สมองและสารสื่อประสาท : ความผิดปกติในภาวะติดสารเสพติด

สมองและสารสื่อประสาท เป็นอวัยวะที่สำคัญในการควบคุมการทำงานทั้งหมดของร่างกาย และยังควบคุมไปถึงจิตใจความคิด ความจำ และพฤติกรรม การควบคุมการทำหน้าที่เหล่านี้นั้น สิ่งสำคัญที่สุดในสมองที่ทำให้เซลล์ในสมองส่งสัญญาณสื่อสารกันได้โดยอาศัย สารสื่อประสาทหนังสือเล่มนี้จะทำให้ผู้อ่านได้เรียนรู้ถึงโครงสร้างของสมอง และชนิดของสารสื่อประสาทในสมองที่ไปควบคุมการทำงานของร่างกายและจิตใจ ซึ่งเมื่อเกิดความผิดปกติกับ สารสื่อประสาท ก็จะทำให้คนเราแสดงความผิดปกติทางความคิด และพฤติกรรม และมีอาการแสดงที่เกี่ยวข้อง กับโรคทางจิตเวชได้ ดังเช่นการได้รับสารเสพติด ซึ่งทำให้เกิดความผิดปกติของสารสื่อประสาท และโครงสร้างของสมอง

หนังสือเล่มนี้ ยังได้รวบรวมผลการศึกษาวิจัยผลของสารเสพติดต่อสมองและกลไกความผิดปกติ ของสารสื่อประสาทและความสัมพันธ์ของความผิดปกติเหล่านั้นกับอาการผิดปกติทางจิต อีกด้วย ในปัจจุบันนี้ ปัญหาเรื่องการติดสารเสพติด ไม่เพียงแต่เป็นปัญหาภายในประเทศเท่านั้น ยังเป็นปัญหาสำคัญระดับโลกอีกด้วย การติดสารเสพติดนั้นทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสมอง และสารสื่อประสาท ซึ่งส่งผลให้ผู้เสพมีอาการผิดปกติทางจิต จนนำมาซึ่งพฤติกรรมที่ผิดปกติไป  ดังนั้นหนังสือ สมองและสารสื่อประสาท : ความผิดปกติในภาวะติดสารเสพติด เล่มนี้

ผู้เขียนมีความประสงค์ที่จะให้ความรู้ต่อนิสิต นักศึกษา บุคลากรทางการแพทย์ และบุคคลทั่วไป ในเรื่องของโครงสร้างสมอง สารสื่อประสาท และความผิดปกติในด้านต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในภาวะที่ติดสารเสพติด ซึ่งผู้เขียนได้ใช้ประสบการณ์จากการสอนนิสิต ในกลุ่มสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ ในเรื่องของระบบประสาท การทบทวนวรรณกรรม และการทำวิจัยอย่างต่อเนื่องของผู้เขียน ในเรื่องการติดสารเสพติดต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นต่อระบบประสาท โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สารเสพติดเมทแอมเฟตามีน จนได้รับการเชิญจากองค์การอนามัยโลก (World Health Organization) ให้ร่วมเป็นคณะที่ปรึกษาในด้านสารเสพติด (Expert Committee on Drug Dependence) ซึ่งนับว่าเป็นเกียรติแก่ผู้เขียนเป็นอย่างยิ่ง ทำให้ผู้เขียนตระหนักว่าการทำวิจัยเพื่อให้ได้องค์ความรู้พื้นฐานนั้นยังมีความจำเป็นต่อมนุษยชาติและสังคม

1. โครงสร้างและหน้าที่ของสมอง

การติดสารเสพติดนั้นมีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับการแสดงพฤติกรรมที่ผิดปกติ ซึ่งเป็นผลโดยตรง มาจากความผิดปกติที่สมอง จึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างมากที่เราต้องเข้าใจการทำงานของสมองที่ปกติ เพื่อเข้าใจผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นเมื่อมีความผิดปกติเพราะว่าผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นของสมองคือพฤติกรรม (behaviors) และความคิด (thoughts) ดังนั้น ในบทที่ 1 นี้ จะเป็นการกล่าวถึงความรู้พื้นฐานของโครงสร้างและหน้าที่ ของสมอง รวมทั้งพัฒนาการของสมอง เพื่อนำไปสู่ความเข้าใจถึงกลไกการทำงานของสมองทั้งในระดับเซลล์ และระดับโมเลกุลรวมทั้งกลไกการทำงาน และอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นจากผลกระทบของสารเสพ ติดต่อไป สมองเป็นโครงสร้างที่สำคัญของร่างกาย ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานต่าง ๆ ของร่างกาย โดยสมองแบ่งออกเป็นบริเวณต่าง ๆ ได้แก่ สมองใหญ่ (cerebrum) ไดเอนเซฟาลอน (diencephalon) ลิมบิค (limbic area) ก้านสมอง (brain stem) และสมองน้อย (cerebellum) ซึ่งสมองแต่ละส่วน จะทำหน้าที่อย่างจำเพาะเจาะจง ดังนั้นความเข้าใจในโครงสร้างของสมองจะนำไปสู่ความเข้าใจในการ ทำงานในระดับเซลล์และโมเลกุล ของเซลล์ในสมองต่อไป และจะนำไปสู่ความเข้าใจถึงความผิดปกติ ที่เกิดขึ้นกับสมอง ซึ่งทำให้การทำหน้าที่ของสมองผิดปกติไป ส่งผลให้เกิดโรคหรืออาการผิดปกติต่าง ๆ ได้

2.  เซลล์สมอง และการสื่อสาร

การสื่อสารภายในสมองนั้นถูกส่งต่อระหว่างเซลล์ประสาท ซึ่งความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับสมอง เกิดจากยาหรือสารเคมีภายนอกที่เข้าสู่สมองไปรบกวนหรือเปลี่ยนแปลงการสื่อสารนั่นเอง จึงเป็นที่มา ของการเกิดโรคหรือการแสดงอาการที่ผิดปกติ เซลล์ในระบบประสาทมีการทำงานที่แตกต่างกันไป เพื่อให้สมองได้ทำหน้าที่ได้อย่างสมดุล ในบทนี้จะกล่าวถึงโครงสร้างของเซลล์ในสมอง การทำหน้าที่ และการส่งสัญญาณประสาทภายในสมอง บริเวณต่าง ๆ ของสมอง การส่งข้อมูลสื่อสารกันของสมองนี้จะผ่านทางบริเวณไซแนปส์ โดยสารสื่อประสาท จะทำหน้าที่หลักในการทำให้เกิดการกระตุ้นหรือยับยั้งการส่งสัญญาณประสาท ความผิดปกติที่เกิดขึ้น กับเซลล์ประสาทและเซลล์ค้ำจุนระบบประสาทเป็นสาเหตุของการเกิดโรคทางระบบประสาทได้

3. สารสื่อประสาท

สารสื่อประสาทเป็นสารเคมีในระบบประสาท ทำหน้าที่เป็นตัวควบคุมการส่งสัญญาณประสาท ระหว่างเซลล์ประสาท (neurons) กับเซลล์ประสาท หรือเซลล์อื่น ๆ ในร่างกาย สารสื่อประสาทถูกหลั่ง จากบริเวณปลายแอกซอนของเซลล์ประสาท ภายหลังจากเซลล์ประสาทเกิดศักย์ไฟฟ้า (action potential) สารสื่อประสาทที่หลั่งออกมาที่ช่องว่างระหว่างเซลล์ประสาท (synaptic cleft) จะไปจับกับตัวรับ (receptor) หรือนำกลับเข้าสู่เซลล์ (reuptake) หรือถูกเอนไซม์ย่อยเพื่อนำกลับไปสังเคราะห์ใหม่ ปัจจุบันนี้ นักวิทยาศาสตร์ยังไม่ยืนยันจำนวนสารสื่อประสาทในสมองว่ามีจำนวนเท่าใด การทำงานของสารสื่อประสาทมีความสำคัญต่อการทำหน้าที่ของสมอง ความผิดปกติของสารสื่อประสาท พบว่า มีความสัมพันธ์กับโรคทางระบบประสาทหลายโรคด้วยกัน ตัวอย่างเช่น โรคพาร์คินสัน (Parkinson’s disease) โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease) รวมทั้งโรคทางจิตเวช (Psychiatric disease)

4.  การติดสารเสพติด

การติดสารเสพติด เป็นอาการเรื้อรัง มีความต้องการยา และเกิดการใช้ยาซ้ำ ๆ ถึงแม้ว่าการเริ่ม ที่จะใช้ยาเสพติดนั้นเป็นเรื่องของแต่ละบุคคล แต่เมื่อได้ใช้จะทำให้สมองเกิดการเปลี่ยนแปลง และทำให้ ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ ลดประสิทธิภาพในการทำงาน และมีความต้องการที่จะใช้ยาซ้ำอีก การติดสารเสพติดเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดปัญหาทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ ความสัมพันธ์กับ บุคคลอื่น หน้าที่การงาน และสารบางตัวยังผิดกฎหมายอีกด้วย การติดสารเสพติดนั้นทำให้เกิดความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับสมอง ทำให้ผู้ที่ติดสารเสพติด ไม่สามารถ ควบคุมตัวเองได้ มีความอยากยา และต้องการยา ทำให้มีการใช้ยาซ้ำ ๆ ซึ่งเป็นผลให้เกิดปัญหาทั้งทาง ด้านร่างกายและจิตใจ มีผลกระทบต่อการทำงาน ซึ่งยาหรือสารที่ทำให้เกิดการเสพติดขึ้นได้นั้น แบ่งตามประเภทต่าง ๆ ได้หลายชนิด ดังได้กล่าวข้างต้น ซึ่งยาบางตัวได้ถูกนำมาใช้ในการรักษา และถูกนำมาใช้ในทางที่ผิด ก่อให้เกิดการติดยาเกิดขึ้น ดังนั้นในปัจจุบันจึงมีการพัฒนาการศึกษาวิจัย เพื่อให้เข้าใจกลไกการทำงานของสมองต่อภาวะติดยา เพื่อหาแนวทางในการพัฒนาการรักษา อย่างมีประสิทธิภาพ และลดการใช้ยาในทางที่ผิด ซึ่งจะทำให้สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นได้

5.  ความผิดปกติทางจิตที่เกิดจากการติดสารเสพติด

ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 นั้น ยากระตุ้นระบบประสาทบางตัวได้ถูกนำมาใช้ในการรักษา แต่งานวิจัยหลังจากนั้นได้มีการยืนยันถึงผลของอาการข้างเคียงในด้านลบของการใช้ยาเหล่านี้ เช่น โคเคน กัญชา หรือสารก่อประสาทหลอน เป็นสาเหตุของการเจ็บป่วยทางจิต และสามารถพัฒนาไปเป็นโรคจิตได้ โดยยาบางตัวนั้นเมื่อใช้เป็นประจำ เป็นระยะเวลายาวนานสามารถทำให้เกิดอาการโรคจิต (psychotic symptoms) เหมือนกับโรคจิตเภท (schizophrenia) และโรคอารมณ์สองขั้ว (bipolar disorder)ความสำคัญที่ต้องทำความเข้าใจถึงความเชื่อมโยงกันของการใช้สารเสพติด และภาวะความผิด ปกติทางจิต ก็เพื่อเป็นแนวทางในการรักษาเมื่อเกิดภาวะโรคจิตเกิดขึ้นก่อน การติดสารเสพติดอาจเกิด มาจากยาที่ใช้ในการรักษา ซึ่งการรักษาก็มุ่งเน้นไปที่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและลดอาการที่ผิดปกติ แต่ถ้าภาวะโรคจิตเป็นผลมาจากการติดสารเสพติด รูปแบบการติดยาอาจไปมีผลต่อการรักษาได้ และอาการ โรคจิตที่แสดงอาจเกิดขึ้นจากการใช้สารเสพติดที่ต่างชนิดกันได้

6.  ความผิดปกติของสมองที่เกิดจากการติดสารเสพติด

ยาหรือสารเสพติดนั้นเป็นสารเคมีที่ไปมีผลต่อการทำงานของสมอง ไปรบกวนการส่งสัญญาณ ประสาท ซึ่งสารเสพติดหลายชนิด เช่น เมทแอมเฟตามีน กัญชา หรือเฮโรอีน นั้น สามารถไปกระตุ้น เซลล์ประสาท โดยสารบางชนิดอาจมีโครงสร้างที่คล้ายกับสารสื่อประสาท ทำให้สามารถไปจับกับตัวรับ สารสื่อประสาท และกระตุ้นการทำงานของตัวรับสารสื่อประสาทได้ ถึงแม้ว่าสารเสพติดบางตัวจะมี โครงสร้างที่เหมือนกับสารสื่อประสาท แต่การทำงานก็ไม่ได้ไปในทิศทางเดียวกับสารสื่อประสาทเสมอไป ดังนั้น จึงทำให้มีการส่งสัญญาณประสาทที่ผิดปกติ และนำมาซึ่งการสื่อสารของระบบประสาทก็ผิดปกติ ไปด้วย นอกจากนั้นสารเสพติดบางตัวยังไปกระตุ้นให้เกิดการหลั่งของสารสื่อประสาทออกมาภายนอกเซลล์ เป็นจำนวนมาก หรือไปป้องกันการเก็บกลับของสารสื่อประสาท ซึ่งเป็นกลไกตามธรรมชาติที่จะนำสารสื่อ ประสาทกลับเข้าสู่เซลล์และนำไปใช้ใหม่ได้ ดังนั้นการไปทำให้มีสารสื่อประสาทอยู่ภายนอกเซลล์เป็น จำนวนมากก็ทำให้เกิดการกระตุ้นการทำงานของตัวรับสารสื่อประสาทอย่างต่อเนื่องเกินความจำเป็น ทำให้ไปรบกวนการส่งสัญญาณประสาทชนิดอื่น ๆ ต่อมา และทำให้เกิดการแสดงพฤติกรรมที่ผิดปกติไป สารเสพติดส่วนใหญ่นั้นมีผลทั้งทางตรงและทางอ้อม ต่อการทำงานของสมองที่เรียกว่า brain’s reward system ซึ่งสารสื่อประสาทที่สำคัญคือ โดปามีน (dopamine) ดังได้กล่าวมาแล้วในบทที่ 3 โดปามีนเป็นสารสื่อประสาทที่พบในบริเวณของสมองที่ควบคุมการเคลื่อนไหว อารมณ์ แรงขับ แรงจูงใจ และความรู้สึกเป็นสุข ยินดี ในภาวะปกติ เมื่อ brain’s reward system ถูกกระตุ้น ก็ทำให้มีพฤติกรรม ทางด้านบวก แต่เมื่อมีการกระตุ้นที่มากเกินไป (overstimulation) จากยาหรือสารเสพติด ก็ทำให้เกิด อาการทางจิต คือมีภาวะเคลิ้มสุข (euphoric effects) ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่เป็นแรงขับให้กลับมาใช้ยาอีก เพื่อให้เกิดอาการเคลิ้มสุขแบบนี้อีก และก็ทำให้ติดยาในที่สุด

7.  ความผิดปกติของสารสื่อประสาทที่เกิดจากการติดสารเสพติด

สารเสพติดสามารถที่จะทำให้ความคิด ความรู้สึก และพฤติกรรมของผู้เสพนั้นเปลี่ยนแปลงไป โดยการเข้าไปรบกวนการทำงานของระบบสารสื่อประสาท ซึ่งทำให้เกิดความผิดปกติของการส่งสัญญาณ ประสาทของเซลล์ประสาท ซึ่งจะเห็นว่าความผิดปกติของสารสื่อประสาทที่มีผลกระทบมาจากการเสพ สารเสพติด สามารถนำมาซึ่งอาการผิดปกติทางระบบประสาท และสามารถนำไปสู่โรคทางระบบประสาท ได้อีกด้วย นักวิทยาศาสตร์จึงทำการศึกษาค้นคว้าถึงกลไกความผิดปกติของระบบสารสื่อประสาทที่เกิดขึ้น จากการได้รับสารเสพติด และจะนำไปสู่การค้นคว้าเรื่องการรักษาที่มีประสิทธิภาพ หรือการนำยา ที่ใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ไปใช้ในการรักษาได้อย่างถูกต้อง ไม่ก่อให้เกิดการใช้ผิด และทำให้เกิด การเสพติดตามมา ดังนั้นในบทนี้จะเป็นกล่าวถึงกลไกการติดสารเสพติด และสารสื่อประสาทที่มีผล กระทบจากสารเสพติด

ซึ่งหวังว่าหนังสือเล่มนี้จะทำให้นิสิต นักศึกษา และผู้อ่านทุกคนได้เข้าใจถึงระบบประสาทและสมองของคนเรา และเมื่อได้รับยาหรือสารเสพติดนั้น จะก่อให้เกิดความผิดปกติอย่างไร รวมทั้งการศึกษาวิจัยในเรื่องการติดสารเสพติดที่มีผลต่อสมอง และสารสื่อประสาท ซึ่งจะทำให้เข้าใจกลไกการทำงานของสมองมากขึ้น  ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่า โดยภายในหนังสือเล่มนี้ก็จะประกอบไปด้วยเนื้อหาสาระถึง 7 บทที่จะทำให้เราได้เข้าใจถึงระบบการทำงานของสมองในภาวะติดสารเสพติด

Graphic Design และ Content Creator ที่หลงใหลในการเขียน Content และเชื่อว่า Content เป็นสิ่งสำคัญในการสื่อสารกับทุก ๆ คน