นวัตกรรมทางสังคมและการเรียนรู้ของแรงงานข้ามชาติมอญในประเทศไทย

ชีวิตในศตวรรษที่ 21 ของชาวมอญและชาวไทยรามัญที่อาศัยอยู่ในอาณาเขตต่าง ๆ ในชุมนุมชนมอญ สะท้อนความจริงเรื่องการเปลี่ยนแปลงความคิดเรื่อง ความเป็นชาติ และการประดิษฐ์ “ความเป็นมอญ” ที่เกิดขึ้นท่ามกลางความแตกต่าง และการผสมผสาน ซึ่งมีลักษณะซับซ้อนและทับซ้อน บนพื้นที่ใหม่ ๆ ที่มีพลวัต ผ่านการอพยพเคลื่อนย้ายซึ่งเกิดขึ้นตลอดเวลา กระบวนการเรียนรู้ใหม่ ที่เกิดขึ้นจึงมีลักษณะสะสมและเลื่อนไหล สำนึกและตัวตนของแรงงานข้ามชาติมอญ จึงไม่ได้ถูกกำหนดโดยปัจจัยภายนอกเช่นในอดีต แต่ถูกพัฒนาขึ้นบนความสมดุล ของประสบการณ์และทักษะในการใช้ชีวิตอย่างมีเป้าหมาย


หนังสือ “นวัตกรรมทางสังคมและการเรียนรู้ ของแรงงานข้ามชาติมอญในประเทศไทย” พัชรินทร์ สิรสุนทร, ๒๕๖๒ ในทัศนะของมาร์กซ์และโสเครตีส แรงงานคือผู้สร้างสรรค์โลก และเป็นพลังทางการเมืองที่มีส่วนสำคัญในการสร้างความเท่าเทียมข้อความภาษามอญบนหน้าปกหนังสือมีความหมายว่า “เมืองนี้ คนมอญเป็นผู้สร้างขึ้นมา” ผู้เขียนต้องการสื่อให้เห็นถึง ความสำคัญของแรงงานชาวมอญผลัดถิ่นที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างสรรค์สังคมและพัฒนาเศรษฐกิจ สัญญาลักษณ์ “หงส์มอญ” มาจากชื่อ “หงสาวดี” (ဟံသာဝတဳ) อดีตเมืองหลวงแห่งอาณาจักรมอญ ตำนานเมืองที่เกี่ยวกับ “หงส์” (ၜိုပ်) ซึ่งมีความเกี่ยวพันกับองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า “หงส์” จึงเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ ที่ชนชาติมอญให้ความสำคัญชาวมอญไม่ว่าจะไปอยู่ที่ไหน จะใช้หงส์เป็นสัญลักษณ์บ่งบอกความเป็นพวกเดียวกันและเพื่อระลึกถึงถิ่นฐานบ้านเกิด ภาพหงส์บินเหนือพื้นปกสีฟ้า แทนสัญลักษณ์ “หงส์ทะยานสู่ดวงดาวสีน้ำเงินบนผืนผ้าแดง” บนผืนธงมอญ ซึ่งสื่อความหมายของความเป็นชาติในจินตนาการ เสรีภาพ และสภาวะพ้นพรมแดนของแรงงานมอญในปัจจุบัน

หนังสือ นวัตกรรมทางสังคมและการเรียนรู้ของแรงงานข้ามชาติมอญในประเทศไทยถูกเรียบเรียงขึ้นใหม่ โดยการสังเคราะห์จากผลงานการวิจัยเรื่อง นวัตกรรมทางสังคมเพื่อป้องกันปัญหาการค้ามนุษย์ในเด็ก: กรณีกลุ่มชาติพันธุ์มอญ ร่วมกับการเพิ่มเติมแนวคิดทฤษฎีใหม่ ๆ ด้านสังคมวิทยาการพัฒนา โดยมีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อให้ผลงานวิจัยถูกนำไปใช้ประโยชน์ในทางวิชาการได้กว้างขวางมากขึ้น และครอบคลุมผู้อ่านทั้งนิสิตนักศึกษาด้านสังคมศาสตร์ตลอดจนผู้อ่านที่สนใจประเด็นด้านนวัตกรรมสังคม การเรียนรู้ และแนวคิดใหม่ ๆ ด้านการตั้งถิ่นฐานของผู้คนในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ผู้เขียนทำการค้นคว้าและสังเคราะห์ข้อมูลด้านการตั้งถิ่นฐาน และการเดินทางที่มีลักษณะพ้นพรมแดนของแรงงานข้ามชาติมอญ ติดตามสังเกตวิถีชีวิต การต่อสู้ ขัดขืน และการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นในระหว่างการเดินทาง เนื้อหาสาระที่ปรากฏในหนังสือเล่มนี้ สะท้อนความจริงประการหนึ่ง คือ ไม่ว่ารัฐจะรับรองหรือไม่รับรองการมีอยู่ของแรงงานข้ามชาติมอญเหล่านี้หรือไม่ก็ตาม แต่โดยสภาพความเป็นจริงที่ปรากฏ พวกเขาเหล่านี้ยังคงมีตัวตน และใช้ชีวิตอยู่รอบตัวเรามาเนิ่นนานแล้ว บางคนทำงานก่อสร้าง หลายคนค้าขายอาหารที่เราซื้อกินอยู่ทุกวัน ในขณะที่อีกหลายคนรับจ้างเป็นแรงงานราคาถูกอยู่ตามบ้านเรือนร้านค้า ถูกเอารัดเอาเปรียบและถูกลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ บาดเจ็บและถูกขายเป็นทาส ทั้งที่ศตวรรษ 21 เป็นยุคสมัยซึ่งคนในประชาคมโลกต่างยอมรับร่วมกันและยึดถือเป็นค่านิยมสากลแล้วว่าคนทุกคนเท่าเทียมกัน และมีสิทธิเสรีภาพในการมีชีวิตอยู่อย่างมีเกียรติและมีความสุข

หนังสือเล่มนี้นำเสนอภาพชีวิตทางสังคมที่มีความซับซ้อน ทับซ้อน มีพลวัต และไร้พรมแดนของแรงงานข้ามชาติชาวมอญที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย ซึ่งเป็นอาณาบริเวณที่มีชาวมอญอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากมานานแล้วหรือกล่าวได้ว่ามากเป็นอันดับที่สองของโลก รองจากรัฐมอญในประเทศพม่าเลยทีเดียวนอกจากนี้ ผู้เขียนยังมุ่งเปิดเผยการเรียนรู้และการพัฒนาทักษะชีวิตของแรงงานข้ามชาติชาวมอญ ที่เกิดขึ้นระหว่างการเดินทางและในพื้นที่สีเทา (Grey Area)เพื่อให้ภาพชีวิตของแรงงานข้ามชาติมอญเหล่านี้ถูกมองเห็น และเสียงร้องที่พวกเขาเปล่งออกมาเป็นที่รับรู้ของสังคมและถูกได้ยินชัดเจนขึ้น

วางจำหน่ายแล้ววันนี้

  • ศูนย์หนังสือจุฬาฯ ทุกสาขา
  • NUPH Online Store

Graphic Design และ Content Creator ที่หลงใหลในการเขียน Content และเชื่อว่า Content เป็นสิ่งสำคัญในการสื่อสารกับทุก ๆ คน