคิดเห็นที่ก่อให้เกิดความแตกต่างอันจะนำไปสู่การเปลี่ยแปลงได้ในที่สุด

8. การจัดระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการ

การนำความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ ประเภทวัสดุอุปกรณ์ และประเภทวิธีการแนวความคิดใหม่มาเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการสถานศึกษา มีความจำเป็นอย่างยิ่ง โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้เกิดความต้องการความถูกต้องแม่นยำ และรวดเร็ว ผู้บริหารสามารถบริหารงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยอาศัยข้อมูลสารสนเทศช่วยในการตัดสินใจใช้ในการประเมินองค์กรของตนเอง และเปรียบเทียบกับองค์กรอื่น ๆ เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาและการแข่งขัน การรู้เขารู้เราทำให้สามารถที่จะนำเสนอนโยบายในการกำหนดวิสัยทัศน์ และพันธกิจและการนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างตรงเป้าหมาย รวมถึงการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อให้เป็นไปได้อย่างมีทิศทางที่ถูกต้องชัดเจน ผู้ร่วมงานหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียก็สามารถที่จะปฏิบัติงาน หรือให้ความร่วมมือได้เป็นอย่างดี

9. การจัดทำโครงการพัฒนาองค์การ

การบริหารจัดการให้ผู้เรียนได้ฝึกภาคปฏิบัติ ผู้สอนต้องเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ด้วยตนเองที่เป็นลักษณะทักษะ กระบวนการ โดยจัดเป็นกิจกรรมทางวิชาการที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ และก่อให้เกิดความรักความสามัคคี การจัดทำโครงการพัฒนาองค์การนอกจากจะเป็นการสร้างการพัฒนาแล้ว ยังจะก่อให้เกิดผลกระทบที่เกิดขึ้นเมื่อโครงการเสร็จสิ้นลง ผลกระทบนี้จะเป็นประเด็นในการพัฒนาและสร้างเพื่อต่อยอดในการพัฒนาโครงการต่าง ๆ ตามมา

10. การจัดการในชั้นเรียน

การจัดการชั้นเรียน เป็นวิธีการดำเนินการให้ชั้นเรียนได้อยู่ในสภาพความพร้อมที่จะดำเนินการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เกิดประสิทธิผลในการเรียนรู้ของผู้เรียนอย่างแท้จริง เนื่องด้วยชั้นเรียนเป็นแหล่งการเรียนรู้ขั้นพื้นฐานในรายวิชาต่าง ๆ ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติอันประกอบด้วยผู้เรียนที่มีความแตกต่างกันหรืออาจเรียกว่า “ความแตกต่างระหว่างบุคคล” (Individual Difference) ชั้นเรียนที่มีการบริหารจัดการที่ดีเป็นความสามารถของผู้สอนที่ส่งผลต่อบรรยากาศการเรียนรู้ของผู้เรียน เป็นปัจจัยสำคัญของการเรียนการสอน และหมายความรวมถึง ผู้เรียนมีความสุขในขณะที่อยู่ในชั้นเรียน ความสุขของผู้เรียนเป็นสิ่งที่สุดยอดปรารถนาของผู้สอน และผู้รับผิดชอบทางการศึกษาต้องพยายามจัดให้มีขึ้นโดยทั่วกัน การบริหารจัดการชั้นเรียนเป็นองค์รวมของการบูรณาการความรู้ ความสามารถของครูผู้สอน พร้อมทั้งก่อให้เกิดแรงจูงใจให้ผู้เรียนได้มาโรงเรียน และได้เรียนหนังสืออย่างมีความสุข

11. การศึกษาพฤติกรรมนักเรียนและการสร้างวินัยในชั้นเรียน

การศึกษาพฤติกรรมนักเรียน และการสร้างวินัยในชั้นเรียน เป็นจุดเริ่มต้นของครูผู้สอน และบุคลากรทางการศึกษาที่ต้องทำการศึกษาอย่างจริงจัง มีความเป็นธรรม และต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ควรสร้างความตระหนัก และอาศัยพลังจากครอบครัว ชุมชน จึงจะสามารถหล่อหลอมเยาวชนให้มีชีวิตสามารถนำพาตนเองให้อยู่ในโลกยุคโลกาภิวัตน์ที่เต็มไปด้วยสิ่งยั่วยุ และความกดดันต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีดุลยภาพ มีความสมดุลย์แห่งชีวิตมีความคิดสร้างสรรค์ในสิ่งที่ดีงามแก่ตนเอง เกื้อกูลให้สังคมเข้มแข็ง ดังเจตนารมณ์แห่งแผนการศึกษาแห่งชาติ

12. การประกันคุณภาพการศึกษา

การประกันคุณภาพการศึกษา (Quality Assurance) ของสถานศึกษาจึงเป็นการให้หลักฐานข้อมูลแก่ประชาชนว่า บุคคลในสถานศึกษาจะทำงานอย่างเต็มความสามารถเพื่อให้ผู้ปกครอง นักเรียนและสาธารณชนมั่นใจว่า นักเรียนจะมีคุณภาพตามที่ระบุไว้ในหลักสูตร และมาตรฐานคุณภาพการศึกษาสามารถดำเนินการให้เกิดคุณภาพการศึกษาตามบทบาทหน้าที่ของครูในระบบการประกันคุณภาพภายในและระบบการประกันคุณภาพภายนอก พร้อมทั้งยังมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดโดยเฉพาะผู้เรียน และเกิดความเชื่อมั่นต่อผู้ปกครองในการส่งบุตรหลานเข้าศึกษาในสถานศึกษาแห่งนั้น

ความหมายและความสำคัญของการประกันคุณภาพการศึกษา รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 54 ได้กำหนดให้รัฐต้องดำเนินการให้ประชาชนได้รับการศึกษาตามความต้องการในระบบต่าง ๆ รวมทั้งส่งเสริมให้มีการเรียนรู้ตลอดชีวิต และจัดให้มีการร่วมมือกันระหว่างรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชนในการจัดการศึกษาทุกระดับ โดยรัฐมีหน้าที่ดำเนินการ กำกับ ส่งเสริม และสนับสนุนให้จัดการศึกษาดังกล่าวมีคุณภาพ และได้มาตรฐานสากล ทั้งนี้ ตามกฏหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติซึ่งมีอย่างน้อยต้องมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการจัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติ และการดำเนินการ และตรวจสอบการดำนินการให้เป็นไปตามแผนการศึกษาแห่งชาติด้วย

13. การศึกษากับการพัฒนาชุมชน

ชุมชนเป็นแหล่งที่อยู่ของคน ประกอบด้วย ชุมชนชนบท (Rural Community) และชุมชนเมือง (Urban Community) เมื่อต้องการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนที่อาศัยอยู่ในชุมชน ไม่ได้พัฒนาเฉพาะคนในชุมชนเท่านั้น ทั้งนี้ จะต้องพัฒนาแหล่งที่อยู่ของคนควบคู่ไปด้วย คนกับสถานที่ต่างก็ต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันดังนั้น การพัฒนาชุมชน จึงหมายถึง การพัฒนาคนและสถานที่ที่เป็นแหล่งที่อยู่ไปพร้อม ๆ กันอย่างสมดุลการพัฒนาชุมชนนั้นมีกิจกรรมที่เป็นเครื่องมือสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาชุมชน สำหรับเครื่องมือดังกล่าวคือการศึกษาโดยทั่วไปต่างก็ยอมรับกันว่า การศึกษาเป็นเครื่องมืออันสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาคนให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์

สุดท้ายนี้ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่า หนังสือเล่มนี้ จะสามารถนำไปใช้ได้จริง และเป็นประโยชน์อันนำไปสู่ผลกระทบต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และเกิดการเปลี่ยนแปลงต่อการบริหารและการจัดการศึกษาในประเทศไทย ทั้งนี้ขอขอบพระคุณ ตำรา/หนังสือ/บทความวิชาการ/บทความวิจัย/เอกสารอื่น ๆ ครูบาอาจารย์ และบุคคลที่นำมาอ้างอิงในหนังสือดังกล่าวด้วยความเคารพเป็นอย่างสูงยิ่ง

ผู้เขียน

Graphic Design และ Content Creator ที่หลงใหลในการเขียน Content และเชื่อว่า Content เป็นสิ่งสำคัญในการสื่อสารกับทุก ๆ คน